วันอังคารที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย 3

...

มุ่งประกาศธรรม ชายฝั่งทะเลตะวันออก

                เมื่อได้รับคำแนะนำจากท่านพระอาจารย์ทิวาดังนั้นแล้ว ก็ได้ตกลงใจเดินทางมาจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรจำนวน ๑๐ รูป เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ และได้มุ่งตรงไปที่วัดเขาน้อยสามผาน  ตำบลสองพี่น้อง  อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี (วัดพิชัยพัฒนาราม) เพราะว่าเป็นสำนักปฏิบัติที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่ง สถานที่พร้อมไปด้วยสับปายะสี่บริบูรณ์มีความร่มรื่น สวยงามตามธรรมชาติ อีกทั้งความสงบ วิเวกก็ดีมาก จึงเหมาะแก่การเจริญสมณธรรมเป็นยิ่งนัก หมู่บ้านโคจรบิณฑบาตก็อยู่ไม่ไกล พอไปมาได้สะดวก นับว่าเป็นสถานที่สับปายะอีกแห่งหนึ่งซึ่งควรแก่การบำเพ็ญกรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง

                แต่พอได้ติดต่อสอบถามครูบาอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าสำนักแล้วปรากฏว่า กุฏิที่พักมีจำกัด พระภิกษุสามเณรได้เข้าอยู่ครบตามจำนวนหมดแล้ว และจะรับได้อีกไม่เกิน ๕ รูปเท่านั้น ถ้ามากกว่า ๕ รูปแล้ว ก็จะไม่สะดวกต่อการบำเพ็ญเท่าที่ควร คณะของหลวงปู่มีด้วยกันทั้งหมด ๑๐ รูป และไม่ประสงค์ที่จะแยกกันจำพรรษาอีกด้วย  จึงต้องพิจารณาหาที่จำพรรษาแห่งใหม่ต่อไป ท่านจึงดำริในใจว่า ภายในจังหวัดจันทบุรีนี้ ถ้าเราจะไปเสาะแสวงหาสำนักต่าง ๆ เพื่อจำพรรษา ก็ยังไม่ทราบว่าจะพอมีสำนักใดที่จะจำพรรษารวมกันทั้งหมดนี้ได้ เนื่องจากไม่เคยมา จึงไม่รู้จักมักคุ้นกับใครเลย ถ้าจะเดินทางกลับเมืองอีสาน หรือเวลาก็เหลือน้อยเต็มที เกรงว่าจะไปไม่ทันเข้าพรรษา ประกอบกับทั้งค่าโดยสารในการเดินทางก็หมดลงพอดี

มูลเหตุและการเกิดขึ้นของวัดเนินดินแดง

                ก่อนที่จะดำเนินเรื่องราวของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เป็นลำดับต่อไป ถ้าจะข้ามเรื่องราวในส่วนนี้ไปแล้วชีวประวัติของหลวงปู่คงจะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ด้วยเหตุนี้ทางคณะผู้รวบรวมชีวประวัติ จึงได้สอบถามเรื่องราวจากท่านผู้รู้และเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการก่อสร้างวัดเนินดินแดง และนับว่าติดตามสอบถามได้ทันการ เนื่องจากหลังจากได้สอบถามท่านเพียงปีเดียว ท่านก็ถึงแก่กรรม ท่านนั้น คือ คุณครูจวด สวิงคูณ หรืออดีตพระภิกษุจวด ซึ่งเคยบวชติดตามรับใช้ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ได้กรุณาเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ...  

                ...สมัยที่ผม(อดีตพระภิกษุจวด สวิงคูณ)บวชอยู่กับท่านพ่อลี ธมฺมธโร วันหนึ่งท่านพ่อลีปรารภขึ้นมากับผมว่า...ท่านจวด ผมมีบุญอยู่กับชาวจันท์ได้ไม่นานหรอกนะ ! ผมจะต้องจากเมืองจันทบุรีไปอยู่ที่เก่าที่ผมเคยเกิดเคยตาย  คนเมืองจันทบุรีเป็นคนมีบุญ จะได้ทำบุญกับพระสายปฏิบัติไม่ขาด ได้ทำบุญกับพระดีๆ อยู่เสมอ เมื่อหมดบุญผมแล้วจะมีพระรูปหนึ่งที่มีบุญบารมีเสมอผม จะเดินทางเข้ามาสู่เมืองจันทบุรี แต่ท่านไม่ได้มาอยู่ที่นี่แทนผมหรอก  ท่านไม่ได้มาอยู่ในเมืองอย่างนี้หรอกนะ  โน่น ! ท่านจะไปอยู่ในป่าที่หัวเขาอีกิม(ท่านพ่อลีชี้มือไปด้านทิศเหนือ) ถ้าท่านจวดอยากได้บุญให้ไปสร้างวัดรอไว้ได้เลย..ท่านพ่อลีปรารภต่อไปอีกว่า..แล้วจำไว้นะท่านจวด...

คำทำนายของท่านพ่อลี
                พ.ศ. ๒๕๐๔  จะมีพระดีผู้มีบุญเสมอด้วยเรา จะเข้ามาสู่เมืองจันท์

                พ.ศ. ๒๕๐๗  หัวเขาอีกิมจะสว่างไสวไปด้วยแสงเทียน แสงธรรม

                พ.ศ. ๒๕๑๑  หัวเขาอีกิมจะสว่างรุ่งเรือง คนเมืองจันทบุรีจะต้องรู้จัก

                พ.ศ. ๒๕๑๒  หัวเขาอีกิมจะสว่างขาวผ่องใส คนทั่วประเทศจะต้องรู้จัก

                พ.ศ. ๒๕๑๕  หัวเขาอีกิมจะเป็นศูนย์รวมของตัวแทนศาสนาต่างๆ

                พ.ศ. ๒๕๒๐  หัวเขาอีกิมจะสว่างไสวถึงที่สุด คนทั่วโลกจะรู้จัก

                ด้วยความศรัทธาเชื่อมั่นในบุญบารมีของท่านพ่อลี เท่าที่ครูจวดเคยประจักษ์มาแล้วทุกครั้งไม่ว่าท่านพ่อลีจะปรารภเกี่ยวกับเรื่องอะไรก็ตามไม่เคยพลาด จะต้องตรงตามที่ท่านพ่อพูดทุกอย่างไม่ช้าก็เร็ว เพราะเชื่อมั่นว่าท่านพ่อลีมีญาณหยั่งรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำให้เห็นกับตามาแล้วหลายครั้ง.หลังจากที่ท่านพ่อลีปรารภได้ไม่นาน ผม (ครูจวด สวิงคูณ) ก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสืบเสาะถามทางไปเขาอีกิมด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างวัดรอการเข้ามาของพระรูปที่ท่านพ่อลีปรารภถึง.!  สมัยก่อนนั้นบริเวณตั้งแต่อำเภอท่าใหม่เข้ามาถึงที่นี่(เขาสุกิม)ยังเป็นดงดิบที่หนาทึบเต็มไปด้วยป่าไม้  เป็นสถานที่สัมปทานไม้ซุงของเสี่ยละออ พูลสวัสดิ์ สัตว์ร้ายเสือช้าง ยังชุกชุมมาก ลิงค่าง บ่าง ชะนี จะกู่ร้องกันลั่นป่าไปทีเดียว ผมเดินทางผ่านมาก็ถามไปเรื่อยว่าเขาอีกิมอยู่ตรงไหน ชาวบ้านก็ชี้มือไปข้างหน้าเรื่อยไ ป และที่สุดก็มาถึงเขาลูกนี้แหละคือเขาอีกิม แต่ปัญญาของผมมีน้อยเกินกว่าสิ่งใด ไม่ได้เฉลียวใจกราบเรียนถามท่านพ่อลีไว้แต่แรกเลยว่า...หัวเขาอีกิมนั้นหมายถึงบนภูเขา หรือหมายถึงสถานที่ด้านทิศเหนือของภูเขา อย่างเช่นบางหมู่บ้านที่มีชื่อว่า บ้านหัวเขา หรือ บ้านท้ายเขา แต่บ้านที่มีชื่อนั้นก็ไม่ได้ตั้งอยู่บนภูเขา  แต่กับตั้งอยู่ทิศเหนือของภูเขา แต่ผู้คนก็เรียกกันว่าบ้านหัวเขา  อย่างนี้เป็นต้น..

                ผม(อดีตพระภิกษุจวด) ก็คิดไปเองว่า คงไม่ใช่บนยอดเขาแน่ มีใครที่ไหนจะขึ้นไปอยู่บนภูเขาที่หนาแน่นไปด้วยป่าดงดิบและลาดชันอย่างนั้น.ด้วยสติปัญญาอันน้อยของผมพิจารณาดูแล้วว่าที่ท่านพ่อลีปรารภไว้นั้นไม่ใช่บนภูเขาที่ลาดชันอย่างนั้นแน่ๆ คงต้องเป็นสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งที่สงบ สงัด วิเวก และมีสับปายะที่ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือที่ภาษาทั่วไปมักเรียกด้านนั้นว่าหัวเขา...ด้านนี้เป็นหางเขาหรือท้ายเขา ผมคิดไปเอง ผมจึงเดินต่อไปอีก ไปพบสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นลูกเนิน ไม่สูง มีความกลมกลืนลาบเลียบ ขึ้นไปยืนมองทำเลทิวทัศน์ต่างๆ แล้วสอบถามทราบว่าเป็นที่ดินของคุณครูสงวน จิรวัฒน์ ซึ่งก็มีความประสงค์ที่จะสร้างวัดอยู่พอดี...ผมจึงเข้าใจว่า คงเป็นสถานที่นี้แน่นอนจึงประจวบเหมาะกันเช่นนี้ ได้เล่าเรื่องต่างๆ ให้คุณครูสงวนฟัง ว่าผมกำลังสืบเสาะแสวงหาสถานที่สร้างวัดเช่นกัน เพราะว่าได้รับคำทำนายจากท่านพ่อลีว่า ในราวปี พ.ศ. ๒๕๐๔ นี้ จะมีพระผู้มีบุญญาบารมีเสมอเหมือนท่านพ่อลี เดินทางมาปักหลักประกาศพระศาสนาในเมืองจันทบุรีบ้านเรา โดยจะมาอยู่ที่หัวเขาอีกิม ผมจึงมาหาสถานที่เพื่อสร้างวัดรอท่าน..เมื่อพูดคุยกับครูสงวนเป็นที่ตกลงแล้ว ผมก็ดำเนินการก่อสร้างวัดเนินดินแดงขึ้นเมื่อ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๑ โดยคุณครูสงวน จิรวัฒน์ มีศรัทธามอบที่ดินให้จำนวน ๓๒ ไร่ ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากผู้มีศรัทธาอีกหลายท่าน เช่น นายเต่ง สวิงคูณ, นายเต๋า ชนะสิทธิ์, นายเจน สายพานิช, นายเฉลิม ทวีธรรม, นายอู๋ โรจน์จันทร์แสง, นายอัว โรจน์จันทร์แสง, นายบุญชู วงศ์สวาท, นายสุวรรณ, นายยุ้น, นายกิง, นายเอียน, นายอ๊อด, นายหอม และนางเทียม เป็นต้น พอเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็จำเป็นจะต้องหาพระเพื่อนิมนต์มาอยู่รอไว้ก่อน
      ในพรรษาปี พ.ศ.๒๕๐๒ ได้นิมนต์พระมาอยู่ ๑ รูป สามเณร ๑ รูป พ.ศ.๒๕๐๓ ก็ได้นิมนต์พระมาอยู่จำพรรษาอีกครั้งหนึ่ง  ระยะเวลาผ่านมาถึง พ.ศ.๒๕๐๔ ก่อนเข้าพรรษาในปีนี้ คณะญาติโยมชาวบ้านเนินดินแดง ก็ได้ให้ตัวแทนชาวบ้านไปหาพระเพื่อนิมนต์มาอีกครั้งหนึ่ง มี นายจอม แพทย์ปทุม กับนายเฉลิม ทวีธรรม เดินทางไปนิมนต์พระที่วัดเขาแก้ว วัดจันทนาราม วัดป่าคลองกุ้ง ทั้งสามวัดไม่มีพระภิกษุสามเณรรูปใดรับนิมนต์ไปจำพรรษาในป่าแม้แต่รูปเดียว  แต่ก็ยังมีความหวังที่ได้รับคำแนะนำจากวัดจันทนารามว่า  ที่วัดเขาน้อยสามผาน ขณะนี้มีพระธุดงค์เดินทางมาจากภาคอีสานกำลังแสวงหาสถานที่จำพรรษา ให้ลองเดินทางไปกราบนิมนต์ท่านดูเผื่อท่านเมตตารับมาจำพรรษาให้...  นายจอม  แพทย์ปทุม และนายเฉลิม ทวีธรรม จึงออกเดินทางด้วยความหวังว่าจะได้พระธุดงค์คณะดังกล่าวไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ต้องนิมนต์เอาไว้ก่อน

รับนิมนต์ไปวัดเนินดินแดง

                ส่วนหลวงปู่สมชาย และคณะนั้น ก็กำลังวิตกกังวลเรื่องหาสถานที่จำพรรษากันอยู่พอดี เห็นอุบาสก ๒ คน เดินเข้ามาในที่พักอุบาสกทั้งสองกราบพระด้วยเบญจางคประดิษฐ์เสร็จแล้ว หลวงปู่ก็ได้เริ่มเรื่องสนทนาสอบถาม ว่า  อุบาสกทั้งสองเดินทางมานี่มีธุระอะไรบ้าง ?.. นายจอมกราบเรียนว่า กระผมทั้งสองเป็นตัวแทนชาวบ้านเนินดินแดง และบ้านบึงบอน ตั้งใจจะมานิมนต์พระคุณเจ้าให้ไปจำพรรษา ณ วัดเนินดินแดง หลวงปู่ถามว่า  วัดของพวกโยมอยู่ที่ไหน อุบาสกตอบว่า วัดของพวกกระผมอยู่ในเขตตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นหมู่บ้านที่เข้าไปบุกเบิกกันใหม่ วัดก็ได้สร้างขึ้นใหม่ ซึ่งอยู่ในดงลึกมาก จึงหาพระที่จะเข้าไปจำพรรษาลำบาก เพราะพระคุณเจ้าบางรูปท่านก็มีความประสงค์ที่จะอยู่ในเมืองเพื่อศึกษาเล่าเรียนทางด้านคันถธุระ พวกกระผมก็รู้สึกเห็นใจท่าน แต่กระผมก็ได้รับคำแนะนำจากพระคุณเจ้าที่วัดจันทนารามว่า มีพระสายป่าเป็นพระธุดงค์มาจากภาคอีสานกำลังหาสถานที่จำพรรษา จึงมีความประสงค์ที่จะมากราบอาราธนานิมนต์พระคุณท่าน คิดว่าสถานที่คงถูกอัธยาศัย เนื่องจากวัดที่ว่านี้ห่างไกลจากบ้านเมือง ความเงียบสงบนั้นคงหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เพราะเป็นดงดิบ..  หลวงปู่จึงถามต่อไปว่า...แล้วอุบาสกทั้งสองมีความต้องการพระจำนวนกี่รูป ? อย่างน้อย ๔-๕ รูปก็ยังดีครับผม ? คณะของอาตมามีด้วยกัน ๑๐ รูป ทั้งพระและเณร และก็มีความประสงค์ที่จะอยู่ด้วยกัน ไม่ต้องการแยกกันอยู่ ถ้าอุบาสกต้องการจำนวนจำกัด อาตมาก็คงไปฉลองศรัทธาญาติโยมไม่ได้.. เมื่ออุบาสกจอมและอุบาสกเฉลิมได้ฟังดังนั้นจึงเกิดความลังเลว่า จะเอาอย่างไรดี  ครั้นจะนิมนต์ไปทั้งหมด ๑๐ รูป ก็ยังไม่ทราบว่าหมู่คณะชาวบ้านจะเห็นด้วยหรือไม่ เกรงว่าชาวบ้านซึ่งเข้าไปอยู่กันใหม่ๆ จะให้ความอุปถัมภ์บำรุงได้ไม่ดีเท่าที่ควร  ก็จะถูกครูบาอาจารย์ตำหนิเอาทีหลังได้.อุบาสกทั้งสองจึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า.พวกกระผมขอเดินทางกลับไปปรึกษากับชาวบ้านก่อน เสร็จแล้วจะมากราบเรียนให้ทราบในวันพรุ่งนี้...

                อุบาสกจอม และอุบาสกเฉลิม เมื่อเดินทางกลับมาถึงบ้านแล้วก็รีบปรึกษาหารือชาวบ้านทันที และก็ได้ความเห็นพร้องต้องกันว่าไม่มีผู้ใดขัดข้อง มีความยินดีให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของพระคุณเจ้าที่จะมาอยู่ทุก อย่าง...เช้าวันใหม่ชาวบ้านจึงได้จัดหารถยนต์เพื่อที่จะเดินทางไปรับหลวงปู่สมชายพร้อมด้วยคณะพระภิกษุสามเณรที่รออยู่ที่วัดเขาน้อยสามผาน..วันนั้นหลวงปู่สมชายท่านเดินทางไปทำธุระที่ปากน้ำแขมหนู เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาจึงได้รับพระชุดแรกเดินทางล่วงหน้ามายังวัดเนินดินแดงก่อน เพื่อจะได้จัดเตรียมสถานที่ บรรดาพระภิกษุสามเณรเมื่อทราบจุดประสงค์ดังนั้นแล้วก็ได้จัดเตรียมอัฐบริขารลงจากเขาใส่รถจิ๊บวิลลี่(จิ๊บกลาง) ของนายหริผู้ที่มีศรัทธานำรถไปรับพระ ซึ่งนับว่าเป็นรถยนต์ชั้นดีที่สุดของหมู่บ้านเนินดินแดงในสมัยนั้น เสร็จเรียบร้อยแล้วคณะกองทัพธรรมชุดแรกก็เดินทางล่วงหน้าทันทีมาตามทางอันแสนทุรกันดาร รถวิ่งโขยก เขย่า เหวี่ยงซ้าย เหวี่ยงขวามาตามเส้นทางของรถลากซุง ซึ่งมีแต่โคลนตมจมมิดล้อ ต้องค่อยๆ คลานเพื่อผ่านหลุมโคลน ตั้งแต่ปากทางห้วยสะท้อน จนถึงปากทางนิคมฯ แล้วก็ถึงบ้านเนินดินแดง โดยทุรักทุเร สมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวกเหมือนอย่างทุกวันนี้ จากวัดเขาน้อยสามผานกว่าจะมาถึงวัดเนินดินแดงก็เสียเวลาไปเกือบวัน กว่ารถจิ๊บวิลลี่ของนายหริจะพาพระภิกษุสามเณรมาถึงเสนาสนะบ้านเนินดินแดงเป็นที่เรียบร้อย เวลาก็ใกล้ค่ำแล้ว จึงจัดหาที่พักอาศัยกันเป็นการชั่วคราวไปก่อน

                วันรุ่งขึ้นมีญาติโยมนำอาหารคาวหวานมาถวายที่วัด ส่วนญาติโยมอีกคณะหนึ่งก็เตรียมตัวเดินทางไปรับหลวงปู่สมชายที่วัดเขาน้อยสามผาน  อันประกอบด้วย นายจอม แพทย์ปทุม, นายเยื้อน รุ่งเรืองศรี, นายบุญชู วงศ์สวาท และนายแสวง คณะศาสตร์ ซึ่งวันนี้ได้รับศรัทธาจากนายบุญชู วงศ์สวาท เจ้าของรถเป็นผู้นำรถยนต์เดินทางไปรับหลวงปู่สมชาย ที่วัดเขาน้อยสามผาน ซึ่งนับว่าเป็นรอบที่สาม จึงได้พระภิกษุสามเณรมาครบตามจำนวนทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย..ในวันรุ่งขึ้นก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดี เป็นการเข้าพรรษาที่กระชั้นชิดแทบไม่ทันตั้งหลักใดๆ  บรรดาญาติโยมจึงไม่สามารถจัดหาสถานที่พักให้เพียงพอกับจำนวนของพระภิกษุสามเณรที่มีถึง ๑๐ รูป พระภิกษุสามเณรจึงต้องพักรวมกันกุฏิหลังละ ๒๓รูป บ้าง ในระหว่างพรรษาจึงต้องช่วยกันปลูกสร้างกุฏิชั่วคราวขึ้นอีกจำนวนหนึ่งเพื่อให้พระคุณเจ้าท่านทำความเพียรได้สะดวกขึ้น ปัจจุบันนี้กุฏิหลังอื่นๆ ก็ได้หมดสภาพผุพังไปตามกาลเวลา  ยังคงเหลือเพียงกุฏิของหลวงปู่สมชายเพียงหลังเดียวที่ทางวัดได้อนุรักษ์ไว้เป็นปฐมอนุสรณ์สถาน เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้ระลึกถึง...
(ฐานข้อมูลจากคุณครูจวด สวิงคูณ และคุณโยมจอม  แพทย์ปทุม)

พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๐๖
จำพรรษาที่วัดเนินดินแดง
บ้านเนินดินแดง ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

                ปี พ.ศ.๒๕๐๔ ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเนินดินแดง ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี วัดเนินดินแดง ตั้งอยู่บนเนินเตี้ยๆ มีดินสีแดง มีลักษณะเป็นป่าไม้ธรรมชาติ มีต้นไม้เรียงรายอยู่ทั่วบริเวณวัด ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก แผ่กิ่งก้านสาขาปกคลุมให้ความร่มรื่น เย็นสบายตลอดเวลา  ฝนตกชุกมาก ตกทุกวัน บางครั้งตกข้ามวันข้ามคืน ในฤดูพรรษาอากาศจึงชื้นมาก ไม่มีแดดที่จะตากผ้าจีวร ต้องเอาฟืนมาก่อไฟกองโตๆ แล้วเอาจีวรพึ่งใกล้ ๆ จึงจะแห้ง  พระเณรที่มาจากภาคอีสานจึงไม่คุ้นเคยกับอากาศของเมืองจันท์เท่าไรนักจึงเจ็บป่วยกันไม่ขาดระยะ ไข้ป่า ไข้มาลาเรียก็ชุกชุม

                ตั้งแต่หลวงปู่สมชาย มาพักอยู่ที่วัดเนินดินแดง ท่านก็ได้เริ่มพัฒนาทั้งภายในและภายนอก ภายในได้แก่การนำพาพระภิกษุสามเณรเดินจงกรมนั่งสมาธิเจริญเมตตาภาวนาเป็นประจำทุกวันมิได้ขาด เทศนาอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้ประพฤติดีปฏิบัติชอบ จนชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธา มีความซาบซึ้งในธรรม และมีความเลื่อมใสในพระศาสนามากขึ้นเป็นลำดับ ชาวบ้านในเขตนี้ส่วนมากก็เพิ่งมาจับจองที่ดินทำกินส่วนมากก็เป็นคนมาจากในอำเภอท่าใหม่ และมาจากจังหวัดจันทบุรี เข้ามาปลูกทุเรียน ปลูกเงาะ มังคุด รางสาด ลองกอง สละ ระกำ ผลไม้เกือบทุกชนิดมีอยู่รอบวัดไปหมด  ที่ห่างจากวัดออกไปด้านทิศใต้ ก็จะเป็นชาวบ้านคนไข้โรคเรื้อนที่ทางรัฐบาลส่งมาอยู่   แล้วจัดสถานที่ทำกินให้ เรียกว่านิคมพักฟื้นบ้านแพร่งขาหยั่ง นิคมพักฟื้นบ้านป่าตะแบก ส่วนพวกนี้จะมาจากหลายจังหวัด แต่เป็นคนป่วยที่หายแล้ว ชาวบ้านอีกประเภทหนึ่งก็ได้แก่ ผู้ที่เคยเป็นนักโทษของทางราชการ อยู่ห่างจากวัดเนินดินแดงไปทิศตะวันออกประมาณ ๕ ก.ม. จะมีทัณฑสถานเปิด ทุ่งเบญจา จะเป็นนักโทษระดับเบาบาง มาจากหลายจังหวัดเช่นกัน พอพ้นโทษแล้วก็ตั้งหลักปักฐานทำมาหากินกันที่นี่ต่อไปเลย เนื่องจากพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ดินดี น้ำดี ฝนตกชุก จึงทำให้หลวงปู่ได้อยู่โปรดคนหลายประเภทด้วยกัน หลายคนเลิกละจากอบายมุข เครื่องมัวเมาต่างๆ บางคนเลิกจากการเป็นนายพราน หันหน้าเข้าวัดช่วยพระภิกษุสามเณรพัฒนาวัด เป็นลูกศิษย์พระ ประกอบคุณงามความดีกันก็เป็นจำนวนมาก

                นอกจากจะอบรมสั่งสอนประชาชนชาวบ้านแล้ว หลวงปู่ก็ได้นำพาชาวบ้านพัฒนาก่อสร้างเสนาสนะมี กุฏิ และศาลาการเปรียญ ที่ชาวบ้านเตรียมไว้แต่ยังไม่เรียบร้อย เพียงเอาไม้กระดานวางไว้ใช้ชั่วคราวประมาณสิบกว่าแผ่น พอให้พระเณรได้นั่งฉันจังหันได้เท่านั้น หลวงปู่จึงได้พาชาวบ้านจัดทำจนเป็นที่เรียบร้อย ต่อจากนั้นก็ได้จัดสร้างกุฏิที่พักขึ้นอีกเป็นลำดับ จนเพียงพอกับจำนวนพระภิกษุและสามเณร พรรษา ๒๕๐๔ จึงมีพระภิกษุจำพรรษาจำนวน ๒ รูป สามเณร ๘ รูป คือ
๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒.พระประไพ รูปเหลี่ยม (ผู้บันทึกเรื่องราวต่างๆ)  ๓. สามเณรทองสา มันทะรา ๔. สามเณรเอก  ๕. สามเณรเสาร์  ๖. สามเณรบัวยันห์ ๗. สามเณรศรี สืบเหล่างิ้ว๘. สามเณรถาวร ๙. สามเณรโรจน์  ๑๐. สามเณร(จำชื่อไม่ได้) 

                ตอนกลางคืนหลวงปู่ก็จะให้จุดตะเกียงเจ้าพายุแล้วก็นำพาสวดมนต์ทำวัตร อบรมพระภิกษุสามเณรและญาติโยม โดยเฉพาะเรื่องการสวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน สวดอาทิตตปริยายสูตร อนัตตลักขณสูตร และสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตลอดทั้งการสวดรับเทศน์ และศาสนพิธีอื่นๆ หลวงปู่จะเป็นผู้ฝึกสอนเองทุกวัน เสร็จแล้วก็นำเดินจงกรม และปฏิบัติธรรมกันตลอดคืน   ส่วนด้านการพัฒนาวัดนั้นก็ทำได้ไม่เต็มที่เนื่องจากฝนตกชุกมาก วันหนึ่ง ๆ ส่วนใหญ่จะทำความเพียรอยู่ในกุฏิเท่านั้น กุฏิที่สร้างจึงต้องออกแบบเป็นพิเศษที่มีระเบียงสำหรับใช้เป็นทางเดินจงกรมกันฝนได้ ถ้าไม่อออกแบบอย่างนี้แล้วในพรรษาแทบจะไม่ต้องออกจากกุฏิไปเดินจงกรมกันเลย ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างหรือการอุปถัมภ์ด้านอื่นๆ ก็ได้รับการช่วยเหลือทุนทรัพย์จากตระกูลญาติพี่น้องของคุณครูสงวน จิรวัฒน์ (สมัครพันธ์) และชาวบ้านชาวสวนในละแวกใกล้เคียงเป็นอย่างดี 

โปรดชาวสมาชิกนิคมฯ

                ภายหลังจากพรรษาแรกผ่านพ้นไปแล้ว พระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่ก็อยากกลับภาคอีสานเพราะไม่คุ้นเคยกับอากาศที่ชื้นมากเช่นนี้ เนื่องจากฝนตกข้ามวันข้ามคืนอย่างนี้ ที่ภาคอีสานไม่เคยมี แต่สำหรับหลวงปู่นั้นท่านก็ยังมีเมตตาที่จะอยู่ต่อ เพราะความดีของชาวบ้านชาวสวนที่ปฏิบัติดูแลพระเป็นอย่างดี อีกด้านหนึ่งก็เพราะมีความผูกพันกับญาติโยมที่ท่านเห็นว่าสมควรที่จะอยู่เพื่อสงเคราะห์ ถ้าไม่อยู่สงเคราะห์ในคราวนี้แล้ว จะไม่มีโอกาสได้สงเคราะห์อีกเลย นั่นคือพี่น้องชาวสมาชิกนิคม ซึ่งต่างก็พลัดถิ่นฐานบ้านช่องมาจากสถานที่ต่างๆ หลวงปู่ทราบดีว่าต่างคนต่างก็ว้าเหว่ขาดที่พึ่งขาดกำลังใจ หลวงปู่จึงมีความสงสารและเห็นใจมาก จึงอยู่เพื่ออบรมสั่งสอนพวกเขาไปด้วย  เป็นเพื่อนช่วยคลายทุกข์ไปด้วย

                กล่าวคือในพื้นที่ใกล้เคียงกับวัดเนินดินแดงไปทางด้านทิศใต้และทิศเหนือ จะเป็นพื้นที่ ที่ทางรัฐบาลได้นำผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วกลุ่มหนึ่งมาจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ ซึ่งป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่ทางรัฐบาลต้องควบคุมให้อยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ เป็นผู้ป่วยของรัฐบาล ที่เรียกว่าโรคกุฏฐังหรือโรคเรื้อน ซึ่งสมัยนั้นเป็นโรคที่สังคมทั่วไปรังเกียจ  เมื่อรักษาหายแล้วก็จำเป็นต้องจัดหาสถานที่ให้รวมอยู่เป็นกลุ่ม เป็นสัดส่วนไม่ไปปะปนกับประชาชนทั่วไป ซึ่งมีเป็นจำนวนมากรัฐบาลจึงจัดตั้งเป็นนิคมพักฟื้น ให้มีที่ทำกิน มีเบี้ยเลี้ยงให้ ดูแลรักษาฟรี อยู่ติดกับวัดเนินดินแดง  ซึ่งมีนิคมพักฟื้นบ้านแพร่งขาหยั่ง และนิคมพักฟื้นบ้านป่าตะแบก

                หลวงปู่เล่าว่า.บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลที่น่าสงสาร น่าสงเคราะห์ให้เขาได้ทำบุญเป็นการแก้ตัว เพราะไม่ใช่โรคติดต่ออย่างที่บุคคลทั่วไปเข้าใจ แต่เป็นโรคกรรม ถ้าเขาได้ทำบุญหรือได้สร้างกรรมดีเอาไว้มากๆ ชาติต่อไปเขาก็มีโอกาสพ้นจากวิบากกรรมเหล่านี้ไปได้ เป็นบุคคลปกติด้วยอาการสามสิบสอง จึงอยากอยู่เพื่อนำพาพวกเขาสร้างกรรมดีให้มากขึ้น วัดใกล้ๆ นี้พระสงฆ์บางวัดก็รังเกียจไม่ต้อนรับ จึงไม่สะดวกที่พวกเขาจะไปทำบุญที่วัดอื่นๆ ได้ แต่สำหรับที่นี่(วัดเนินดินแดง) เปิดโอกาสให้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ต้องการทำความดี ต้องการทำบุญใส่บาตรมาทำได้ตลอดเวลา ไม่มีรังเกียจ  จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ชาวสมาชิกนิคมได้อุทิศแรงงานเป็นการกุศล ช่วยการก่อสร้างวัดตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน คณะชาวสมาชิกนิคมฯจึงมีความเคารพรักนับถือหลวงปู่เสมือนพ่อหรือเทพเจ้าประจำชีวิตประจำครอบครัวของพวกเขาทีเดียว  หลวงปู่ไม่เคยมีจิตใจที่จะรังเกียจโรคที่ติดตัวพวกเขานั้นเลย    หลวงปู่จะรับบิณฑบาตไปโปรดไปฉันภัตตาหารที่บ้านพวกเขาด้วยความเมตตา ท่านถือว่าได้โปรดได้สงเคราะห์ให้พวกเขามีโอกาสทำบุญเป็นการแก้ตัวได้ทำประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ชาวโลก ได้บำเพ็ญโลกัตถประโยชน์ อันยิ่งใหญ่ เพราะเขาเป็นบุคคลที่มีความทุกข์ทั้งร่างกายที่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ ทุกข์ทางใจเพราะต้องพลัดถิ่นฐานบ้านช่องมาจากดินแดนอันแสนไกล  ห่างญาติพี่น้อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เรื่องทุกข์ทั้งสิ้น และยังต้องทุกข์เพราะสายตาบุคคลบางคนที่มองพวกเขาอย่างรังเกียจ เป็นต้น หลวงปู่จึงเป็นองค์ประสานระหว่างชาวสวนและชาวสมาชิกนิคม ตลอดทั้งชาวบ้านทั่วๆ ไปไม่ให้รังเกียจซึ่งกัน ให้มีเมตตาสงสารระหว่างผู้ด้อยโอกาสในสังคมกับผู้ที่มีโอกาสในสังคม เพราะอย่างไรแล้วถึงแม้ว่าร่างกายจะเป็นโรคซึ่งที่หายแล้ว แต่ภายในจิตใจนั้นงดงามและเด็ดเดี่ยวยอมตายแทนครูบาอาจารย์ได้ทุกคน

                ตกถึง พ.ศ.๒๕๐๕ ฝนเริ่มขาดช่วง แล้งลงบ้าง จึงสามารถทำการก่อสร้างเสนาสนะต่างได้ จึงมีการเลื่อยไม้ทำพื้นศาลาเพิ่มต่อเติมจากที่พระภิกษุจวดทำเอาไว้ตั้งแต่แรก และก่อสร้างกุฏิเพิ่มขึ้น ตัดถนนทางซอยภายในวัดให้สวยงามในช่วงนี้ก็ได้รับการอุปถัมภ์จากคุณโยมลออ คุณโยมจิ้มลิ้ม พูลสวัสดิ์ คหบดีเจ้าของโรงเลื่อยในอำเภอท่าใหม่ สมัยนั้นเป็นเจ้าของสัมปทานป่าไม้ในบริเวณนี้ทั้งหมด เป็นผู้ใจบุญมากทางวัดขาดอะไรต้องการอะไร คุณโยมลออ และคุณโยมจิ้มลิ้ม ก็ปวารณาจัดหามาถวาย  สมัยนั้นที่จำเป็นมากก็คือน้ำมันก๊าดสำหรับจุดตะเกียงเจ้าพายุ และเทียนไขสำหรับเดินจงกรม เหล่านี้เป็นต้น

                ส่วนเรื่องอาหารนั้นก็อาศัยบิณฑบาตจากชาวบ้านชาวสวนรอบๆ วัด ซึ่งเป็นผู้มีศรัทธา เรื่องอาหารจึงอุดมสมบูรณ์ โดยไปบิณฑบาตสายบ้านบึงบอน สายบ้านคลองเฆ้ สายนิคม เป็นต้น ซึ่งบ้านชาวสวนจะแตกต่างจากหมู่บ้านชาวนาอย่างภาคอีสาน โดยจะอยู่เป็นสวนใครก็บ้านเขา เช่นใครมีสวนร้อยไร่ก็ปลูกบ้านหลังหนึ่ง แล้วก็ต้องเดินพ้นร้อยไร่ จึงไปเจอบ้านอื่นที่มีห้าสิบไร่ที่มีบ้านอีกหลังหนึ่ง แต่ก็บิณฑบาตพร้อมกับเดินจงกรมภาวนาไปด้วย


ดับกลิ่นเหล้าด้วยสับปะรด

                สำหรับชาวบ้านก็มีบางคนที่ทั้งเลื่อมใสและในขณะเดียวกันก็มีที่อยากลองดี ซึ่งประเภทหลังมักมีอยู่ทุกที่ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีทรมานด้วยวิชชาทางพระพุทธศาสนาอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อพวกเขาจะได้ไม่ประมาทไม่เป็นบาป การมาอยู่ที่วัดเนินดินแดงนี้ก็เช่นกัน ก็มีบุคคลประเภทดังกล่าวอยากลองดีอยู่บ้าง เช่น ประเภทรับปากพระว่าไม่ดื่มเหล้าแต่ทำไม่ได้ ทำอย่างนี้ก็มี โดยปกติหลวงปู่จะเดินไปบิณฑบาตสายบ้านบึงบอน ซึ่งเป็นสายที่ลำบากและไกลกว่าทุกสาย ส่วนสายใกล้ๆ หลวงปู่ก็จะให้พระรูปอื่นไป สายบึงบอนนี้จะต้องเดินผ่านบ้านนายเจน สายพานิช ทุกวัน บ้านหลังสุดท้าย คือบ้านนายนาคิน และเหมือนจะเป็นกิจวัตรประจำวันที่นายเจนปฏิบัติ คือหลังจากใส่บาตรแล้วก็จะเดินไปพูดคุยเรื่องราวสารพัดกับนายนาคิน ตามประสาเพื่อนรักเพื่อนเกลอ วันหนึ่งนายเจนก็เดินไปพูดคุยสัพเพเหระกับนาคินเช่นเคย เสร็จแล้วก็วกเข้ามาเรื่องภายในวัด นายเจนกล่าวว่า วัดเราอะไรๆ ก็ดี พระลูกวัดก็ดีเห็นมาบิณฑบาตทุกวัน แต่ตัวอาจารย์ไม่เคยเห็นมาบิณฑบาตเลย  ให้แต่ลูกวัดมาทุกวัน  นายนาคินจึงตอบว่า.. ฉันเห็นท่านอาจารย์นำมาเองทุกวัน แกมัวแต่เมาอยู่ละซี ! จึงมองไม่เห็นท่าน ฉันได้ใส่บาตรทุกวันไม่เคยขาด เมื่อกี้ท่านยังถามฉันเลยว่าแกสบายดีหรือ? วันรุ่งขึ้นนายเจน ก็ดักจับตามองอย่างเต็มที่ว่าหลวงปู่จะมาบิณฑบาตเหมือนอย่างที่นายนาคินพูดหรือเปล่า?..เหตุการณ์ก็เป็นเช่นเดิม หลังจากนายเจนใส่บาตรเสร็จแล้วก็มองไม่เห็นหลวงปู่อย่างที่นายนาคินว่า จึงเดินไปด้วยตะโกนถามไปด้วยเสียงอันดังว่า..  นาคิน ไหน แก ว่าอาจารย์มาบิณฑบาตทุกวันไงล่ะ?   นายนาคินตอบพร้อมกับชี้มือให้เพื่อนดูว่า ก็องค์เดินหน้านั่นไงอาจารย์ องค์ที่สองก็ครูบาองค์ที่สามก็เณร มองไม่เห็นรึ !   คราวนี้นายเจนมองตามมือที่เพื่อนชี้ให้ดูจึงเห็นว่า รูปที่เดินนำหน้านั่นคือหลวงปู่สมชายจริงๆ  นายเจนถึงกับเข่าอ่อน อ้าว.!..แล้วเมื่อกี้เราใส่บาตรแค่สองรูปเท่านั้นนี่ และก็ไม่เคยเห็นท่านสักวัน... เราไม่เคยได้ใส่บาตรท่านจริงๆ เพราะอะไรนาคินรู้ไหม?  ท่านคงเหม็นกลิ่นเหล้านายมั๊ง!...  นายนาคินตอบเพื่อน อาจารย์ท่านมาโปรดพวกเราแล้ว ไปปวารณาเลิกเหล้ากับท่านจะดีกว่าเพราะพวกเราก็ดื่มกันมานานแล้ว..ว่าแล้วนายนาคินและนายเจนก็พากันเดินไปวัดแต่เช้า พบหลวงปู่นั่งรออยู่พอดีจึงกราบพร้อมกับปวารณาขอเลิกดื่มเหล้าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ก่อนที่จะลากลับหลวงปู่ยังสับทับเพิ่มอีกว่า..ที่โยมมาปวารณาเลิกเหล้านี้อาตมาไม่ได้ไปบังคับอะไรโยมให้มานะ! แต่ในเมื่อโยมมีความตั้งใจจะเลิกอาตมาก็ขออนุโมทนา ถ้าโยมเลิกได้จริงตามที่โยมตั้งใจโยมก็จะรวยเพราะว่า พระสาธุให้แล้ว การดื่มเหล้านั้นมีแต่จะทำให้จนลง ๆ เสียทั้งทรัพย์เสียทั้งสุขภาพร่างกาย... แต่หากว่าทำผิดคำพูดเมื่อไรระวังหมีควายจะตามไปขบหัวเอานะ..! (สมัยก่อนนั้นหมีควายตัวโตๆ ยังชุกชุมมาก) หลังจากนายนาคินและนายเจนกราบลากลับบ้านแล้วเช้าวันใหม่นายเจนก็เตรียมขันข้าวรอใส่บาตรตามปกติ นายเจนก็ได้ใส่บาตรได้พูดคุยกับหลวงปู่ทุกวันตลอดมา นับว่านายเจนได้เป็นคนที่มีสัจจะดีมาก คนในครอบครัวเอ่ยปากชมเชยกันทุกคน นับเป็นแรมปีจนต่างคนต่างลืมๆ กันไปแล้ว...

                วันหนึ่งนายเจนไปงานเลี้ยงของเพื่อนบ้าน เจ้าภาพซึ่งเป็นเพื่อนรักกันก็นำเครื่องดื่มของกินจำนวนมากมาเลี้ยงดูอย่างเต็มที่  ด้วยความที่ไม่ได้พบกันมานานเจ้าภาพก็ขยั้นขยอนายเจนให้ดื่มเป็นเพื่อน..นายเจนก็ตอบเพื่อนรักไปว่า..ไม่ได้ๆ เราได้ปวารณากับอาจารย์ไว้ว่าจะไม่ดื่มเหล้าตลอดชีวิต เดี๋ยวเสียสัจจะที่ให้ไว้กับอาจารย์ จะโดนอาจารย์เล่นงานเอา..อาจารย์ท่านจะรู้ได้อย่างไรท่านอยู่ที่วัดโน่น..ตอนเช้าท่านมาบิณฑบาต.ก่อนใส่บาตรแกก็กินสับปะรดดับกลิ่นเหล้าสักชิ้นสองชิ้นก็ไม่มีกลิ่นแล้ว สับปะรดบ้านเรามีถมไป เอาท่อนกลาง หวานๆ ฉ่ำๆ ใส่บาต ท่อนหัวท่อนปลายเปรี้ยวๆ ก็เอามาเคี้ยวดับกลิ่นเหล้าเท่านี้ก็สิ้นเรื่อง?.นายเจนเมื่อถูกเพื่อนรักยกแม่น้ำทั้งห้ามาหว่านล้อมเช่นนั้น แถมมีวิธีดับกลิ่นเหล้าให้อีกต่างหาก จึงเริ่มเอนเอียงไปทางเพื่อนจนลืมสัจจะที่ให้ไว้กับครูบาอาจารย์ทันที.เพื่อนส่งแก้วเหล้ามาให้เท่าไรนายเจนกระดกกรึ๊บเดียวหมดๆ จนคืนนั้นทั้งคืน สว่างคาตา เหล้าไม่หมดไม่เลิก..

เห็นพระเป็นหมีเพราะผิดสัจจะ

                รุ่งเช้าหลังจากล้างหน้าล้างตา นายเจนก็ทำตามที่เพื่อนแนะนำ คือ กับข้าวใส่บาตรพระในเช้าวันนี้เป็นสับปะรดที่ปลูกไว้ในสวนหลังบ้านหวานฉ่ำหนึ่งถุงใหญ่..นายเจนเห็นพระเดินมาเป็นแถว ก็ถือขันข้าวพร้อมสับปะรดหนึ่งถุงออกไปนั่งรอที่หน้าบ้าน นั่งยองๆ จบขันข้าวหลับหูหลับตา ทำปากขมุบขมิบไปตามเรื่อง.ตักบาตรเสร็จก็นั่งทำปากขมุบขมิบอย่างเดิมเสร็จแล้วก็เงยหน้าขึ้น เท่านั้นเองนายเจนถึงกับทิ้งขันข้าว กระโดดโหยงสุดแรงเกิด..ภาพพระสงฆ์ที่แกใส่บาตรเพิ่งเสร็จ  กลับกลายเป็นหมีควาย อกด่าง แถมยังกางมือทำท่าจะขย้ำลงมาบนศีรษะของนายเจน นายเจนวิ่งสุดกำลังไปยังบ้านนายนาคินร้องไปด้วยวิ่งไปด้วย ...ช่วยด้วย..หมี..ๆ..นาคินช่วยด้วย..โว้ย !..
                เมื่อนายเจนวิ่งมาถึงบ้านนายนาคินเหตุการณ์ต่างๆ ก็ปกติ.หมีเหมอที่ไหนกัน อาจารย์เดินมาบิณฑบาตอยู่โน่น...แกนี่กินเหล้าจนตาลายมองเห็นอาจารย์เป็นหมีไปแล้ว.?..หลวงปู่รับบาตรจากนายนาคินแล้ว ก็มองเห็นนายเจนนั่งตัวสั่นอยู่ข้างๆ นายนาคิน หลวงปู่จึงเทศน์สอนขึ้นว่า..โยมเจน ! สับปะรดที่ใส่บาตรมานี่มีแต่ตรงกลาง ท่อนหัวกับท่อนปลายเอาไปเคี้ยวดับกลิ่นเหล้าตั้งแต่เช้าเลยใช่ไหม?..ใช่ครับ .นี่แหละอาตมาบอกแต่ทีแรกแล้วว่าถ้าโยมผิดสัจจะเมื่อไรให้ระวังหมีควายมันจะขยุ้มหัวเอา.เมื่อคืนไปกินเหล้าใช่ไหม?...ใช่ครับ! เพื่อนบอกให้กินสับปะรดดับกลิ่นเหล้าใช่ไหม?...ใช่ครับ!.นายเจนตอบพร้อมกับยกมือกราบขอขมาลาโทษเดี๋ยวนั้นทันที ว่าต่อไปจะไม่ทำอีกแล้วหลวงปู่ให้พรแล้วก็ลากลับวัด...ต่อมานายเจนก็เลิกเหล้าเข้าวัดอย่างถาวร ทั้งนายเจนและนายนาคินวันไหนว่างจากงานที่สวนก็มาช่วยเป็นกำลังในการพัฒนาวัดอย่างสม่ำเสมอ...ทั้งครอบครัวของนายเจน และนายนาคินก็มีอันจะกินมาจนถึงปัจจุบัน

                วัดเนินดินแดง ก็มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับมา การบำเพ็ญภาวนาก็เป็นที่พอใจของหลวงปู่หมู่คณะพระภิกษุสามเณรเป็นอย่างยิ่ง อุบาสกอุบาสิกาทั้งในจังหวัดจันทบุรีและละแวกใกล้เคียงก็มาฟังธรรมมาปฏิบัติธรรมกันมากเพิ่มขึ้น หลวงปู่จึงอยู่ติดต่อมาอีก ๑ ปี จนฤดูกาลพรรษาใกล้เข้ามาถึงอีกแล้ว

พ.ศ. ๒๕๐๕
จำพรรษาที่วัดเนินดินแดง
บ้านเนินดินแดง ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี
เป็นพรรษาที่ ๒

                พ.ศ.๒๕๐๕ หลวงปู่ได้อธิษฐานจำพรรษา ณ วัดเนินดินแดงอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นพรรษาปีที่ ๒ ในพรรษานี้มีพระภิกษุจำพรรษา ๗ รูป สามเณร ๓ รูป คือ

                ๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒. หลวงปู่ทองใบ  ญาณปทีโป  ๓.หลวงปู่มุล  ธมฺมวีโร ๔. หลวงพ่อคำพันธ์  สิริปญฺโญ ๕. พระประมวล  โอภาโส ๖. พระทองสา ๗. พระสำราญ ๘. สามเณรเสาร์  ๙. สามเณรโรจน์  ๑๐. สามเณรนิวัฒน์
                ข้อวัตรปฏิบัติในการอบรมพระภิกษุสามเณรและญาติโยมในระหว่างพรรษาปีนี้หลวงปู่ก็นำพาและอบรมเพิ่มขึ้นมากกว่าปีก่อน เพราะไม่ต้องรีบเร่งทำภาระในการก่อสร้างเสนาสนะอย่างในปีแรก ปีนี้จึงมีการทำความเพียรแผดเผากิเลสกันเป็นส่วนใหญ่ ภาคกลางวันหลวงปู่ก็อบรมพระภิกษุสามเณรด้วยบุพพสิขาวรรณนา และศาสนพิธีอื่น ๆ ตกค่ำก็จะมีการจุดตะเกียงเจ้าพายุ ทำวัตรสวดมนต์เย็น นั่งสมาธิภาวนา แล้วหลวงปู่ก็เทศน์อบรมญาติโยมจนดึกทุกคืน เพราะมีญาติโยมเดินทางมาจากในตัวอำเภอและตัวจังหวัดเข้ามาฟังธรรมกันมาก เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง ๆ ที่ถนนหนทางเข้าออกก็ลำบากมาก เพราะเป็นทางของรถลากซุง มีหลุมบ่อขนาดลึก เต็มไปด้วยเปลือกตรมตลอดเส้นทาง ผู้ที่มีศรัทธาจริง ๆ จึงเดินทางมากันได้ ส่วนด้านศรัทธาญาติโยมผู้อุปถัมภ์ก็มีมากเพิ่มขึ้นและที่เอาใจใส่เป็นพิเศษก็ได้แก่ คุณหมอติ้น จิรวัฒน์ คุณครูสงวน จิรวัฒน์(สมัครพันธ์) ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน หลวงปู่จึงตั้งชื่อว่า   สำนักสงฆ์จิรวัฒนาราม เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์สกุลจิรวัฒน์ ภายหลังเมื่อได้อนุญาตให้ตั้งเป็นวัดถูกต้องตามกฏหมาย และได้รับชื่อตามชื่อหมู่บ้านว่า วัดเนินดินแดง อีกท่านหนึ่ง คือ นายอู๋ โรจน์จันทร์แสง มีศรัทธาบริจาคที่ดินให้ขุดสระเพื่อสูบน้ำมาใช้ที่วัด นายอู๋นอกจากจะมีศรัทธาเข้าวัดฟังธรรมและช่วยงานวัดแล้ว กลับถึงบ้านแกก็เข้าป่าล่าสัตว์ด้วยปืนลูกซองคู่ชีพเป็นประจำทุกวัน เรียกว่า บุญก็ทำ กรรมก็ไม่เลิกนั่นเอง สมัยนั้นสัตว์ป่าประเภทเก้ง กวาง หมูป่า ไก่ป่า สัตว์ป่าทุกชนิดชุกชุมมากซึ่งพวกสัตว์ก็จะหลบจากสวนของชาวบ้านเข้ามาอยู่ในเขตวัดซึ่งเป็นป่าที่สมบูรณ์แต่ก็ยังต้องลงไปกินน้ำที่สระในสวนของนายอู๋อยู่ดี 

โปรดโยมอู๋

                วันหนึ่งเวลาโพล้เพล้ใกล้ค่ำ ขณะที่นายอู๋ นั่งล้อมวงกินข้าวเย็นกับคนงานบนขนำ(กระต๊อบ ภาษาเมืองจันท์เรียกขนำ) กลางสวนอยู่นั้น นายอู๋เหลือบไปเห็นเก้งตัวหนึ่งกำลังก้มกินน้ำในสระของแกที่ติดเขตวัดนั้น..นายอู๋ก็บอกคนงานสวนที่นั่งกินข้าวอยู่ด้วยกัน ว่า..นั่นอะไร?..คนสวนก็รู้ความหมายของเจ้านายได้ดีว่า ต้องการปืนลูกซองที่พิงอยู่กับเสาเรือนซึ่งอยู่ด้านหลังของคนงานนั่นเอง...ส่วนนายอู๋ก็นั่งมองทางไว้ว่าเก้งจะเดินทางไปด้านไหน พร้อมกับร้องบอกคนงานไปว่า..ส่งปืนมาซีวะๆ !...นายอู๋บอกว่า เจ้าคนงานเหมือนถูกสะกด มือไขว่คว้าอยู่ที่ต้นเสาอยู่พักใหญ่ ก็ไม่ได้ปืนมาซักที  หยิบเท่าไรก็ถูกแต่เสาขนำไม่ถูกปืน เท่านั้นไม่พอ เก้งตัวนั้นหลังจากกินน้ำอิ่มแล้ว แทนที่จะเดินเข้าป่าหรือเข้าสวนทุเรียนไปทางอื่นกับเดินตรงมาทางผม แล้วก็มาหยุดยืนมองหน้าผมเข้าอีกอย่างไม่เกรงกลัวอันตรายใด ๆ ไม่ เท่านั้นมันยังเดินเข้ามานอนเคี้ยวเอื้องเล่นใต้ขนำที่ผมและคนงานนั่งกินข้าวกันอยู่เสียอีก ผมก็จับตามองตามมาตลอด   เวลาผ่านไปพักใหญ่คนงานจึงส่งปืนลูกซองมาให้ผม ผมก็ถือปืนเดินลงขนำตรงไปที่เก้งทันที.เก้งสาวลุกขึ้นยืนมองหน้าผมโดยไม่หวั่นกลัวภัยใดๆ เกินวิสัยของสัตว์ ทั้งๆ ที่ห่างกันเพียงวาเดียว ซึ่งโดยสัญชาติญาณไม่ว่าคนว่าสัตว์ย่อมรู้ว่าภัยจะมาถึงตัว ก็ต้องวิ่งเอาตัวรอดไว้ก่อน แต่นี่ตรงกันข้าม..ผมรู้สึกว่าใจสลดหดหู่อย่างบอกไม่ถูก ขนหัวลุกซู่ไม่กล้าแม้แต่จะยกปืนขึ้น  ปกติผมจะเป็นคนใจแข็งยิงสัตว์เป็นว่าเล่น ยิงทิ้งเล่นๆ สนุกๆ ยังทำได้ แต่คราวนี้ผมเหมือนถูกสะกด แถมยังคิดถึงตอนที่จะกลับออกมาจากวัด ท่านพ่อ(หลวงปู่สมชาย)ได้พูดทีเล่นทีจริงกับผมว่า..อู๋!.ตอนกินข้าวเย็นวันนี้อาจารย์จะไปหาที่บ้านนะ!..ผมได้สติเดินขึ้นขนำเอาปืนทุบใส่กับเสาขนำแตกเป็นเสี่ยง ๆ ...แล้วเลิกฆ่าสัตว์ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้แหละครับ
(ฐานข้อมูล โดย นายอู๋ โรจน์จันทร์แสง ยังมีชีวิตอยู่)

พ.ศ.๒๕๐๖
จำพรรษาที่วัดเนินดินแดง (พรรษาที่๓)
ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

                พ.ศ. ๒๕๐๖ จากการที่หลวงปู่ได้จำพรรษาโปรดชาวจังหวัดจันทบุรีติดต่อกันถึง ๒ ปี ผ่านไป ก็มีความผูกพันต่อชาวบ้าน ชาวสวน และพี่น้องชาวสมาชิกนิคม ซึ่งเหมือนกับหลวงปู่จะต้องนำพาให้พวกเขาเหล่านี้ได้สร้างความดีสร้างบารมีเป็นการแก้ตัวตลอดไป ด้วยความเมตตาสงสาร ที่ได้พบเห็นว่าบุคคลดังกล่าวไม่สะดวกในการที่จะไปทำบุญกุศลยังวัดอื่นๆ เพราะพวกเขานั้นมีโรคประจำตัวอันสังคมรังเกียจ แม้แต่พระสงฆ์บางวัดบางแห่งก็ไม่ประสงค์ให้พวกเขาเหล่านี้ไปที่วัด สำหรับหลวงปู่แล้วกับตรงกันข้าม หลวงปู่พูดอยู่เสมอว่า บุคคลที่มีอวัยวะสมบูรณ์ครบ ๓๒ ประการนั้น จะไปทำบุญที่ไหนก็ได้ ไม่มีใครรังเกียจ แต่ชาวสมาชิกนิคมนั้นเขาไปไม่ได้ ไม่มีใครต้อนรับ อาตมาเปิดโอกาสทุกชั่วโมงให้มา ทำบุญ ทำความดี ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมารักษาศีล ทำบุญตักบาตร หรือช่วยทำงานทำการอื่น ๆ ของวัด ซึ่งล้วนแต่เป็นการทำบุญทั้งสิ้น... จึงมีความผูกพันที่ต้องสงเคราะห์ต่อมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งฤดูกาลพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้มาถึง จึงได้นำพาพระภิกษุสามเณรอธิษฐานจำพรรษา ณ วัดเนินดินแดง ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นพรรษาปีที่ ๓ ซึ่งในพรรษานี้ก็มีพระภิกษุจำพรรษามากถึง ๑๖ รูป สามเณรอีก ๙ รูป รวมเป็น ๒๕ รูป คือ

       ๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒. พระอาจารย์สำราญ ๓. หลวงปู่ทองใบ ญาณปทีโป ๔.หลวงปู่มุล ธมฺมวีโร  ๕. หลวงพ่อคำพันธ์ สิริปญฺโญ ๖. หลวงพ่อลิด (มาจากประเทศลาว) ๗. พระบาล ๘. พระประมวล โอภาโส  ๙. พระคำพันธ์ คมฺภีรญาโณ (อดีตประธานสงฆ์วัดคลองแจง ปัจจุบันมรณภาพ) ๑๐. พระเรืองฤทธิ์  ๑๑. พระคำพู  ๑๒. พระเสาร์ ๑๓. พระคำปุ่น วณฺณวโร (คุณคำปุ่น กุดกุง (ผู้ให้ข้อมูลประวัติหลวงปู่เพิ่มเติมตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๐๖ จนถึงวัดเขาสุกิมบางส่วน ) ๑๔. พระเจริญ ๑๕. พระวิรัตน์ ๑๖. พระบรรหาญ  ๑๗. สามเณรเสาร์  ๑๘. สามเณรไพโรจน์  ๑๙. สามเณรบุญช่วย  ๒๐. สามเณรเลียบ  ๒๑. สามเณรฉัตร ๒๒. สามเณรเล็ก ๒๓. สามเณรลน ๒๔.สามเณรเจียม ๒๕. สามเณร---(จำชื่อไม่ได้)

                เมื่อมีพระภิกษุสามเณรเพิ่มมากขึ้น ศรัทธาชาวบ้านก็มากขึ้นตามลำดับด้วยเช่นกัน ญาติโยมมาช่วยกันปลูกสร้างกุฏิเพิ่มขึ้น ซึ่งในปีนี้ได้สร้างศาลาการเปรียญหลังใหญ่เสร็จสมบูรณ์อย่างสวยงาม สร้างกุฏิหลังใหญ่ ๒ หลัง ให้หลวงปู่มุล และหลวงปู่ทองใบ และสร้างกุฏิหลังเล็กขนาดอยู่รูปเดียว จำนวน ๒๕ หลัง เท่าจำนวนพระภิกษุสามเณร ส่วนหลวงปู่ได้อยู่กุฏิหลังเล็กๆ เหมือนอย่างพระลูกวัดทั่วไป (ปัจจุบันได้อนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์สถาน) ให้ศิษย์รุ่นสุดท้ายได้เห็นว่า ครูบาอาจารย์นั้นท่านไม่ได้ยึดติดในวัตถุใดๆ กุฏิหลังใหญ่หลังประณีตนั้นท่านจะให้พระลูกศิษย์อยู่  ส่วนตัวของหลวงปู่เองนั้นท่านจะอยู่กุฏิหลังเล็กๆ ธรรมดาไม่ยึดติดในลาภสักการะ แม้แต่สิ่งของอันประณีตอื่นๆ ก็เช่นกัน ท่านไม่สะสมปัจจัยสี่ใดๆ ใครถวายอะไรมาหลวงปู่ก็จะมอบให้คณะสงฆ์นำเข้าคลังสงฆ์ทั้งหมด ไม่ยึดติดแม้แต่วัตถุที่มีค่ามหาศาล ยกตัวอย่างเช่นเรื่องนี้เป็นต้น

ผีให้พลอย

                คุณคำปุ่นเล่าว่า..ในปีเดียวกันนั้นกำลังจะเดินทางไปงานศพคุณหมอติ้น จิรวัฒน์ ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐาก เป็นเจ้าของที่ดินสร้างวัดเนินดินแดง ได้เสียชีวิตและตั้งศพที่วัดเขาพลอยแหวน อยู่ที่อำเภอท่าใหม่ ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิด ก่อนออกเดินทางจากวัดเนินดินแดง หลวงปู่เรียกผมเข้าไปพบบอกว่า ปุ่น..เมื่อคืนเจ้าแม่เขาพลอยแหวนมาในนิมิตบอกว่า จะขอถวายพลอยก้อนหนึ่ง ให้ไปเอา แล้วให้ลูกศิษย์เอาไปขายเอาเงินมาสร้างโบสถ์ เขาจะทำเครื่องหมายเอาขอนไม้ปิดทับไว้ ลองไปดูกันดีไหม ?..ผมกราบเรียนว่าสุดแท้แต่ครูบาอาจารย์ครับผม..เมื่อเดินทางไปถึงวัดเขาพลอยแหวน ขณะที่รอเวลาเผาศพอยู่นั้น รอบๆ วัดเขาพลอยแหวนจะมีแต่ผู้คนกำลังสาละวนในการประกอบอาชีพอันท้าทาย  ทุกคนต่างก็มีความหวังอยู่ที่สมบัติใต้ดินซึ่งยังมองไม่เห็น แต่ละคนเหงื่อไหลไคลย้อย ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เลยว่าใต้พื้นดินที่พวกเขากำลังขุดนั้นจะได้อะไรเป็นสิ่งตอบแทนกับกำลังที่เขาหมดไปวันหนึ่งๆ ไม่มีใครรู้เลยว่าวันพรุ่งนี้เงินซื้อกับข้าวให้ครอบครัวจะมีหรือเปล่า.ทั้งขุดด้วยจอบ ด้วยชะแลง บ้างก็ร่อนด้วยตะแกง ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยง แต่จะได้เห็นสีหน้าของบุคคลเหล่านี้อีกครั้งก็ตอนเลิกงาน ซึ่งบางคนก็สมปรารถนายิ้มแย้มแจ่มใสหายเหนื่อย เพราะได้ในสิ่งที่ตนค้นหามาตลอดวัน น้ำดี สีสวย ราคาก็จะงามตามตัว บางคนได้วันละหลายแสนหลายล้านบาท แต่อีกบางคนวันแล้ววันเล่าก็ไม่ได้แม้แต่เศษพลอยไม่ได้เห็นเสียด้วยซ้ำว่าหน้าตาของพลอยที่สามารถเปลี่ยนให้คนจนเป็นเศรษฐีได้ในฉับพลับนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ทุนที่นำมาลงก็หมดไปๆ เป็นมุมมองหนึ่งที่เป็นสัจธรรมว่าไม่เที่ยงแท้แน่นอนเสมอไป..หลวงปู่ยืนมองพิจารณาหมู่คนผู้มาแสวงโชคอย่างสุจริตนั้น อยู่ครู่หนึ่ง หลวงปู่ก็ปรารภขึ้นว่า ปุ่น.. ที่ผีมาบอกเมื่อคืนลองเดินไปดูกันเล่น ๆ ดีไหม ? ว่าแล้วหลวงปู่ก็เดินนำหน้า  ผมเดินตามลัดเลาะไปตามชายเขาซึ่งห่างจากผู้คนที่กำลังขุดพลอยอยู่นั้นไม่มากนัก  ตรงนี้แหละปุ่น !... เขาวางไว้ใต้ขอนไม้นี้แหละ !...ผมก้มลงพลิกขอนไม้ผุๆ หงายขึ้นก็พบพลอยสตาร์ก้อนขนาดใหญ่เท่ากำปั้นมือ ผมเป็นคนหยิบขึ้นมาถวายท่าน แล้วก็เดินกลับวัดเพื่อรอเวลาเผาศพ เดินไปดูไป ปรารภเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปด้วย หลวงปู่บอกกว่า ...เรื่องแบบนี้ไม่น่าเชื่อนะ!.ว่าผีจะมาบอกให้พลอย ถ้าไม่มาลองดูก็ยังนึกอยู่ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร? อยู่ดีๆ ผีมาบอกให้พลอย เพราะว่าเป็นเรื่องปรากฏการณ์ธรรมชาติทางวิญญาณ ชาวบ้านเขาขุดหากันแสนจะเหน็ดเหนื่อยตลอดวันยังไม่ได้เลย นี่อยู่ดี ๆ ผีก็มาบอกให้... เดินมาได้สักครู่ก็มีโยมชาวบ้านสองสามีภรรยาเขาคงสังเกตว่าที่หลวงปู่ถืออยู่ในมือนั้นต้องเป็นพลอย เขาวิ่งมากราบเท้ากราบตีนหลวงปู่แล้วบอกว่า..ผมจนเหลือเกินดิ้นรนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ทุนรอนที่ติดตัวมาก็หมดหลายวันแล้ว ยังไม่ได้พลอยสักเม็ด  ยังไม่รู้ว่าวันนี้จะเอาเงินที่ไหนซื้อข้าวสารหุงกินเลย  ถ้าได้ทุนสักก้อนพอค่ารถก็จะเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว ทางบ้านก็ยากจนตั้งแต่มานี่ก็ยังไม่ได้อะไรเลยมีแต่หมดลงไปทุกวัน ๆ ได้โปรดเมตตาผมด้วยเถิดครับท่านอาจารย์.?..หลวงปู่หันมามองหน้าผม ว่าอย่างไรปุ่น? ให้เขาไปเถอะ... ว่าแล้วหลวงปู่ก็ยื่นพลอยเม็ดงามน้ำเอกก้อนที่เพิ่งได้มานั้นให้กับชาวบ้านคนนั้นไปอย่างไม่อาลัยใยดีในคุณค่าราคาของพลอยเม็ดนั้นเลย..เสร็จแล้วก็เดินมายังวัดเขาพลอยแหวนร่วมพิธีงานศพเสร็จก็เดินทางกลับวัดเนินดินแดงตามปกติเหมือนไม่มีอะไรพิเศษใดๆ เกิดขึ้น และไม่พูดถึงเรื่องพลอยอีกด้วย.หลวงปู่ท่านจะปล่อยวาง ไม่เก็บมาคิดให้เป็นกังวลทั้งสิ้น...

                รุ่งขึ้นเช้าวันใหม่ หลวงปู่ปรารภกับผมว่า ปุ่น เอ๋ย ! เมื่อคืนเจ้าแม่เขาพลอยแหวนมาต่อว่าที่เราให้พลอยชาวบ้านไป.เขามาบอกให้ไปเอาใหม่ แต่มีข้อแม้ว่าห้ามให้ใครอีก เขาให้เอามาสร้างโบสถ์ เขาเอาใบไม้ปิดไว้ อยู่ไม่ไกลกับที่เมื่อวานนั่นเอง..สุดแท้แต่ท่านอาจารย์ครับกระผม..ผมกราบเรียน..ท่านพิจารณาอยู่ครู่หนึ่งแล้วท่านก็ปรารภขึ้นมาว่า..ฝากเขาไว้ที่นั่นก่อนดีกว่า..ก้อนหลังนี้จึงไม่ได้ไปเอาจนลืมไปเลยไม่รู้ว่าผีเจ้าของพลอยเขาไปบอกให้ใครที่อื่นอีกหรือเปล่า.ที่พูดนี้อยากให้เปรียบเทียบว่าหลวงปู่ท่านไม่ยึดติดในวัตถุภายนอกใดๆ เลย แม้แต่พลอยซึ่งมีราคานับแสนนับล้านก้อนเดียวขายแล้วสามารถสร้างโบสถ์เสร็จทั้งหลัง จะเห็นได้ว่าสมบัติต่างๆ ของท่านนั้นจะมีทั้งผีให้ และคนให้ ที่ผีมาบอกให้แล้วยังไม่ได้ไปเอายังมีอยู่อีกไม่ใช่น้อย ไม่ว่าใครจะเอาอะไรมาถวายท่านก็รับ  รับผ่านมือแล้ว ถ้ามีใครมาขอก็ยกให้ไปเลย ถ้าไม่มีใครขอก็ยกเข้ากองกลางสงฆ์ทั้งหมด ตัวท่านมีเพียงบริขารแปดตามพระวินัยเท่านั้น..ผมติดตามรับใช้หลวงปู่ เป็นพระอุปัฏฐากรุ่นแรกได้รู้ได้เห็น ได้ฟังสิ่งต่างๆ จากหลวงปู่มามาก ชาตินี้ทั้งชาติ ผมขอมีอาจารย์องค์เดียวก็พอ...
(ฐานข้อมูล โดย คุณคำปุ่น กุดกุง)

                การเจริญสมณธรรม ณ วัดเนินดินแดง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่พรรษาแรก พ.ศ.๒๕๐๔ จนล่วงเลยมาถึง พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่งเป็นพรรษาที่สามแล้ว หลวงปู่ได้นำความเจริญมาสู่วัดเนินดินแดงด้านศาสนวัตถุภายนอกมากมาย ส่วนศาสนบุคคลนั้นก็ได้อบรมสั่งสอนให้ทุกๆ คนตั้งมั่นอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา รู้จักประกอบอาชีพโดยสุจริต โดยเฉพาะพี่น้องชาวสมาชิกนิคมฯ ซึ่งเป็นบุคคลที่ป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจดังกล่าวแล้ว  หลวงปู่ยิ่งเมตตาเป็นพิเศษเนื่องจากมีความเห็นอกเห็นใจมีความเมตตาสงสาร ต้องการให้เขาเหล่านั้นได้เกิดความอบอุ่น ไม่ว้าเหว่ ได้สร้างบุญบารมี ได้มีที่พึ่งพิงทางด้านจิตใจ นับตั้งแต่เบื้องแรกที่หลวงปู่เข้ามาอยู่จนถึงปัจจุบัน

                วัดเนินดินแดง จึงนับได้ว่าเป็นสถานที่ปฐม เริ่มแรกแห่งการประกาศพระพุทธศาสนาลงบนแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ที่นับว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งด้านศาสนวัตถุ ศาสนบุคคล ตลอดทั้งศาสนธรรมคำสอน ทำให้คนทั่วไปได้รู้จักพระสายป่า หรือสายหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์เพิ่มขึ้น วัดเนินดินแดง ได้มีความมั่นคงเป็นหลักเป็นฐานขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วยบุญญาบารมีของหลวงปู่ แต่จะใช่สถานที่ ที่ท่านพ่อลีปรารภให้กับอดีตพระภิกษุจวด สวิงคูณ หรือไม่ โปรดติดตามต่อไป

ปฐมฤกษ์บนเขาสุกิม
ปรากฏการณ์ตามคำพยากรณ์ของท่านพ่อลี
ข้อที่ ๑. พ.ศ.๒๕๐๗ หัวเขาอีกิมจะสว่างไสวไปด้วยแสงเทียน แสงธรรม

                เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๗ คุณโยมห่อ สูญญาจารย์ และคุณโยมขวัญ ใจงาม ได้ไปกราบนิมนต์หลวงปู่สมชาย พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร จากวัดเนินดินแดง จำนวน ๙ รูป เพื่อมาเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีทำบุญบ้าน ที่หมู่บ้านคลองพลูกระต่อย (ปัจจุบันเป็นบ้านเขาสุกิม) ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ภายหลังจากเสร็จพิธีทำบุญแล้วคุณโยมห่อ และคุณโยมขวัญ จึงได้กราบนิมนต์หลวงปู่พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรให้ขึ้นไปพักบำเพ็ญทำความเพียรบนเขาสุกิม เพราะเห็นว่าบนภูเขาเป็นสถานที่ ที่เงียบ สงบสงัด วิเวก ปราศจากผู้คนรบกวนเหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรม หลวงปู่ได้ยืนมองดูทัศนียภาพของภูเขาอยู่ครู่หนึ่งจึงบอกโยมห่อว่า ไปวันนี้ได้ไหม? โยมห่อก็ถือมีดขอถางทางนำหน้าหลวงปู่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนมาถึงหลืบหิน หรือเพลิงผาแห่งหนึ่ง หลวงปู่จึงบอกโยมห่อว่า..เอาละ!.นั่งตรงนี้กันก่อน...หลวงปู่นั่งหลับตาพิจารณาโดยอภิญญาสมาธิ แล้วเห็นว่าบนภูเขาแห่งนี้ ในอดีตชาติเคยเป็นสถานที่ทิ้งขันธ์มาแล้วชาติหนึ่ง...หลวงปู่จึงปรารภกับญาติโยมว่า อาตมาคงจะได้กลับมาอยู่ที่บ้านเก่าอีกครั้ง...หลวงปู่มองเห็นว่าบนภูเขาสุกิมแห่งนี้เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง คือมีลักษณะเป็นสภาพป่าดงดิบหนาทึบ เต็มไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ปกคลุมอย่างหนาแน่น เสียงชะนีกู่ร้องอย่างโหยหวนบนยอดเขาที่อยู่สูงขึ้นไป เสียงนกเสียงกาส่งเสียงกันให้ลั่นป่า เหมือนดีอกดีใจที่ได้มีผู้ทรงศีลขึ้นมาอยู่บนเขาลูกนี้ด้วยในวันนี้ เสร็จแล้วหลวงปู่ก็บอกให้ญาติโยมเดินทางไปเอาอัฐบริขารส่วนตัวที่วัดเนินดินแดง เป็นต้นว่า ผ้าไตรจีวร กลด ส่วนบาตรนั้นนำมาแล้ว หลวงปู่ย้ำอีกว่า ห้ามเอาวัตถุสิ่งของใดๆ ของวัดมาเด็ดขาด อยู่ที่นี้เดี๋ยวก็มีมาเอง  ซึ่งในครั้งนั้นแม้แต่เสื่อจะปูรองนอนสักผืนหลวงปู่ก็ยังไม่ให้เอามา ต้องใช้ปลีกไม้และเปลือกไม้สำรองที่ชาวบ้านเลื่อยทิ้งไว้เอามาวางเรียงต่อๆ กัน แล้วปูทับด้วยผ้าสรงน้ำ หมอนก็ใช้ห่อผ้าครองนั่นเองรองนอน ซึ่งเป็นปฐมฤกษ์อย่างแท้จริง

                ปฐมฤกษ์ในการขึ้นมาบำเพ็ญสมณธรรมบนเขาสุกิมในครั้งแรกนี้ มีด้วยกัน ๕ รูป พระภิกษุ ๓ รูป สามเณร ๒ รูป คือ

                ๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒. พระคำพันธ์ คมฺภีรญาโณ ๓.พระคำปุ่น วณฺณวโร (คุณคำปุ่น กุดกุง)  ๔. สามเณรบุญช่วย  วงษ์สวาสดิ์ ๕. สามเณรเจียม นาคะโซ และมีอุบาสกอุบาสิกาติดตามขึ้นมาบำเพ็ญด้วยประมาณ ๑๐ คน 

                อุบาสกอุบาสิกาได้ช่วยกันจัดหาสถานที่พักแบบชั่วคราว พออาศัยหลบแดดหลบฝน เพื่อบำเพ็ญเพียร มีที่นั่งสมาธิ มีทางเดินจงกรม และมีที่กางกลด ตามโขดหินบ้าง ตามโคนต้นไม้บ้าง รุ่งขึ้นวันต่อๆ มา ก็มีชาวบ้านขึ้นมาช่วยถากถางสถานที่สำหรับบำเพ็ญภาวนาเพิ่มเติมขึ้นอีกบางส่วน หลวงปู่ได้นำพาหมู่คณะปฏิบัติอยู่แบบกึ่งชั่วคราวตามโขดหินตามโคนไม้  โดยไม่ยึดติดในสถานที่อยู่อาศัย โดยมุ่งการชำระจิตเป็นเรื่องสำคัญกว่าเรื่องอื่น  ดังนั้นทุกคนจึงมีความสุขอยู่กับการปฏิบัติธรรม ดื่มด่ำในรสชาติของพระธรรมตลอดมา สถานที่ประกอบความเพียรอันเป็นปฐมของหลวงปู่สมชาย คือใต้หลืบหิน (ปัจุบันนี้ได้อนุรักษ์ไว้เป็นอนุสรณ์สถาน) ในระหว่างนี้ฝนฟ้าเริ่มตกลงมาบ้างแล้ว เนื่องจากสมัยก่อนนั้นเมืองจันทบุรีฝนจะตกตั้งแต่เดือนอ้ายเดือนยี่กันทีเดียว เมื่อฤดูฝนเริ่มตั้งเค้าชาวบ้านก็ขึ้นมาช่วยกันปลูกสร้างกุฏิแบบชั่วคราวขึ้นจำนวน ๑๕ หลัง ศาลาโรงฉัน ๑ หลัง สำหรับเป็นที่ฉันภัตตาหาร และเป็นที่สวดมนต์ทำวัตร อบรมธรรมแก่ญาติโยม ในเบื้องต้นนี้ทั้งกุฏิและศาลาก็ปลูกสร้างแบบชั่วคราวด้วยไม้บนภูเขานั่นเอง หลังคาก็ใช้ใบระกำมุงซึ่งใช้ได้ดีมาก ฝากุฏิกั้นด้วยต้นระกำบ้าง เปลือกไม้สำรองบ้าง พื้นกุฏินั้นได้ใช้เปลือกไม้สำรอง ซึ่งหาได้ง่ายและใช้ได้ดี แต่ไม่ถาวรเท่านั้นเอง น้ำดื่มน้ำใช้อุดมสมบูรณ์ดีมาก อากาศดี แต่ฤดูฝนออกจะชุ่มชื้นมากไปบ้างเท่านั้นเอง เนื่องจากสภาพป่ายังเป็นดงดิบ สัตว์ป่า เสือและหมียังชุกชุมมาก สัตว์ประเภทอื่น ๆ มีทุกประเภทหมูป่า เก้ง กวาง งูเหลือมก็ค่อนข้างชุม เพราะบนภูเขามีถ้ำจำนวนมากซึ่งงูเหลือมนั้นจะชอบอยู่ตามถ้ำตามโพรงอยู่แล้ว แต่ละตัวยาวเป็น ๓ วา ๕ วา ออกมาให้เห็นบ่อยๆ แต่ไม่เคยทำร้ายใคร ยามรุ่งอรุณเมื่อ แสงพระอาทิตย์อ่อน ๆ ก็จะมีเสียงชะนีร้องโหยหวนกู่เรียกกันอย่างมีชีวิตชีวาไปทั้งภูเขา  แต่น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ไม่ทราบว่าหายไปทางไหนกันหมด  ซึ่งป่าไหนก็แล้วแต่ถ้ายังมีเสียงชะนีกู่ร้องกันแล้วป่านั้นก็ยังไม่ตายยังมีชีวิตชีวา หรือเรียกว่า ป่าดงพงไพรนั่นเอง  บนภูเขาสุกิมในสมัยก่อนนั้นก็เช่นกัน จะได้ฟังเสียงชะนีกู่ร้องรับกันไปมาอย่างมีชีวิตชีวาทุกวัน ค่ำลงก็จะมีเสียงหริ่งเรไรขับเคี่ยวเคี้ยวฟันกันให้ระงม ตกดึกเสียงนกแสกนกฮูกที่ออกหากินก็ร้องรับกันคนละมุมป่า ท่ามกลางแสงเดือนแสงดาว

                ตกยามค่ำคืนหลวงปู่ก็นำพาปฏิบัติรวมกันท่ามกลางแสงเดือนในข้างขึ้น ส่วนข้างแรมก็จะจุดตะเกียงเจ้าพายุบ้าง จุดเทียนไขบ้าง โดยใช้บริเวณลานที่สร้างอุโบสถทุกวันนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม และฟังธรรมจากหลวงปู่รวมกันเป็นประจำทุกคืน การปฏิบัติธรรมในปีแรกของการอยู่บนเขาสุกิมนี้จึงดูดดื่มต่อการชำระขัดเกลากิเลสกันจริงๆ ทั้งพระภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ที่เพิ่มจำนวนขึ้นมาอีก ทุกคนอยู่กันด้วยธรรม อิ่มธรรม ไม่มีภาระหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบใดๆ ใครขยันมากก็ปฏิบัติได้มาก การฟังเทศน์จากหลวงปู่ก็มีประจำทุกวัน เพราะภารกิจภายนอกยังมีไม่มากเช่นในระยะหลังๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ นี้จึงเป็นปีแห่งแสงเทียนแสงธรรมจริงๆ สมดังที่ท่านพ่อลีได้ปรารภทำนายไว้ในข้อที่หนึ่ง นั่นเอง

พ.ศ. ๒๕๐๗-๒๕๔๗
จำพรรษาแรก บนภูเขา เขาสุกิม (ครั้งแรกที่ยังไม่เป็นวัด)
ตำบลเขาบายศรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

                ภายหลังจากที่ได้บำเพ็ญเป็นการชิมลางรสชาติบนเขาสุกิมมาตั้งแต่เดือนมกราคม จนมาถึงเดือนกรกฎาคม เป็นระยะเวลาถึง ๗ เดือนเต็ม บัดนี้ฤดูกาลพรรษา ของปี๒๕๐๗ ก็ได้เข้ามาถึง หลวงปู่จึงไม่ได้กลับลงไปที่วัดเนินดินแดงอีก  แต่ก็มอบหมายให้หลวงปู่มุล ธมฺมวีโร หลวงปู่พรหมา และหมู่คณะดูแลรักษาฉลองศรัทธาญาติโยมต่อไป

                ส่วนหลวงปู่สมชายก็ได้อธิษฐานจำพรรษา ณ เขาสุกิม ซึ่งในพรรษาแรกนี้มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาด้วยกัน ๑๑ รูป คือ

                ๑. หลวงปู่ป่อง จนฺทสาโร ๒. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๓. หลวงพ่อคำพันธ์ สิริปญฺโญ และหลวงปู่ได้มอบให้หลวงพ่อคำพันธ์ สิริปญฺโญ เป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่ปีแรกนี้ติดต่อไปจนถึง ปีพ.ศ.๒๕๑๗ ๔. พระอาจารย์คำพันธ์ คมฺภีรญาโณ ๕. พระคำปุ่น วณฺณวโร (คุณคำปุ่น กุดกุง ผู้ให้ข้อมูล) ๖. พระแก้ว จตฺตสลฺโล ๗. พระบุญส่ง อตฺถจารี ๘. สามเณรบุญช่วย วงศ์สวาท ๙. สามเณรสุเพียร เมืองไทย  ๑๐. สามเณรประจวบ ๑๑. สามเณรโจทย์    และในปีนี้ได้มีแม่ชีขึ้นมาจำพรรษาด้วย จำนวน ๔ ท่าน  คือ
                ๑.แม่ชีบุญเกิน คงวัฒน์ ๒. แม่ชีละแม่ม คงขวัญ ๓. แม่ชีหวน ๔. แม่ชีเฟือง 
                พร้อมทั้งได้มี อุบาสก อุบาสิกา เข้ามาร่วมปฏิบัติธรรมกันมากขึ้น ซึ่งเดินทางมาแบบชั่วคราว ๗ วัน ๑๕ วันก็มี ที่มาอธิษฐานจำพรรษาตลอดฤดูพรรษาก็มี ล้วนแต่ผู้ที่มีความสนใจในการปฏิบัติธรรม มุ่งหวังความหลุดพ้นกันจริง ๆ ทั้งที่สมัยนั้นถนนหนทางจะเข้าจะออกแต่ละครั้งค่อนข้างจะลำบากมากเนื่องจากเป็นถนนของรถลากซุง  ประชาชนที่อยู่ในตัวจังหวัดจันทบุรีก็เริ่มรู้จักกิตติศัพท์กิตติคุณของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย มากเพิ่มขึ้นจึงได้มีศรัทธาเดินทางเข้ามาให้การอุปถัมภ์บำรุงด้านปัจจัยสี่มิได้ขาด หลวงปู่ต้องรับภาระหน้าที่ในการอบรมพระภิกษุสามเณรอย่างเข้มข้นไม่ว่าจะด้านระเบียบ วินัย ศาสนพิธี ตลอดทั้งการบำเพ็ญภาวนา หลวงปู่จะนำพาปฏิบัติด้วยตัวของท่านเองตลอดวันตลอดคืน ส่วนใหญ่หลังจากทำวัตรสวดมนต์แล้วก็จะจุดตะเกียงเจ้าพายุไว้ตรงบริเวณกลางลาน พระภิกษุสามเณรปฏิบัติอยู่ด้านหนึ่ง แม่ชีอุบาสิกาก็ปฏิบัติอยู่ด้านหนึ่ง บ้างก็เดินจงกรม บ้างก็นั่งสมาธิ เป็นหมู่เป็นคณะกันตลอดคืนแทบไม่ได้เอนหลังลงนอนกันเลย ทุกรูปทุกคนก็ไม่มีใครย่อหย่อนอ่อนข้อต่อการปฏิบัติกันทั้งสิ้น เพราะต่างก็ได้รับปีติความสงบจากการปฏิบัติ เอิบอิ่มอยู่ในธรรมตลอดวันตลอดคืน สัปปายะสี่ก็นับว่าเหมาะสำหรับนักปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าฝนค่อนข้างจะตกชุกไปบ้าง ก็ไม่ปัญหาอะไรสำหรับนักปฏิบัติ เพราะได้จัดเตรียมกุฏิชั่วคราวไว้ก่อนเข้าพรรษาอย่างเพียงพอแล้ว

พ.ศ. ๒๕๐๘
จำพรรษาที่สอง บนเขาสุกิม

                พ.ศ.๒๕๐๘ หลวงปู่ได้นำพาพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาบนเขาสุกิม เป็นปีที่ ๒ ในพรรษาปีนีมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาด้วยกัน ๑๔ รูป คือ
                ๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒. หลวงพ่อคำพันธ์ สิริปญฺโญ (เจ้าอาวาส)  ๓. พระอาจารย์คำพันธ์ คมฺภีรญาโณ ๔. พระบุญรอด สุขิโต ๕. พระคำปุ่น วณฺณวโร ๖. พระแก้ว จตฺตสลฺโล ๗. พระบุญเตือน ขนฺติโก   ๘. พระธนิต อุปาคโม ๙. สามเณรบุญช่วย วงศ์สวาท  ๑๐. สามเณรสุภาพ คำเรืองโคตร ๑๑. สามเณรโยธิน บุตรนารี ๑๒. สามเณรบุญสอง คำเรืองโคตร ๑๓. สามเณรสวาสดิ์ โอภาสี  ๑๔. สามเณรบำรุง  สว่างวงศ์ 

                ในระหว่างพรรษา หลวงปู่ก็นำปฏิปทาแบบอย่างของหลวงปู่มั่นและครูบาอาจารย์สายปฏิบัติมาอบรมสั่งสอน  และนำปฏิบัติทางด้านสมาธิจิตเป็นหลัก เรื่องฝึกหัดมารยาท ระเบียบ ศาสนพิธีอื่นๆ เป็นรอง แต่ให้ทุกรูปทุกคนได้รับรู้เรื่องพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องไว้ด้วย หลังจากออกพรรษาก็มีพิธีทอดกฐินตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวพุทธ ได้รับปัจจัยในกองกฐินจำนวน ๔๐๐ บาท

                การปักหลักบำเพ็ญภาวนาบนเขาสุกิม ตลอดระยะเวลา ๒ ปี ที่ผ่านมา หลวงปู่บอกว่าเหมือนมีความผูกพันกับเขาสุกิมดั่งสถานที่ เคยเกิด เคยตาย มาแล้วหลายภพหลายชาติ วันหนึ่งหลวงปู่นั่งสมาธิภาวนาจิตสงบดิ่งลึกสู่วิปัสสนาญาณขั้นสูง จึงหยั่งรู้ว่า เขาสุกิมแห่งนี้ ในอดีตชาติท่านเคยเกิดเป็นฤๅษีบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ สิ้นอายุขัยลงบนเขาสุกิมแห่งนี้มาเมื่อชาติก่อนนั่นเอง ชาติปัจจุบันจึงมีความผูกพันมีความรู้สึกว่านี่ คือ บ้านของเรา ! คือที่เก่าของเรา ! เราเคยตาย ณ สถานที่แห่งนี้มาก่อน !..  ด้วยเหตุที่ผูกพันกันมาแต่ครั้งอดีตชาติ จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นเตือน จนทำให้ต้องได้มาอยู่ และมาตาย ณ สถานที่เก่าในชาติที่แล้วอีกครั้งหนึ่ง

                การทำความเพียรบนเขาสุกิมนี้ ถึงแม้ว่าระยะแรกๆ จะไม่สะดวกสับปายะบางประการไปบ้าง พระบางรูปก็ยังไม่คุ้นเคยกับอากาศที่ค่อนข้างชื้นมาก เพราะฝนตกชุก จึงทำให้พระภิกษุสามเณรบางรูป ต้องล้มป่วยด้วยไข้ป่ากันมิได้ขาดระยะ หลวงปู่ก็เป็นทั้งไข้ป่าและโรคกระเพาะลำไส้ แต่การปฏิบัติของทุกคนก็เป็นไปได้ดี ได้รับความสงบทางด้านจิตใจ มุ่งมั่นที่จะรู้แจ้งเห็นจริง ดื่มด่ำในคุณธรรมความดีกันเต็มที่ทุกคน ด้วยเหตุนี้ประชาชนชาวบ้านจึงเห็นว่าสมควรที่จะช่วยกันปลูกสร้างกุฏิแบบถาวรขึ้นได้แล้ว เพราะใกล้จะถึงฤดูพรรษาในไม่ช้านี้ และเพื่อให้หลวงปู่เห็นว่าประชาชนชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธาประสงค์ที่จะให้หลวงปู่อยู่โปรดชาวบ้านที่นี่สืบต่อไป ในปีนี้จึงมีการปลูกสร้างกุฏิถาวรที่เป็นไม้แก่น โดยเปลี่ยนจากกุฏิชั่วคราวที่มุงด้วยใบระกำมาเป็นมุงสังกะสี ยกพื้นสูง ปูพื้นด้วยไม้เนื้อแข็ง กุฏิบางหลังก็สร้างแบบมีหลังคาครอบทางเดินจงกรม ขนาดความยาว ๒๕ ก้าว เพื่อให้พระภิกษุสามเณรอาศัยจำพรรษาและทำความเพียรกันได้สะดวกสบายไม่เป็นกังวลใดๆในระหว่างพรรษา 

ปักธงธรรมแบบถาวรบนยอดเขาสุกิม

                การที่หลวงปู่พักภาวนาอยู่บนเขาสุกิมถึง ๒ ปี ผ่านไปแล้วนั้น โดยที่ยังไม่ได้ลงมือปลูกสร้างถาวรวัตถุใด ๆ ไว้เลยเป็นเพียงพักภาวนาทำความเพียร แต่เป็นการพักอย่างได้ผลสูงเกินกว่าที่ตั้งใจไว้เพราะได้รับรสชาติที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของทุกๆ คน ที่ปฏิบัติกันอย่างเอาจริงเอาจังมุ่งหวังความหลุดพ้นกันเป็นที่ตั้ง แต่บัดนี้เวลาก็ล่วงเลยมาเป็นปีที่สามแล้ว ความผูกพันกับเขาสุกิม เสมือนว่าเป็นสถานที่เคยเกิดเคยตายมาแล้วในอดีตชาติ และมีความรู้สึกว่าชาตินี้ก็จะต้องมาตาย ณ ที่เดิมนี้อีก ประกอบกับเหตุปัจจัยอีกหลายประการจึงทำให้หลวงปู่ตัดสินใจว่าจะอยู่บนเขาสุกิมต่อไป จึงจำเป็นต้องปลูกสร้างเสนาสนะและขออนุญาตทางราชการให้ถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ในปีพ.ศ.๒๕๐๙ จึงเป็นปีแห่งการปักธงธรรมจักรอย่างมั่นคงถาวรลงบนเขาสุกิม หลวงปู่จึงปูพื้นฐานวางกฎระเบียบ วินัย ของพระสงฆ์อย่างแข็งแกร่ง  พระภิกษุสามเณรในยุคแรกๆ นี้จึงถูกอบรมเข้มข้นกันทุกรูป เพื่อต้องการให้เป็นกำลังช่วยประกาศพระศาสนาแถบชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกแบบยั่งยืนสืบไป

                ฤดูกาลพรรษาปีพ.ศ.๒๕๐๙ เข้ามาถึง หลวงปู่ก็ได้นำพาอธิษฐานจำพรรษาที่เขาสุกิมเป็นพรรษาที่ ๓ ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรจำพรรษาทั้งสิ้น ๑๗ รูป คือ

       ๑. หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ๒. หลวงพ่อคำพันธ์ สิริปญฺโญ (เจ้าอาวาส)  ๓. พระอาจารย์คำพันธ์ คมฺภีรญาโณ  ๔. พระบุญรอด สุขิโต ๕. พระคำปุ่น วณฺณวโร ๖. พระแก้ว จตฺตสลฺโล ๗. พระบุญเตือน ขนฺติโก   ๘. พระบุญช่วย อภิปุญฺโญ ๙. พระบุญสอง ปุญฺเญสโก ๑๐. พระวิโรจน์ กวิสฺสโร  ๑๑. พระทรงชัย กวิวํโส        ๑๒. พระสนิท ขนฺติธโร  ๑๓. สามเณรสุภาพ  คำเรืองโคตร ๑๔. สามเณรสวาสดิ์ โอภาสี ๑๕. สามเณรบำรุง สว่างวงศ์  ๑๖. สามเณรวิรัช ผ่องสวัสดิ์   ๑๗. สามเณรคำมั่น มะลิรัตน์

                ในปีพ.ศ. ๒๕๐๙ นี้ ก็ได้รับบริจาคที่ดินจาก พันโทสนิท คุณนายประนอม บูรณะคุณ และ คุณรัตนา เอครพานิช  รวมเป็นเนื้อที่จำนวน ๖ ไร่ ๕๐ ตารางวา เพื่อดำเนินการขออนุญาตสร้างวัดต่อทางราชการตามขั้นตอน  และก็ได้รับอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการให้สร้างวัดได้ เมื่อวันที่ ๒๑มิถุนายน ๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๑๖ เป็นลำดับมา

                ในยุคเริ่มแรกของเขาสุกิมนี้ คณะศิษย์รุ่นแรกๆ คงทราบกันเป็นอย่างดีว่า หลวงปู่ได้วางรากฐานและตั้งกฎระเบียบต่างๆ ไว้อย่างแข็งแกร่ง ระหว่างพระ-เณร และแม่ชี หรือญาติโยมฝ่ายหญิง ฝ่ายชาย เพราะต้องป้องกันการครหานินทา เนื่องจากทุกคนต้องอยู่ในป่า ต้องปฏิบัติในป่า เมื่อมืดค่ำลงก็อาศัยเพียงแสงสว่างจากแสงเดือน แสงดาว แสงตะเกียง และเทียนไขที่ต่างคนต่างจุดเพื่อเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ระหว่างพระและแม่ชีหรือโยมหญิงโยมชาย ห้ามเด็ดขาดที่จะมาพูดคุยกันโดยที่ไม่มีครูบาอาจารย์รับรู้รับทราบ สมัยนั้นเรื่องการสำรวมนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมากไม่มีใครมองหน้าใครทั้งสิ้น พระก็จะทราบเพียงแต่ว่ามีแม่ชีจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ส่วนแม่ชีก็จะทราบเพียงว่ามีพระจำนวนเท่านั้นรูป แต่หน้าตาเป็นอย่างไรจะไม่ทราบกันเลย เพราะต่างฝ่ายต่างก็สำรวมตา หู ของตนเอง ดูใจ ควบคุมใจของตน ดังที่หลวงปู่จะปรารภตักเตือนศิษย์ของท่านทุกฝ่ายและทุกครั้งอยู่เสมอว่า  อย่าหายใจทิ้ง การหายใจทิ้ง คือ การหายใจเข้า-ออกที่ปราศจาก สติ สมาธิ ปัญญา การหายใจเข้าหรือหายใจออก ต้องอยู่กับการภาวนา อยู่กับสติ อยู่กับสมาธิ จึงจะเรียกว่าทุกลมหายใจแต่ละครั้งนั้นไม่ได้ทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์...จะเห็นได้ว่าต่างคนต่างสำรวมกิริยาอาการของตน ไม่ค่อยสนใจเรื่องของคนอื่นเท่าไรนัก บนเขาสุกิมในระยะแรกเริ่มนั้น หลวงปู่ได้ปูพื้นฐานการปฏิบัติให้กับพระภิกษุสามเณร ตลอดทั้งญาติโยมผู้สนใจในการปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง แต่ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนระเบียบแล้ว หลวงปู่จะให้ลงจากเขาทันที คำว่าให้ลงจากเขา หมายถึง การถูกลงโทษขั้นสูงสำหรับที่นี่นั่นเอง หลวงปู่ได้ทำหน้าที่ของครูบาอาจารย์อย่างหนักตลอดเวลาผ่านมา ทุกวันทุกคืนทั้งเทศนาอบรม ทั้งนำปฏิบัติด้วยตัวของท่านเอง ท่านผู้ใดขัดข้องสงสัยในธรรมข้อไหนก็กราบเรียนถามท่านได้ตลอดเวลา หลวงปู่ก็จะชี้แจงให้เข้าใจทุกคนไป ดังปรากฏหลักฐาน การบันทึกเทปที่มีตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้  ซึ่งสมัยก่อนนั้นเทปบันทึกเสียงก็หาได้ค่อนข้างยาก  แต่คุณรัตนา เอครพานิช คุณเกษิณี สว่างเนตร ซึ่งเป็นนักปฏิบัติธรรมในยุคแรกของเขาสุกิม ก็ยังขวนขวายหามาบันทึกเอาไว้เป็นแบบฉบับ และได้อาศัยถ่ายทอดเป็นแนวทางรุ่นต่อรุ่นมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งสมัยก่อนนั้นหลวงปู่จะมีเวลามากต่อการเทศนาอบรมชี้แนะแนวทางของการชำระจิตให้กับนักปฏิบัติธรรมอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย เพื่อต้องการให้ผู้ปฏิบัติได้รู้จักอุบายวิธีที่จะทำลายฐานกิเลสกันอย่างเดียว กิตติศัพท์ชื่อเสียงทางด้านปฏิบัติธรรม การขูดเกลากิเลสของหลวงปู่  จึงเริ่มรู้จักกันอย่างกว้างขวางไปถึงอำเภอท่าใหม่ และในตัวจังหวัดจันทบุรี แต่ละวันก็จะมีผู้คนที่สนใจในการปฏิบัติธรรมเดินทางมาจากในตัวเมืองจันทบุรี และที่อื่นๆ เพื่อเข้ามาฟังธรรม มาปฏิบัติธรรมจำนวนมาก เพิ่มขึ้นทุกวัน การเดินทางในยุคสมัยนั้นก็ยากลำบากแต่อาศัยที่ทุกท่านมีความศรัทธาต่อครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และก็คงเป็นด้วยอำนาจบารมีเก่าในอดีตชาติอันยาวนานที่เคยเป็นศิษย์เป็นอาจารย์
กันมาก่อน จึงทำให้ได้มาเป็นศิษย์เป็นอาจารย์ คอยช่วยเหลือค้ำชูกันในชาตินี้อีก

                ด้วยอำนาจบารมีธรรมของหลวงปู่สมชาย จึงทำให้เขาสุกิมซึ่งเป็นป่าดงพงไพร ถูกพัฒนาขึ้นมา เรื่อย ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น มีการสร้างและตัดทางสำหรับเดินขึ้นเขา ด้วยการนำขอนแก่นไม้แดงมาวางเป็นขั้นลูกบันได สำหรับ พระภิกษุ สามเณร แม่ชี และญาติโยม ใช้เดินขึ้นลงได้สะดวกขึ้น และต่อมาก็มีการปรับทางเพื่อวางรางรถสลิงไฟฟ้าเพื่อใช้ขนถ่ายลำเลียงวัสดุการก่อสร้างขึ้นไปบนภูเขา ต่อมาได้พัฒนาเป็นรถสลิงไฟฟ้ารับส่งผู้โดยสารแบบรางเดี่ยว และแบบรางคู่ใน

เวลาต่อมา โดยได้รับแรงศรัทธาจากคุณโยมลออ พูลสวัสดิ์ คหบดีเจ้าของโรงเลื่อยในอำเภอท่าใหม่ ได้นำรถแทร็กเตอร์ D-8 มาช่วยทำการปรับทางขึ้นเขาเพื่อวางรางรถสลิงไฟฟ้าเพิ่มเติม และปรับพื้นที่เพื่อที่จะดำเนินการก่อสร้างอุโบสถในลำดับต่อไป 

พ.ศ. ๒๕๑๑
ข้อที่ ๒ หัวเขาอีกิม จะสว่างรุ่งเรือง
คนเมืองจันท์จะต้องรู้จักเขาอีกิมกันทุกคน

                จากคำปรารภทำนายไว้ล่วงหน้าของท่านพ่อลีว่า ในปีพ.ศ.๒๕๑๑ หัวเขาอีกิมจะสว่างรุ่งเรือง คนเมืองจันทบุรี จะต้องรู้จักเขาอีกิมนั้นคืออะไร? ทำไมจึงจะต้องรู้จัก? บัดนี้กาลเวลาเฉลยให้ทราบอีกข้อหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑-๓ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๑ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวน อุฏฺฐายี มหาเถร)ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระประมุขสูงสุดของคณะสงฆ์ ได้เสด็จมาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อุโบสถ และประทับแรมบนเขาสุกิม ยังความปลาบปลื้มปีติยินดีแก่ชาวจันทบุรีอย่างสูง ที่องค์พระประมุขสูงสุดฝ่ายสงฆ์ได้เสด็จมาประทับแรมในป่าในดง บนภูเขาที่กันดาร และการเดินทางก็ลำบากยากเข็ญ แต่พระองค์ก็ได้เสด็จและได้ประทับที่เขาสุกิม อย่างไม่มีผู้ใดคาดฝันมาก่อน จึงเป็นที่กล่าวขานลือไปทั่วเมืองจันทบุรีว่า พระสังฆราชเสด็จวัดเขาสุกิม ชาวพุทธทั่วเมืองจันทบุรี ต่างก็ไตร่ถามต่อๆ กัน เพื่อต้องการเข้าเฝ้าหรืออยากเห็นสมเด็จพระสังฆราชนั่นเองว่า เขาสุกิม อยู่ที่ไหน ปากต่อปาก ถามกันไปตอบกันมา จนชื่อวัดเขาสุกิมเป็นที่รู้จักของคนเมืองจันทบุรีแทบทุกคน นับว่าเป็นปริศนาธรรมหนึ่งในสี่ข้อที่ถูกเฉลยให้ได้รับทราบกัน ตามที่ท่านพ่อลีปรารภเอาไว้

                ในปี พ.ศ.๒๕๑๑ นี้เอง เป็นปีที่มีความหมายและมีความสำคัญต่ออดีตความเป็นมาว่าเขาสุกิมแห่งนี้ ว่าเคยเป็นเกาะกลางทะเลหรือท้องมหาสมุทร ที่อดีตนั้นเป็นสถานที่ที่ฤๅษีตนหนึ่งเคยใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญพรต เจริญเวทย์ หรือ เจริญฌานสมาบัติ 

                วันหนึ่งในปี พ.ศ.๒๕๑๑ นี้ ขณะที่หลวงปู่ได้เดินขึ้นไปบนภูเขาเพื่อทำความเพียรตามปกติ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวัน หลวงปู่หยุดยืนที่ข้างโขดหินก้อนหนึ่ง แล้วปรารภกับอุบาสกที่ติดตามไปในขณะนั้น คือ คุณโยมฉลวย  หัตถแพทย์ (ยังมีชีวิตอยู่) หินก้อนนี้ เมื่อชาติก่อนเป็นที่นั่งบำเพ็ญพรตของฤๅษีตนหนึ่ง ฤๅษีเดินออกจากอาศรมก้าวขาเพียงก้าวเดียวก็ถึงที่นั่งบำเพ็ญฌาน  แต่บัดนี้ เราต้องแหงนคอตั้งบ่าก็ยังมองไม่เห็นด้านบนของหิน นี่แสดงว่าหินก้อนนี้ถ้าไม่งอกสูงขึ้น แผ่นดินก็ต้องยุบลง หินจึงสูงขนาดนี้   ..คุณหลวย ! อาตมามีความรู้สึกว่าบริเวณนี้เคยเป็นอาศรมของอาตมาในชาติก่อน อาตมาเคยฝังวัตถุมงคลเอาไว้ใต้อาศรม คุณหลวยลองพิจารณาดูซิว่าจะเป็นอย่างที่อาตมาเข้าใจไหม ? ขณะที่หลวงปู่ยืนมองดูก้อนหินใหญ่ก้อนนั้น เท้าของหลวงปู่ก็เหยียบอยู่บนหินก้อนหนึ่ง ที่โยกเยกคลอนแคลนกระดกไปมา หลวงปู่จึงเขี่ยให้ก้อนหินพลิกด้านเพื่อจะได้ไม่โยกเยก แต่ทันใดที่หินพลิกก็พบวัตถุแปลกประหลาดจำนวนมากฝั่งอยู่ใต้ก้อนหิน.คุณโยมฉลวย ถึงกับตกตลึง กับสิ่งที่พบเห็น ซึ่งประกอบ ด้วยถ้วยดินโบราณบรรจุขวานหินหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ขวานฟ้า จำนวนมากกว่า ๑๐ อัน ลูกปัดหินลูกปัดดินอีกจำนวนหนึ่ง วางปะปนกันอยู่ในถ้วยดังกล่าว... ซึ่งบริเวณนี้ทั้งหมดต้นไม้แต่ละต้นสูงใหญ่สองสามคนโอบจึงจะรอบ ไม่มีอะไรเป็นร่องรอยที่จะบอกว่า ตรงบริเวณนี้เคยเป็นอาศรมฤๅษีมาก่อน คุณโยมฉลวยนำวัตถุที่เรียกกันว่าขวานฟ้าหรือขวานหินพร้อมลูกปัดขึ้นมาถวายหลวงปู่ พร้อมกล่าวว่า ท่านพ่อครับ. เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อว่า บนเขาสูงขนาดนี้ จะมีใครนำขวานฟ้ามาฝังไว้ ฝังตั้งแต่เมื่อไร ฝังไว้เพื่ออะไร ? เหตุการณ์ตอนนี้จึงไปพร้องกับความฝันเมื่อสมัยที่หลวงปู่ยังเป็นเด็กอยู่กับคุณตาหลวงเสนาก่อนเข้ามาบวช หลวงปู่จะฝันเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านได้เคยเป็น ฤๅษีนักพรตบำเพ็ญตบะมาแล้วถึง ๓ ชาติ ดังที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้น ภูเขาสุกิมแห่งนี้ก็เป็นเกาะกลางท้องมหาสมุทร และเป็นสถานที่บำเพ็ญพรตของหลวงปู่ในอดีตชาตินั่นเอง...



พ.ศ. ๒๕๑๒
ข้อที่๓ หัวเขาอีกิมจะสว่างไสว คนทั่วประเทศจะต้องรู้จัก

                หลังจากการรับเสด็จสมเด็จพระสังฆราช ผ่านไปได้เกือบปี ข่าวอันเป็นมงคลครั้งใหญ่สำหรับชาวจันทบุรีก็เกิดขึ้นอีกครั้ง คือ การเตรียมพร้อมในการรับเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี  และสมเด็จพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ที่จะเสด็จมายังวัดเขาสุกิมในเร็วๆ นี้

                กล่าวได้ว่า ป่าดงพงไพรในสมัยนั้นเป็นดงดิบจริงๆ แต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านทรงพระกรุณาโปรดที่จะเสด็จมาเพื่อการบำเพ็ญพระราชกุศล พสกนิกรก็พร้อมใจกันรับเสด็จอย่างล้นหลาม วัดเขาสุกิมมีสิ่งใดที่พิเศษหรือ? เจ้าฝ่ายศาสนจักรเพิ่งจะเสด็จเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง  เจ้าฝ่ายราชอาณาจักรก็กำลังจะเสด็จอีก บัดนี้ข่าวการเสด็จวัดเขาสุกิมของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี และสมเด็จพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ โดยมีพระราชกำหนดเสด็จวัดเขาสุกิม เพื่อทรงถวายกุฏีแก่พระสงฆ์เพื่ออุทิศพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๒ ข่าวการเสด็จวัดเขาสุกิม ของทั้งสองพระองค์แพร่สะพัดออกไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว  ทำให้ประชาชนทั่วไปอยากทราบว่า วัดเขาสุกิมนั้นมีสิ่งใดพิเศษหรือ ? เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจึงได้เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลถึงในดงในป่าเช่นนี้ ปากต่อปากก็ล่ำลือกันไป  คนทั่วประเทศจึงรู้จักวัดเขาสุกิมมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งก็ตรงกับคำปรารภหนึ่งในสี่ข้อของท่านพ่อลีอีกเช่นกันที่ว่า ..พ.ศ.๒๕๑๒ หัวเขาอีกิมจะสว่างไสว คนทั่วประเทศจะรู้จัก.. เมื่องานรับเสด็จผ่านไปด้วยความเรียบร้อย วัดเขาสุกิมก็เหมือนอัญมณีของเมืองจันท์ ที่ทุกคนอยากรู้จัก ประชาชนทั้งใกล้และไกลเริ่มหลั่งไหลเดินทางเข้ามาสัมผัสกับสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้มากขึ้น

                ส่วนในด้านการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรและผู้ปฏิบัติธรรมบนวัดเขาสุกิม ก็เป็นไปอย่างเข้มแข็งกันทุกท่าน ต่างคนต่างเคารพรักนับถือในโอวาทคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์กันอย่างเข้มงวด ไม่มีย่อท้อย่อหย่อนต่อการปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน เช่น เวลาเช้าเริ่มกันตั้งแต่ตีสาม ก็ตื่นขึ้นทำวัตรเช้า นั่งสมาธิ เดินจงกรมกันจนถึงสว่าง เสร็จแล้วพระสงฆ์สามเณรออกบิณฑบาตโปรดชาวบ้านชาวสวน ภายหลังจากฉันภัตตาหารเสร็จก็ปฏิบัติทำความเพียรต่อจนถึงบ่ายสามโมง ก็ปัดกวาดบริเวณวัดเหมือนกิจวัตรของพระสายป่าทั่วๆ ไป จนถึงเวลาบ่ายห้าโมงก็สรงน้ำครูบาอาจารย์และฟังเทศน์ ตอนค่ำครูบาอาจารย์ก็ลงศาลาสวดมนต์ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ และเทศนาอบรม ในช่วงเวลานี้จะมีทั้งพระอาคันตุกะจากที่อื่นๆ เดินทางมาฟังเทศน์ ตลอดทั้งญาติโยม แม่ขาว แม่ชี จะมารวมตัวฟังเทศน์กันบนศาลาการเปรียญ คือ ศาลาไม้หลังเก่าๆ ในปีนี้พระภิกษุสามเณรก็เพิ่มมากขึ้น อุบาสกอุบาสิกาผู้ที่สนใจในการปฏิบัติทั้งในจังหวัดจันทบุรี และต่างจังหวัด ก็หลั่งไหลเดินทางมาฟังธรรมและอยู่ปฏิบัติที่วัดเขาสุกิมเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การก่อสร้างเสนาสนะจึงต้องแบ่งแยกกันเป็นส่วนๆ เพื่อความสงบวิเวกของผู้ปฏิบัติดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน กุฏิของหลวงปู่คณะศิษย์ก็ได้จัดสร้างถวายเป็นกุฏิถาวรหลังแรกบนโขดหินต้องเดินสูงขึ้นไปบนยอดเขา อากาศปลอดโปร่ง เบา สบาย มองเห็นความเป็นอยู่ของชาวสวนได้ไกลสุดลูกหูลูกตา มองไปข้างหน้าเห็นเทือกเขาสอยดาว และยอดเขาพระบาทคิชฌกูฏที่รู้จักกันทั่วเมืองไทย

พ.ศ. ๒๕๑๕
ข้อที่ ๔ หัวเขาอีกิม จะเป็นศูนย์รวมของตัวแทนศาสนาต่างๆ

                คำพยากรณ์ของท่านพ่อลี ได้เป็นจริงขึ้นมาอีกหนึ่งข้อ ซึ่งนับว่าเป็นข้อที่สำคัญ และไม่ได้มีง่ายเลยสำหรับวัดที่อยู่ในป่าในดงลึกขนาดนั้น จะมีตัวแทนของแต่ละศาสนาเข้าไปพบปะพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยนธรรมซึ่งกันและกันโดยไม่ได้นัดหมายกันมาก่อน เช่นครั้งนี้มีตัวแทนของศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลามและซิกข์ ท่านพ่อลีพระผู้ทรงอภิญญาสมาบัติสามารถบอกเหตุการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ตามจดหมายเหตุของคุณครูจวด สวิงคูณ ที่บันทึกเอาไว้ล่วงมาแล้วเป็นระยะเวลานาน บัดนี้ก็ได้เป็นจริงดังปรากฏต่อสายตาของชาวโลก

พ.ศ. ๒๕๒๐
หัวเขาอีกิม จะสว่างไสวถึงที่สุด คนทั่วโลกจะรู้จัก

                จากวัน เดือน ปี และกาลเวลาที่ผ่านพ้นไป นับจากหลวงปู่ขึ้นมาอยู่บำเพ็ญภาวนาบนเขาสุกิม เป็นระยะเวลาถึง ๑๓ ปี ได้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งสิ่งที่ดีๆ ก็มาก สิ่งที่เป็นอุปสรรค์ต่อการสร้างบารมีของหลวงปู่ก็มีไม่ใช่น้อย แต่หลวงปู่ก็ใช้ความวิริยะอุตสาหะอดทนฝ่าฟันอุปสรรคมาด้วยคุณธรรมความดีจึงชนะมาทุกครั้ง ผ่านพ้นมาด้วยดี ทำให้ชีวิตมีรสชาติมากขึ้นมิใช่น้อย หลวงปู่เคยปรารภว่า ที่ไหนมีบัณฑิต ที่นั่นก็มีคนพาล ที่ไหนมีคนดี ที่นั่นก็มีคนชั่ว ความดีและความชั่วนั้นก็มักจะตามมาพร้อมๆ กัน ถึงแม้ว่าเราไม่ได้สร้างไม่ได้ทำขึ้นเอง คนอื่นก็สร้างให้ หามาให้ หรือที่เรียกกันว่ามีมารผจญซึ่งหนักกว่าทุกแห่งเท่าที่หลวงปู่เคยผ่านมา พระพุทธองค์ผู้วิเศษของโลกยังมีพญามารตามทำลายชื่อเสียงของพระองค์นับตั้งแต่วันแรกที่ทรงตรัสรู้ แต่พระองค์มิได้หวั่นไหว จนที่สุดพระพุทธองค์ไปนิพพาน พยามารทั้งหลายก็ไปอเวจีมหานรก...  หลวงปู่ปรารภต่อไปว่า  ผมพบเห็นที่เมืองลาวมาแล้วจึงไม่ค่อยหวั่นวิตกอะไรเลยสำหรับศัตรูหรือภัยคอมมิวนิสต์ ทั้งคอมมิวนิสต์จริง และคอมมิวนิสต์ผสมโรง ซึ่งหมายถึงคนเรากันเองที่อิจฉาในเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีทำนองนั้น...

                ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ถึง พ.ศ.๒๕๒๐ การประพฤติปฏิบัติของหลวงปู่บนเขาสุกิมตลอดทั้งหมู่คณะพระภิกษุสามเณรก็เพิ่มขึ้นมาก ลาภสักการะหลั่งไหลมาจากญาติโยมทั้งในจังหวัดจันทบุรี กรุงเทพฯ และต่าง จังหวัด วันหนึ่งๆ จำนวนมาก ผู้คนภายนอกก็หลั่งไหลมาปฏิบัติมากขึ้น หลวงปู่ต้องรับภาระหนักทั้งจะต้องเทศนาอบรมผู้ปฏิบัติ ทั้งนำปฏิบัติ และรับผิดชอบในการพัฒนาก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดอีกหลายอย่าง ชื่อเสียงของหลวงปู่ก็เป็นที่รู้จักกันเพิ่มขึ้น แต่ละวันหลวงปู่จะต้องเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจหลายๆ อย่างนอกวัด ทั้งกิจสงฆ์และฉลองศรัทธาของชาวพุทธตามบ้านเรือนด้วย ในระหว่าง ๔-๕ ปีนี้หลวงปู่ต้องต่อสู้กับเหตุการณ์ต่างๆ อันหนักหนาสาหัสพอสมควร ตั้งแต่พระต่อพระในพื้นที่ใส่ร้ายกลั่นแกล้งด้วยเรื่องอสัทธรรม หวังทำลายชื่อเสียงก็มีไม่เว้นแต่ละวัน อีกทั้งเหตุการณ์การเมืองก็เข้ามาปะปนทั้งๆ ที่หลวงปู่มุ่งหวังขัดเกลากิเลสอยู่กับป่าอยู่กับเขาก็ยังมีเรื่องตามมาหาถึงในป่าในเขา ข่าวการเมืองก็กล่าวโจมตีว่า พระอาจารย์สมชาย วัดเขาสุกิม เป็นพระนวพล คือพระที่ฝักใฝ่กับการเมืองนั่นเอง  พระอาจารย์สมชาย วัดเขาสุกิม ซ่องสุมกำลังพลและอาวุธ เพื่อเตรียมยึดครองประเทศ อาจารย์สมชาย วัดเขาสุกิม คือหัวหน้าใหญ่คอมมิวนิสต์สายรัสเซีย และข่าวเสื่อมเสียอื่นๆ ตามมาเป็นระลอกๆ ไม่ได้ขาดระยะ พวกผสมโรงก็มาก
                ส่วนคอมมิวนิสต์ตัวจริงนั้นก็มีการติดตามมาตั้งแต่สมัยที่ท่านอยู่ประเทศลาว ในช่วงนี้พระที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชน ซึ่งมีชื่ออยู่ในบัญชีที่คอมมิวนิสต์จะต้องเก็บ มีอยู่ด้วยกัน ๓ รูป คือ ๑. พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จ.สกลนคร ๒. พระอาจารย์จวน กุลฺลเชฏฺโฐ วัดภูทอก จ.หนองคาย ๓. พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี ทั้งสามรูปจะถูกประกบตามใบสั่งและมีค่าหัวให้อย่างงาม หลวงปู่จะพูดอยู่เสมอว่า ไม่ต้องมาฆ่าอาตมาหรอก ถึงเวลาอาตมาก็ตายเอง..ถ้ายังไม่ถึงเวลาทำอย่างไรก็ไม่ตาย เหตุการณ์ต่างๆในช่วงนี้ ค่อนข้างรุนแรง แต่ด้วยบุญบารมีจึงทำให้หลวงปู่รอดพ้นเหตุการณ์ต่างๆ มาครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างปาฏิหาริย์ เมื่อครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือได้ถูกปองร้ายถึงชีวิต ชาวสมาชิกนิคมฯ ซึ่งหลวงปู่ได้เมตตาโปรดอนุเคราะห์ตั้งแต่สมัยอยู่ที่วัดเนินดินแดงก็ได้เสียสละเวลามาเข้าเวรยามสอดส่องดูแลเหตุการณ์ทั้งกลางวันและกลางคืนเป็นการตอบแทนพระคุณครูบาอาจารย์ คืนวันหนึ่งขณะที่คณะสมาชิกนิคมลาดตระเวนดูแลความเรียบร้อย ก็ได้จับบุคคลต้องสงสัยกลุ่มหนึ่งพร้อมปืนเอ็ม ๑๖ ห้ากระบอก จึงได้นำมาให้เจ้าหน้าที่ทำการสอบสวน คนร้ายรับสารภาพว่า รับค่าจ้างให้มาเก็บหลวงปู่ในราคา ห้าหมื่นบาท ทำมาแล้วหลายครั้งหลายวิธี แต่ไม่สำเร็จ ก่อนที่จะใช้อาวุธก็เคยใช้วิธีใส่ยาพิษไปกับอาหารและน้ำปานะมาแล้วหลายครั้งก็ไม่สำเร็จ เห็นท่านฉันก็ไม่เห็นท่านเป็นอะไร เคยเอารถสิบล้อวิ่งตัดหน้าให้รถท่านอาจารย์พุ่งชนท่านก็ไม่เป็นอะไร และครั้งนี้ก็ได้ปรึกษากันมาก่อนแล้วว่า...เขาล่ำลือกันว่าอาจารย์สมชายท่านยิงไม่ออก ออกก็ไม่ถูก  ถูกก็ไม่เข้า... จึงเตรียมขวานที่ใช้ผ่าฟืนมาด้วย (ขวานยังเก็บไว้อยู่ในพิพิธภัณฑ์) วางแผนกันว่า ถ้ายิงไม่ได้อย่างที่เขาล่ำลือกัน ก็จะเอาขวานฟันคอให้ขาด หรือช่วยกันทุบให้ตาย แต่เมื่อปืนทั้ง ๕ กระบอกยิงไม่ออกเลยแม้แต่กระบอกเดียว พวกเราทั้ง ๕ คนก็ไม่มีใครกล้าเสี่ยงที่จะเข้าไปฟัน มือตีนสั่นไปหมดไม่มีแรงที่จะยกขวานอย่างที่คุยกันเอาไว้เลย จึงทิ้งขวานรีบวิ่งหลบหนีจนมาถูกจับได้นี่แหละ


                ภายหลังจากล้นเกล้าฯทั้งสามพระองค์เสด็จพระราชดำเนินวัดเขาสุกิมได้ ๕ เดือน หมายกำหนดการจากสำนักพระราชวังก็ตามมาอีก ๑ ฉบับ ความว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดจะเสด็จวัดเขาสุกิม พร้อมด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา  ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๒๐ เพื่อทรงทอดผ้าป่า
จึงทำให้เหตุการณ์การเมืองต่างๆ เพลาลงไปได้มาก แต่ยังไม่หมดไปเสียทีเดียว ยังมีข่าวโคมลอยสร้างกระแสทำลายชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งคราว ในสมัยนั้นสถานการณ์ด้านชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านด้านจังหวัดจันทบุรี ตราด และปราจีนบุรี จะมีภัยสงครามล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้น ทำให้ข้าราชการทหารตำรวจตามชายแดนต้องทำหน้าที่ปกป้องผืนปฐพีของไทยเอาไว้สุดกำลังทั้งสามจังหวัด ต้องอาศัยกำลังใจจากแนวหลัง ทุกวันธรรมสวนะหลวงปู่ก็จะนำประชาชนชาวบ้านจัดหาข้าวสารอาหารแห้ง และวัตถุมงคล ออกเยี่ยมบำรุงขวัญเป็นประจำมิได้ขาด ผู้ไม่ประสงค์ดีก็ออกข่าวโจมตีว่าเป็น ...ไส้ศึก ชักนำภัยสงครามเข้าประเทศไทยบ้าง... ว่านำอาวุธสงครามไปส่งให้กับฝ่ายตรงข้ามบ้าง... สารพัดที่จะกล่าวโจมตี แต่หลวงปู่ไม่เคยที่จะหยุดเฉยแต่อย่างใด ยังคงทำความดีเรื่อยไป ไม่ย่อท้อต่อเสียงกล่าวร้ายโจมตีที่มีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดระยะ หลวงปู่นิ่งเฉยไม่สนใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มุ่งหน้าบำเพ็ญสาธารณประโยชน์สงเคราะห์เพื่อนร่วมโลกต่อไป
                ดังเช่นสมัยหนึ่ง เมื่อพ.ศ.๒๕๒๒ ด้านชายแดนจังหวัดตราดได้มีประชากรชาวเขมรทะลักหนีตายจากแผ่นดินเกิดของเขาเองเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางด้านเขาล้าน จังหวัดตราด จำนวนนับแสนคน หลวงปู่ได้ชักชวนศิษยานุศิษย์ร่วมกันจัดหาอาหารแห้งจำนวนมากแล้วรีบเดินทางไปจังหวัดตราดทันที โดยไม่ได้คำนึงว่าเป็นคนไทยหรือเขมรแต่อย่างไร หลวงปู่บอกว่าเขาเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน  หลวงปู่ได้เดินทางไปพบเห็นภาพอันน่าเวทนาของเพื่อนร่วมโลกเดียวกัน ที่อดยากหิวโหยผอมโซ บางคนบาดเจ็บเพราะถูกอาวุธระหว่างทาง บ้างก็ติดไข้ป่าต้องหามกันลงมาจากภูเขาอย่างทุลักทุเล สมัยนั้นหลวงปู่จะนำสิ่งของไปช่วยเหลือชาวเขมรวันเว้นวัน สวดมนต์ได้เท่าไร ใครถวายจตุปัจจัยมาเท่าไร หลวงปู่ให้ซื้อข้าวสารอาหารแห้งทั้งหมด เพื่อนำไปช่วยเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก
                                                                                                                                                                                        ต่อมาสภากาชาดไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เข้ามาทำหน้าที่เปิดศูนย์สงเคราะห์ผู้อพยพ ขึ้นที่บ้านเขาล้าน จังหวัดตราด ในครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมศูนย์ผู้อพยพพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระนางเจ้า ฯ ทรงมีพระราชดำริ ว่า ชาวเขมรอพยพเหล่านี้ล้วนแต่นับถือศาสนาพุทธ น่าจะมีพระพุทธรูปไว้เป็นที่สักการบูชาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่งทางจิตใจ เมื่อหลวงปู่ทราบดังนั้นจึงรับสนองพระราชดำริ จัดสร้างพระพุทธรูปสุโขทัย ปางมารวิชัย น้อมเกล้าฯ ถวาย พระองค์ทรงพระราชทานให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ศูนย์ฯเขมร โปรดให้หันหน้าไปด้านชายแดนไทย-กัมพูชา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อพยพทุกคนทำพิธีสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย โดยมีแม่ชีซึ่งช่วยดูแลเด็กกำพร้าในศูนย์ เป็นผู้นำสวดมนต์ประจำทุกวัน พระพุทธรูปดังกล่าวได้รับการขนานนามว่า หลวงพ่อแดง  วันเวลาผ่านไปศาลาประดิษฐานหลวงพ่อแดงก็ชำรุดไปตามกาลเวลา  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ สภากาชาดไทยได้จัดการบูรณะเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาสภากาชาดไทย ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๔๐ พรรษา หลวงปู่พร้อมด้วยศิษยานุศิษย์จึงร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างศาลาประดิษฐานหลวงพ่อแดงหลังใหม่  เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๘

                เห็นได้ว่าหลวงปู่มีเมตตาโดยไม่เลือกชนชาติใดๆ ทั้งสิ้น ผู้ใดตกทุกข์ได้ยากหลวงปู่จะช่วยเหลือทันทีโดยมองว่าเป็นเพื่อนมนุษยชาติคนหนึ่ง โดยไม่เกรงกลัวภัย
                หรือข้อครหาใดๆ จึงนับว่าเป็นพระสงฆ์รูปเดียวในยุคสมัยนั้นที่กล้าออกเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจแก่เหล่าทหารๆ แนวหน้า ในสมัยนั้นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ต่างก็เกรงกลัวคำกล่าวหาต่างๆ นาๆ หรือกลัวผิดวินัย อะไรทำนองนั้น จึงไม่ปรากฏว่ามีพระสงฆ์รูปใดออกสงเคราะห์ในลักษณะนี้เลย  ต่อมาในระยะหลังๆ เมื่อบ้านเมืองสงบลงแล้วจึงได้พบเห็นสังคมของพระสงฆ์ออกสงเคราะห์ชาวบ้าน ในด้านสาธารณะ หรือสังคมสงเคราะห์ กันบ้าง หลวงปู่ปรารภอยู่เสมอว่า พระสงฆ์เรานี้ควรที่จะเสียสละให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้านบ้าง ไม่ใช่เทศน์สอนให้ชาวบ้านเสียสละ สอนให้ชาวบ้านทำบุญ แต่ตัวของพระเองกับสะสมเต็มไปด้วยกองกิเลสที่ยึดติด เมื่อชาวบ้านเขาให้มาแล้วก็รู้จักทำบุญต่อ  ไม่ใช่มีแต่รับของชาวบ้านอย่างเดียว....ในช่วงปีพ.ศ.๒๕๑๔-๒๕๒๔ หลวงปู่จะบำเพ็ญศาสนูประการอย่างมาก ทั้งภายในวัดนอกวัด หลวงปู่ ปรารภอยู่เสมอๆ ว่า ธรรม และวัตถุ ต้องควบคู่กันไป จึงจะเจริญ ในระหว่างเหตุการณ์ในวัดก็ยุ่งๆ แต่หลวงปู่ก็ไม่สนใจใยดี อะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด หลวงปู่ก็ดำเนินภารกิจหน้าที่ที่ดีของสงฆ์ไม่ได้หยุดยั้งแต่อย่างใด เหตุการณ์บ้านเมืองก็วุ่น ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่างก็มี ผ.ก.ค.ชายแดนปราจีนบุรี-จันทบุรี และตราดก็มีภัยจากเพื่อนบ้านสู้รบกัน ระหว่างเขมรแดง และเขมรเสรี ทหารตำรวจ และชาวบ้านตามชายแดนเดือดร้อนกันไปทั่ว หลวงปู่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ชักชวนประชาชนนำสิ่งของออกเยี่ยมบำรุงขวัญทุกวันธรรมสวนะ ศิษย์รุ่นเก่าๆ คงทราบกันเป็นอย่างดี
                นอกจากนี้หลวงปู่ก็ยังได้นำคณะศิษย์ ก่อสร้างโรงเรียนหลายแห่งด้วยกัน เช่น โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา ที่ตำบลคลองปูน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โรงเรียนมัธยมวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี โรงพยาบาลวัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี และโรงเรียนจังหารฐิตวิริยาประชาสรรค์ จังหวัดร้อยเอ็ด อีกทั้งยังซื้อที่ดินหน้าวัดเพื่อขุดสระเก็บน้ำ ไว้ช่วยเหลือชาวบ้านชาวสวน ในช่วงดำเนินการขุดสระน้ำนั้น หลวงปู่จะลงมานั่งควบคุมงานด้วยตัวเองตั้งแต่วินาทีแรก จนถึงวินาทีสุดท้าย หลวงปู่ลงมานั่งให้กำลังใจแก่ เจ้าหน้าที่ที่มาช่วยงานทุกวันทุกคืน เมื่อเวลาว่างจากกิจสงฆ์แล้ว การนั่งคุมงานของหลวงปู่ก็หาได้นั่งเฉยๆ ไม่หลวงปู่จะภาวนาไปด้วยตลอด เมื่อมีโอกาสหรือมีเหตุอะไร หลวงปู่ก็จะนำเหตุนั้นๆ มาเทศนาอบรมพระภิกษุสามเณรที่นั่งอยู่ใกล้ๆ นั้นทันที พระเณรที่นั่งใกล้หลวงปู่จึงได้กำไร จากการได้ยินได้ฟังมากกว่าคนอื่น ทุกวันจะมีเรื่องใหม่ๆ แปลกๆ แล้วแต่ใครจะมีปัญญารับเอา ดังเช่นเรื่องนี้
ธรรมะใต้แสงดาว
เรื่องหมื่นธาตุและแสนโกฎิจักรวาล

                ปีพ.ศ.๒๕๒๔ สมัยที่ขุดสระน้ำจะมีญาติโยมมาช่วยกันมาก เสียงรถยนต์ยังไม่เงียบเมื่อไร หลวงปู่ก็ยังไม่ขึ้นพัก หลวงปู่จะนั่งเป็นเพื่อนให้กำลังใจแก่ชาวบ้านที่มาช่วยงานทั้งหมด จะเป็นคนขับรถตัก คนขับรถบรรทุก ตลอดทั้งคนปลูกหญ้าตามขอบสระก็ดี หลวงปู่จะย้ายที่นั่งไปให้กำลังใจตรงโน้นพักหนึ่ง แล้วก็ย้ายที่นั่งไปให้กำลังใจชุดโน้นอีกพักหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น เวลานั่งให้กำลังใจคนงานหลวงปู่ก็ไม่ได้นั่งเฉยๆ หลวงปู่จะเทศน์ให้พระเณรฟังอยู่ตลอดเวลา หรือมักจะนำเรื่องโน้นเรื่องนี้มาเล่าประดับสติปัญญา บางครั้งก็พาพระเณรนั่งสมาธิไปด้วยคุมงานไปด้วย หรือเดินจงกรมไปด้วยคุมงานไปด้วย เป็นอย่างนี้ตั้งแต่เริ่มจนขุดสระเสร็จ จึงนับได้ว่าในระหว่างนี้พระเณรที่ลงไปนั่งเป็นเพื่อนหลวงปู่ก็จะได้ยินได้ฟังสิ่งแปลกๆ ไม่ซ้ำเรื่องในแต่ละวัน
                คืนวันหนึ่งขณะที่หลวงปู่นั่งให้กำลังใจคนงานอยู่นั้น ท่ามกลางท้องฟ้าข้างแรมเดือนมืดสนิท ท้องฟ้าในฤดูหนาวจะแจ่มใสไร้เมฆหมอกใด ๆ ที่จะมาบดบังดวงดาว จึงทำให้บนท้องนภาสุกสกาวไปด้วยดวงดาวระยิบระยับเต็มท้องฟ้า หลวงปู่ปรารภพร้อมกับชี้มือไปที่ดวงดาว และกล่าวขึ้นมาว่า..นี่ดาวจระเข้..โน่นดาวไถ..นั่นดาวลูกไก่..ทางโน้นดาวเพชรหรือดาวพระศุกร์ก็เรียก ดวงดาวทั้งหมดบนท้องฟ้านี้พระพุทธเจ้าบอกว่ามีอยู่ทั้งหมด หนึ่งแสนโกฏิดวง  หรือแสนโกฏิจักรวาล... ดวงดาวแต่ละดวงก็คือจักรวาลหนึ่ง ๆ นั่นเอง แต่แยกเป็นจักรวาลที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่  และที่ไม่มีสิ่งมีชีวิตอยู่ ดาวที่มีแสงกะพริบวูบวาบๆ นั้นเป็นดาวหรือจักรวาลที่มีสิ่งมีชีวิตอยู่  ส่วนดวงที่มีแสงนิ่งๆไม่กะพริบนั้นก็เป็นอีกจักวาลหนึ่งเช่นกัน...หลวงปู่เล่าต่อว่า...ดวงดาวทั้งหมดที่เรามองเห็นล้วนแต่เป็น ภพ ภูมิหนึ่งๆ ที่ดวงจิตวิญญาณของเราจะต้องไปจุติเสวยวิบากกรรม สวรรค์หกชั้นก็คือดวงดาวแต่ละดวงนั่นเองเหมือนโลกทิพย์ที่ผมไปสัมผัสมาแล้วจะมีแต่ความสุข  ดวงดาวแต่ละดวงบางดวงก็จะมีแต่ความทุกข์ยากลำเค็ญ ลำบากแสนเข็ญ ต้องเสวยวิบากกรรมไปจนกว่าจะหมดอายุขัย ภพภูมิต่างๆ บางคนจะเข้าใจว่าเหมือนกับตึก เรียงซ้อนๆ กัน ชั้นกลางเป็นมนุษย์ ชั้นบนเป็นสวรรค์ ใต้ล่างเราเป็นนรก... แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างที่เราคิด พระพุทธเจ้าพระองค์บอกว่าดวงดาวบนท้องฟ้าที่เราเห็นนี้นั่นแหละ คือ ภพภูมิที่เราจะต้องไปจุติและเสวยวิบากกรรม... สบายหรือลำบากขึ้นอยู่ที่ผลกรรมของแต่ละคนที่ทำเอาไว้นั่นเอง ถ้าทำกรรมดีก็ไปสู่ภพภูมิที่ดีเสวยทิพย์วิมาน ถ้าทำกรรมชั่วก็ไปสู่ภพภูมิที่เร่าร้อนเต็มไปด้วยไฟนรกเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา... ภพภูมิต่างๆ เหล่านั้นคือ
โลกเบื้องต่ำได้แก่  อบายภูมิ ๖ มีนรก  เปรต  อสุรกาย  เดรัจฉาน 
โลกเบื้องกลางได้แก่  เทวภูมิ ๖ กับโลกมนุษย์ ๑  
โลกเบื้องสูงได้แก่  รูปพรหม ๑๖ อรูปพรหม ๔ 
ส่วนภูมิที่พ้นโลกไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกมี ๔ ชั้น ได้แก่ พระอริยบุคคลสี่จำพวก คือ พระโสดาบันโลกุตรภูมิ  พระสกทาคามี โลกุตรภูมิ  พระอนาคามี โลกุตรภูมิ  พระอรหันต์ โลกุตรภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่เหนือโลกเป็นแดนอมตะ เป็นภูมิที่ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก โลกมนุษย์เรานั้นเป็นย่านกลาง เป็นศูนย์กลางของการทำดีทำชั่ว  ดวงดาวที่จัดว่าเป็นสวรรค์ชั้นที่ใกล้ตัวเราที่สุดได้แก่
สวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกาภูมิ เทพเจ้าที่อยู่ในชั้นนี้มีอายุ ๕๐๐ ปีทิพย์ หรือเก้าล้านปีมนุษย์ ผู้ที่ทำกรรมดีด้านบริจาคทาน สั่งสมบารมีในการบริจาคทานมาก ๆ ตายไปก็ไปอยู่สวรรค์ชั้นนี้ 
สวรรค์ชั้นที่สองดาวดึงสาภูมิ  เทพเจ้าที่อยู่ในชั้นนี้มีอายุ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือสามสิบหกล้านปีมนุษย์ สมัยที่เป็นมนุษย์หมั่นทำกรรมดีด้านบริจาคทานและรักษาศีล  ตายไปก็อยู่สวรรค์ชั้นนี้ 
สวรรค์ชั้นที่สามยามาภูมิ  เทพเจ้าที่อยู่ในชั้นนี้มีอายุ ๒,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือหนึ่งร้อยสี่สิบสี่ล้านปีมนุษย์  สมัยที่เป็นมนุษย์หมั่นทำความดีด้านให้ทาน  รักษาศีล และฟังธรรม  ตายไปก็อยู่สวรรค์ชั้นนี้ 
สวรรค์ชั้นที่สี่ตุสิตาภูมิ  เทพเจ้าที่อยู่ชั้นนี้มีอายุ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือห้าร้อยเจ็ดสิบหกล้านปีมนุษย์ สมัยที่เป็นมนุษย์หมั่นทำกรรมดีด้านให้ทาน  รักษาศีล  ฟังธรรม และเริ่มมีการทำสมาธิภาวนา ตายไปก็อยู่สวรรค์ชั้นนี้ 
สวรรค์ชั้นที่ห้านิมมานรตีภูมิ  เทพเจ้าที่อยู่ชั้นนี้มีอายุ ๘,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือสองพันสามร้อยสี่ล้านปีมนุษย์  สมัยที่เป็นมนุษย์หมั่นทำความดีด้านการทำจิตให้บริสุทธิ์ ให้ทานด้วยจิตบริสุทธิ์  รักษาศีลให้บริสุทธิ์ และมีการปฏิบัติธรรมภาวนาทำสมาธิ  ตายไปจึงก็อยู่สวรรค์ชั้นนี้  
สวรรค์ชั้นที่หกปรนิมมิตตวสวัตตีภูมิ  เทพเจ้าที่อยู่ชั้นนี้มีอายุ ๑๖,๐๐๐ ปีทิพย์ หรือเก้าพันสองร้อยสิบหกล้านปีมนุษย์  สมัยที่เป็นมนุษย์หมั่นทำความดีด้านบำเพ็ญภาวนาทำจิตให้บริสุทธิ์อย่างสูงส่ง มีคุณธรรมเต็มพร้อมทั้งด้านศีล สมาธิ ปัญญา มีการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญสมาธิภาวนาให้จิตบริสุทธิ์อย่างอุกฤษ ตายไปจึงอยู่สวรรค์ชั้นนี้
ชั้นพรหมโลกอีก ๑๖ ชั้นยิ่งพิสดารละเอียดอ่อนกว่าสวรรค์ ๖ ชั้นมากมายนัก  
ส่วนโลกมนุษย์ภูมิของเรานั้นเป็นที่อยู่ของผู้ที่มีใจสูงได้แก่มนุษย์พวกเราๆ นี่เอง มีอายุโดยเฉลี่ยในสมัยพุทธกาล  ๑๐๐ ปี แต่ปัจจุบันนี้อายุสูงสุดของมนุษย์เราเหลือเพียง ๗๕ ปี ถ้าเกินกว่า ๗๕ ปี ก็ถือว่าได้กำไร โลกมนุษย์เรานั้นเป็นสถานที่ประกอบกรรมดีหรือกรรมชั่ว ใครจะไปที่ต่ำหรือที่สูงก็มาเริ่มต้นกันที่โลกมนุษย์ของเรานี่เอง แต่ยังมีโลกอีกโลกหนึ่งที่อยู่ปะปนกันกับโลกมนุษย์ได้แก่  
โลกเดรัจฉานภูมิ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์อีก ๔ ประเภท หนึ่งสัตว์ไม่มีเท้าไม่มีขา เช่น งู ปลา ไส้เดือน สัตว์ที่มีสองขา เช่น นก ไก่  สัตว์ที่มีสี่ขา เช่นวัว ควาย และสัตว์ที่มีมากกว่าสี่ขา เช่น ตะขาบ กิ้งกือ สัตว์พวกนี้มีอายุไม่แน่นอนขึ้นอยู่ที่กรรม สมัยที่เป็นมนุษย์เป็นคนที่จิตไม่บริสุทธิ์ ประพฤติอกุศลกรรมอันหยาบช้า นี่เป็นเพียงเศษบาปกรรมที่หลงเหลือมาจากนรกแล้วจึงมาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อีกอย่างหนึ่งเป็นเพราะคตินิมิตเมื่อเวลาใกล้จะตายเศษบาปอกุศลกรรมที่ตนทำไว้นั้นมาให้ผล คตินิมิตจะแสดงให้เห็นถึงสถานที่ หรือวัตถุชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น แห อวน ศาสตราวุธ หรือบาปกรรมที่ตนเคยทำไว้ เช่น เคยฆ่าหมู ฆ่าไก่ ก็จะเห็นเป็นภาพว่าตัวเองถูกฆ่า บ้างก็จะหวีดร้องขอชีวิตตอนใกล้จะตาย หรือหวงห่วงทรัพย์สมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งของตน จิตก็จะไปยึดเรื่องนั้นมาเป็นอารมณ์ ถ้าจิตดับวูบลงในขณะนั้น ทุคติย่อมเป็นที่หวังได้แน่นอน ย่อมไปเกิดเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในภพภูมิของสัตว์เดรัจฉานนั่นเอง เช่น อาจจะเกิดเป็นจิ้งจก ตุ๊กแก งูเหลือม หรืออาจจะไปเกิดเป็นควายให้เขาใช้ไถนา หรือไปเกิดเป็นหมาเฝ้าบ้านให้เขา ก็อาจจะเป็นได้... ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังให้จงดีอย่าให้พลาดท่า เสียทีไปเกิดในภูมิดังกล่าวนั้นได้  เพื่อไม่ให้ประมาทจึงควรสร้างสติไว้ให้มั่นคง ให้สติของเราประคองจิตเอาไว้ให้อยู่ในบุญกุศลให้ได้ ให้นึกถึงความดีที่ทำเอาไว้ จะเป็นให้ทาน การบริจาคก็ดี การรักษาศีล ฟังธรรมตลอดทั้งการภาวนาก็ดี ขึ้นชื่อว่าความดีที่เราทำไว้ อยู่ที่ไหนนึกเอามาให้หมด  นึกถึงพุทโธ ว่า พุทโธ  ธัมโม  สังโฆก็ได้  นึกถึงพระอรหันต์ ว่า อะระหัง ๆ ก็ได้  หรือนึกถึงแต่สิ่งที่ดีๆ แต่เราต้องทำความดีให้จิตของเราคุ้นเคยเสียก่อน ถ้าเราไม่เคยทำเอาไว้เลยเราจะนึกอย่างไรก็คงไม่มีความดีอะไรมาช่วยได้ เหมือนกับเราไม่เคยมีเงินฝากธนาคารเอาไว้เลย แต่เราจะไปเบิกไปถอนคงไม่ได้แน่ ส่วนคนที่เขาฝากไว้ประจำนั่นแหละเขาจะเบิกจะถอนเมื่อไรตอนไหนก็ได้ ดังนั้นคนที่คุ้นเคยกับการทำความดี คุ้นเคยกับการรักษาศีล บำเพ็ญสมาธิภาวนา เป็นอย่างดีแล้วนั่นแหละย่อมได้เปรียบกว่าบุคคลที่ไม่คุ้นเคยต่อความดี..ศีลห้าก็ไม่รู้ ศีลแปดก็ไม่รู้ ยิ่งสมาธิภาวนายิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย.แบบนั้นน่าสงสารต้องไปสู่อบายภูมิแน่นอน.!
                อสุรกายภูมิ เป็นที่อยู่ของพวกอสุรกาย เช่น เหล่าภุมมเทวดา และพวกดวงวิญญาณที่ชอบสิงสถิตตามศาลเจ้าก็ดี  ตามต้นไม้ก็ดี เป็นต้น
                เปรตภูมิ  เปรต ๑๒ ชนิด   ๔ ประเภท ๒๐ จำพวก พอสิ้นกรรมจากนรกแล้ว เศษบาปกรรมยังไม่หมดเสียทีเดียว   ก็ต้องไปเสวยผลกรรมต่ออีก  ด้วยการเป็นเปรตทนทุกข์ทรมานหวีดร้อง  ซึ่งเป็นอกุศลกรรมเก่าอันเกิดจากที่ทำเอาไว้..เปรตบางประเภทตัวสูงเท่าต้นตาล มีมือใหญ่เท่าใบตาล บางประเภทปากเท่ารูเข็ม.เปรตเหล่านี้ที่มีชีวิตอยู่ได้เพราะผลกรรมหล่อเลี้ยงให้มีชีวิตเพื่อใช้กรรมไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย และสิ้นกรรม บางประเภทอยู่ได้ด้วยอาหารที่ผู้อื่นอุทิศให้ เสวยของทิพย์ที่เรียกว่าบุญ จากการที่เหล่าบรรดาญาติพี่น้องอุทิศไปให้ หรือบุคคลอื่นอุทิศให้โดยไม่เจาะจงกับสัมภเวสีผีไร้ญาติ บางประเภทฉีกเนื้อตัวเองกินเป็นอาหาร  บางประเภทดูดเลือดตัวเองกินเป็นอาหาร  บางประเภทตาถลนออกมาเหมือนตาปู
                โลกนรก ประกอบด้วย มหานรก ๘ ขุม  อุสสทนรก ๑๒๘ ขุม  ยมโลกนรก ๓๒๐ ขุม  โลกันตร์นรก ๑ขุม รวมเป็น ๔๕๗ ขุม
จนกว่าการขุดสระน้ำจะแล้วเสร็จ พระภิกษุสามเณรที่ลงไปนั่งเป็นเพื่อนหลวงปู่ให้กำลังใจแก่ผู้มีจิตศรัทธามาช่วยงานในการขุดสระน้ำในคราวครั้งนั้นก็ได้ยินได้ฟัง ทั้งธรรมะและสาระน่ารู้อื่นๆ จากที่หลวงปู่เทศน์ให้ฟังท่ามกลางเมฆหมอกและน้ำค้าง เพราะแต่ละคืนกว่าหลวงปู่จะขึ้นพักผ่อนเวลาก็ล่วงเลยไปถึงสองยามเป็นอย่างต่ำเกือบทุกคืน จึงเป็นเหตุทำให้ธาตุขันธ์ของหลวงปู่ร่วงโรยลงพอสมควร ..โดยเฉพาะกล่องเสียงได้เกิดการอักเสบ  และหลวงปู่ก็เริ่มสวดมนต์ได้น้อยลงตั้งแต่นั้นมา... วันใดที่มีกิจเจริญพระพุทธมนต์ตามบ้านโยม หลวงปู่ก็จะนำได้แค่บทนอบน้อม คือ ..นโม ตัสสะ ฯ.. ต่อจากนั้นก็จะให้พระอุปัฏฐากนำสวดไปจนจบ และกาลเวลาต่อมาหลวงปู่ก็ไม่สามารถเทศน์ยาวๆ ได้  ไม่สามารถสวดมนต์ได้  แต่พูดคุยรับแขกธรรมดาได้ตามปกติ การขุดสระน้ำหน้าวัดก็สำเร็จเสร็จสิ้นลงในเวลาต่อมา ทั้งได้รับความร่วมมือจากผู้มีจิตศรัทธา ทั้งได้รับเสียงกล่าวให้ร้ายโจมตีในคราวเดียวพร้อมๆ กัน
ในส่วนของแรงศรัทธานั้นหลวงปู่ได้รับความร่วมมือจากคณะศิษย์หลายๆ ฝ่ายทั้งภาคส่วนราชการและเอกชน เป็นต้นว่า กรมทางหลวงแผ่นดินได้อนุมัติรถขุด รถดั๊ม จำนวนนับสิบคันพร้อมทั้งนายช่างผู้เชี่ยวชาญมาช่วยควบคุมได้แก่นายช่างเกษมสันต์ วิศวไพศาล นายช่างสมใจ จันทร์หอม ส่วนด้านเอกชนที่นำรถแบล๊คโฮ มาช่วยขุดก็ได้แก่นายสัญญา นางเปรมฤดี ศิริเจริญธรรม และ นายเพิ่มพูน นางบุญช่วย ลักษณะโกวิทย์ เป็นต้น พร้อมทั้งพันเอกพิเศษ อาจารย์ณรงค์ แสงมณี ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และที่ขาดเสียไม่ได้นั่นก็คือ ชาวบ้านจากสมาชิกนิคมพักฟื้นแพร่งขาหยั่ง และนิคมพักฟื้นบ้านป่าตะแบกได้สละเวลามาช่วยงานปลูกหญ้าเป็นประจำทุกคืนจนแล้วเสร็จ สามารถเก็บกักน้ำเอาไว้ช่วยเหลือชาวบ้านชาวสวนในเขตใกล้เคียงได้อย่างมากมายมหาศาลดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน 
มารไม่มี บารมีไม่เกิด

ในขณะเดียวกันที่หลวงปู่ได้สร้างสาธารณประโยชน์ไว้มากเพียงไร หมู่มารผู้ไม่หวังดีก็กล่าวโจมตีมากเท่านั้น...อาจารย์สมชายซุกซ่อนอาวุธสงครามไว้ใต้สระน้ำ ?...ขุดสระน้ำเพื่อเบนความสนใจ ที่จริงริมขอบสระกลบระเบิดและปืนเอ็ม ๑๖ ไว้เป็นเที่ยวรถสิบล้อ ?..นั่นเป็นเพียงบางคำเท่านั้นที่วิพากษ์วิจารณ์โค่นล้มโจมตีซึ่งออกมาจากแหล่งข่าวของผู้ไม่ประสงค์ดี เสียงล่ำลือหนาหูขึ้น จนทำให้ส่วนราชการเกิดความสงสัยหวาดระแวงในตัวหลวงปู่ เพราะเกรงว่าอาจเป็นความจริง จึงต้องส่งเจ้าหน้าที่นักประดาน้ำมาตรวจค้นกันไม่เว้นแต่ละวัน สายสืบก็ปะปนมากับประชาชนที่เข้าวัดฟังธรรมเพื่อสืบค้นเอาความจริง ประกบหลวงปู่จนไม่รู้ว่าใครเป็นใครวุ่นวายกันไปหมด ทางฝ่ายคณะศิษย์ที่เคารพนับถือหลวงปู่ก็อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ โดยเฉพาะทางคณะศิษย์จากสมาชิกนิคมพักฟื้นแพร่งขาหยั่งก็อดรนทนไม่ได้ ต้องสละเวลามาเข้าเวรยามรักษาความปลอดภัยถวายชีวิตกับครูบาอาจารย์กันทั้งวันทั้งคืนเพราะเกรงว่าจะมีผู้ประสงค์ร้ายลักลอบนำปืนหรือวัตถุระเบิดมาแอบโยนลงในสระเพื่อสร้างสถานการณ์ให้สมจริง
แต่แล้วธรรมย่อมชนะอธรรม เสียงล่ำลือดังกล่าวก็ค่อยๆ เงียบหายไป โดยปราศจากมูลความจริง หลวงปู่ผู้บริสุทธิ์ ดุจอัญมณีเมืองจันทบุรีย่อมไม่ระคายเคืองต่อไฟที่แผดเผาเพียงใด โลกธรรมแปดที่ถาโถมเข้ามาเพื่อจะทำลายชื่อเสียง ย่อมไม่สามารถกระทบทำลายชื่อเสียงหลวงปู่ฉันใดก็ฉันนั้น หลวงปู่ยังคงยืนหยัดอยู่คู่กับวัดเขาสุกิมเป็นอมตะเรื่อยมา


ปัจฉิมกาล

                หลวงปู่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจปฏิบัติศาสนกิจบูชาพระศาสนาอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า  หลวงปู่ปรารภว่า ..คุณธรรมความดีด้านศีล สมาธิ ปัญญา ก็สมบูรณ์แล้ว โบสถ์วิหาร ศาลา ถาวรวัตถุอันควรสร้างเพื่อบูชาพระพุทธศาสนาในชีวิตนี้ก็ได้ทำมามากพอสมควรแล้ว.. แต่ความปรารถนาอันแรงกล้าเกิดขึ้นเมื่อหลวงปู่ได้เดินทางไปกราบนมัสการเจดีย์ชเวดากอง  และหมู่เจดีย์พุกาม หลวงปู่ตั้งความปรารถนาและปรารภกับบรรดาลูกศิษย์ในขณะนั่งพักผ่อนใต้ร่มไม้หลังจากเดินทางกลับจากเจดีย์พุกามว่า..  ได้เห็นศรัทธาของชาวพุทธเมืองพม่าที่มีต่อพระศาสนาแล้วน่าสรรเสริญ เขามีศรัทธาจริงๆ ไม่ว่าจะดินทางไปไหน  มีแต่เจดีย์ทั่วบ้านทั่วเมือง  เหลืองอร่ามเต็มไปหมด  แม้แต่ท้องถิ่นที่ทุรกันดารแค่ไหนเขาก็ยังสร้างกันได้ ตามยอดภูเขาสูงๆ ในแม่น้ำ ในทะเล มีหลักชัยของพระพุทธศาสนาอยู่ทั่วไปหมด อยากให้เมืองไทยเรามีเจดีย์อย่างเขาบ้าง บ้านเราอะไรๆ ก็อุดมสมบูรณ์กว่าพม่า  แต่ผู้ที่มีศรัทธาในการสร้างเจดีย์ยังมีน้อยมาก ทั้งๆ ที่เจดีย์นั้นเป็นหลักชัยของพระพุทธศาสนาที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งมีกล่าวไว้ในตำนาน การเดินทางมาเมืองพม่านี้ มีความสุขมากกว่าไปเมืองอื่นหลายร้อยเท่า มีความสุขตรงที่ได้มาเห็นความมีศรัทธาของชาวพุทธเมืองพม่าที่เขาสร้างเขาทำเอาไว้อย่างดาษดื่นทั่วบ้านทั่วเมือง
                โดยเฉพาะที่พุกามเมืองเดียว ทำไมเขาถึงสร้างได้มากมายขนาดนี้ ในยุคสมัยนั้นคนที่ชักจูงหรือเป็นผู้นำในการก่อสร้างต้องไม่ใช่บุคคลธรรมดา ต้องเป็นพระราชามหากษัตริย์ หรือ พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพบูชาสูงสุดนั่นเอง จึงจะบอกบุญให้ชาวบ้านได้ช่วยก่อสร้างเจดีย์ได้มากมายถึงเพียงนี้ แต่เมืองจันทบุรีบ้านเราบรรดาลูกศิษย์จะช่วยอาจารย์สร้างเจดีย์ไว้ที่เขาสุกิมสักองค์จะไม่ได้เชียวหรือ ?...แต่อย่างไรก็ตามอาตมาจะต้องนำพาลูกศิษย์ลูกหาสร้างบารมีด้วยการสร้างเจดีย์ฝากไว้ในพระพุทธศาสนาให้ได้ในไม่ช้านี้...ในคราวนี้หลวงปู่ปรารภด้วยอาการจริงจังมุ่งมั่นมาก..ปณิธานของหลวงปู่ที่มีต่อพระพุทธศาสนายังเหลืออีกหนึ่งอย่าง คือ การสร้างพระมหาเจดีย์..เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประดิษฐานไว้ ณ ยอดเขาสุกิม งานได้เริ่มขึ้นภายหลังจากหลวงปู่เดินทางกลับจากนมัสการเจดีย์ชเวดากอง และหมู่เจดีย์พุกาม  กลับมาถึงวัดแล้วหลวงปู่จึงปรารภให้คณะกรรมการปรับพื้นที่ เพื่อเริ่มงานก่อสร้างเจดีย์ตั้งแต่บัดนั้น หลวงปู่ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น  ต้องออกรับกิจนิมนต์เชิญชวนให้ลูกศิษย์ได้สร้างบารมีครั้งยิ่งใหญ่ร่วมกัน บางวันหลวงปู่ต้องออกเดินทางจากวัดตั้งแต่เช้ามืด  กลับถึงวัดสองยามหรือรุ่งอรุณของวันใหม่อย่างนี้ เป็นต้น จตุปัจจัยที่ลูกศิษย์ถวายหลวงปู่จะเป็นบาทหนึ่ง สลึงหนึ่ง หรือหลายแสนหลายล้านบาทก็ตาม หลวงปู่ก็จะสั่งให้ไวยาวัจกรเก็บรวบรวมไว้สำหรับก่อสร้างเจดีย์ทั้งหมด  การออกปฏิบัติศาสนกิจและรับกิจนิมนต์อย่างไม่มีเวลาว่างเว้นของหลวงปู่จึงทำให้ธาตุขันธ์ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว  บางครั้งอาพาธจับไข้อยู่ก็ต้องไป ดังที่ลูกศิษย์ทราบกันดีแล้วนั้น หลวงปู่เป็นพระที่ไม่เคยออกปากบ่นว่าเหนื่อยให้ลูกศิษย์ได้ยินเลย  หลวงปู่หัวเราะทั้งที่ไข้กำลังจับ ยิ้มแย้มสดชื่นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอผู้คนกลับหมดแล้วหลวงปู่ก็ต้องนอนให้ไข้จับ  หรือนอนให้น้ำเกลือต่ออีกก็ยังเคยมี ธาตุขันธ์ของหลวงปู่ก็เหมือนธาตุขันธ์ของมนุษย์ทั่ว ๆไปที่ต้องมีเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เจ็บป่วย และทรุดโทรมไปตามวัยมากขึ้นๆ แต่หลวงปู่ก็ยังรับกิจนิมนต์ลูกศิษย์ไปฉลองศรัทธาตามบ้านได้บ้าง หยุดบ้าง  ปกติหลวงปู่จะสวดมนต์เสียงดังฟังชัด หลวงปู่จะนำสวดมนต์ด้วยตัวเอง  แต่มาระยะหลังหลวงปู่ก็สวดมนต์ได้น้อยลงเรื่อยๆ  แล้วต่อมาก็เปลี่ยนให้พระอุปัฏฐากเป็นผู้นำสวด หลวงปู่นั่งเป็นประธานเพราะลูกศิษย์ต่างก็ต้องการให้หลวงปู่ไปเหยียบบ้านให้เป็นสิริมงคล  กาลเวลาผ่านไปได้ไม่นานหลวงปู่ก็อาพาธมากขึ้น ไม่สามารถที่จะออกรับกิจนิมนต์ได้อีกต่อไป  และต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยขึ้น ถึงแม้ว่าธาตุขันธ์ของหลวงปู่ไม่อำนวยให้ออกเดินทางไปไกลๆ ได้แล้ว  หลวงปู่ก็ลงรับแขกอยู่กับวัดทุกวัน  เพื่อต้องการรวบรวมจตุปัจจัยให้ได้เพียงพอที่จะก่อสร้างเจดีย์ให้ได้ดังปณิธานของหลวงปู่  หลวงปู่ต้องลงมานั่งรับแขกแจกภาพโปสเตอร์รูปเจดีย์ให้กับลูกศิษย์ญาติโยมเป็นประจำทุกวันตั้งแต่เช้าเพื่อต้องการประชาสัมพันธ์งานมหากุศลให้ชาวพุทธทั่วพุทธมณฑลได้ร่วมกันสร้างมหาเจดีย์บูชาพระพุทธศาสนาไว้บนยอดเขาสุกิมให้ได้ บางวันมีผู้คนมาร่วมทำบุญกันมาก ๆ หลวงปู่ก็จะถามไวยาวัจกรสักครั้งหนึ่งว่า เงินพอปรับพื้นที่หรือยัง ? เมื่อเงินก้อนแรกที่หลวงปู่เก็บหอมรอมริบทุกบาททุกสตางค์ได้เพียงพอสำหรับการปรับพื้นที่แล้ว หลวงปู่ก็สั่งคณะกรรมการให้ปรับพื้นที่ จนแล้วเสร็จต่อจากนั้นหลวงปู่ก็ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางศิลามงคลเป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘  และได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ พล.อ.ต.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี  เป็นผู้แทนพระองค์มาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เสร็จจากพิธีวางศิลาฤกษ์แล้ว หลวงปู่ก็รวบรวมเก็บเล็กผสมน้อยจากศรัทธาของประชาชนที่ได้บริจาคคนละเล็กคนละน้อย เป็นเงินก้อนใหม่เพื่อใช้ในการก่อสร้างเจดีย์ในส่วนอื่นต่อไป ในระหว่างนี้ธาตุขันธ์ของหลวงปู่ก็ร่วงโรยมากขึ้น แต่ปณิธานอันแรงกล้าของหลวงปู่ที่มุ่งมั่นในการจะก่อสร้างมหาเจดีย์ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะละธาตุขันธ์ หลวงปู่รับแขกทุกๆวันตั้งแต่เช้า  เสร็จจากรับแขกหลวงปู่ก็ถามไวยาวัจกรว่า  เงินพอตอกเข็มได้หรือยัง เมื่อคณะกรรมการกราบเรียนว่ามีปัจจัยเพียงพอที่จะตอกเข็มได้ หลวงปู่ก็ให้ดำเนินการตอกเข็ม และทำคานคอดิน ตามด้วยงานเทฐานราก งานเทเสาเอก โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี วัดราชบพิธฯ เป็นประธานในพิธี 

เสานี้มีความสำคัญ

                เสร็จจากงานเทฐานรากและงานเทเสาเอกเจดีย์ เสาหลักในการก่อสร้าง ก็มีอาการเริ่มทรุดโทรมด้วยโรคาพยาธิรุมเร้ามากขึ้น เสานี้ซึ่งมีความสำคัญกว่าทุกเสา เพราะเป็นเสาเนื้อเสาศรัทธา  เสาจิตเสาใจหรือศูนย์รวมทุกๆ เสาขององค์พระเจดีย์ นั่นคือตัวของหลวงปู่เองซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของลูกศิษย์ทุกคน ในระหว่างนี้หลวงปู่มีอาพาธกล้าขึ้น คณะกรรมการและศิษยานุศิษย์ทุกคนจึงได้ปรึกษาหารือและได้พร้อมใจกันเห็นควรหยุดงานการก่อสร้างไว้ชั่วคราว รอคอยให้หลวงปู่ซึ่งเป็นเสาหลักเสาศรัทธาได้พักรักษาตัวให้หายเป็นปกติก่อนจึงค่อยเริ่มงานกันใหม่
                ในระหว่างพักการก่อสร้างชั่วคราวนี้ คณะศิษย์ได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่เดินทางไปกราบนมัสการเจดีย์ชเวดากอง และไปนมัสการหมู่เจดีย์ที่พุกามเป็นครั้งที่สอง  การเดินทางไปพม่าครั้งแรกหลวงปู่จะเดินเวียนเทียนไหว้พระได้ด้วยตัวเอง  แต่คราวนี้หลวงปู่ต้องนั่งรถเข็น  เวียนเทียนรอบองค์พระเจดีย์ เนื่องจากเท้าของหลวงปู่ทั้งสองข้างไม่ค่อยมีแรง รับน้ำหนักได้น้อย พระอุปัฏฐากได้เข็นรถถวายหลวงปู่ไปรอบๆ องค์พระเจดีย์ที่มีการเวียนเทียนไหว้พระ  สังเกตเห็นว่าหลวงปู่อาพาธแต่ร่างกาย จิตใจของหลวงปู่ปิติเบิกบานผ่องใสมากกว่าครั้งแรกเสียอีก ทุกแห่งที่เวียนเทียนไหว้พระเสร็จแล้วหลวงปู่ก็จะสงบจิตสงบใจอธิษฐานเป็นเวลานานมาก  ลูกศิษย์ทุกคนต่างก็แปลกใจว่าหลวงปู่อธิษฐานว่าอย่างไร ? แต่ไม่มีใครกล้าที่จะกราบเรียนถาม เกรงว่าจะเป็นการรบกวนหลวงปู่ ในการมาพม่าครั้งนี้นอกจากจะได้กราบไหว้พระเจดีย์องค์สำคัญ ๆ แล้ว หลวงปู่ก็ยังได้ติดต่อโรงงานในประเทศพม่าแกะสลักพระหินหยกขาวจำนวนหลายองค์หลายขนาด เพื่อต้องการที่จะนำมาประดิษฐานในองค์พระเจดีย์ หลวงปู่มองการณ์ไกลเห็นว่าหินนั้นเป็นวัสดุชนิดเดียวที่ไม่บุบสลายอยู่ได้เป็นพันปี
                ภายหลังที่เดินทางกลับจากประเทศพม่าแล้ว  ในช่วงนี้งานก่อสร้างเจดีย์ก็ยังพักไว้ก่อนเพราะหลวงปู่ยังไม่แข็งแรงดีเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าร่างกายของหลวงปู่จะยังไม่แข็งแรงแต่จิตใจของหลวงปู่นั้นแข็งเกินเพชร  หลวงปู่ยังรับแขกที่วัดเป็นประจำทุกวัน แต่สำหรับกิจนิมนต์นอกวัดในช่วงนี้ก็รับบ้างหยุดบ้างแล้วแต่ความจำเป็นมากน้อย  ต่อมาก็งดรับกิจนิมนต์นอกวัดโดยปริยาย เพราะร่างกายของหลวงปู่อ่อนเพลียมาก สังขารสู้ไม่ไหว  คณะแพทย์จึงกราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่หยุดพัก  นอกจากงานครูบาอาจารย์จริงๆ หลวงปู่จึงจะเดินทางไปสักครั้ง เช่นไปกราบคารวะศพหลวงปู่เพ็ง พุทฺธธมฺโม ที่จังหวัดร้อยเอ็ด (ซึ่งเป็นอาจารย์สมัยที่หลวงปู่บวชเณร) ไปกราบคารวะศพหลวงปู่คำพอง ติสฺโส ที่จังหวัดอุดรธานี (สหธรรมมิกที่เคยภาวนาร่วมกัน) ไปกราบคารวะศพหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ (ครูบาอาจารย์สมัยที่เดินจาริกไปสู่สำนักหลวงปู่มั่นด้วยกัน)
                ในระยะหลังนี้หลวงปู่จะบำเพ็ญเพียรและรับแขกเป็นประจำเฉพาะที่วัด นอกจากการบำเพ็ญเพียรซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันบนกุฏิแล้ว พระอุปัฏฐากก็จะกราบนิมนต์หลวงปู่ลงมาที่ตึกชั้นที่ ๓ เพื่อจุดธูปและถวายเครื่องสักการบูชาพระพุทธรูปหินเขียวในเวลา ๐๘.๐๐ น. เสร็จแล้วหลวงปู่ก็จะปลุกเสกวัตถุมงคลให้กับคณะศิษย์ที่นำมาขอบารมี หลังจากนั้นหลวงปู่ก็นั่งรับแขกแจกภาพโปสเตอร์รูปเจดีย์ให้กับศิษยานุศิษย์และทุกคนที่มาวัดเขาสุกิม จนถึงเวลา ๑๐.๐๐ น. พระอุปัฏฐากก็จะนิมนต์หลวงปู่ขึ้นกุฏิเพื่อฉันภัตตาหาร หลวงปู่ฉันภัตตาหารได้น้อยลงเรื่อยๆ เริ่มเบื่ออาหาร 
                อาการอาพาธของหลวงปู่มีแต่ทรง กับทรุดบ้างเป็นครั้งคราว ในระหว่างนี้หลวงปู่ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อยขึ้น  อย่างไรก็ตาม ลูกศิษย์ทุกคนก็ยังตั้งความหวังต่อหลวงปู่แม้ดูว่าเป็นไปได้ยาก ว่าสักวันหนึ่งหลวงปู่คงหายจากอาพาธกลับมาเป็นปกติเหมือนแต่ก่อนอีกครั้ง

ยางตาย

                พ.ศ. ๒๕๔๒ อาการอาพาธของหลวงปู่เป็นที่น่าวิตกมากกว่าทุกครั้ง หลวงปู่มีอาการช็อก พระอุปัฏฐากต้องนิมนต์หลวงปู่เข้าโรงพยาบาลแบบปัจจุบันทันด่วนของกลางดึกคืนวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เวลา ๐๑.๐๐ น. หลวงปู่มีอาการขัดข้องด้วยระบบทางเดินหายใจติดขัดเฉียบพลัน  บังเอิญในช่วงเวลาดังกล่าวพระอุปัฏฐากผู้ปฏิบัติดูแลซึ่งพักอยู่ที่กุฏิใกล้ๆ นั้น เพิ่งจะผลัดเวร สังเกตเห็นภายในกุฏิของหลวงปู่ผิดปกติ จึงเปิดประตูเข้าไปโดยไม่ได้รอขอโอกาส พบว่าหลวงปู่อยู่ในอาการน่าวิตก  มีเหงื่อเหนียวๆ เม็ดโตๆ ออกมาทั่วตัวหลวงปู่ (ภายหลังจากอาการค่อยทุเลาแล้ว หลวงปู่บอกว่า เหงื่อเหนียวๆ ที่ออกเมื่อคืน บ้านผมเรียกว่า ยางตาย) จึงกราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่เดินทางเข้าไปตรวจเช็คและรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ในกลางดึกของคืนนั้น เมื่อเดินทางมาถึงโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่รีบนำหลวงปู่เข้าห้องไอซียู คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลได้เข้าถวายการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่  ได้ตรวจอาการของหลวงปู่อย่างละเอียด จึงพบว่า ออกซิเจนในเลือดต่ำ.หัวใจขาดเลือด..แพทย์จึงได้ถวายการรักษาด้วยการให้ออกซิเจน และให้ยาทางเส้นเลือดอย่างเร่งด่วน
เวลา ๐๕.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น อาการของหลวงปู่ จึงค่อยทุเลาขึ้นบ้างเล็กน้อย แพทย์ยังต้องดูแลอย่างใกล้ชิดช่วงบ่ายของวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๒  ข่าวการอาพาธแบบปัจจุบันทันด่วนของหลวงปู่ได้เริ่มแพร่สะพัดไปยังศิษยานุศิษย์ทั้งใกล้และไกล จากปากต่อปาก จึงทำให้ลูกศิษย์ที่มีความเคารพนับถือในหลวงปู่จากสารทิศต่าง ๆ  เริ่มทยอยเดินทางไปเยี่ยมที่หน้าห้องไอซียูของโรงพยาบาลกันแน่นขนัด เพื่อรอทราบอาการของหลวงปู่ด้วยจิตใจระทดระทวยด้วยกันทุกคน เวลาต่อมาแพทย์ได้อนุญาตให้ลูกศิษย์เข้าเยี่ยมอาการของหลวงปู่ได้ 
ครั้งแรกที่หลวงปู่พบหน้าลูกศิษย์ สังเกตได้ว่า..หลวงปู่ตื้นตันใจมาก หลวงปู่ทราบดีว่า..ลูกศิษย์ทุกคนมีความเป็นห่วงและเคารพรักหลวงปู่มาก หลวงปู่คงสังเกตเห็นว่า บรรดาลูกศิษย์ตื้นตันจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่   หลวงปู่จึงพูดให้กำลังใจลูกศิษย์ว่า อาตมาไม่เป็นอะไรมากหรอก ขอบคุณลูกศิษย์ทุกคนที่เป็นห่วง อาตมารอดตายแล้วโชคดีที่พระอุปัฏฐากคิดได้เร็ว จึงนำส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา ถ้าช้าอีกไม่ถึงครึ่งชั่วโมงลูกศิษย์คงไม่ได้เห็นหน้าอาตมาแล้ว อาตมาก็ไม่ได้เห็นหน้าลูกศิษย์เช่นกัน..พูดไปอย่างนั้นเอง คงยังไม่ไปตอนนี้หรอก อายุครบ ๘๐ ปีเมื่อไร เมื่อนั้นให้ทุกคนเตรียมทำใจไว้ก็แล้วกัน ! ขอบคุณทุกคนที่เป็นห่วง... หลวงปู่กล่าวทิ้งท้าย เรื่องร่างกายให้หมอรักษา เรื่องจิตใจเรารักษาเอง
บรรดาลูกศิษย์ทุกคนที่พบเห็นอาการของหลวงปู่ในครั้งนั้นต่างคนต่างปล่อยให้น้ำตาหลั่งรินออกมาด้วยความตื้นตัน ทุกคนทราบดีว่าหลวงปู่เป็นพระที่จิตใจเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวเพียงไร ถ้าไม่เหลืออดเหลือทนจริงๆ แล้ว  หลวงปู่จะไม่ขอความช่วยเหลือจากใครเลย แม้แต่หมอ แต่ครั้งนี้คงถึงคราวที่วิกฤติเป็นที่สุดแล้วนั่นเอง หลวงปู่จึงบอกว่า  เรื่องร่างกายให้หมอรักษา เรื่องจิตใจเรารักษาเอง  เวลาผ่านไปพอสมควรแล้วลูกศิษย์ทุกคนจึงกราบลาเพื่อหลวงปู่จะได้พักผ่อน
๒๐.๐๐ น. ของคืนนี้ ภายหลังจากหมดเวลาเข้าเยี่ยม  คงเหลือพระอุปัฏฐากที่เฝ้าไข้หลวงปู่ ๒-๓ รูป ที่จะคอยปรนนิบัติวัตรฐากอยู่ใกล้ชิดในห้องไอซียู หลวงปู่นอนตะแคงขวาท่าสีหไสยาสน์ภาวนาอยู่บนเตียงคนไข้  พระอุปัฏฐากทุกรูปก็นั่งภาวนาอยู่ข้างเตียงอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบจากสรรพสิ่งเสียงทุกชนิดนั่นเอง   หลวงปู่ได้ปรารถขึ้นมาท่ามกลางความเงียบด้วยซุ่มเสียงที่แผ่วเบาและแหบแห้งนั้นว่า ป่วยคราวนี้คงจะป่วยหนัก ป่วยนาน และทรมานด้วย เพราะเป็นการป่วยครั้งสุดท้าย.รักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย แต่ไม่ตายตอนนี้หรอก !  ถึง ๘๐ ปี เมื่อไร ? นั่นแหละให้เตรียมจัดงานได้  หลวงปู่ปรารภต่อไปอีกว่า ก่อนหน้าที่จะป่วยได้นิมิตเห็นเทพเจ้าชาวโลกทิพย์มาทวงสัญญาเก่าหลายครั้ง เขาบอกว่า ถึงกำหนดเวลาที่จะต้องกลับไปเสวยทิพย์สมบัติบนโลกทิพย์ได้แล้ว  ก่อนหน้าที่จะมาโรงพยาบาลเพียงวันเดียวเทพเจ้ามาด้วยขบวนช้างสวรรค์ม้าสวรรค์ มากันล้นหลามเหมือนมีงานเต็มไปหมด แปลกใจที่ทุกครั้งเขาจะมากันเพียงสองคนไม่เคยมามากขนาดนี้ เขาบอกว่าถึงเวลาที่ต้องนิมนต์กลับโลกทิพย์ได้แล้ว  บารมีของท่านเต็มจนเหลือล้นแล้ว..หลวงปู่ตอบเขาว่า  อาตมานั้นเต็มแล้ว  แต่ลูกศิษย์ยังไม่มีอะไรเลย ?  บัดนี้อาตมากำลังนำพาลูกศิษย์สร้างเจดีย์หลักชัยของพระพุทธศาสนา สร้างเจดีย์เสร็จเมื่อไรให้มารับได้เลย !...เหล่าเทพเจ้าทั้งหมดนั้นไม่มีใครตอบว่าอย่างไรต่างพากันนิ่งเงียบ !..เสร็จแล้วก็พากันเดินทางกลับ..ครั้งนี้คงเป็นครั้งสุดท้ายจริงๆ แล้วก็ได้ เพราะเขาไม่รับปากว่าอย่างไรทั้งสิ้น หลวงปู่ปรารภให้พระอุปัฏฐากฟังด้วยน้ำเสียงที่แหบแห้ง..เพียงแค่นี้.หลังจากนั้นหลวงปู่ก็หลับตาภาวนาในท่าสีหไสยาสน์ อาการอาพาธของหลวงปู่ในช่วงนี้บางครั้งก็ทรงอยู่ บางครั้งก็ดีขึ้นบ้างแต่ไม่มาก แพทย์ยังไม่อนุญาตให้กลับวัด...
วันที่ ๑๖ กรกฎาคม  ๒๕๔๒ ตรงกับขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  และเป็นวันอาสาฬหบูชา แพทย์ขอให้หลวงปู่พักนิ่ง ๆ ไม่ให้ขยับเขยื้อนเคลื่อนย้าย เพราะเกรงจะกระทบระบบหัวใจ  วันนี้หลวงปู่จึงนำคณะทำอุโบสถ สวดญัตติบอกปาริสุทธิ ๓ รูป กับพระอุปัฏฐาก ที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาล และ เป็นครั้งแรก ที่หลวงปู่ต้องประกอบกิจสังฆกรรมนอกวัดด้วยเหตุสุดวิสัย ตามปกติแล้วแต่ละปักข์หลวงปู่จะต้องลงอุโบสถสังฆกรรมในโบสถ์ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะวันอาสาฬหบูชาด้วยแล้วหลวงปู่จะต้องนำพาลูกศิษย์ประทักษิณเวียนเทียนรอบวิหารบูรพาจารย์ใต้แสงจันทร์ข้างขึ้นเป็นประจำทุกปีไม่เคยขาด แต่อาสาฬหบูชาปีนี้หลวงปู่ต้องนอนอยู่โรงพยาบาล.บรรดาลูกศิษย์ทั้งพระภิกษุสามเณรและญาติโยมที่กำลังเดินเวียนเทียนอยู่ที่วัดเขาสุกิมในปีนี้ก็ว้าเหว่วังเวง เป็นครั้งแรกที่พิธีเวียนเทียนในครั้งนี้ขาดหลวงปู่ผู้เป็นประมุขประธานของเหล่าศิษย์...

ไม่อยากให้ลูกศิษย์เห็นความย่อหย่อน

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๒  ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นวันอธิษฐานเข้าพรรษาของพระสงฆ์ทั่วพุทธมณฑล แต่คณะแพทย์ลงความเห็นว่าไม่สมควรที่จะเคลื่อนย้ายในระหว่างนี้ เกรงว่าจะกระทบกระเทือนระบบหัวใจ  หลวงปู่ได้ชี้แจงเรื่องพระวินัยของสงฆ์ซึ่งหลวงปู่ยึดถือปฏิบัติมาอย่างเคร่งครัดตลอดระยะเวลาอันยาวนานใต้ร่มกาสาวพัตร์เพศของหลวงปู่  หลวงปู่บอกว่า  ไม่อยากทำเป็นตัวอย่างในทางย่อหย่อนให้พระเณรลูกหลานเอาเป็นข้ออ้าง ที่ก็มักจะอ้างว่าจำเป็นในเรื่องที่ไม่จำเป็น  แพทย์จึงจำยอมด้วยปณิธานอันเด็ดเดี่ยวของหลวงปู่  ได้จัดรถเข็นถวายหลวงปู่นั่ง ๑ ตัว เตียงพยาบาลพร้อมเครื่องมือฉุกเฉินครบชุด  หลวงปู่ต้องนอนบนเตียงมากับรถพยาบาล พร้อมแพทย์  เดินทางออกจากโรงพยาบาลพระปกเกล้ากลับวัดเขาสุกิม เมื่อเวลา ๑๗.๐๐น. รถพยาบาลวิ่งด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของหลวงปู่ ถึงวัดเขาสุกิมเวลา ๑๘.๐๐ น. พระภิกษุสามเณร แม่ชี ศรัทธาญาติโยมจากทั่วสารทิศตั้งแถวรอรับหลวงปู่อยู่ที่ชั้นหนึ่งของตึก ๖๐ ปี บุรุษพยาบาลเข็นหลวงปู่ที่เต็มไปด้วยสายน้ำเกลือ สายออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือฉุกเฉินของแพทย์ระโยงระยางตามตัวหลวงปู่ผ่านหน้าลูกศิษย์ทุกคนไปอย่างช้าๆ ..พวกเราทุกคนไม่อาจทำใจให้เชื่อสิ่งที่เห็น เนื่องจากอดีตเมื่อก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน หลวงปู่ยังเดินผ่านหน้าลูกศิษย์ที่นั่งรออยู่ตรงสถานที่เดียวกันนี้ และเหล่าศิษย์ก็จะได้ยินน้ำเสียงใส ๆ ที่ก้องกังวานของหลวงปู่ที่เดินผ่านไปให้พรไปว่า  โชคดี ลูกศิษย์โชคดี
 แต่บัดนี้ไม่ได้ยินเสียงของหลวงปู่อีกแล้ว หลวงปู่นั่งอยู่บนรถเข็น ที่พระอุปัฏฐากเข็นผ่านไปด้วยความเงียบกริบ.!  ลูกศิษย์กว่าพันคนต่างเงียบ !..และเงียบด้วยความตื้นตัน ด้วยความระห้อยในหัวใจของแต่ละคน ที่เห็นสายยางเส้นเล็กเส้นน้อย อยู่เต็มตัวหลวงปู่ ทุกคนเต็มตื้นเพราะจิตใจยังไม่เข้มแข็งพอ ท่ามกลางความเงียบนั้น ก็มีเสียงสะอึกสะอื้นของลูกศิษย์บางคนที่จิตใจอ่อนไหว ทำใจไม่ได้ต่อภาพเบื้องหน้า.บัดนี้หลวงปู่ได้ลงทุนสอนพวกเราด้วยของธาตุขันธ์ของหลวงปู่เอง ด้วยอาการไม่ได้สะทกสะท้านต่อพยาธิมาร มารคือความเจ็บไข้ ได้มาให้เห็นแล้วโดยไม่เลือกว่าเป็นใครทั้งสิ้น สัจธรรม ของจริงที่ไม่มีใครหนีพ้น แม้แต่องค์พระสรรเพชรสัมมาสัมพุทธเจ้า...

คำสั่งพ่อมีเพียงแค่นี้

เมื่อหลวงปู่ขึ้นสู่ชั้นที่สามของตึก ๖๐ ปี คือ บริเวณที่ประกอบพิธี เสียงแพทย์พูดคุยกับพระอุปัฏฐากว่า   อาการหลวงปู่ไม่ดีแล้ว ให้รวบลัดตัดตอนพิธีต่างๆ ด้วย  ลูกศิษย์ทุกคนต่างทราบว่าหลวงปู่มีอาการไม่ดี ทั้งที่ไม่อยากรบกวนธาตุขันธ์หลวงปู่เลย แต่ด้วยเมตตาอันเปี่ยมล้นดั่งท้องมหาสมุทร หลวงปู่ได้ให้โอกาสพระเณร แม่ชี ตลอดทั้งลูกศิษย์ชาย หญิง ได้กราบถวายเครื่องสักการะแด่หลวงปู่  เป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่หลวงปู่รับเครื่องสักการะจากเหล่าศิษย์ด้วยอิริยาบถครึ่งนั่งครึ่งนอนบนเตียงคนไข้ หลวงปู่ยังมีเมตตาให้โอวาทในวันเข้าพรรษาเหมือนอย่างทุกปี แตกต่างอยู่บ้างก็ตรงที่บัดนี้หลวงปู่ไม่ได้นั่งบนธรรมาสหรืออาสนะอย่างปีก่อนๆ แต่เป็นครึ่งนั่งครึ่งนอนให้โอวาทบนเตียงคนไข้ น้ำเสียงที่สดใสก้องกังวานได้หายไป หลวงปู่ให้โอวาทด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ  แฝงไว้ด้วยกิริยาที่เป็นห่วงสานุศิษย์ ด้วยเสียงที่สั่นเครือที่ออกจากใจหลวงปู่ความว่า  ขอให้ลูกศิษย์ทุกคนรักกัน นับถือกัน อย่าแตกสามัคคีกัน คำสั่งพ่อมีเพียงแค่นี้ ! คำสั่งที่สั่นๆ และแหบแห้งของหลวงปู่ ได้สั่นและเขย่าหัวใจของลูกศิษย์หมดทั้งศาลา หลายคนไม่สามารถห้ามน้ำตาเอาไว้ได้ กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่  ปล่อยให้น้ำตาหลั่งรินออกมาด้วยความตื้นตัน ไหลหลั่งพลั่งพลูออกมาบูชากัณฑ์เทศน์ซึ่งเป็นโอวาทของหลวงปู่ด้วยความเคารพรักและศรัทธา
เป็นครั้งแรกที่หลวงปู่ต้องสัตตาหกรณียกิจ ออกจากวัดไปที่โรงพยาบาล เสร็จพิธีแล้วแพทย์ต้องกราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่กลับโรงพยาบาลทันที ปล่อยวางพิธีที่สำคัญยิ่งให้กับลูกศิษย์ทุกคนประกอบพิธีกันต่อไปตามลำพัง
หลวงปู่พักรักษาและดูอาการอยู่ที่โรงพยาบาลพระปกเกล้าจันทบุรี อาการก็ดีขึ้นเพียงทรงอยู่เท่านั้น คณะแพทย์จึงกราบอาราธนานิมนต์ให้หลวงปู่เดินทางเข้าตรวจด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย ณ โรงพยาบาลศิริราช  ผลการตรวจเช็คโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเครื่องมือที่ทันสมัย พบว่า ไตของหลวงปู่เริ่มเสื่อมถึงเสื่อมมาก หลอดเลือดหัวใจตีบถึงตีบมาก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจจึงกราบขออนุญาตหลวงปู่ฉีดสี เพื่อตรวจเช็คอย่างละเอียดอีกครั้ง  ผลการตรวจพบว่า เส้นเลือดหัวใจของหลวงปู่ตีบถึง ๓ เส้น คณะแพทย์ด้านโรคหัวใจผู้เชี่ยวชาญที่สุดของเมืองไทย  จึงได้ถวายการรักษาด้วยวิธี ทำบอลลูนเส้นเลือด  จึงทำให้อาการทางด้านหัวใจนั้นดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ ไตกับทรุดลง  จึงทำให้มีผลข้างเคียง คือ มีอาการซึม เบื่ออาหาร และพูดน้อย

การเดินจงกรมได้สิ้นสุดลง

ในระหว่างนี้เมื่อมีญาติโยมเดินทางมาเยี่ยม หลวงปู่ซึ่งเคยพูดคุยเป็นกันเองกับลูกศิษย์ได้เป็นหลายๆ ชั่วโมง แต่ในช่วงนี้หลวงปู่พูดคุยทักทายได้ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน ก็จะเหนื่อยหมดเรี่ยวแรง  เวลาส่วนใหญ่ของหลวงปู่ในระหว่างนี้ จึงจะพบเห็นหลวงปู่เจริญสมาธิภาวนาในอิริยาบถสีหไสยาสน์ และเปลี่ยนอิริยาบถ มานั่งสมาธิเป็นส่วนมาก อิริยาบถการเดินจงกรมของหลวงปู่ก็ลดลงไปเรื่อยๆ  จากที่หลวงปู่เคยเดินจงกรมเป็นชั่วโมง ก็ลดลงเหลือครึ่งชั่วโมง ยี่สิบนาที สิบนาที ห้านาที และเหลือเพียงเดินไปหนึ่งครั้ง เดินกลับหนึ่งครั้ง จนที่สุดหลวงปู่ก็ไม่สามารถเดินจงกรมได้อีกเลย..อาการของหลวงปู่ระหว่างนี้มีขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอน แต่หลวงปู่ยังจำลูกศิษย์ทุกคนที่เดินทางไปเยี่ยมไข้หลวงปู่ได้แม่นยำ จดจำเรื่องราวและวันสำคัญๆ ที่หลวงปู่เคยทำประจำปี เช่น เรื่องการนำพาลูกศิษย์สร้างบารมีแจกทานยังสถานที่ต่างๆ ในวันสำคัญๆ หลวงปู่จะปรารภถามจากพระอุปัฏฐากอยู่เสมอๆ เช่น  ถึงวันนั้นหรือยัง..ให้ใครไปทำหรือยัง..งานที่โน้นอย่างลืม นะ...  อะไรเหล่านี้เป็นต้น ดังเช่นในปีนี้ (๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๒) หลวงปู่ก็ถามว่า ? วันแม่ปีนี้จะถึงแล้วไม่ใช่หรือ มีใครเตรียมข้าวสารอาหารแห้งไปแจกเด็กหรือยัง ?...พระอุปัฏฐากกราบเรียนว่า..ขอโอกาสครับกระผม ปีนี้หลวงปู่ยังป่วยอยู่ สุขภาพยังไม่ดี ขอกราบนิมนต์หยุดพักสักหนึ่งปี...หลวงปู่ตอบทันทีว่า  นั่นสิ !..ยิ่งสุขภาพไม่ดี ยิ่งต้องรีบทำ เรื่องการสร้างบารมี สร้างความดี ถ้ายังทำไหวทำต่อไป อย่าหยุด.อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง ว่าปีนี้สุขภาพไม่ดีพักไว้ก่อน ปีหน้าสุขภาพดีแล้วจึงค่อยทำ อย่างนั้นถือว่าประมาท.ให้รีบทำความความดีเสียแต่วันนี้ ไม่ต้องรอ...  หลวงปู่สั่งต่อไปว่า ให้รีบแจ้งข่าวถึงลูกศิษย์ทุกคนให้ไปรวมตัวกันที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๒ อรัญประเทศ และที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ จันทบุรี ให้เตรียมข้าวสารไว้สี่ร้อยกระสอบ เงินสดสองแสนบาท เพื่อมอบให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนนำไปมอบให้แก่เด็กนักเรียนในความรับผิดชอบของตำรวจตระเวนชายแดน...
เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๒ หลวงปู่ขออนุญาตแพทย์ เดินทางนำลูกศิษย์ไปมอบสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคให้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั้งสองแห่ง ตามที่หลวงปู่เคยได้ให้ความช่วยเหลือมาเป็นประจำทุกปี เสร็จแล้วหลวงปู่ก็เดินทางกลับเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศิริราชอย่างเดิม หลวงปู่ได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นระยะเวลานาน ๓ เดือน ซึ่งมีประวัติการรักษาโรคประจำตัวหลวงปู่ คือ โรคเบาหวาน-ไตวายจากเบาหวาน-หลอดเลือดหัวใจตีบ และ หัวใจวาย  ในระหว่างนี้อาการของหลวงปู่ก็ทรงอยู่ วันหนึ่งที่โรงพยาบาลศิริราชหลวงปู่ได้ปรารภกับพระอุปัฏฐากขึ้นมาว่า  ถ้ายังอยู่โรงพยาบาลอย่างนี้  ผมคงเดินไม่ได้แน่ !” แต่แล้วหลวงปู่ก็ยังต้องอยู่โรงพยาบาล ๖ วัน และเดินทางกลับวัด ๗ วัน เป็นอยู่อย่างนี้ตลอดพรรษา ได้ขออนุญาตแพทย์เดินทางกลับวัดเพื่อรับกฐิน  เสร็จจากพิธีทอดกฐินสามัคคีของวัดเขาสุกิม ประจำปี๒๕๔๓ คณะศิษย์ได้ขอโอกาสกราบนิมนต์ให้หลวงปู่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

ถ้ามีหมอผู้หญิงมาถูกตัวให้ตายเสียดีกว่า

หลวงปู่นิ่งพิจารณาอยู่ครู่ใหญ่ แล้วจึงปรารภขึ้นมาเบาๆ กับพระอุปัฏฐากว่า  ที่ไหนก็ได้แต่ขออย่างเดียวอย่าให้มีหมอผู้หญิงมาถูกตัวก็แล้วกัน พรหมจรรย์ของผมได้รักษาบริสุทธิ์มาโดยตลอดถึง ๓ ชาติ ชาตินี้ก็เกือบ ๖๐ ปี แล้ว อยู่มาถึงป่านนี้ ! ถ้าจะมีผู้หญิงมาถูกตัว ปล่อยให้ผมตายเสียดีกว่า... พระอุปัฏฐากขอโอกาสกราบเรียนหลวงปู่ว่า  กระผมทุกรูปจะขอถวายการดูแลหลวงปู่อย่างดีที่สุดเท่าชีวิต จะหาไม่ ครับกระผม !...” หลวงปู่ตอบตกลงรับนิมนต์ตามที่คณะศิษย์ทุกคนปรารภนาดี
วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๓ คณะศิษย์ได้กราบนิมนต์หลวงปู่เดินทางเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ คณะแพทย์โรงพยาบาลวิชัยยุทธได้ตรวจโรคต่างๆ ของหลวงปู่อย่างละเอียดอีกครั้ง และพบโรคต่างๆ ดังนี้


ไม่มีความคิดเห็น: