วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

หลวงปู่สมชาย ฐิติวิริโย 1



สารบัญ
    เรื่อง                                                                                                 หน้า

คำนำ
คำปรารภ                                                                                                                                                                          
ชีวประวัติ พระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย)                                                       
ปฐมวัย                                                                                                 
ภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบ
อุปนิสัยในทางธรรม
เรื่องสามเณรนาคเที่ยวกรรมฐาน
พ.ศ. ๒๔๘๗ บรรพชา
พ.ศ. ๒๔๘๗ จำพรรษา ที่ วัดป่าศรีไพรวัน   
ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น
ธรรมสำคัญกว่าวัตถุ
พ.ศ. ๒๔๘๘ จำพรรษา ที่ วัดดอยธรรมเจดีย์
พ.ศ. ๒๔๘๙ อุปสมบท
พ.ศ. ๒๔๘๙ จำพรรษา ที่ วัดป่าภูธรพิทักษ์
มูลเหตุที่ทำให้เกิดกำลังใจ
บำเพ็ญธรรมที่ถ้ำคำไฮและถ้ำเจ้าผู้ข้า
พ.ศ. ๒๔๙๐ จำพรรษา ที่ วัดอรัญญวาส
ผจญช้างป่าร่วมกับหลวงปู่ฝั้น
พ.ศ. ๒๔๙๑ จำพรรษา ที่ วัดพระงามศรีมงคล
พ.ศ. ๒๔๙๒ จำพรรษา ที่ วัดอรัญญวาสี
พ.ศ. ๒๔๙๓ จำพรรษา ที่ วัดป่าโสตถิผล (วัดป่าบ้านหนองโดก)
ผจญภัยกับหลวงปู่มุล
อาคันตุกะผู้มาเยือน
ปรารภถึงความดีของหลวงปู่สีลา อิสฺสโร
พ.ศ. ๒๔๙๔ จำพรรษา ที่ วัดป่าอิสสระธรรม
ไข้ป่าเป็นเหตุ
ไปเยี่ยมไข้สามเณรน้อย
หมาเห็นผีจริงไหม
ไหนตัวเรากันแน่
โลกทิพย์
ขอกลับมาสร้างบารมีต่อ
หลวงปู่หาญ  ชุติณฺธโร  ท่องเมืองนรก
เจ็บซ้ำสอง
พ.ศ. ๒๔๙๕ จำพรรษา ที่ เสนาสนะป่าบ้านโสกก่าม
เปรตกินของสงฆ์ไม่อุปโลกน์
ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณาทาน ๔ ประการ
โปรดเปรตตาทา แห่งบ้านนางัว
เทศน์พิเศษหลังสรงน้ำประจำวัน
พ.ศ. ๒๔๙๖ จำพรรษา ที่ ภูเก้า
กลับภูมิลำเนาโปรดญาติ
เทศน์กัณฑ์พิเศษ
พิธีทำบุญให้เปรต
หลวงปู่เล่าเรื่องทำบุญอุทิศให้คนตายแต่คนเป็นได้รับ
พ.ศ. ๒๔๙๗ จำพรรษา ที่ วัดป่าอรัญญวิเวก (บ้านหนองโต่งโต้น)
บำเพ็ญธรรม ที่ ถ้ำพระภูวัว
พ.ศ. ๒๔๙๘ จำพรรษา ที่ ป่าช้าบ้านหนองท่มท่ากะดัน (วัดสันติธรรมวนาราม)
มุ่งสู่นครเวียงจันทน์
พ.ศ. ๒๔๙๙ จำพรรษา ที่ วัดจอมไตร  ประเทศลาว (พรรษาแรก)
พ.ศ. ๒๕๐๐ จำพรรษา ที่ วัดจอมไตร  ประเทศลาว (พรรษาที่สอง)
ถูกนิมนต์กลับประเทศลาวอีกครั้งหนึ่ง
บทความจากนิตยสารลานโพธิ์
พ.ศ. ๒๕๐๑ จำพรรษา ที่ วัดเขาไทรสายัณห์
สะกดจิต หนึ่งต่อสอง
อภิญญาสมาบัติ
พาศิษย์ธุดงค์ภูวัว
พ.ศ. ๒๕๐๒ จำพรรษา ที่ ถ้ำเป็ด ภูเหล็ก
เทวดาจำแลง
พ.ศ. ๒๕๐๓ จำพรรษา ที่ ปราสาทเขาพนมรุ้ง
ศรัทธา ๘๐ บาท ของชาวบ้านยายแย้ม
บำเพ็ญธรรมในแดนกะเหรี่ยง
ได้พบสหชาติในดงใหญ่
วิธีเลี่ยงจากเนื้อตะกวด
ขออย่างได้อีกอย่าง
มุ่งประกาศธรรม ชายฝั่งทะเลตะวันออก
มูลเหตุและการเกิดขึ้นของวัดเนินดินแดง
คำทำนายของท่านพ่อลี
รับนิมนต์ไปวัดเนินดินแดง
โปรดชาวสมาชิกนิคมฯ
พ.ศ. ๒๕๐๔จำพรรษา ที่วัดเนินดินแดง (พรรษาแรก)
ดับกลิ่นเหล้าด้วยสับปะรด
เห็นพระเป็นหมีเพราะผิดสัจจะ
พ.ศ. ๒๕๐๕ จำพรรษา ที่ วัดเนินดินแดง (พรรษาที่สอง)
โปรดโยมอู๋
พ.ศ. ๒๕๐๖ จำพรรษา ที่ วัดเนินดินแดง (พรรษาที่สาม)
ผีให้พลอย
ปฐมฤกษ์ครั้งแรกบนเขาสุกิม ปรากฏการณ์ตามคำพยากรณ์ของท่านพ่อลี ธมฺมธโร
พ.ศ. ๒๕๐๗ จำพรรษา ที่ บนเขาสุกิม (พรรษาแรก) จนถึงพรรษาสุดท้าย พ.ศ. ๒๕๔๗
ปักธงธรรมแบบถาวรบนยอดเขาสุกิม
หัวเขาอีกิม จะสว่างรุ่งเรือง
หัวเขาอีกิม จะสว่างไสว คนทั่วประเทศจะต้องรู้จัก
หัวเขาอีกิม จะเป็นศูนย์รวมของตัวแทนศาสนาต่าง ๆ
หัวเขาอีกิม จะสว่างถึงที่สุด คนทั่วโลกจะรู้จัก
ดั่งสายธารทิพย์จากสรวงสวรรค์
จอมคนของแผ่นดินทรงมีพระราชปุจฉา
สงเคราะห์เพื่อนร่วมโลก
ธรรมะใต้แสงดาว เรื่อง หมื่นโลกธาตุและแสนโกฏิจักรวาล
มารไม่มีบารมีไม่เกิด
ปัจฉิมกาล
ปฐมเหตุโครงการก่อสร้างเจดีย์
เสานี้มีความสำคัญ
หลวงปู่เริ่มอาพาธ
ยางตาย
เรื่องร่างกายให้หมอรักษา เรื่องจิตใจเรารักษาเอง
ไม่ให้ลูกศิษย์เห็นความย่อหย่อน                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                  คำสั่งพ่อมีเพียงแค่นี้
การเดินจงกรมได้สิ้นสุดลง
ถ้าจะมีหมอผู้หญิงมาถูกตัวให้ผมตายเสียดีกว่า
ประวัติการอาพาธ
กิจวัตรประจำวันระหว่างอาพาธ
พ.ศ. ๒๕๔๗ จำพรรษา ที่ วัดเขาสุกิม ซึ่งเป็นพรรษาสุดท้าย
ปัจฉิมโอวาท วันปวารณาออกพรรษาสุดท้ายของหลวงปู่
ทุกวินาทีดูประหนึ่งว่าโลกจะหยุดนิ่ง
ประทีปธรรมแห่งภาคตะวันออกดับแล้ว
นิมนต์สรีระหลวงปู่จากร.พ.วิชัยยุทธ มาวัดเทพศิรินทราวาส
พระบรมราชานุเคราะห์
นิมนต์สรีระหลวงปู่จากวัดเทพศิรินทราวาส กลับวัดเขาสุกิม
สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
หมายรับสั่ง
คำสำนึกในพระกรุณาธิคุณ
พระวรธรรมานุสรณ์
พระเถระผู้มีความดี
ธรรมานุสรณ์
พระวิสุทธิญาณเถร
พระเถระผู้ทรงคุณธรรมและสร้างประโยชน์
วิสุทธิญาณเถรรำลึก
วิสุทธิญาณเถรานุสฺสรณคาถา
วิสุทธิญาณเถรานุสรณ์
คำไว้อาลัยพระอาจารย์สมชาย
คำไว้อาลัย ของ พระมงคลญาณเถร
คำไว้อาลัย ของ พระญาณทีปาจารย์
ธรรมที่ไม่ต้องเทศน์
ประมวลภาพวันมรณภาพ วันสรงน้ำ และการบำเพ็ญกุศล ณ วัดเทพศิรินทราวาส
ประมวลภาพพิธีขบวนนำสรีระหลวงปู่กลับวัดเขาสุกิม
ประมวลภาพพิธีบำเพ็ญกุศล ณ วัดเขาสุกิม จันทบุรี
ประมวลภาพสำคัญในอดีต
ประมวลภาพเครื่องไทยธรรมในงานพระราชพิธีต่าง ๆ
ประมวลภาพโล่และใบประกาศเกียรติคุณในการบำเพ็ญสาธารณสงเคราะห์
ภาคผนวก
ปฏิปทาของหลวงปู่
กิจส่วนตัวของหลวงปู่
กิจนิมนต์ของหลวงปู่
เรื่องการรักษาบริขาร
หลวงปู่ไม่หายใจทิ้ง
การสร้างรูปเหรียญและวัตถุมงคล
หลวงปู่ไม่พักแรมในบ้านโยม
ครูบาอาจารย์พูดคุยกันทางจิต
แผ่เมตตาแต่เป็นกสิณ
วัวสำนึกบุญคุณ
หลวงปู่ไม่นวดเส้น
หลวงปู่ไม่ให้พระเณรก่อสร้างด้วยตนเอง
ฝึกสวดพระปาติโมกข์มาจากหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม
ธรรมาสน์เณรคำ
โปรดพรานแสวง
ฉันข้าวทิพย์
เอาตัวรอดจากมาตุคาม
เกียรติประวัติที่สำคัญของวัดเขาสุกิม
พระธรรมเทศนา พระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย)
เรื่อง วิธีทำสมาธิ และ ผลของสมาธิ
เรื่อง วิธีสร้างสติ
เรื่อง วิธีทดสอบสติ
เรื่อง ตอบปัญหาธรรม กับ อุบาสกผู้สงสัย (ภาคที่หนึ่ง)
เรื่อง ตอบปัญหาธรรม กับ อุบาสกผู้สงสัย (ภาคที่สอง)
เรื่อง ตอบปัญหาธรรม กับ อุบาสกผู้สงสัย (ภาคที่สาม)









ชีวประวัติ
พระวิสุทธิญาณเถร
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
วัดเขาสุกิม ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 

                หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เป็นชาวจังหวัดร้อยเอ็ด หลวงปู่ได้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๘ ตรงกับวันอังคาร  ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๕ ปีฉลู เวลาเที่ยงวัน ณ หมู่บ้านเหล่างิ้ว ตำบลจังหาร อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

                โยมบิดาชื่อ สอน นามสกุล มติยาภักดิ์ โยมมารดาชื่อ บุญ นามสกุล มติยาภักดิ์ โยมมารดาของท่านเป็นบุตรีคนเล็กของคุณหลวงเสนา  ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาพราหมณ์-ฮินดูในท้องถิ่นนั้น หลวงปู่สมชาย ท่านมีพี่น้องร่วมสายโลหิตเพียง ๑ คน คือ นายหนู  มติยาภักดิ์

                คุณตาของหลวงปู่สมชาย คือ คุณหลวงเสนานั้น เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของหมู่บ้าน  และเป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในท้องถิ่นนั้นมาก เพราะท่านเป็นหัวหน้าใหญ่ของหมู่บ้าน เป็นผู้นำของ ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู เป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมการบูชาเทวดาตามลัทธิความเชื่อของศาสนา  และเป็นผู้ปกครองหมู่บ้านได้รับบรรดาศักดิ์  เป็น หลวงเสนา

                หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านถือกำเนิดในสกุลของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ขณะที่ท่านได้ถือกำเนิดขึ้นมานั้น เป็นวันและเวลาที่กำลังจะประกอบพิธีกรรมทางลัทธิศาสนาประจำปีพอดี  โดยมีการจัดพิธีบูชาเทวดาประจำปี มีขบวนรื่นเริงสมโภชศักราชใหม่แห่งปี มีขบวนแห่นางเทพธิดานั่งทรงมาบนหลังเสือ พร้อมกับมีรูปวัวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของปีฉลูและเป็นเทพเจ้าของชาวฮินดู    โดยจะเริ่มประกอบพิธีกันที่บ้านของหัวหน้าแล้วจึงจะแห่ขบวนไปรอบ ๆ หมู่บ้าน  เพื่อความเป็นสิริมงคลของลูกบ้านทุกครัวเรือน (คงจะคล้ายกันกับพิธีแห่นางสงกรานต์ในปัจจุบันนี้นั่นเอง)    เมื่อเสียงฆ้องสัญญาณดัง ..มุ้ย ย ย ๆ..ๆ.. ขึ้นมา ก็พอดีกับบุตรีของหัวหน้าซึ่งตั้งครรภ์แก่ และกำลังร่วมอยู่ในพิธีขบวนแห่นั้นด้วย ก็ได้ให้กำเนิดบุตรในระหว่างที่พิธีกำลังจะเริ่มขึ้นพอดี ทำให้ต่างคนต่างก็เข้ามาช่วยปฐมพยาบาลทำคลอด และมัวสาละวนอยู่กับเรื่องการคลอดบุตรจนเวลาเลยผ่านฤกษ์ยามดีที่กำหนดกันไว้ จนตะวันบ่ายคล้อยลงเป็นเหตุให้พิธีต่างๆ ที่กำลังจะดำเนินในระหว่างนั้นต้องหยุดระงับลงโดยปริยายเสมือนลางบอก เหตุว่า ..ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู จะไม่มีในท้องถิ่นนี้อีกต่อไป..

                จากนิมิตหมายดังกล่าวในครั้งนั้น คุณหลวงเสนาผู้เชี่ยวชาญเป็นโหราจารย์อยู่แล้วจึงได้พยากรณ์หลานชายของท่านเอาไว้ว่า เด็กคนนี้จะต้องเป็นผู้มาเปลี่ยนแปลงศาสนาเดิมของตระกูลในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน เนื่องจากเหตุการณ์การถือกำเนิดของหลวงปู่สมชาย ทำให้พิธีกรรมต่าง ๆ ของศาสนาต้องล้มเลิกลงกลางคันเช่นนี้ ถือเป็นสิ่งบอกเหตุอย่างหนึ่งว่าศาสนาฮินดูในท้องถิ่นนั้นจะสิ้นสุดลงในกาลต่อมา ซึ่งก็ปรากฏว่า  ภายหลังจากที่หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้อุปสมบทในบวรพุทธศาสนา และได้ศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมจนเกิดความซาบซึ้งในพระพุทธศาสนาพอสมควรแล้ว หลวงปู่ก็ได้นำพุทธธรรมไปอบรมสั่งสอนชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นจนเกิดศรัทธา ปัจจุบันชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นได้หันมานับถือพระพุทธศาสนากันจนหมดสิ้น พิธีกรรมที่เคยทำเหลือไว้เพียงแต่ตำนานเล่าขานกันเท่านั้น
                โยมมารดาของหลวงปู่ได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่หลวงปู่ยังเล็ก มีอายุประมาณ ๒ ขวบเท่านั้นจึงตกเป็นภาระของคุณตา คือคุณหลวงเสนา ให้การอุปการะเลี้ยงดูหลวงปู่ต่อมา ซึ่งหลวงปู่ก็อยู่กับคุณตาได้ไม่นานนัก คุณตาก็ถึงแก่กรรมจากไปอีก

ภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบ

 ภายหลังจากคุณหลวงเสนา ผู้เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรที่ให้ความร่มเย็น หรือดวงประทีปที่ให้แสงสว่างได้ถึงแก่กรรมลงอย่างกะทันหันด้วยอหิวาตกโรคระบาดในครั้งนั้น(สมัยโบราณเรียกกันว่าโรคห่าระบาด)  ความรุ่งโรจน์และแสงสว่างได้ดับวูบลง อนาคตมืดมน มองไม่เห็นทิศทางว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรต่อไป

                มารดาบังเกิดเกล้าจากไปตั้งแต่ท่านยังเล็กมากจนไม่ทราบว่าหน้าตาของแม่เป็นอย่างไร จากนั้นเวลาห่างกันไม่กี่ปี  คุณตาผู้เปรียบเสมือนพ่อและแม่บังเกิดเกล้า ก็มาถึงแก่กรรมไปอีกเป็นคนที่สอง ส่วนโยมบิดานั้นก็ทอดทิ้งไม่สนใจเลี้ยงดูท่านเลย ความว้าเหว่ ความเศร้าโศกได้เกิดขึ้นอย่างสุดซึ้ง เกินที่จะพรรณนาความรู้สึกในขณะนั้นได้

                เมื่อเหตุการณ์หรือมรสุมร้ายผ่านไปแล้วหลวงปู่สมชายก็ได้ไปอาศัยอยู่กับญาติผู้หนึ่ง มีศักดิ์เป็นพี่ชาย ในฐานะเป็นลูกผู้พี่ ได้อยู่ร่วมกันด้วยดีมีความสุขและราบรื่นมาได้ระยะหนึ่ง มรสุมลูกใหม่ก็เกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สาม   คือ พี่สะใภ้ผู้ที่หลวงปู่อาศัยอยู่ด้วยนั้นได้มาเสียชีวิตลงไปอีก ปล่อยให้ลูกเล็กๆ ๔-๕ คนเป็นกำพร้า หลวงปู่จึงต้องช่วยรับผิดชอบเป็นภาระเลี้ยงดู  หลังจากพี่สะใภ้จากไปแล้วพี่ชายก็ประพฤติตัวเกเรมั่วสุมเรื่องอบายมุข ทำตัวเป็นนักเลงหัวไม้  ไม่สนใจภาระหน้าที่ของตน ความเป็นอยู่ภายในครอบครัวทั้งหมดจึงตกเป็นภาระหน้าที่ของหลวงปู่จะต้องรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง ท่านจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อสร้างฐานะครอบครัวให้ดีขึ้นเทียมบ่าเทียมไหล่คนในหมู่บ้าน หลวงปู่ได้ยึดอาชีพค้าขาย ค้าสิ่งของจิปาถะทั่วไปโดยนำของจากหมู่บ้านไปขายในเมือง ซื้อสิ่งของในเมืองมาขายที่หมู่บ้าน  วันไหนค้าขายดีมีกำไรมากหน่อยก็มักซื้ออาหาร ของใช้บริโภคมาฝากคนเฒ่าคนแก่ และเด็ก ๆ  ในหมู่บ้าน หลวงปู่มีอุปนิสัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก และติดตัวหลวงปู่มาโดยตลอด ว่างจากค้าขายก็ทำนา หลวงปู่เป็นคนแข็งแรงจึงทำงานได้ทุกอย่างไม่มีเวลาว่างที่จะไปเที่ยวเตร่อย่างคนอื่น  จึงสามารถสร้างฐานะของตัวเองได้ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น

                ช่วงเวลาที่หลวงปู่สมชายดิ้นรนหาเงินสร้างฐานะทางครอบครัวอยู่นั้น ท่านมีอายุเพียง ๑๔ ปีเศษ และต้องหอบหิ้วเลี้ยงดูหลานอีก ๔-๕ คน บ้านที่อยู่อาศัยก็ไม่มี ต้องไปขออาศัยอยู่ใต้ถุนบ้านญาติคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากผู้เป็นเจ้าของบ้านเท่าไรนัก เป็นเหตุให้หลวงปู่สมชายต้องดิ้นรน มุมานะพยายามหาเงินเพื่อซื้อบ้านอยู่เป็นของตัวเอง ด้วยโชคชะตาบวกกับความขยันของหลวงปู่ไม่ว่าจะ จับสิ่งใดทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จไปเสียทุกอย่าง ค้าขายก็ได้รับผลกำไรไปทุกครั้ง ทำนาก็ได้ข้าวกล้าบริบูรณ์เต็มยุ้งเต็มฉางทุกปี หลวงปู่ได้พยายามหาเงินด้วยความสุจริต เก็บทีละเล็กละน้อย ส่วนพี่ชายกับมีนิสัยตรงข้าม ไม่ทำการทำงาน ประพฤติตัวเกเร มักแอบมาลักขโมยเงินบ้าง ข้าวของบ้างเป็นประจำ จึงรู้สึกเสียใจและน้อยใจในตัวพี่ชายเป็นอย่างมาก ลูกของตัวเองก็ไม่เลี้ยง ไม่ทำหน้าที่ของพ่อผู้ให้กำเนิด แล้วยังมาขโมยเงินที่ท่านหามาได้เอาไปสูบฝิ่น ดื่มเหล้า และเล่นการพนันอีก  

                หลวงปู่สมชายดิ้นรนหาเงินสร้างฐานะ ด้วยลำแข้ง ด้วยสติปัญญาของท่านเองโดยใช้เวลาอยู่หลายปี เมื่ออายุได้ประมาณ ๑๗ - ๑๘ ปี ความพยายามของท่านก็ประสบความสำเร็จ น่าพอใจ ได้จัดซื้อบ้านอยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ๑ หลัง ราคา ๗๕ บาทเพื่อให้ตัวเองและหลาน ๆ อีก ๔-๕ คนได้มีที่อยู่อาศัย และซื้อเกวียน ๑ เล่มเพื่อเอาไว้บรรทุกสินค้าไปค้าขายในเมือง พร้อมกับวัวราชามัย ๑ คู่ ราคา ๗๕ บาท มีทั้งที่ดิน ที่นา ทรัพย์สิน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ นับว่าท่านมีนิสัยรับผิดชอบเป็นหัวหน้าและเป็นผู้นำที่ดี คือรู้จักรับผิดชอบตัวเองและส่วนรวมมาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่นวัยหนุ่ม ท่านจึงเป็นที่ยอมรับ ยกย่องสรรเสริญ และเป็นที่เคารพนับถือของผู้ที่ใกล้ชิด และคนทั่วไปในหมู่บ้านด้วย หลวงปู่ได้ใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายอยู่ในฆราวาสวิสัยจนอายุได้ ๑๙ ปี ก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อความเป็นอยู่ทางโลก ที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย  และเต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่เที่ยง  น่าเบื่อหน่าย และคงด้วยบารมีเก่าในอดีตมาประกอบทำให้ต้องการสลัดสิ่งผูกพันอันที่อาจจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้า ท่านจึงคิดที่จะสละเพศฆราวาส  ออกใช้ชีวิตเป็นนักบวชในบวรพระพุทธศาสนา เพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์และความสุขอันแท้จริงของชีวิตต่อไป

อุปนิสัยในทางธรรม

                หลวงปู่เคยเล่าเอาไว้ว่า  บุคคลผู้มีอุปนิสัยในทางธรรมนั้นมักจะมีเทพดามาคอยตักเตือนหรือแสดงนิมิตอย่างใดอย่างหนึ่งที่เรียกว่า สิ่งบอกเหตุ นั่นเอง ผมเอง ! ตั้งแต่อายุราว ๑๖ ปี ผมมักจะฝันอยู่เรื่องเดียว เรื่องอื่นไม่เคยฝันถึงเลย หลับเมื่อไรเป็นอันว่าความฝันเรื่องนี้เกิดขึ้นทันที  ไม่น่าเชื่อว่าคนอะไรจะฝันเรื่องเดียวกันติดต่อถึง ๔ ปี ผมฝันว่า ผมเคยเป็นนักพรตถือเพศพรหมจรรย์ ปราศจากคู่ครองเป็นชาติกำเนิดที่บริสุทธิ์ มาถึง ๓ ชาติ...ในความฝันนั้นว่า

                ชาติแรกนั้น  ผมเคยเกิดเป็นฤๅษีอยู่ในป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ก่อนที่จะบวชเป็นฤๅษีผมมีลุงเป็นฤๅษีอยู่ก่อนแล้ว ปลูกอาศรมอยู่ในป่าแห่งนั้น ทุกวันฤๅษีผู้เป็นลุงจะมาบิณฑบาตที่บ้านเป็นประจำ  วันหนึ่งฤๅษีผู้เป็นลุงก็ชวนว่า ไอ้น้อยไปบวชด้วยกันเอาไหม..  ยังไม่มีนิสัยอะไรเลย พอลุงชวนก็ไป ไปอยู่ปรนนิบัติรับใช้และได้บวชเป็นฤๅษีจนสิ้นอายุขัย..

                ชาติที่สองต่อมา  ก็ลุงอีกเช่นกันที่เป็นหัวหน้าฤๅษีอยู่ในหุบเขากลางดงใหญ่มาชวนไปบวชอีก ผมเริ่มมีนิสัยบ้างได้ไปบวชเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตจนสิ้นอายุขัยอยู่ในหุบเขาแห่งนั้นนั่นเอง...

                ชาติที่สาม ผมเกิดเป็นลูกของชาวประมง อาศัยอยู่ที่เกาะกลางทะเล พ่อและแม่มีอาชีพจับปลาขาย พอเริ่มหัดพูด ก็พูดกับพ่อและแม่ว่า ทำบาป..บาปๆ พูดเตือนพ่อแม่แต่เรื่องบาปเรื่องกรรมอยู่เนือง ๆจนอายุ ๑๐ ขวบก็ไม่เคยช่วยพ่อแม่จับปลาเลย พ่อแม่ก็รังเกียจว่าไม่ช่วยทำงาน  ตัวเองก็รังเกียจการทำปาณาติบาตของพ่อแม่  วันหนึ่งลุงผู้เป็นฤๅษีมาบิณฑบาตที่บ้าน พ่อกับแม่ก็พูดว่า .เราคนบุญก็ไปอยู่กับคนบุญซะไป พ่อกับแม่ก็ฝากไปอยู่กับลุงผู้เป็นฤๅษี ที่ปลูกอาศรมอยู่บนภูเขากลางเกาะแห่งนั้นนั่นเอง  และได้บำเพ็ญพรตพรหมจรรย์อยู่กับการบูชาไฟ ทรมานตน เมื่อลุงสิ้นชีพลงก็ได้รับมอบตำแหน่งหัวหน้าฤๅษีต่อจากลุง โดยมีบริวาร ๕๐๐ อยู่จนจบพรหมจรรย์เพศบนเกาะกลางทะเลท่ามกลางบริวารห้อมล้อมมากมายสิ้นชีพจากชาตินั้นแล้วก็มาเกิดอยู่ในตระกูลของคุณหลวงเสนาผู้นำศาสนาพราหมณ์ ฮินดู ในชาติปัจจุบัน...

                ...หัวหน้าฤๅษีผู้เป็นลุงของผมใน ๓ ชาติก่อนนั้น ก็คือคุณหลวงเสนาคุณตาของผมในชาติปัจจุบัน ตามนิมิตที่ผมได้ฝันถึงอยู่ ๔ ปี ติดต่อกันนั่นเอง...  ผมก็นึกอยู่เหมือนกันว่า  ชาตินี้ผมก็คงอยู่แบบปราศจากคู่ครองอีกเช่นกัน   เมื่อครั้งสมัยที่คุณตาหลวงเสนายังมีชีวิตอยู่ ท่านก็พยายามอบรมสั่งสอนผมทุกวิถีทาง เพื่อต้องการให้ผมได้เป็นผู้ดำรงวงศ์สกุลสืบทอดลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ต่อจากท่าน  เพราะว่าคุณหลวงเสนาท่านมองเห็นลักษณะพิเศษบางอย่างในตัวของผม  ซึ่งส่อแสดงให้เห็นว่าเป็นลักษณะของนักพรตคนหนึ่งในอนาคตนั่นเอง...

                ด้วยนิสัยปัจจัยเก่าที่หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านได้เคยสร้างสม อบรมมาแล้วตั้งแต่อดีตชาติ เมื่อมาประสบเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส และพอใจในเพศของนักพรต ซึ่งมีความเป็นอยู่กับความเพียร เพ่ง สันโดษ แสวงหาความสงบ เพื่อพ้นทุกข์แต่อย่างเดียว ยิ่งโตขึ้นท่านยิ่งมีความพอใจเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ สมัยที่คุณตาหลวงเสนายังมีชีวิตอยู่นั้น หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านก็มีความสนใจในธรรม ทางพุทธศาสนาเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว  ท่านได้เสาะแสวงหาหนังสือที่เกี่ยวกับทางพระพุทธศาสนามาอ่านอยู่เสมอ ๆ หนังสือที่ท่านชอบอ่านที่สุดในสมัยนั้นคือ หนังสือพุทธประวัติและหนังสือนวโกวาท  บางครั้งท่านก็ได้แอบหลบคุณตาของท่านไปฟังเทศน์จากพระกรรมฐานอีกด้วย โดยได้ไปฟังเทศน์จากท่านพระอาจารย์นาค โฆโส ซึ่งเป็นพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต รูปที่มีชื่อเสียงสำคัญในสมัยนั้น ในช่วงนั้นกิตติศัพท์ของท่านพระอาจารย์นาค โฆโส โด่งดังมากและท่านมักจะเดินธุดงค์ผ่านมาทางยโสธร-ร้อยเอ็ด-มหาสารคราม เป็นประจำ แล้วก็มักจะมาพักอบรมสั่งสอนญาติโยม ณ วัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดมหาสารคราม ซึ่งมีเขตติดต่อกันกับจังหวัดร้อยเอ็ด 

                หลวงปู่ได้เล่าเรื่องท่านพระอาจารย์นาค โฆโส ให้พระภิกษุสามเณรฟังว่า ท่านพระอาจารย์นาค  โฆโส  ที่ผมรู้จัก คือ องค์เดียวกันกับในหนังสือประวัติ เรื่อง  สามเณรนาคเที่ยวกรรมฐาน นั่นเอง..มูลเหตุที่ทำให้ผมได้เข้ามาบวชก็เพราะได้พบท่าน ได้ฟังเทศน์จากท่าน ได้เข้าไปรับใช้ท่านหลายครั้ง จำไม่ได้ว่ากี่ครั้ง เสียดายที่ท่านมาด่วนมรณภาพเร็วไปหน่อย ถ้าท่านไม่ด่วนมรณภาพเสียก่อนจะช่วยให้วงการพระกรรมฐานของเรามีชื่อเสียงยิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกมากทีเดียว  ท่านมีอากัปกิริยาที่น่าเลื่อมใสมาก ท่านอุทิศชีวิตให้กับการเดินธุดงค์จริง ๆ แม้แต่ตอนหลังที่ผมไปเมืองลาวแถบภูเขาควาย  ชาวบ้านแถวนั้นยังบอกว่าเณรนาคเคยมาอยู่ที่นี่(ภูเขาควาย) เรื่องเทศน์นี่ไม่มีใครจับ  ท่านเทศน์เก่งมาตั้งแต่ยังเป็นสามเณร รูปร่างท่านสูงสง่าภูมิฐานมาก ผิวขาว  ท่านเป็นชาวยโสธร ผมตั้งใจว่าเมื่อผมบวชแล้วจะขอติดตามท่านไป แต่พอหลังจากผมบวชแล้วก็ไม่ได้พบท่านอีกเลยรอฟังข่าวว่าท่านจะมาอีกเมื่อไรก็ไม่ได้ข่าว ในช่วงนั้นไม่ทราบว่าท่านไปธุดงค์ทางไหน ผมอยู่ทางนี้(วัดป่าศรีไพรวัน) ก็นับว่าเป็นบุญของผมอีกเหมือนกันที่มีครูบาอาจารย์กำลังชักชวนกันที่จะเดินทางไปกราบหลวงปู่มั่นกันหลายคณะ ผมจึงเลือกไปกับคณะของหลวงปู่ป่องซึ่งเป็นญาติหรือเป็นหลวงน้าของผมนั่นเอง..และแล้วผมก็ไม่มีโอกาสได้พบกับท่านพระอาจารย์นาคอีกเลย จนได้มาทราบข่าวว่าท่านมรณภาพ เมื่ออายุของท่านเพียง ๔๑ ปี เท่านั้นเอง เสียดายมาก เสียดายจริงๆ . ( ถอดเทปมาเพียงบางตอนที่หลวงปู่ปรารภเกี่ยวข้องกับท่านพระอาจารย์นาค)


เรื่องสามเณรนาคเที่ยวกรรมฐาน

                ในสมัยเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้วนั้นได้มีหนังสือบันทึกเรื่องราวในแวดวงพระกรรมฐาน จากประสบการณ์จริงของสามเณรองค์หนึ่ง ที่เที่ยวธุดงค์เดี่ยวดั้นด้นไปโดยลำพัง  ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ  สารพัดอย่างน่าทึ่งและน่าสนใจ เป็นวิถีชีวิตจริงด้านหนึ่งของนักปฏิบัติธรรม ที่ต้องแน่วแน่มีสัจจะมีความเพียรและความทรหดอดทนต่อสู้กับกิเลสทั้งมวลอย่างน่ายกย่องสรรเสริญยิ่ง ควรที่จะได้ศึกษาไว้เป็นแบบอย่างในทางปฏิบัติสืบไป

                สามเณรนาคองค์นี้มีตัวตนจริงๆ ชื่อ บุญนาค  แต่มีน้อยคนที่จะทราบว่าสามเณรบุญนาคนี้เป็นลูกศิษย์สายพระอาจารย์เสาร์-หลวงปู่มั่น ท่านมีชื่อว่า นาค นามสกุลกองปราบ เกิดที่บ้านด่าน ต.หนองสิม อ.บุ่ง จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันบ้านด่านอยู่ในเขต ต.สามแยก อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร) บิดาชื่อว่า นายเนตรวงศ์ กองปราบ มารดาชื่อ นางทอง กองปราบ  มีพี่น้องรวมกันทั้งหมด ๘ คน เป็นหญิง ๕ คน ชาย ๓ คน ท่านเป็นคนสุดท้อง เกิดเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๓ พี่ชายคนต่อจากท่านก็ได้ออกบวชเป็นพระภิกษุเช่นกัน และมีชื่อคล้องจองกันคือ ชื่อว่า ครุฑ

                ท่านมีอุปนิสัยใฝ่ในทางเป็นนักบวช ตั้งแต่ยังเยาว์วัยจึงได้ออกบวชเมื่ออายุได้ ๙ ขวบ เมื่ออายุย่างเข้า ๑๕ ปี  ท่านได้จากบ้านออกเดินธุดงค์ไปทั่วทั้ง ๒ ฝั่งลุ่มแม่น้ำโขงโดยลำพังองค์เดียว มีความเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ตั้งมั่นอยู่ในธุดงควัตร จนผ่านพ้นภยันตรายนานัปการมาได้ ดังปรากฏรายละเอียดอยู่ในหนังสือ สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน  ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของพระอาจารย์สิงห์ พระมหาปิ่น เป็นสามเณรนักเทศน์ฝีปากเอก อยู่จนอายุล่วงเข้า ๒๒  ปี  จึงเลยไปกรุงเทพฯ  และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปี ๒๔๗๕ ที่วัดบรมนิวาสโดยมีเจ้าจอมมารดาทับทิม ที่วังกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช โยมอุปัฏฐากเป็นเจ้าภาพบวชให้ท่าน โดยได้รับฉายาว่า โฆโส

                ขณะนั้นพระอาจารย์ใหญ่เสาร์ซึ่งท่านได้กลับบ้านเกิดในปี พ.ศ.๒๔๗๙ พระอาจารย์นาคได้ติดตามไปกราบคารวะองค์ท่านถึงบ้านข่าโคม และนิมนต์ให้ไปแสดงธรรมโปรดเจ้าจอมมารดาทับทิมที่กรุงเทพฯ ซึ่งท่านเจ้าจอมฯได้มีศรัทธาสร้างผ้าป่า และติดตามด้วยกองมหากฐินให้บุตรชายและตัวแทนชาวกรุงขึ้นมาทอดถวายยังวัดบ้านข่าโคมด้วย  พระอาจารย์นาค โฆโส ได้ถือโอกาสกลับมาเยี่ยมมารดาซึ่งบวชเป็นผ้าขาวอยู่ที่บ้านด่าน ราว พ.ศ. ๒๔๘๑  เป็นต้นไปในช่วงฤดูแล้งทุก ๆ ปีเป็นประจำ จนถึงราว พ.ศ.๒๔๘๘ พี่ชายของท่านที่ชื่อพระอาจารย์ครุฑ  ได้ถึงแก่มรณภาพ ท่านได้ให้เก็บศพไว้ ปีต่อมา คือ ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โยมมารดาของท่านก็ถึงแก่กรรมลงอีก ญาติจึงพร้อมกันเก็บศพไว้รอท่านอีกจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๔๙๐ ท่านก็ได้เดินทางมาจัดงานทำบุญฌาปนกิจศพอุทิศส่วนกุศลให้แก่มารดาและพี่ชายพร้อมกัน

                ปีต่อมาท่านจึงได้กลับมาพำนักจำพรรษาที่บ้านเกิด ณ วัดสุมังคลารามและได้ไปสร้างวัดไว้ที่บ้านคำไหล  ต.นาอุดม  อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร อยู่ที่บ้านเกิดได้ ๒ ปี ท่านได้นำครอบครัวของพี่ชาย อพยพไปอยู่ที่บ้านท่าตูม ต.นาคำ  อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม  และต่อมาอีก ๒ ปี คือ ปีพ.ศ.๒๔๙๔ ท่านได้เดินทางไปเยี่ยมและถึงแก่มรณภาพที่บ้านท่าตูมนี้เอง สิริรวมอายุได้ ๔๑ ปี (คัดมาจากหนังสือ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล)

                เมื่อหลวงปู่สมชายทราบว่าท่านพระอาจารย์นาค โฆโส เดินธุดงค์ผ่านมาเมื่อไร พักอยู่ที่ไหน หลวงปู่ก็จะไปกราบขอรับฟังธรรมจากท่านและอยู่รับใช้ตามสมควรแก่กาลเวลา
                แต่การเดินทางไปฟังเทศน์ของหลวงปู่สมชายต้องหลบไปโดยที่ให้คุณตารู้ไม่ได้เลยเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการกระทำผิดต่อลัทธิและศาสนาของบรรพบุรุษอย่างร้ายแรงทีเดียว วันไหนที่คุณตาหลวงเสนาสืบรู้เข้าท่านก็จะต้องถูกจับลงโทษทันที บางครั้งถูกเฆี่ยนตี และถูกมัดมือไพล่หลังตากแดด อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น และเพื่อจะได้เข็ดหลาบจดจำไม่ทำอีก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการระมัดระวังแค่ไหน การกระทำของหลวงปู่สมชาย ก็หาได้รอดพ้นจากสายตาของคุณตาหลวงเสนาไปได้ไม่ บางครั้งก็ถูกจับได้ และได้ถูกลงโทษดังกล่าวมาแล้วนั้น คือถูกเฆี่ยนตีและถูกมัดมือไพล่หลังตากแดดมาแล้วหลายครั้ง ถึงแม้ว่าท่านจะถูกคุณตาลงโทษอย่างไร ท่านก็ไม่เคยร้องไห้ ไม่เคยขอความเห็นใจจากผู้ลงโทษเลยเด็ดขาด ยอมรับผิดโดยดุษฎี..นิ่ง..เงียบ..เฉย..ตลอดเวลา  เมื่อคุณตาซักถามว่า เข็ดหรือยัง!. หลาบหรือยัง!.. ท่านก็นิ่งเงียบ เฉย อยู่อย่างนั้น การสนใจอ่านหนังสือธรรมะ หรือหนังสือพุทธประวัติ ตลอดจนการไปฟังเทศน์พระกรรมฐานไปทำบุญและรับใช้พระตามวัดต่างๆ ที่เป็นสำนักปฏิบัติก็ได้ดำเนินไปเรื่อย ๆ ไม่หยุดยั้ง แต่ท่านก็ทำอย่างสุขุมรอบคอบยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน เพราะเกรงใจคุณตา และกลัวว่าคุณตาจะลงโทษอีกนั่นเอง

พ.ศ. ๒๔๘๗
บรรพชา

                เมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เท่ากับว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้น หรือรุมเร้าให้ท่านหันเข้าสู่โลกุตรธรรมเร็วยิ่งขึ้น และภายหลังจากที่พี่สะใภ้ได้จากไป ท่านก็ปฏิบัติหน้าที่ของท่านโดยสมบูรณ์ทุกประการ เมื่อเห็นว่าเป็นโอกาสอันสมควรแล้ว ท่านจึงได้ปรารภเรื่องต้องการออกบวชให้พี่ชายได้รับทราบ พี่ชายเห็นว่าคงเป็นไปไม่ได้  จึงได้พูดขึ้นมาว่า ถ้าบวชได้ก็ดี ไม่ขัดข้อง..เมื่อท่านเห็นว่าได้รับอนุญาตแต่โดยดีเช่นนี้แล้ว จึงได้รีบจัดแจงเตรียมสิ่งของในการเดินทางทันที เพราะเกรงว่าพี่ชายจะกลับใจ หรืออาจจะเปลี่ยนคำพูดเสียก่อน พอเตรียมสิ่งของต่าง ๆ เสร็จ ราวๆ เที่ยงคืน ท่านจึงได้ก้าวเท้าออกจากบ้านเดินทางผ่านทุ่งนาของท่านเองโดยไม่อาลัยอาวรณ์ ต่อทรัพย์สิน เครื่องผูกพันใดๆ ที่ท่านแสวงหามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของท่านเองอีกเลย โดยมุ่งหน้าเดินตรงสู่ วัดป่าศรีไพรวัน อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งทราบมาก่อนแล้วว่าที่วัดแห่งนี้ได้มีญาติห่างๆ บวชอยู่ก่อนแล้วรูปหนึ่งชื่อพระป่อง (หลวงปู่ป่อง จนฺทสาโร) พอรุ่งเช้าก็เข้าไปกราบนมัสการมอบกายถวายตัวเป็นนาค กับ ท่านพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น ท่านพระอาจารย์เพ็ง ผู้เป็นเจ้าอาวาสได้เมตตารับไว้เป็นศิษย์แล้วฝึกหัดสอนคำขานนาคให้ และในระหว่างนี้ หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล แห่งวัดป่าสันติกาวาส จังหวัดอุดรธานี ซึ่งสมัยนั้นหลวงปู่บุญจันทร์ได้เดินทางมาพักอยู่ที่วัดป่าศรีไพรวัน ก็ได้เมตตาช่วยแนะนำฝึกฝนอบรมด้าน ระเบียบ มารยาทและแนะนำข้อวัตรปฏิบัติให้อีกแรงหนึ่ง ซึ่งนับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนฝึกอบรมหลวงปู่สมชายอีกรูปหนึ่งเช่นกัน  เมื่ออยู่ฝึกฝนอบรมพอสมควรแล้วท่านพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ก็ได้นำพาไป บรรพชาเป็นสามเณร ณ อุโบสถวัดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีท่านเจ้าคุณพระโพธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) เป็นพระอุปัชฌาย์

                บรรพชาเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีวอก อายุ ๑๙ ปี

พ.ศ.๒๔๘๗
จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัน
ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

                ภายหลังจากบรรพชาแล้วก็ได้พำนักจำพรรษาที่ วัดป่าศรีไพรวัน ๑ พรรษาในสมัยนั้น วัดป่าศรีไพรวัน เปรียบเสมือนศูนย์กลางของพระสายอรัญญวาสีในภูมิภาคนี้ ครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่หลายรูปจะเดินทางมาจากทิศไหนก็มักจะแวะเข้ามาพักแรมที่นี่ หรือจะเดินทางต่อไปยังสำนักครูบาอาจารย์ไหน ก็จะมาพักแรมกันที่นี่ เช่นกัน ซึ่งครูบาอาจารย์เหล่านั้นก็มักจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่า ได้เดินทางไปกราบหลวงปู่มั่น...ได้ไปฟังเทศน์พระอรหันต์  เพิ่งกลับลงมา... บ้างก็พูดคุยสนทนากันว่า มาพักเตรียมตัวเพื่อจะเดินทางไปสู่สำนักหลวงปู่มั่น  เพื่อจะไปกราบพระอรหันต์...คำพูดทำนองนี้จะได้ยินได้ฟังแทบทุกวัน เพราะจะมีครูบาอาจารย์เวียนเข้าเวียนออกกันไม่ได้ขาด เพียงแค่ได้ฟังจากครูบาอาจารย์พูดคุยสนทนากันถึงเรื่องราวของหลวงปู่มั่น หลวงปู่สมชาย ก็มีความเลื่อมใสศรัทธาใคร่ที่จะไปกราบเท้าให้ได้ในเร็ววัน

พ.ศ. ๒๔๘๗ (ปลายปี)
ถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น

                ในระหว่างที่หลวงปู่ สมชาย ฐิตวิริโย เป็นสามเณรอยู่ที่วัดป่าศรีไพรวันนั้น ท่านได้ยินกิตติศัพท์ล่ำลือว่าหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นพระอรหันต์ ผู้หมดจดจากกิเลส จึงทำให้หลวงปู่สมชาย มีความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง และประสงค์ใคร่ที่จะได้เห็นพระอรหันต์ขีณาสพในสมัยปัจจุบันอย่างสุดชีวิตจิตใจ ดังนั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว จึงได้กราบลาท่านพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ผู้เป็นเจ้าอาวาส และได้ติดตามหลวงปู่ป่อง จนฺทสาโร ซึ่งเป็นคนหมู่บ้านใกล้กัน  คือหลวงปู่ป่อง เป็นคนบ้านหนองเข็ง ส่วนหลวงปู่สมชาย เป็นคนบ้านเหล่างิ้ว ถ้านับโดยญาติหลวงปู่ป่องมีศักดิ์เป็นหลวงน้าของหลวงปู่สมชาย นั่นเอง  

                คณะของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ที่จะเดินทางไปกราบหลวงปู่มั่นในคราวนั้นมีด้วยกัน ๕ รูป ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่สำนักหลวงปู่มั่นภายหลังจากออกพรรษาในปีนั้นเอง(พ.ศ.๒๔๘๗) ในระหว่างทางที่ผ่านไป คณะของหลวงปู่ก็ได้แวะกราบครูบาอาจารย์และศึกษาข้อวัตรปฏิบัติตามสำนักกรรมฐานที่อยู่ในรายทางเรื่อยไป เช่น สำนักของท่านพระอาจารย์แดงวัดป่าสักวัน อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักของท่านพระอาจารย์สอน ภูค้อ เป็นลำดับไป จนถึงเขตสาขาสำนักหลวงปู่มั่น คือ สำนักของท่านพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน วัดป่าบ้านโคกมะนาว ซึ่งเป็นสำนักหน้าด่านตั้งอยู่รอบนอก โดยปกติแล้ว ผู้ที่จะเข้าไปสู่สำนักหลวงปู่มั่นจะต้องผ่านการฝึกฝนอบรมจิตใจ และฝึกระเบียบมารยาทให้เรียบร้อยเป็นอย่างดีเสียก่อน ครูบาอาจารย์จึงจะปล่อยให้เข้าไปถึงสำนักหลวงปู่มั่นได้ สำหรับหลวงปู่ สมชาย ฐิตวิริโย และคณะก็อยู่ในฐานะ เช่นนั้นเหมือนกัน เมื่อได้อยู่ฝึกฝนอบรมจิตใจ และฝึกมารยาทอยู่กับท่านพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน พอสมควรแล้ว ท่านพระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน จึงอนุญาตให้เดินทางเข้าไปสู่สำนักหลวงปู่มั่นได้ในเวลาต่อมา หลวงปู่สมชาย พร้อมด้วยคณะครูบาอาจารย์ ซึ่งมีรายนามดังต่อไปนี้ คือ

                ๑. ท่านพระอาจารย์ ประสบ

                ๒.  ท่านพระอาจารย์ อินตา

                ๓. หลวงปู่ป่อง จนฺทสาโร

                ๔. หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ(พระโพธิธรรมาจารย์เถร)

                ๕. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย (ในขณะนั้นยังเป็นสามเณร)

                ทั้งหมดได้พากันเข้าไปมอบกายถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ณ.วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ในขณะนั้น หลวงปู่ สมชาย ยังเป็นสามเณร ในลำดับแรกเมื่อได้เข้าไปถึงสำนักหลวงปู่มั่น ก็ได้รับกระแสแห่งบารมีธรรมของหลวงปู่มั่นปกคลุมทั่วหัวใจ และได้เห็นความสะอาดสะอ้านภายในบริเวณวัด  ตลอดถนนหนทาง และสถานที่อยู่ของพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติธรรมทุกแห่ง มีแต่ความร่มเย็น ร่มรื่น สวยงามตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ชวนให้ต้องการภาวนา  ดูประหนึ่งว่าจิตใจเริ่มเป็นสมาธิ ตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าสู่สถานที่ปฏิบัติ นอกเหนือกว่านั้นยังได้เห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยและมารยาทอันงดงามของหลวงปู่มั่น ที่ได้เมตตาออกมาไต่ถามให้การปฏิสันถารต้อนรับอาคันตุกะชั้นผู้น้อยอย่างคณะของหลวงปู่สมชาย  จึงยังความปลื้มปีติยินดี แล่นเข้าไปจับขั้วหัวใจ ความอิ่มเอิบซาบซึ้ง ได้เกิดขึ้นอย่างแปลกประหลาดและไม่เคยได้รับมาก่อนจากสำนักใดๆ เท่า ที่ผ่านมา จึงนับว่าวันนั้นเป็นวันปฐมฤกษ์แห่งความเป็นอุดมมงคลในชีวิตที่ไม่อาจจะลืมได้เลย
                ในระหว่างที่หลวงปู่สมชายได้พักอาศัยเพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตนั้น ท่านได้ใช้ความเพียรพยายามเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติสมาธิจิต เพื่อพิสูจน์ความจริงทางพระศาสนา หลวงปู่สมชายได้ขยันหมั่นเพียรอย่างยิ่งยวด ต่อข้อวัตรปฏิบัติน้อยใหญ่ทั้งปวง  โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ส่วนการทำข้อวัตรปฏิบัติวัตรฐากครูบาอาจารย์ก็ปฏิบัติด้วยดี สม่ำเสมอ ไม่บกพร่อง ตอนกลางวันนั้นหลวงปู่สมชายไม่เคยพักผ่อนหรือเอนกายลงจำวัดเลย เว้นเสียแต่บางครั้งที่เกิดอาพาธเท่านั้น เพราะหลวงปู่เกรงว่าเวลาไม่เพียงพอที่จะประกอบความเพียรภาวนาและไม่เพียงพอที่จะศึกษาค้นคว้าน้อมรับเอาธรรมที่หลวงปู่มั่นโปรดเมตตาประสิทธิ์ประสาทให้ในแต่ละโอกาส จึงต้องคอยเงี่ยหูฟังอยู่ตลอดเวลา ด้วยบารมีธรรมกระตุ้นเตือนมาเป็นเวลาหลายภพหลายชาติแล้ว จึงทำให้ท่านเกิดความรู้สึกซาบซึ้งต่อธรรมที่ได้รับจากองค์อรหันต์ อย่างที่ไม่สามารถนำวัตถุภายนอกใดๆ มาเปรียบได้

                ตลอดเวลาที่อยู่ภายใต้ร่มโพธิสมภารของหลวงปู่มั่นนั้น ได้มีเหตุการณ์หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นมาก มาย  แต่ก็ได้นำธรรมของหลวงปู่มั่นมาใช้อยู่ตลอดเวลา คำพูดของหลวงปู่มั่นจะก้องในโสตประสาทตลอดเวลาว่า อย่างมองเหตุการณ์ ให้มองที่ใจ.. ว่าใจของเรานั้นกวัดแกว่งไปตามเหตุการณ์ของโลกธรรมแปดหรือเปล่า ดีใจต่อคำชมเชยสรรเสริญเยินยอหรือเปล่า โกรธเกลียดต่อคำตำหนินินทาหรือเปล่า สิ่งที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ จะมีให้พิจารณาตลอดทุกวัน  และได้พบเห็นครูบาอาจารย์ผู้หลักผู้ใหญ่หลายรูปหมุนเวียนเข้าออกมารับฟังโอวาทธรรมจากหลวงปู่มั่นทุกวันอีกเช่นกัน  ซึ่งหลวงปู่สมชายและสามเณรอีก ๓-๔ รูปก็มีหน้าที่ต้มยาไว้ถวายครูบาอาจารย์ได้ดื่มได้ฉันดับกระหายเป็นประจำวัน

ธรรมสำคัญกว่าวัตถุ

                วันหนึ่งในฤดูหนาว บรรดาพระเถรานุเถระ พระภิกษุ สามเณร ได้เข้าไปกราบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นจำนวนมากจนเต็มกุฏิเพื่อขอรับฟังธรรมภาคปฏิบัติ ส่วนหลวงปู่สมชาย (ในสมัยนั้นเป็นสามเณรสมชาย) และหมู่คณะซึ่งเป็นสามเณรด้วยกันหลายรูป ไม่มีโอกาสที่จะขึ้นไปรับฟังธรรมบนกุฏิได้ เนื่องจากมีเหตุสองประการคือ ๑. สถานที่นั่งมีไม่เพียงพอ ๒. สามเณรต้องมีหน้าที่ถวายการอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ พระเถรานุเถระ และพระอาคันตุกะน้อยใหญ่ที่มาสู่สถานที่ เพราะตามปกติแล้วสำนักปฏิบัติ หรือวัดพระกรรมฐาน พอถึงตอนเย็นบรรดาสามเณรทั้งหลายก็ต้องพากันต้มยาสมุนไพร เพื่อถวายพระ และถวายครูบาอาจารย์เป็นประจำทุกวัน ประจวบกับในตอนนั้นหลวงปู่สมชายกับเพื่อนสามเณรด้วยกัน ได้พากันต้มน้ำยาสมุนไพรไว้ถวายครูบาอาจารย์หม้อหนึ่ง เมื่อได้ยินกระแสเสียงหลวงปู่มั่นเทศนาธรรม ดังกังวานมาจากกุฏิ  สามเณรทั้งหลายก็ได้พากันละจากหม้อต้มยารีบมาฟังยังสถานที่ประจำ คือบริเวณใต้ถุนกุฏิของหลวงปู่มั่นนั่นเอง

                เมื่อมาถึงกุฏิหลวงปู่มั่น ก็มองเห็นพระเถรานุเถระนั่งประจำที่อยู่เต็มกุฏิไปหมด ล้วนแต่องค์สำคัญ ๆ ทั้งนั้น เห็นว่าไม่มีโอกาสจะขึ้นข้างบนไปฟังได้แล้ว  จึงได้พากันหลบเข้าไปยืนฟังอยู่ ณ บริเวณใต้ถุนกุฏิด้วยความตั้งอกตั้งใจ ทั้งบริเวณ เงียบสงบ ไม่ได้ยินแม้เสียงลมหายใจของตัวเอง จะมีก็แต่กระแสธรรมที่หลั่งออกจากจิตใจของหลวงปู่มั่นกลั่นออกมาเป็นกระแสเสียงให้พวกเราได้ยินทุกๆ คำที่หลุดออกมาจากปากของหลวงปู่ครูบาอาจารย์ทุกรูปต่างจดจ้องเปิดหัวใจรอรับกันทุกคำพูด โดยจะมิให้ตกหล่นได้เลยทีเดียว บางคำหรือบางตอนหลวงปู่พูดค่อย ๆ เบา ๆ พวกสามเณรเกรงว่าจะฟังไม่ชัดเจนก็พากันเขย่งเท้า ตะแคงคอ เงี่ยหูรอรับฟังกระแสแห่งธรรม ด้วยจิตใจจดจ่ออยู่กับกระแสเสียงแห่งธรรมนั้นทุกลมหายใจ จนกระแสเสียงธรรมนั้นไม่ได้ผ่านเข้าโสตประสาทหู คือ ผ่านเข้าสู่หัวใจโดยตรง จนทำให้ลืมนึกถึงหม้อยา ที่ได้พากันต้มเอาไว้ และลืมนึกถึงความเย็นยะเยือกของอากาศในฤดูหนาว ในขณะนั้นแม้ผ้าจีวรจะห่มคลุมกายก็ไม่ได้นำติดตัวไปด้วย สิ่งที่คลุมกายมีเพียงสบงกับผ้าอังสะเท่านั้น

                ในวันนั้นหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต องค์อรหันต์ได้อธิบายธรรมชั้นสูงขั้นวิจิตรพิสดารละเอียดอ่อนลึกซึ้งมากกว่าทุกวัน  และในระหว่างกระแสธรรมกำลังหลั่งไหลเข้าสู่หัวใจอยู่นั้น  ก็มีเสียงสามเณรซุบซิบบอกกันให้ไปดูหม้อยาที่พากันต้มไว้ต่างรูปต่างก็เกี่ยงกันไปเกี่ยงมา แล้วก็เกี่ยงมาถึงสามเณรสมชาย แต่เนื่องด้วยขณะนั้นทุกรูปก็กำลังใจจด ใจจ่อ อยู่กับการฟังธรรม   ต่างรูปต่างก็กลัวว่าธรรมจะขาดตอนหรือพลาดโอกาสทองจึงสงบนิ่งอยู่ไม่สนใจกับเรื่องหม้อยา  และทุกรูปก็ยังคงนิ่งฟังอยู่ต่อไป และแล้วก็มีเสียงซุบซิบบางรูปสอดขึ้นมาว่า ถ้าครูบาเณรสมชายไม่ไปดู ครูบาต้องรับผิดชอบเรื่องหม้อยานะ .. ท่านก็ยังคงเงียบและตั้งอกตั้งใจฟังธรรมต่อไปจนหลวงปู่มั่นเทศนาจบลง สามเณรสมชายจึงได้รีบออกไปดูหม้อยาทันที และตั้งใจว่าจะรินเอาน้ำยาร้อนๆ ขึ้นไปถวายครูบาอาจารย์ แต่ปรากฏว่าช้าไปเสียแล้ว น้ำยาที่ต้มไว้นั้นเหือดแห้งจนหม้อยาแตก ก้นทะลุ และใช้การไม่ได้อีกต่อไป.

                เมื่อหมู่คณะเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นดังนั้นต่างรูปต่างก็พากันตำหนิติเตียนและกล่าวโทษสามเณรสมชาย ว่าทำให้ของสงฆ์เสียหาย พระผู้ใหญ่บางองค์ถึงกับดุด่าอย่างรุนแรงว่าจะต้องถูกลงโทษตามกฎระเบียบบ้าง จะต้องให้หาหม้อลูกใหม่มาใช้คืนบ้าง เพราะความหวั่นเกรงต่อหลวงปู่มั่นจึงได้พากันยกความผิดทั้งหมดมาให้ท่านรับแต่เพียงผู้เดียว สามเณรสมชายท่านมีนิสัยเป็นลูกผู้ชายเต็มตัวอยู่แล้ว เมื่อผิดท่านก็ยอมรับผิดแต่โดยดี จะลงโทษสถานใดท่านก็ยอมทั้งนั้น เพื่อให้หมู่คณะสบายใจ ขอแต่เพียงให้ได้มีโอกาสอยู่ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นเท่านั้นก็เป็นที่พอใจแล้ว  ด้วยกุศลเจตนาที่มีอยู่เป็นที่ตั้ง ประกอบด้วยบารมีธรรมที่เคยสร้างไว้บ้างจึงทำให้ท่านไม่หวั่นไหวต่อการตำหนิหรือการถูกลงโทษจากหมู่คณะ หลวงปู่สมชายท่านจึงไม่พูดโต้เถียงหรือแถลงการณ์แก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้น ..นิ่งเงียบ ! ยอมรับผิด ยอมรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนของครูบาอาจารย์อยู่ด้วยอาการสงบตลอดเวลา..

                ในขณะที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหม้อยาแตกชำรุดใช้การไม่ได้นั้น ด้วยเดชะบุญบารมีกับที่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เดินผ่านมาทางนั้นพอดี และหลวงปู่คงได้มองเห็นหม้อยาก้นทะลุตั้งอยู่บนเตานั้นด้วย หลวงปู่ท่านจึงได้หัวเราะอยู่ในลำคอออกมาเบาๆ ซึ่งเป็นลักษณะการเข้าใจความหมายได้ดีกว่าคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้นไม่ตำหนิการกระทำอันนั้นแต่อย่างใด พร้อมกันนั้นหลวงปู่มั่นท่านยังได้ปรารภออกมาเบาๆ ว่า ธรรมดีกว่าวัตถุ และหายากกว่าวัตถุภายนอกมาก..  คำพูดของหลวงปู่มั่นเพียงสองประโยคเท่านั้น  ก็ทำให้บรรยากาศที่กำลังตึงเครียดอยู่นั้น กลับจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันที  ทุกรูปที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้นก็มีสีหน้าเบิกบานอย่างมองเห็นได้ชัด สำหรับสามเณรสมชายท่านยิ่งมีความปลื้มปีติและมีความซาบซึ้งในคุณธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ที่หลวงปู่มั่นท่านสามารถเข้าใจเจตนาของท่านได้ถูกต้องและเป็นธรรม สมกับที่บัณฑิตยกย่องสรรเสริญว่า เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐจริงๆ แต่ก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร จึงจะเหมือนความรู้สึกภายในได้  
                แต่ก่อนข้าพเจ้าเคยคิดสงสัยว่า ด้วยเหตุใดในครั้งพุทธกาล พอฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันได้รวดเร็วเหลือเกิน พอหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านได้เล่าเรื่องการฟังเทศน์จากหลวงปู่มั่น เมื่อสมัยที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่นั้น คือมีความตั้งใจฟังจริงๆ โดยเสียงเทศน์นั้นไม่ได้ผ่านทางโสตประสาทหูเลย คือเข้าสู่ใจโดยตรง จึงทำให้ได้แง่คิดว่า ครั้งพุทธกาลที่พระสาวกทั้งหลายได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นกันเป็นจำนวนมาก ชะรอยคงเป็นในทำนองเดียวกันนี้กระมัง เพราะในครั้งพุทธกาลมีคนสนใจธรรมกันมาก ประกอบกับมีบารมี เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ฉะนั้นความตั้งใจมั่นก็เป็นบารมีส่วนหนึ่ง เป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้ได้บรรลุธรรมเร็วขึ้น พอได้ฟังธรรมจึงสามารถเข้าใจ และสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลทันที

พ.ศ. ๒๔๘๘
จำพรรษา ที่ วัดดอยธรรมเจดีย์
ตำบลโคกศรีสุพรรณ  อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร

                หลังจากสามเณรสมชาย ท่านได้เข้าไปมอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโตแล้ว ท่านก็ได้ตั้งใจศึกษาธรรมและศึกษาข้อวัตรปฏิบัติน้อยใหญ่ทั้งปวงอย่างอุทิศชีวิตตลอดมา เมื่อเห็นว่าจวนจะถึงฤดูกาลพรรษา ท่านก็ได้เปิดโอกาสให้องค์อื่นได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาธรรมบ้าง เพราะสถานที่พักในสมัยนั้นมีจำกัด ท่านจึงได้กราบลาหลวงปู่มั่น ออกติดตามครูบาอาจารย์ไปบำเพ็ญและจำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ  วัดดอยธรรมเจดีย์  อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ และคอยเวลาเข้าไปศึกษาธรรมจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในโอกาสใหม่ต่อไป แต่นอกฤดูกาลพรรษานั้นท่านก็ได้เวียนเข้าเวียนออกติดตามครูบาอาจารย์ไปฟังเทศน์หลวงปู่มั่นแล้วออกมาปฏิบัติ ทำอยู่อย่างนี้จนเป็นกิจประจำ จนกระทั่งท่านมีอายุครบพอที่จะทำพิธีญัตติจตุตถกรรมให้เป็นพระภิกษุได้แล้ว

พ.ศ. ๒๔๘๙  อุปสมบท
จำพรรษาที่ วัดป่าภูธรพิทักษ์
บ้านธาตุนาเวง  อำเภอเมือง  จังหวัดสกลนคร

                เมื่อสามเณรสมชาย มีอายุครบ ๒๑ ปีบริบูรณ์ สมควรที่จะทำพิธีญัตติจตุตถกรรม เป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา   หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้เมตตามอบผ้าสังฆาฏิ ๑๑ ขันธ์ ให้ ๑ ผืน พร้อมด้วยช้อนส้อมทองเหลืองอีก ๑ คู่ เพื่อร่วมในการอุปสมบทสามเณรสมชายในครั้งนั้นด้วย ..สามเณรสมชายเห็นว่าเป็นผ้าของครูบาอาจารย์ที่ท่านเคยใช้มาก่อนแล้ว  ลูกศิษย์ไม่ควรเอาไปใช้  เพราะจัดอยู่ในประเภทบริโภคเจดีย์  อันควรแก่การกราบไหว้สักการบูชาแก่ศิษยานุศิษย์มากกว่า  ท่านจึงไม่กล้าที่จะนำไปใช้และได้เก็บไว้บูชา เมื่อหลวงปู่มั่นทราบเจตนาของสามเณรสมชายดังนั้นแล้ว หลวงปู่มั่นท่านจึงได้สั่งให้คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากของท่านที่สำคัญคนหนึ่ง ให้เป็นผู้จัดการหาผ้าสังฆาฏิผืนใหม่มาถวาย ด้วยแรงศรัทธาของคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ ที่มีต่อพระกรรมฐานสายปฏิบัติ เนื่องจากคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ เคยเกี่ยวข้องและได้อุปัฏฐากพระกรรมฐานสายปฏิบัติมานานตั้งแต่ครั้งสมัยหลวงปู่เสาร์  กนฺตสีโร ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จึงทำให้คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ เกิดความซาบซึ้งในคุณธรรมและเห็นความสำคัญในพระปฏิบัติหรือพระสายป่า เป็นอย่างมาก

                ดังนั้นเมื่อหลวงปู่มั่น มีความประสงค์สิ่งใด ถ้าสิ่งนั้นไม่เหลือวิสัยจริงๆ แล้ว คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ จะต้องจัดหามาถวายทุกอย่างให้สมเจตนา

                สำหรับเรื่องผ้าสังฆาฏิที่จะใช้ในการอุปสมบทสามเณรสมชายในครั้งนั้นก็เช่นกัน ทั้งๆ ที่สมัยนั้นผ้าหายากมาก เพราะสงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งจะเสร็จสิ้นลงใหม่ๆ ถึงแม้ว่าจะยากแสนยากเท่าไรก็ตาม คุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ ก็พยายามทุกวิถีทางที่จะให้ได้ผ้าสังฆาฏิมาถวายตามความประสงค์ของหลวงปู่มั่น จึงได้ลาดตระเวนหาซื้อผ้าตามจังหวัดต่างๆ หลายต่อหลายจังหวัด ในที่สุดก็สำเร็จสมความปรารถนา จึงนับได้ว่าคุณแม่นุ่ม ชุวานนท์ มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการอุปสมบทสามเณรสมชายในครั้งนั้น ผ้าสังฆาฏิที่นำมาถวายในครั้งนั้นคิดเป็นมูลค่า ๔๐๐ บาท (สี่ร้อยบาท) สมัยนั้นนับว่าเป็นผ้าที่มีราคาแพงมากพอสมควร เมื่อจัดบริขารทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย  หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านก็ได้ 

                มอบให้ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์  (จูม พนฺธุโลเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์

                มอบให้ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

                และมอบให้ ท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

                ได้ทำพิธีอุปสมบทกรรม ณ พัทธสีมา วัดศรีโพนเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ พระอุปัชฌาย์ได้ขนานนามทางพระพุทธศาสนาว่า ฐิตวิริโย ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีความเพียรตั้งมั่นดีแล้ว..

                ครูบาอาจารย์ที่ได้กล่าวนามมาทั้งหมดล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นทั้งสิ้นโดยเฉพาะท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ นั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร อีกด้วย

                ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เป็นทั้งลูกศิษย์ หลานศิษย์ และเป็นเหลนศิษย์ ของหลวงปู่มั่นในคราวเดียวกัน ภายหลังจากอุปสมบทกรรมเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้วหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ก็ได้ติดตามหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ไปอยู่จำพรรษา ณ วัดป่าภูธรพิทักษ์(ธาตุนาเวง) อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยมีหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้น

                กาลต่อมาเมื่อนายวัน สิทธิผล  ซึ่งอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้เก็บรักษาผ้าสังฆาฏิของหลวงปู่มั่นเอาไว้ จึงได้มาขอเพื่อนำไปสักการบูชาที่บ้าน หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านก็ได้มอบให้แต่โดยดี เพราะเห็นว่านายวัน สิทธิผล ก็เป็นลูกศิษย์อีกผู้หนึ่งที่มีความศรัทธาเลื่อมใสต่อหลวงปู่มั่นเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว ปัจจุบันไม่ทราบว่า ผ้าสังฆาฏิผืนดังกล่าวนั้นยังอยู่กับนายวัน สิทธิผล อีกหรือไม่

มูลเหตุที่ทำให้ท่านเกิดกำลังใจ

                หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เคยเล่าถวายพระภิกษุสามเณรฟังอยู่เสมอๆ ว่า สิ่งที่ทำให้ท่านเกิดกำลังใจในการประกอบความเพียรอย่างยิ่งยวด ถึงกับไม่ได้เอนกายลงนอนจำวัดเลย เป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน บางครั้งเป็นเดือน  สองเดือน ก็เคยมี เนื่องจากในคืนวันหนึ่งในขณะที่ท่านได้มีโอกาสเข้าไปอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นที่กุฏิ ท่านทำการบีบนวดเส้นถวายหลวงปู่เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว ก็เกิดความคิดในใจขึ้นมาว่า เราได้ประกอบความเพียรติดต่อกันมาเป็นระยะเวลา ๒ วัน ๒ คืนแล้วยังไม่ได้พักเลย วันพรุ่งนี้ก็จะต้องออกเดินทางไปธุระที่สกลนคร เพื่อบอกลาคุณแม่นุ่ม  ชุวานนท์ ในฐานะที่เป็นโยมอุปัฏฐาก ได้จัดบริขารถวายในคราวอุปสมบท จากนั้นก็จะไปกราบลาหลวงปู่ฝั้น  อาจาโร เพื่อจะเดินทางไปจำพรรษาที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เมื่อคิดแล้วก็เกิดความอยากจะไปพักผ่อนเพื่อบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยและเก็บกำลังไว้ใช้ในการเดินทาง ตามประสาพระบวชใหม่   

                ในขณะที่หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย กำลังกังวลอยู่กับความคิด เพียงคิดจบลง หลวงปู่มั่นก็ได้ปรารภขึ้นมาโดยทันทีว่า .จะไปพักก็ไปได้นะ สังขารร่างกายอย่าไปหักโหมมันมากนัก พรุ่งนี้เราก็จะออกเดินทางไกล เราก็ไม่ได้พักมาสองวันสองคืนแล้ว..

                คำพูดของหลวงปู่มั่น ได้ไปตรงกับความคิดของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ที่คิดอยู่พอดี จึงทำให้นึกสะกิดใจขึ้นมาทันทีว่า .หลวงปู่มั่นพูดขึ้นมาลอย ๆ หรือว่าท่านจะรู้วาระจิตของเราตามที่เราเคยได้ยินมากันแน่.. และแล้วก็วิจัยวิจารณ์รำพึงอยู่ในใจคนเดียวได้ขณะหนึ่งผ่านไป จิตก็ได้หวนนึกถึงเรื่องที่จะไปพักขึ้นมาอีก หลวงปู่มั่นก็ได้พูดขึ้นมาอีกเป็นครั้งที่สองซึ่งก็ตรงกับความคิดในขณะนั้นอีก จึงทำให้หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย แน่ใจว่า หลวงปู่มั่นล่วงรู้วาระจิตของเราจริงๆ ทำให้เกิดความอิ่มเอิบปลื้มปีติ มีความซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย หายเหน็ดเหนื่อยหายอ่อนเพลีย ความง่วงเหงาหาวนอนหายไปจนหมดสิ้น เนื่องจากเกิดความมหัศจรรย์ในเจโตปริยญาณ ญาณที่ล่วงรู้ความคิดของบุคคลอื่นของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านจึงได้ตั้งหน้าตั้งตาบีบนวดถวายหลวงปู่มั่นต่อไปอย่างนอบน้อมด้วยความเคารพอย่างสูงสุด พลางก็คิดว่า  ..เราจะต้องเอาวิชชาอันประเสริฐนี้ให้ได้ และได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวถ้าไม่ได้ไม่ยอม หลวงปู่มั่นท่านก็มีร่างกายสังขารเป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรานี่เอง เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกันกับท่าน ท่านทำได้เราจะทำไม่ได้อย่างท่านก็ลองดู...คิดว่าคงจะไม่เหลือวิสัย... เพียงแค่ความคิดจบลง.. หลวงปู่มั่นท่านก็พูดสวนความคิดนั้นขึ้นมาในทันทีทันใด ว่า จะเอาวิชชานี้จริง ๆ หรือ !..เมื่อหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้ฟังคำพูดของหลวงปู่มั่นเพียงเท่านั้น ความปลื้มปีติ ความอิ่มเอิบและความมีพลังใจก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ  เพราะความมหัศจรรย์ในความสามารถของหลวงปู่มั่นที่ท่านได้บำเพ็ญจนบรรลุวิชชาขั้นนี้ จนดำริรู้ภายในใจของผู้อื่นได้ เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์และอภิญญาสมาบัติหรือวิชชาในทางพระพุทธศาสนา เช่น เจโตปริยญาณ การกำหนดรู้วาระจิตของคนอื่นที่ท่านได้กล่าวไว้ในคัมภีร์ แต่ก่อนเราเข้าใจว่าเป็นเพียงนวนิยาย  บัดนี้กลายเป็นความจริงเสียแล้ว เราได้มีโอกาสเห็นหลวงปู่มั่นซึ่งเป็นสาวกสุดท้ายภายหลัง ยังมีความมหัศจรรย์ถึงปานนี้   ถ้าได้เห็นพระพุทธเจ้าหรือได้เห็นพระอริยสงฆ์สาวกในครั้งพุทธกาลแล้ว จะมีความมหัศจรรย์สักเพียงไร

บำเพ็ญธรรมที่ถ้ำคำไฮและถ้ำเจ้าผู้ข้า

                ภายหลังจากที่เสร็จการถวายอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นในค่ำนั้นแล้ว เมื่อหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ได้กลับถึงที่พักแล้ว แทนที่ท่านจะพักผ่อนหรือจำวัดตามที่ดำริเอาไว้ตั้งแต่แรก กับมีพลังใจอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อนกระตุ้นให้เร่งประกอบความเพียรภาวนาในคืนนั้นตลอดทั้งคืน จึงอยู่ในอิริยาบถสาม คือ ยืน เดิน นั่ง ได้แก่การเดินจงกรม นั่งสมาธิ  ภาวนาตามหลักการบำเพ็ญสมาธิจิตนั่นเอง โดยที่ไม่ได้เอนกายลงนอนตลอดทั้งคืน   

                พอรุ่งเช้าวันใหม่ก็ออกบิณฑบาตตามปกติ และภายหลังจากเสร็จภัตกิจแล้ว ท่านก็ได้เข้าไปกราบลาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต  เพื่อออกเดินทางไปจังหวัดสกลนคร  เมื่อถึงจังหวัดสกลนครและได้ทำกิจธุระทุกอย่างเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว  แทนที่ท่านจะมุ่งหน้าไปอำเภอท่าบ่อ  จังหวัดหนองคาย  ตามที่ได้ตั้งใจไว้แต่แรก กลับมีสิ่งมาดลบันดาลให้เปลี่ยนใจเข้าไปบำเพ็ญในป่าซึ่งมีถ้ำอยู่แห่งหนึ่งเรียกกันว่า ถ้ำคำไฮ บ้านลาดกระเฌอ ท่านได้พักบำเพ็ญอยู่เป็นเวลาอันสมควรแล้ว จึงได้ย้ายไปบำเพ็ญต่อที่ ถ้ำเจ้าผู้ข้า อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีนายลุนและทิดไทย เป็นผู้อุปัฏฐาก ถ้ำทั้งสองแห่งอยู่ไม่ห่างจากสำนักหลวงปู่มั่นเท่าไรนัก ท่านได้ปักกลดบำเพ็ญมาโดยตลอด ไม่เคยลดละประมาทเลยนับตั้งแต่ได้ออกจากสำนักหลวงปู่มั่นมาเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนเศษ ได้บำเพ็ญเพียรอยู่ในอิริยาบถสามและไม่เคยเอนกายลงพักผ่อนจำวัดเลย ด้วยความเอิบอิ่มและปลื้มปีติ  ซึ่งได้รับกระแสธรรมมาจากหลวงปู่มั่นเป็นพื้นฐานแล้ว และได้เดินจงกรมนั่งสมาธิบำเพ็ญภาวนาเพิ่มเติมอย่างอุทิศชีวิตจนจิตสงบเข้าสู่ฐานของสมาธิ ยิ่งทำให้ได้รับความสุขความเอิบอิ่ม  มีพลังของธรรมสูงยิ่งเป็นทวีคูณ เหลือวิสัยที่จะพรรณาให้ถูกต้องตามความรู้สึกภายในได้ ยิ่งปฏิบัติเท่าไร รสชาติของธรรมที่เกิดขึ้นจากผลของสมาธิ ทำให้เกิดความดูดดื่ม และแปลกประหลาดมหัศจรรย์ซาบซึ้งถึงใจ ยากที่จะหารสชาติอันใดในโลกมาเปรียบได้  หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย  ท่านได้มีแง่คิดขึ้นมาอย่างหนึ่งว่า สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรมใหม่ๆ ในคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่า พระองค์ได้ทรงเสวยวิมุตติสุขถึง ๗ สัปดาห์ อันนี้ไม่ต้องสงสัยเลย ของเราเพียงแค่สมาธิขั้นต่ำๆ หรือขั้นกามาวจรกุศลชั้นละเอียดเท่านั้น ยังไม่ถึงวิมุตติ วิโมกข์ หรือ ฌาน ญาณ อะไรเลย ยังมีความสุขถึงเพียงนี้ ยิ่งเพิ่มความซาบซึ้งและมหัศจรรย์ในพระพุทธเจ้าและพระศาสนาขึ้นเป็นลำดับว่าพระพุทธเจ้าท่านช่างมีความฉลาด ลึกล้ำคัมภีรภาพจริงๆ ถ้าผู้คนนึกเดาเอาโดยไม่ได้ปฏิบัติให้เกิดความสงบแล้ว จะไม่มีความซาบซึ้งแน่นอน ศึกษาตามตำรามากยิ่งสงสัยมาก เดามากเท่าไรยิ่งไกลความจริงมากเท่านั้น แต่ถ้าใครปฏิบัติจนเกิดความสงบ คือสงบจากบาป แล้วก็จะเกิดความซาบซึ้งขึ้นเอง ถ้าสงบมากก็ซึ้งมาก ถ้าสงบน้อยก็ซึ้งน้อย โดยสมควรแก่การปฏิบัติ ผู้ที่มีความซาบซึ้งในพระศาสนาจริงๆ จะมีความรักและหวงแหนพระศาสนาที่สุดยิ่งกว่าชีวิต กล้ายอมเสียสละทุกอย่าง เพื่อจรรโลงและเพื่อเทิดทูนพระศาสนา มีความเคารพในระเบียบพระธรรมวินัยน้อยใหญ่ทั้งปวงที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ และเข้าใจถูกต้องว่า พระธรรมวินัยแต่ละข้อมีความหมายสำคัญอย่างไร

                หลวงปู่เล่าเอาไว้ว่า สมัยนั้นที่สำนักของหลวงปู่มั่นจะคราค่ำไปด้วยพระภิกษุสามเณร เกจิครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่จำนวนมาก ทั้งที่มาจากทางเหนือ ทางใต้ ทางจันทบุรีหลั่งไหลกันเข้าไปรับอุบายธรรมกันไม่ได้ขาดสาย   เรื่องแปลกอีกเรื่องหนึ่งก็ได้แก่ชาวบ้านหนองผือที่ใส่บาตรเลี้ยงดูพระภิกษุสามเณร บ้านหนองผือเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ไม่เกิน ๕๐ หลังคาเรือนในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันนี้อาจจะถึงร้อยแล้วก็ได้ ฐานะความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็ทำไร่ไถนาธรรมดานี่เอง  คิดดูว่าหมู่บ้านแค่นั้นแต่เลี้ยงดูพระเป็นร้อย บางวันก็มากกว่าร้อยบางวันก็ต่ำกว่า ไม่แน่นอน ที่สำคัญคือชาวบ้านเอาข้าวปลาอาหารจากที่ไหนมาเลี้ยงดูพระได้ตลอดทั้งปี ไม่มีอด พระมากก็เหลือ พระน้อยก็เหลือเป็นอยู่อย่างนี้นับเป็นปี ๆ ไม่ขาดตกบกพร่อง อุดมสมบูรณ์ตลอด จึงต้องยอมรับในบุญญาบารมีของหลวงปู่มั่นส่วนสถานที่พักนั้นไม่น่าห่วงเพราะถ้าในวัดบ้านหนองผือแน่น บางองค์ก็ออกมาพักกับครูบาอาจารย์ตามสำนักข้างเคียงในละแวกนั้น บ้างก็พักกันตามชายป่าชายเขารอบ ๆ นั้น บ้างก็ขึ้นไปพักบนถ้ำพระ ถ้ำคำไฮ บ้านลาดกระเฌอ ตามความพอใจ แต่ถึงเวลาแล้วก็พากันเข้ามาฟังธรรมพร้อมกัน ฟังธรรมเสร็จก็แยกย้ายกันเดินกลับ  สำหรับผมก็ใช้วิธีเดียวกันกับครูบาอาจารย์ ผมออกมาพักที่ถ้ำเจ้าผู้ข้า เดินข้ามเทือกเขาภูพานลัดมาตามป่ามาลงอีกฝั่งหนึ่ง กลางคืนกว่าจะเก็บกวาดอันโน้นอันนี้ ให้เรียบร้อยแล้วจึงเดินกลับก็ดึกประมาณสี่ทุ่มบ้าง ห้าทุ่มบ้างไม่แน่นอน จุดเทียนไขใส่โคมผ้าถือเดินมาตามทางช้างที่เดินเป็นร่องไว้แล้วเดินอย่าให้ออกนอกร่องเป็นอันว่าไม่หลง โดยอาศัยแสงเทียนไขที่จุดอยู่ในโคมผ้าสีขาวส่องสว่างนำทาง บางคืนเดือนหงายก็ดีหน่อย ไม่มีศัสตราวุธใดๆ สำหรับจะป้องกันตัว  นอกจากธัมมาวุธเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อเดินทางถึงถ้ำแล้วก็ไม่ได้พักเสียทีเดียว จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ภาวนาต่อไปอีก เดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ตอนเช้าบางวันก็เข้าไปบิณฑบาตที่บ้านทิดลุน บ้านทิดไท ฉันเสร็จ ล้างบาตรเสร็จก็ออกเดินลัดเทือกเขาภูพานข้ามไปยังสำนักหลวงปู่มั่น รอคอยเพื่อจะได้เข้าไปปฏิบัติท่าน แต่บางวันก็ออกเดินทางมาตั้งแต่ตีสาม เอาบาตรเอาผ้าครองมาด้วย กะมาสว่างที่วัดหลวงปู่มั่น  มาบิณฑบาตที่นี่ฉันที่นี่อย่างนี้ก็มี..

                ถ้ำเจ้าผู้ข้าแห่งนี้เองที่ทำให้ผมได้รับคุณธรรมเป็นครั้งแรกในชีวิตของนักบวช สมัยนั้นพระผู้ใหญ่บางรูปไม่ยอมให้ผมเข้าใกล้หลวงปู่ ผมขอพักสักเดือนครึ่งเดือนก็ไม่ยอมให้ผมพัก บ้านผมก็ไม่ได้อยู่ที่นี่ ญาติพี่น้องก็ไม่มี  ขอพักเพื่อฟังธรรมสัก ๑ เดือน แล้วจะไป ..ท่านบอกว่าไม่ได้คำเดียว..งานผมก็ทำ  กิจวัตรผมก็ไม่เคยขาด  กราบเท้ากราบตีนท่าน ท่านก็อนุญาตให้เข้ามาฟังธรรมได้  แต่ให้ออกไปพักที่อื่น ผมก็ยอม แต่ก่อนจะไปขออนุญาตเข้าไปกราบลาหลวงปู่มั่นก่อน ท่านบอกว่าไม่ได้จะไปรบกวนหลวงปู่ทำไม ให้ไปเดี๋ยวนี้.ผมก็ยังดื้อ แกล้งเก็บโน่นเก็บนั่นไปตามเรื่อง รอจังหวะท่านเผลอ  ผมก็แอบเข้าไปกราบเท้าขอลาหลวงปู่ว่าจะไปพักข้างนอก.หลวงปู่บอกว่าจะไปทำไมอยู่ด้วยกันที่นี่แหละ..กราบเรียนท่านว่า..เกล้าไม่ได้อยากจากหลวงปู่เลย เกล้าไม่อยากให้ครูบาอาจารย์ท่านลำบากใจ จึงมาขอกราบลาหลวงปู่ไปพักข้างนอก แต่ขออนุญาตเข้ามาฟังธรรมทุกวัน.หลวงปู่มั่นปรารภต่อไปว่า...เอาอย่างนี้!...ข้ามภูเขาลูกนี้ไปด้านโน้นจะเป็นถ้ำเจ้าผู้ข้า เงียบสงบ ภาวนาดีแล้วจะได้รับคุณธรรมเป็นเครื่องตอบแทน แต่เสือชุมหน่อยนะ!..ให้ไปอยู่ที่ถ้ำเจ้าผู้ข้าแล้วเดินมาฟังธรรมเอาแต่ละวัน!.ผมก้มกราบเท้าหลวงปู่มั่นอีกครั้งแล้วเข้าไปเก็บบริขารออกเดินทางไปตามที่หลวงปู่มั่นสั่งทันที..เดินทางมาถึงถ้ำเจ้าผู้ข้าเป็นเวลาพลบค่ำ เงียบสงบ และเสือชุมอย่างที่หลวงปู่มั่นบอกจริงๆ เพราะยังไม่ทันที่จะวางบริขารลงจากบ่า เสียงเสือก็คำรามเรียกกันก้องกระหึ่มไปทั้งท้ายถ้ำหัวถ้ำ เดินไปยังมุมหนึ่งเพื่อจะวางบริขาร  กลิ่นสาบเสือฉุนกึก ออกมา แสดงว่าเจ้าของสาบเพิ่งจะลุกออกไปไม่นานนี่เอง เห็นข้างผนังถ้ำขึ้นเงาเป็นแถบ เสือคงเอาสีข้างมาถูจนขึ้นเป็นมันเงา ปลงบริขาร กลางกลดเสร็จนั่งพิจารณาคำปรารภที่หลวงปู่มั่นมอบให้ก่อนมา แล้วทำให้เกิดกำลังใจขึ้นมาในบัดดล  เกิดความกล้าที่จะอยู่กันคนละครึ่งทางกับเสือร้ายเจ้าของถ้ำเดิม ซึ่งจะคอยคำรามปลุกโสตประสาทให้ตื่นตัว ไม่ให้ประมาทหลับใหล หลังจากนั้นผมก็ยกมือตั้งจิตอธิษฐาน อย่างแกล้วกล้ามั่นคงว่า  ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอถึงครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ มีหลวงปู่มั่นเป็นอาทิ ข้าพเจ้าจะขอปฏิบัติบูชาเพื่อน้อมนำเอาคุณงามความดีถวายเป็นพุทธบูชาให้จงได้  หากข้าพเจ้าไม่มีบุญที่จะได้คุณงามความดีแล้วก็ขออุทิศร่างกายนี้ให้เป็นอาหารของเสือไปเสียจะเป็นประโยชน์กว่า..หากว่าข้าพเจ้ามีบุญ ไม่ตาย ก็ขอให้ข้าพเจ้าได้รับคุณธรรมความดีที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของข้าพเจ้าด้วย เทอญ...  ว่าแล้วก็ออกเดินจงกรมหน้าถ้ำและภาวนาไปด้วยว่า ไม่ดี ให้ตาย.ไม่ตายให้ดีๆ...ๆ...ๆ หมายความว่า ถ้าไม่ได้คุณธรรมความดีอย่างที่หลวงปู่มั่นบอกไว้ก่อนที่จะออกเดินทางมาแล้วละก็ ยอมให้เสือกัดตายเป็นอาหารของเสือไปเสียดีกว่า หรือเดินจงกรมอยู่ก็ให้ตกหน้าผาหล่นไปตายในก้นเหวให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย  คืนนั้นผมเดินจงกรมตลอดทั้งคืน จนฟ้าสางจิตผมสว่างโล่งโปร่ง มีความรู้ขึ้นมาในดวงจิตบอกว่า ..สิ่งต่างๆ ที่ได้ประสบมานั้น เป็นเพียงแค่โลกธรรมแปด เป็นของมีอยู่คู่กับโลกเท่านั้น.. นึกแล้วก็ต้องขอขอบคุณพระ องค์ที่ผลักไสให้ผมต้องเดินน้ำตาตกจากวัดหลวงปู่มั่นในครั้งนั้น ถ้าไม่มีเหตุในวันนั้น วันนี้ก็คงไม่มี ผมอาจจะยังไม่ได้คุณธรรมความดีขนาดนี้ก็ได้
                การอยากได้ยิน อยากได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ในสมัยผมนั้น ไม่เหมือนพวกเราอย่างทุกวันนี้ พวกเรามีความกระตือรือร้นกันน้อยเหลือเกิน ธรรมที่ผมนำมาสอนพวกเรานี้ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ต้องแลกด้วยน้ำตา.. แลกด้วยชีวิต.. เสือทั้งนั้นครับในถ้ำเจ้าผู้ข้าสมัยนั้น.. บางวันผมกลับถึงถ้ำก็ต้องมาเก็บกวาดซากวัวที่เสือคาบมากินแล้วทิ้งไว้ในถ้ำ เสือแต่ละตัวโตเกือบเท่าวัว แบกวัวชาวบ้านมากินในถ้ำได้เป็นตัว ๆ เลยทีเดียว.. มีอยู่วันหนึ่งผมก็รีบออกจากถ้ำยังไม่ทันสว่างดี  มือถือโคมเทียนก้มหน้าก้มตาเดิน เดินไปสะดุดกับวัตถุอย่างหนึ่งเข้าเต็มที่ จะว่าหินก็ไม่ใช่ เพราะเราเดินอยู่ทุกวันทางนี้ไม่มีหิน  นึกแล้วก็ส่องโคมเทียนมองหาว่าเราสะดุดอะไรกันแน่ หาไปหามากลายเป็นหัวคน..แสดงว่าเมื่อคืนเสือต้องไปคาบคนที่หมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งมากินแน่ ไม่รู้ว่ามันคาบตัวไปกินอยู่ที่ถ้ำไหนทิ้งหัวไว้ที่นี่ ถ้ำที่ผมอยู่นะครับคล้ายกับว่าพลัดกันอยู่คนละเวลากับเสือ คือกลางคืนเสือออกไปหากิน ผมเดินทางกลับมาถึงก็ดึก พักบ้างไม่พักบ้าง ส่วนใหญ่จะไม่พัก กลางวันเสือกลับมาพักในถ้ำส่วนผมก็อยู่ปฏิบัติครูบาอาจารย์ที่วัดบ้านหนองผือ จะสลับสับเปลี่ยนกันอยู่แบบนี้ ผมเข้าเสือออก เสือออกผมเข้า  ถึงขนาดนั้นนะครับเพื่อเดินไปฟังธรรมจากหลวงปู่มั่น !..แต่มาเห็นพวกเราทุกวันนี้ไม่ต้องลำบากเดินไปฟังที่ไหน ครูบาอาจารย์เอามาประเคนให้ถึงที่ ธรรมแต่ละข้อแต่ละตอนผมได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงปู่มั่นองค์อรหันต์ของแท้ ไม่ใช่อรหันต์เทียม ๆ อย่างที่มีอยู่ทุกวันนี้ แต่พวกเราบางองค์ยังดิ้นรนจะไปหาอาจารย์โน้น ดิ้นไปหาอาจารย์นั้นอีก.สมัยผมอยู่กับหลวงปู่มั่น ผมอยากจะกอดขาอยู่กับท่านตลอดเวลา ผมถูกครูบาอาจารย์ไล่ผมยังเสียใจเพราะผมไม่อยากจากไม่อยากหนีจากครูบาอาจารย์ อยากได้ยินอยากได้ฟังธรรมทุกคำที่หลุดออกมาจากปากท่าน  ถ้าธรรมที่ผมนำมาอบรมสั่งสอนพวกเราไม่ถูกต้องตามสายทางการปฏิบัติ หรือไม่ตรงกับความจริงแล้วละก็  ให้เอามีดมาตัดคอผมทิ้งได้เลย ! พวกเราชอบวิ่งไปโน่นไปนี่ เปรียบเสมือนคนไข้วิ่งหนีหมอนั่นเอง...คนไข้หรือคนป่วยต้องอยู่ใกล้ๆ หมอ เมื่อวิ่งหนีหมอก็ตายลูกเดียว !.
สำหรับหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เมื่อได้เดินทางไปถึง ท่านก็ได้ปักหลักบำเพ็ญภาวนาติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายเดือน และมีโอกาสทำสมาธิได้เต็มที่ เพราะขณะนั้นท่านได้ธุดงค์ไปเพียงองค์เดียว ท่านจึงไม่มีความกังวลใดๆ  ทั้งสิ้น เกี่ยวกับเรื่องของคนอื่น มีหน้าที่บำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความหลุดพ้นซึ่งเป็นจุดหมายที่ได้ตั้งเอาไว้

                หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านเป็นผู้เสียสละ เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ ในการออกปฏิบัติธรรมจริงๆ ท่านยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิต  เพื่อแรกเปลี่ยนเอาคุณธรรม  ท่านมีอุดมคติอยู่ว่า ...ไม่ดีให้ตาย ไม่ตายให้ดี... อันนี้เป็นปณิธานของท่าน เพราะสมัยนั้นที่ภูวัวเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด เช่น ช้าง เสือ หมี และสัตว์อื่นๆ อีกมากมาย ถ้าไม่เสียสละอุทิศชีวิตกันจริงๆ จะไม่สามารถอยู่ได้เลย บางครั้งเวลาออกเดินบิณฑบาต ยังเห็นรอยเสือขีดข่วนต้นไม้ตามสายทางที่ผ่านไป มีทั้งใหม่และเก่า บางครั้งเสือเพิ่งจะข้ามลำธารน้ำยังขุ่นๆ อยู่ก็มี ยิ่งพอตกตอนกลางคืนเสียงเสือโคร่งตัวโต ๆมันร้องคำรามอย่างน่าหวาดหวั่น มันร้องแต่ละที ในป่าที่แสนสงบวิเวกดูประหนึ่งว่า สะท้านสะเทือนหวั่นไหวไปทั้งอาณาเขตของภูเขาลูกนั้น บางคืนมีทั้งช้างและเสือ คืนไหนที่ไม่ได้ยินเสียงสิงห์สาราสัตว์ต่างๆ นั้นเป็นไม่มี

                ภูวัวเป็นสถานที่สงบ วิเวก เหมาะแก่การปฏิบัติทางจิตเป็นยิ่งนัก พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น จึงต้องไปภาวนาที่ภูวัวกันเป็นส่วนมาก  เท่าที่เคยสังเกตดูสถานที่บางแห่งพอไปถึง เรายังไม่ได้นั่งสมาธิภาวนาอะไรเลย  แต่ใจก็เกิดความสงบแปลกๆ เหมือนจะเป็นสมาธิในทันทีทันใดนั้น แสดงให้เห็นว่าสถานที่อย่างนั้นมันชวนให้ขยันภาวนา จึงทำให้นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าบทหนึ่งที่มีอยู่ในโอวาทปาติโมกข์ว่า ปนฺตญฺ จ สยนาสนํ อธิจิตฺเต จ อาโยโค ซึ่งมีความหมายว่า พึงอยู่ในสถานที่นั่ง ที่นอนอันสงัด เหมาะแก่การประกอบเอื้อเฟื้อในอธิจิต

                ภูวัวก็เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งซึ่งเหมาะแก่การฝึกจิต เพราะสิ่งแวดล้อมหลายอย่างเอื้ออำนวย เช่น มีลักษณะเป็นป่าเขา ทิวทัศน์สวยงาม น้ำดี อากาศดีพอสมควร ฤดูร้อนกลางวันอาจจะร้อนจัดไม่สบาย ก็หลบเข้าไปภาวนาในถ้ำได้ และยังมีลานหินกว้างใหญ่สะดวกแก่การเดินจงกรมและนั่งสมาธิ เวลาเปลี่ยนอิริยาบถ ก็มีโขดหินสวยๆ หลายแห่ง เหมาะแก่การไปนั่งภาวนา ในบางโอกาส มองทิวทัศน์ไปข้างหน้า จะเห็นผาสูงชันประดับไปด้วยหมู่ไม้  และภูเขาสลับซับซ้อน ทำให้เกิดความเพลิดเพลินแก่ผู้รักความสงบยิ่งนัก ในขณะนั้นอาจจะมองเห็นสมบัติในโลกทุกอย่างไม่มีความหมายสำคัญอะไรต่อชีวิตเท่ากับความสงบ ความสงบก็ดี ความสลดสังเวชก็ดี ความว้าเหว่วังเวงก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ผู้ที่เห็นว่าตัวเองจะต้องพลัดพรากจากของรักของเจริญใจฉันใด เวลาไปธุดงค์ในป่าองค์เดียวซึ่งแวดล้อมไปด้วยอันตรายรอบด้านก็เหมือนกันฉันนั้น การระลึกถึงความตาย ย่อมมีอยู่ตลอดเวลา

                ทั้งนี้หมายถึงสถานที่ซึ่งจะช่วยอบรมจิต คนเราถ้าใจแข็งกระด้าง ไม่รู้จักสลด จะเข้าใจธรรมได้ยาก  เพราะธรรมเป็นของละเอียดอ่อน ถ้าจิตละเอียดมากก็เข้าใจธรรมได้มาก ละเอียดน้อยก็เข้าใจธรรมได้น้อย  ฉะนั้นถ้าผู้อ่านพิจารณาไปด้วยก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า สถานที่นั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อการฝึกจิต
                หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เคยเล่าว่า ท่านได้คุณธรรมและได้กำลังใจจากสถานที่แห่งนี้อย่างมากมายมหาศาล หมายถึงภูวัว จึงทำให้ท่านมีความมั่นคงในพระศาสนา ยอมมอบกายถวายชีวิตอุทิศแด่พระรัตนตรัย ด้วยการปฏิบัติบูชา และยังได้ชักชวนผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสศรัทธาให้รู้จักคุณค่าประโยชน์ของธรรมด้วยวิธีการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีที่ท่านทำให้เกิดศรัทธาปสาทะต่อพระศาสนานั้น จุดสำคัญที่สุดได้แก่การฝึกทำสมาธิภาวนาให้จิตใจมีความสงบ  คือ สงบจากบาป เมื่อผู้ปฏิบัติได้สัมผัสรสชาติของความสงบ ก็จักมีความซาบซึ้งในธรรม และรู้จักคุณค่าประโยชน์ของพระศาสนา ดังนั้นหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านจึงพยายามชักชวนเพื่อนสหธรรมิกให้เห็นคุณค่าของการปฏิบัติภาวนาและนำพาเพื่อนสหธรรมิกออกธุดงค์กรรมฐานในป่าเป็นประจำทุกปีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อหมู่คณะจะมีโอกาสได้สัมผัสกับความสงบวิเวกบ้าง

                หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านได้พักบำเพ็ญอยู่ที่ภูวัวได้รับผลดีทางด้านจิตใจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ได้รับความรู้ความเข้าใจในพระศาสนาเพิ่มขึ้นอย่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ความสุข ความสงบ ความรู้ความเห็นในสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างไม่เคยได้รับมาก่อนเลย ท่านจึงปักหลักบำเพ็ญอยู่ที่ภูวัวนั้นตลอดฤดูร้อน

พ.ศ. ๒๔๙๐
จำพรรษา ที่ วัดอรัญญวาส
ตำบลขัวก่าย  อำเภอวานรนิวาส  จังหวัดสกลนคร

เมื่อใกล้ฤดูกาลพรรษาเข้ามา หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย จึงได้ออกมาจากภูวัวเพื่อเดินทางมาจำพรรษาที่วัดอรัญญวาส
ตำบลขัวก่าย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ในพรรษานี้อยู่จำพรรษากันเพียง ๔ รูป คือ

                ๑. ท่านพระอาจารย์อินตา ๒. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย  ๓. สามเณรก้าน  ๔. สามเณรประพันธ์

                ทุกรูปอยู่จำพรรษากันด้วยความผาสุกโดยตลอด หลังจากออกพรรษาแล้วได้ทราบข่าวว่าหลวงปู่ฝั้นภาวนาอยู่บนภูวัว ท่านพระอาจารย์อินตาก็ได้ชักชวนกันไปภาวนาร่วมกับหลวงปู่ฝั้นที่ภูวัว ทั้ง ๔ รูป จึง เดินจาริกไปตามป่าดง นาน ๆ จะพบบ้านคนสักครั้ง ก็พักพออาศัยบิณฑบาต ฉันเสร็จก็เดินทางต่อ พอถึงถ้ำพระ ก็ได้พบหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และท่านพระครูอุดมธรรมคุณ มาพักภาวนาอยู่ก่อนแล้ว จึงได้พากันเข้าไปกราบขอรับฟังธรรมจากท่าน ได้อยู่รับการอบรมจากหลวงปู่ฝั้นบนภูวัวนั้นเอง ภูวัวมีสถานที่สำหรับภาวนาทำความเพียรของพระโยคาวจรได้เป็นอย่างดี เลือกได้ตามอัธยาศัยชอบถ้ำอยู่ถ้ำ ชอบป่าอยู่ป่า หรือใครชอบสายธารน้ำตก ก็สามารถหาอยู่กันได้โดยง่าย ล้วนแต่ธรรมชาติสร้างและจัดสรรไว้ให้แก่นักภาวนาเป็นอย่างดีแล้วนั่นเอง ภูวัวในสมัยก่อนนั้นเป็นดงดิบจริงๆ สัตว์ป่าก็ชุกชุมมากโดยเฉพาะเสือโคร่งตัวโตๆ พอค่ำขึ้นมาก็คำรามให้สนั่นป่ารอบทิศทางกันทีเดียว ซึ่งเป็นที่น่าหวาดหวั่นเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งช้างป่าแต่ละโขลง ถ้าเดินผ่านไปด้านไหน ป่าไม้ก็จะลาบเตียนโล่งกันเป็นแถบ ๆ เพราะแต่ละโขลงก็จะมีจำนวนนับเป็นสิบเชือกกันทีเดียว  ทั้งเสือและช้างกับพระธุดงค์จึงไม่อาจจะหลีกเลี่ยงกันได้เลย การที่จะได้ผจญเสือหรือช้างจึงถือกันเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับพระธุดงค์ในสมัยนั้น

ผจญช้างป่าร่วมกับหลวงปู่ฝั้น

                กิจวัตรประจำวันสำหรับการอยู่กับหลวงปู่ฝั้นที่ภูวัว  ภายหลังจากได้ฉันภัตตาหารแล้ว ก็มักจะแยกย้ายกันหาสถานที่ภาวนาตามหลืบผา ตามถ้ำ ราวป่า ตามอัธยาศัย วันหนึ่งหลวงปู่ฝั้นได้ชวนหลวงปู่สมชายไปภาวนาที่หินก้อนน้ำอ้อย (หินค้างหิน) ซึ่งในบริเวณนี้จะมีด้วยกันหลายก้อนล้วนสวยงามน่าภาวนาทุกแห่ง หลวงปู่สมชายได้เลือกหาสถานที่แขวนกลดถวายหลวงปู่ฝั้นใต้หินก้อนน้ำอ้อยก้อนใหญ่ บรรยากาศดีมีทางเดินจงกรม ส่วนหลวงปู่สมชายก็ข้ามลำธารมาอีกฝั่งหนึ่งเพื่อไม่ให้รบกวนครูบาอาจารย์ โดยกลางกลดใต้หินก้อนน้ำอ้อยอีกก้อนหนึ่งอาศัยทางที่ช้างเดินจนเตียนแล้วนั้นเป็นที่เดินจงกรม พอตกดึกเงียบสงัดในคืนนี้ขณะที่เดินจงกรมอยู่ก็มีเสียงกิ่งไม้หักโครมครามมาแต่ไกลและก็คืบคลานใกล้เข้ามาๆ.. ๆ ทางที่หลวงปู่ฝั้นพักอยู่อีกด้วย หลวงปู่สมชายจึงละจากทางเดินจงกรมข้ามลำคลองมาฝั่งที่หลวงปู่ฝั้นพักอยู่  แล้วช่วยเก็บกลดหลบออกจากทางช้าง  เสร็จแล้วก็ปีนขึ้นไปบนก้อนน้ำอ้อยแล้วหย่อนผ้าที่ใช้สำหรับสรงน้ำลงถวายให้หลวงปู่ฝั้นจับ  หลวงปู่สมชายก็ออกแรงดึงหลวงปู่ฝั้นขึ้นไปพักเพื่อหลบช้างบนก้อนน้ำอ้อย  เหตุการณ์ดังกล่าวคาดไว้ไม่มีผิด เพียงครู่เดียวโขลงช้างนับสิบๆ เชือกก็มาถึงบริเวณที่หลวงปู่ฝั้นพักนั่นเอง หลวงปู่ฝั้นและหลวงปู่สมชายได้นั่งอยู่บนก้อนน้ำอ้อยอย่างปลอดภัยและมองเห็นโขลงช้างออกหากินหักยอดไผ่กินกันอย่างเอร็ดอร่อย เป็นเวลานาน ก็ไม่ยอมผ่านไปเสียที หลวงปู่ฝั้นทนรอไม่ไหวจึงได้หยิบเอาหลอดไม้ไผ่ที่พกติดย่ามไว้สำหรับเป่าไล่สัตว์ หรือเรียกว่านกหวีดไม้นั่นเอง  หลวงปู่ฝั้นเห็นว่าถ้าไม่เป่าไล่คงจะไม่ไปกันง่าย จึงเอาหลอดไม้เป่าขึ้น..ว๊..อ..ก..ว๊อก.!.!..ทันทีที่โขลงช้างได้ยินเสียงหลอดไม้ไผ่แล้วคงจะแสบแก้วหูและตกใจนั่นเอง ต่างตัวต่างแตกตื่นโกลาหลพากันวิ่งกลับออกไปเสียงดังสะเทือนเลื่อนลั่นสนั่นปานฟ้าผ่า ครู่ใหญ่ ๆ สถานการณ์ก็เข้าสู่สภาพปกติ พอฟ้าสางก็พากันเดินกลับลงมาที่ถ้ำพระ หลวงปู่ฝั้นได้เล่าเรื่องเมื่อคืนให้ท่านพระครูอุดมธรรมคุณและท่านพระอาจารย์อินตาฟังอย่างสนุกสนาน

                พักบำเพ็ญอยู่กับหลวงปู่ฝั้นและท่านพระครูอุดมธรรมคุณนานพอสมควรแล้วทั้ง ๔ รูป คือ ท่านพระอาจารย์อินตา หลวงปู่สมชาย สามเณรก้าน สามเณรประพันธ์ ก็ได้ขออนุญาตกราบลาหลวงปู่ฝั้น กราบลาท่านพระครูอุดมธรรมคุณ ออกเดินทางไปหาสถานที่ภาวนาแห่งใหม่มาพักอยู่ที่ถ้ำน้ำหยาด ลงไปบิณฑบาตที่บ้านทุ่งทรายจก พักอยู่ได้ระยะหนึ่งก็เปลี่ยนไปที่ถ้ำฝุ่น ถ้ำแกลบ ถ้ำแกว ถ้ำบิ้งน้อย ถ้ำบิ้งใหญ่ พักอยู่ซีกด้านนี้นานพอสมควรแล้วก็ได้รับความสงบวิเวกทางด้านจิตใจด้วยกันทุกรูป แต่ยังอยากหาประสบการณ์ไปเรื่อยๆ จึงได้ลงจากภูวัวเดินธุดงค์หาสถานที่วิเวกไปทางอำเภอบึงกาฬ แล้วเลยไปถึงอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

พ.ศ. ๒๔๙๑
จำพรรษา ที่ วัดพระงามศรีมงคล
อำเภอท่าบ่อ  จังหวัดหนองคาย

                ฤดูคิมหันต์ผ่านพ้นไป ฤดูวัสสานะใกล้จะมาถึงในอีกไม่ช้านี้ ท่านพระอาจารย์อินตา และหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย สามเณรอีกสองรูป ก็เดินทางลงจากภูวัว วิเวกไปทางอำเภอบึงกาฬ เลยไปถึงอำเภอท่าบ่อ แล้วจึงเดินย้อน กลับมาพักจำพรรษาที่วัดพระงามศรีมงคล อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ในพรรษานี้จำพรรษาด้วยกัน ๔ รูป คือ

                ๑.พระอาจารย์อินตา ๒.หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๓. สามเณรก้าน ๔. สามเณรประพันธ์

                วัดพระงามศรีมงคล เป็นสถานที่สัปปายะเหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนาอีกแห่งหนึ่ง ตามประวัติแล้วเป็นวัดเก่าแก่ที่ชำรุดทรุดโทรม หลวงปู่มั่นและหลวงปู่เสาร์ ได้เคยมาช่วยกันบูรณะวัดและซ่อมพระพุทธรูปองค์ปัจจุบัน  ซึ่งแต่เดิมในอดีตนั้นชำรุดมากจนแทบไม่เหลือเป็นองค์ เมื่อครูบาอาจารย์ทั้งสองได้ช่วยกันบูรณะขึ้นมาใหม่ พระพุทธรูปก็ปรากฏความงามมากขึ้นจากเดิมจนเปรียบไม่ได้ จนชาวบ้านพูดเล่าขาน เรียกต่อๆ มาว่า วัดพระงามต่อมาจึงมีสร้อยต่อท้ายว่า ศรีมงคล  จนกลายเป็นชื่อวัดแห่งนี้ว่า วัดพระงามศรีมงคลออกพรรษาแล้วทั้ง ๔ รูปก็พากันข้ามโขงไปธุดงค์ยังฝั่งประเทศลาว ซึ่งเป็นการธุดงค์รอนแรมในต่างแดนเป็นครั้งแรก  ท้ายสุดไปพักอยู่ที่วัดจอมไตร บ้านดงนาซ๊ก พักอยู่นานพอสมควร ก็พากันข้ามกลับมาฝั่งไทย ข้ามเรือตรงที่ตั้งวัดหินหมากเป้งทุกวันนี้ (สมัยนั้นยังไม่มีวัด)  ป่าไม้หนาแน่นมาก  สัตว์ป่าชุกชุม โดยเฉพาะหมูป่านั้นมีมากทีเดียว และไม่ค่อยกลัวคน ออกมาหากินกันเป็นฝูง ๆ ข้างกลดที่กางอยู่นั่นเอง  เสือก็ชุม งูจงอางตัวโต เพราะเป็นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ มีท่าลงกินน้ำง่าย จึงเป็นแหล่งหากินของสัตว์ป่านานา ชนิดนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: