วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555

หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย-4

....


ธรรมที่ไม่ต้องเทศน์

          เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม  ๒๕๑๘ เป็นวันแรกที่ข้าพเจ้าได้มาวัดเขาสุกิม เผอิญตรงกับวันที่ สมาคมพุทธศาสนาทั่วราชอาณาจักรมาประชุมกัน ณ วัดเขาสุกิม
          ผู้คนเนืองแน่นไปหมดทั้งวัด  เรามาแบบคนนอกและคนหน้าใหม่ของวัด ไม่รู้จักใครเลยแม้แต่คนเดียว จนตกเย็นเห็นคนวัดมีแม่ชีและแม่ดำยกอาหารต่าง ๆ เดินขนผ่านไปเลี้ยงแขกเหรื่อที่มาประชุม มีกุ้งแม่น้ำเผาตัวโตกลิ่นหอมหวน  ทั้งกับข้าวคาวหวานน่าชิมอีกสารพัด ทำให้หิวข้าวเป็นกำลัง
                ท่านผู้ใหญ่ชำนาญวัด ทราบภายหลังว่าเป็นกำนันอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา  ท่านชื่อ กำนันสอย  ท่านคงจะเห็นคณะของเราท่าทางเก้ ๆ. กัง ๆ...ไม่รู้เหนือไม่รู้ใต้ จึงเมตตาพาไปกินข้าวเย็นที่โรงครัว  เป็นโรงครัวไม้เก่า ๆ เดินทางลาด ๆ ลงไปอยู่ชายเขา  ที่ตั้งตึก ๖๐ ปี ในปัจจุบัน  คณะของเรามีข้าพเจ้า (จักรพันธ์ โปษยกฤต) ต๋อง (วัลลภิศร์ สดประเสริฐ) และหมู (ร้อยตรีสุรพล อิภะวัต) ได้ทานอาหารมื้อแรกที่โรงครัววัดเขาสุกิม มีแกงหมูชะมวงกับข้าวสวยร้อน ๆ เป็นอาหารมื้อที่อร่อยที่สุดในโลก ตามความรู้สึกที่จำได้ไม่ลืมจนบัดนี้
                ตกค่ำไปไหว้พระสวดมนต์ที่ศาลาไม้หลังเก่า  ก่อนสวดมนต์ท่านอาจารย์เทศน์เรื่องวิธีทำสมาธิ  ท่านให้นั่งสมาธิพร้อมกันประมาณ ๓๐ นาที ก่อนสวดมนต์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมถือปฏิบัติกันมาจนทุกวันนี้ สมัยนั้นท่านอาจารย์ทำทุกอย่างเองหมด นำนั่งสมาธิ นำสวดมนต์ ทั้งอ่านใบอนุโมทนาบัตร และแจกใบอนุโมทนาบัตรเอง พรมน้ำมนต์ เป่ากระหม่อม บังสุกุลเป็น ฯลฯ  ท่านพรมน้ำมนต์แรงและไกลไปทั่วศาลา คำให้พรของท่านที่ให้แก่ลูกศิษย์ทุกคน คือ
“...เอาละ  โชคดี  โชคดี  เหลือกินเหลือใช้  ไปที่ไหนปลอดภัยที่นั่น...
                ลุงกำนันพาเราไปหาเสื่อ หมอน ผ้าห่ม ที่กองสุม ๆ อยู่มุมหนึ่งของศาลา แล้วขึ้นเขาสายตรงไปนอนที่กุฏิหลังสีฟ้า สร้างอยู่บนชะง่อนหินใหญ่สูงมิใช่เล่น ชื่อ ...กุฏิสว่างเนตร...กุฏิหลังนี้เป็นกุฏิดั้งเดิมของท่านอาจารย์  ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลังหนึ่ง ตอนที่เราไปพักยังไม่มีต้นยางอินเดียรกเรื้อ อากาศเย็น โปร่ง สบาย ไม่มียุง มองลอดช่องระเบียงด้านทิศตะวันออกไปได้ไกลลิบ ๆ เห็นทิวทัศน์เรือกสวนป่าเขาเบื้องล่างงดงามจำเริญตา  เวลาเช้าตรู่ละอองหมอกลอยผ่านช่องฝาไหลเข้ามาถึงที่นอน มานึกย้อนยังแปลกใจว่า ข้าพเจ้าไปอยู่ ณ วัดเขาสุกิมได้อย่างไร มิใช่แค่คืนเดียว ในเมื่อข้าพเจ้าเป็นคนยาก กินยาก อยู่ยาก นอนยาก เข้าห้องน้ำก็ยาก ข้อสำคัญคือ ไม่คุ้นกับคนแปลกหน้าโดยง่าย หากมาที่วัดเขาสุกิมตอนนั้น ทุกคนเป็นคนแปลกหน้าหมด  แม้กระทั่งท่านอาจารย์เอง เคยได้ยินก็แต่ชื่อเสียงกิตติศัพท์ของท่านทั้งที่ยังไม่รู้จัก แต่ครั้นได้มาเป็นอาคันตุกะของวัดเขาสุกิม สมัยที่ใช้ชื่อว่า วัดราษฎร์บูรณะคุณาราม อยู่ ๆ ได้มาสัมผัสความมีแก่ใจของพระสงฆ์  แม่ชี  แม่ดำ และญาติโยมคนวัด ความมีระเบียบวินัย สะอาดสะอ้านของผู้คน และอาณาบริเวณ โดยเฉพาะที่เป็นฝ่ายสังฆาวาส แม้กระทั่งผ้าห่มขนหนูสีเหลือง ๆ หมอนที่นอน ที่กอง ๆ ไว้เป็นสาธารณะให้ผู้มาอาศัยเลือกหยิบไปใช้ ก็ได้รับการดูแลซักตากมิให้หมักหมม สกปรก หรือห้องน้ำเล็ก ๆ หลังคามุงสังกะสี พื้นซีเมนต์ตามกุฏิพระที่เราได้ไปพักพิง ก็แห้งผากสะอาดหมดจดทุกซอกทุกมุม ด้วยได้รับการชำระล้างขัดถูขะมักเขม้นทุกวี่วัน  ไม่ดูดายปล่อยให้เกรอะกรัง เครื่องบริขารสงฆ์ เช่น สบง จีวร ที่ซักตากผึ่งไว้ใต้ถุนกุฏิขึงตึงเป็นระเบียบ พับเก็บตามเวลาไม่ปล่อยทิ้งไว้เลเพเลพาด
          ข้าพเจ้าและคณะได้มาวัดเขาสุกิมอีกหลายครั้งหลายหนจนนับไม่ถ้วนว่ากี่ครั้ง จากคนแปลกหน้า มาเป็นคนคุ้นหน้า แล้วจากคนกรุงมาเป็นลูกศิษย์วัด กินข้าววัด กินข้าวก้นบาตร ข้าวเหลือสำรับจากท่านอาจารย์ยกให้ ท่านเรียกข้าพเจ้าว่า ...อาจารย์...ตามอย่างเด็ก ๆ ในคณะของเราที่ไปวัดด้วยกัน พวกเราได้ติดตามท่านอาจารย์ไปร่วมกุศลทางภาคอีสานทุกครั้งที่ท่านออกปากชวน การไปมิได้สะดวก แต่ก็ไม่ลำบากยากเข็ญ ท่านพยายามอำนวยความสะดวกทุกอย่างไม่ว่าที่พักหลับนอน   อาหารการกิน...ฯลฯ
                โดยเฉพาะเรื่องอาหาร เป็นคุณลักษณะประจำสำนักหรืออย่างไร ที่ไม่ว่าจะไปถิ่นทุรกันดารแห้งแล้งขนาดไหน แต่กับข้าวจากคณะแม่ชี แม่ดำ อุบาสิกาของวัดเราช่างละเมียดละไมเหมือนของทิพย์ ซึ่งก็เป็นของทิพย์จริง ๆ  เพราะเกิดจากกำลังบุญและความศรัทธาร่วมแรงร่วมใจของลูกศิษย์ลูกหา ที่จะทำเพื่อผู้อื่นด้วยความปรารถนาดีและตั้งอกตั้งใจ ตามปฏิปทาของครูบาอาจารย์ ข้าพเจ้าได้เห็นท่านอาจารย์มุ่งสร้างเสนาสนะ  ที่พักดี ๆ ห้องน้ำดี ๆ  ความสะดวกสบายเท่าที่วัดป่าจะอำนวยให้ญาติโยม และพระอาคันตุกะโดยไม่เลือกนิกายฝ่ายข้าง ก็ค่อย ๆ ประจักษ์ จากที่เคยคิดเคยนึกว่าทำไปทำไม   ท่านทำเพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาไว้ในหัวใจของทุกคน ทุกหมู่เหล่า ทุกชั้นวรรณะ ตั้งแต่เศรษฐี จนกระทั่งยาจกเข็ญใจก็สามารถเข้ามาอาศัยเพื่อได้รู้พระธรรม และได้สร้างบารมี ได้ทำบุญ ได้ปฏิบัติ เป็นปัจจัยไปสู่สุคติ อันมีพระนิพพานเป็นที่สุด ท่านอาจารย์เป็นพระที่เทศน์น้อย เทศน์น้อยจนบางคนสงสัยว่า ทำไมเป็นพระแล้วไม่เทศน์ ถ้าเทียบโดยวิชาชีพ ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจท่านอาจารย์ได้มากกว่าคนอื่น ๆ ทั่วไป ว่า  “...ท่านเป็นพระนักปฏิบัติจริง ๆ ท่านมิใช่พระนักพูด แต่เป็นพระนักทำ...เช่นเดียวกับข้าพเจ้า ที่เป็นช่างเขียน มิใช่ช่างพูด แสดงสรรพคุณทางศิลปะด้วยวาจา  ความจริงแล้ว  ท่านแสดงธรรมอยู่ตลอดเวลา ด้วยการกระทำ ฝึกฝนปลูกฝังกุศลนิสัยให้แก่พุทธศาสนิกชนที่เข้ามากราบไหว้  วัตรปฏิบัติของท่านทุกอย่างจำลองมาเป็นแบบฉบับได้หมด ไม่ว่าขันติ  เมตตา จาคะ ความไม่ตระหนี่เหนียวแน่น ความเสียสละ อดทนต่อทุกขเวทนาทั้งหลาย อย่างหาผู้ใดเทียบไมได้  ไม่เคยเหนื่อยหน่ายรำคาญผู้ใด สิ่งใด  ทั้งหมดล้วนเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ที่ล่วงการกล่าวด้วยวาจา  หรือเทศนาใด ๆ นี่คือเบื้องต้นที่เราลูกศิษย์ได้เห็นกันเป็นปกติธรรมดา สุดแท้แต่ใครจะจดจำเอาไปประพฤติปฏิบัติตามรอยครูบาอาจารย์กันได้แค่ไหน หากเบื้องลึกของท่าน เรามิอาจหยั่งรู้ท่านได้  ข้าพเจ้าได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปของวัดเขาสุกิม เมื่อแรกมาจนบัดนี้ ตั้งแต่สภาพแวดล้อมและตัวบุคคล ทั้งพระสงฆ์ แม่ชี คนวัดเก่าก่อน ที่ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป ได้เคยเห็นท่านอาจารย์ในสมัยที่ท่านยังกระฉับกระเฉงว่องไว ได้เห็นท่านจูงมือประคับประคองโยมบิดาของท่านตามทางเดินขรุขระสูง ๆ ต่ำ ๆ ของวัดเขาสุกิม ได้เห็นท่านเดินจงกรม ได้เห็นท่านเดินมาที่ประตูหลังศาลาไม้หลังเก่า เพื่อเข้ามาสวดมนต์  พระเณรล้างเท้าและเช็ดเท้าให้ท่าน เป็นกิจวัตรก่อนท่านจะเดินเข้านั่งประจำที่ นำกราบพระพุทธรูปอย่างงดงาม ๓ หน  ก่อนจะนำนั่งสมาธิ  จากท่านอาจารย์ที่แข็งแรง สง่าผ่าเผย อยู่ในความนุ่มนวล สุภาพ ท่านค่อย ๆ ช้าลง พูดจาปฏิสันถารน้อยลง จนกระทั่งท่านไม่พูด และไม่เดิน ต้องนั่งรถเข็น  จากท่านอาจารย์ มาเป็นหลวงพ่อ แล้วก็มาเป็นหลวงปู่ จากที่เคยทักทายให้ศีลให้พรด้วยวาจา มาเป็นแค่ให้ศีลให้พรด้วยสายตา  ซึ่งก็เป็นเมตตาล้นเหลือแล้วสำหรับพวกเรา จากที่ข้าพเจ้าได้มาวัดเขาสุกิมครั้งแรก เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ท่านอาจารย์อายุ ๕๐ ปี กระทั่งท่านอายุ ๘๐ ปี  อันเป็นอายุสุดท้ายที่ได้เห็นท่าน ท่านอาจารย์เป็นบทพิสูจน์ของทุกตัวอักษรตามคัมภีร์ในทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็น ทาน ศีล ภาวนา อภิญญา สมาบัติ  และอานิสงส์ผลใด ๆ ในความเลื่อมใสเคารพซึ่งพระรัตนตรัยเป็นสูงสุด ข้าพเจ้าคิดว่า ลูกศิษย์ลูกหาท่านอาจารย์ทุกท่าน คงจะรู้สึกเช่นเดียวกับข้าพเจ้า  คือ นอกเหนือไปจากความทุกข์โทมนัสในการพลัดพรากจากบุคคลที่เคารพรัก ยังมีความปลื้มปีติอิ่มใจ  ในชาติหนึ่งที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้เคยเห็น เคยนั่งใกล้ เคยกราบ เคยรับใช้ใกล้ชิด ได้ร่วมสร้างกุศลบารมีกับท่านผู้เป็นนาบุญของโลก ทั้งเคยได้รับความห่วงใยเมตตาอาทรจากท่านเสมอมา โดยเฉพาะข้าพเจ้าเอง ความปีติและมุ่งมั่นของข้าพเจ้า คือ ...ทำงานจิตรกรรมฝาผนังวัดเขาสุกิม...ให้สำเร็จลุล่วงด้วยความประณีตงดงาม ตามสติกำลังอย่างเต็มความสามารถ ดังคำปรารภของท่านอาจารย์ ที่ได้ให้โอกาสอันเป็นมหาบุญลาภแก่ข้าพเจ้า แม้จะเนิ่นนานมาแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังรำลึกได้ถึงน้ำเสียง ถึงสายตาของท่านอาจารย์ได้ดี เมื่อท่านยิ้มแล้วเอ่ยกับ
ข้าพเจ้า  ว่า “...อาจารย์ โบสถ์หลังนี้ ยกให้อาจารย์แล้ว...
อาจารย์จักรพันธุ์  โปษยกฤต  ศิลปินแห่งชาติ

























ปฏิปทาของหลวงปู่

                ปฏิปทาของหลวงปู่นั้นไม่มีสะสม ชาวบ้านทำบุญมาเท่าไรไม่เก็บไว้เป็นส่วนตัวแม้แต่น้อยเดียว สร้างถาวรวัตถุไว้ในพระพุทธศาสนาทั้งหมด  เมื่อถึงคราวบ้านเมืองมีภัยก็หยุดทางด้านศาสนาหันไปช่วยบ้านเมืองให้รอดก่อน หลวงปู่เคยปรารภว่า  ถ้าชาติอยู่ไม่ได้แล้วพุทธศาสนาก็อยู่ไม่ได้ คอมมิวนิสต์เข้าประเทศไหนประเทศนั้นจะไร้พุทธศาสนาทันที ให้ดูเพื่อนบ้านเป็นตัวอย่าง ในเมื่อบ้านเมืองปรกติสุขดีแล้วก็หันกับมาสร้างสรรค์จรรโลงพระพุทธศาสนาต่อไป หลวงปู่จะไม่รับลาภ ยศ สรรเสริญ ใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ตำแหน่งเจ้าอาวาส นับตั้งแต่หลวงปู่หยุดเดินธุดงค์แล้ว ปักหลักประกาศศาสนาอยู่กับที่สร้างวัดวาอารามวัดแรก คือ วัดเนินดินแดง ต่อมาคือวัดเขาสุกิม หลวงปู่ไม่เคยเป็นเจ้าอาวาสได้ให้ลูกศิษย์เป็นเจ้าอาวาสมาโดยตลอด หลวงปู่ไม่เคยรับกฐินตลอดอายุขัยของหลวงปู่... องค์รับกฐินทุกปีหลวงปู่ได้มอบให้ลูกศิษย์องค์ที่เป็นเจ้าอาวาสเป็นผู้รับเป็นผู้ครองกฐิน จตุปัจจัยที่ศิษยานุศิษย์น้อมถวายท่านทุกบาททุกสตางค์เข้ากองกลางหมด ไม่เคยมีปัจจัยส่วนตัวแม้แต่บาทเดียว นี่คือปฏิปทาของหลวงปู่ 
                หลวงปู่จะถือธุดงควัตรมาโดยตลอด เช่น ฉันในบาตรเป็นวัตร ฉันหนเดียวเป็นวัตร (ไม่มีแม้แต่ นม โอวัลติน รองท้องใดๆ ทั้งสิ้น) งดเว้นสิ่งเสพติด เช่น หมาก บุหรี่ ถือผ้าสามผืนเป็นวัตร สมัยต้นๆ ที่มาอยู่วัดเขาสุกิมใหม่ ๆ หลวงปู่ก็ยังได้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร ต่อมาจึงได้อนุโลมรับกิจนิมนต์ไปฉันตามบ้านลูกศิษย์ จนอายุมากขึ้นช่วงบั้นปลายอายุ หลวงปู่อาพาธแล้วจึงงดรับ หลวงปู่จะลงทำวัตรสวดมนต์เย็นทุกวันส่วนมากจะลงมานั่งสมาธิก่อนพระเณรรูปอื่นเสมอ เรื่องการลงอุโบสถอีกเรื่องหนึ่งที่หลวงปู่จะไม่เคยขาดเลยเว้นแต่อาพาธมากจริงๆ ถ้าอาพาธขนาดพอมาได้แล้วหลวงปู่จะลงทุกปักข์ และส่วนใหญ่ก็จะลงมานั่งคอยพระเณรอีกเช่นกันเท่าที่ข้าพเจ้าจำได้  เรื่องอาบัติแม้เล็กน้อยหลวงปู่ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก  หลวงปู่จะสอนพระเณรอยู่เสมอๆ ว่า อาบัติเล็กน้อยเปรียบเหมือนเมล็ดงาเม็ดเล็กๆ อย่าเห็นว่าไม่สำคัญ เม็ดเล็ก ๆ นั้นถ้าจำนวนมากเป็นกระสอบแล้วก็สามารถทับคนตายได้เหมือนกัน  ขอนไม้ยางท่อนโตๆ เข้าตาคนยาก  แต่ขี้ฝุ่นขี้ผงเล็กๆ เข้าตาคนได้ง่าย ถ้าบ่อยๆ เข้าก็ทำให้ตาคนเสียได้... หลวงปู่จึงสอนให้พระเณรเห็นความสำคัญของการชำระศีลให้บริสุทธิ์ หากศีลไม่บริสุทธิ์แล้วการทำสมาธิก็ไม่เจริญงอกงาม เศร้าหมองไม่ผ่องใส ศีลเหมือนผืนนา สมาธิเหมือนต้นกล้า หากผืนนาไม่ดี ข้าวกล้าก็ปลูกไม่ขึ้น หลวงปู่ไม่ยอมประพฤติล่วงพระบัญญัติใดๆ ที่แม้ในสิ่งที่ผู้อื่นมองเห็นว่าเล็กน้อย..
ปฏิปทาการปฏิบัตินั้น หลวงปู่ได้นำปฏิปทาของหลวงปู่มั่นและของครูบาอาจารย์สายป่ามาปฏิบัติ และอบรมสั่งสอนศิษย์ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ตั้งแต่ยังเดินธุดงค์ จนกระทั่งหยุดปักหลักภาวนาประกาศพระพุทธศาสนาอยู่บนเขาสุกิมนับตั้งแต่ ปีพ.ศ.๒๕๐๗ จนถึงกาลอวสานแห่งสังขารของหลวงปู่ ซึ่งหลวงปู่ได้วางรากฐานการประพฤติปฏิบัติไว้อย่างดีงาม ดังเช่นที่ลูกศิษย์ทุกท่านได้เคยพบเห็นมานั่นเอง ในโอกาสนี้ขอทบทวนความทรงจำให้ทุกท่านได้เกิดศรัทธาเกิดความภาคภูมิใจว่า ที่ครูบาอาจารย์ได้นำพาประพฤติปฏิบัติมานั้นถูกต้อง ดีงาม หรือสมกับคำที่หลวงปู่เคยย้ำกับลูกศิษย์อยู่เสมอๆ หรือไม่ ? ว่า  ถ้าการอบรมสั่งสอนของผมไม่ถูกทาง หรือออกนอกลู่นอกทางไปจากครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ หรือผิดเพี้ยนนอกศาสนธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว วันข้างหน้าพวกเราที่เป็นศิษย์ของผมคนใดก็แล้วแต่ หากพิสูจน์แล้วไม่ตรงตามสายทางของพระอริยเจ้าแล้ว ให้เผาตำราของผมทิ้งลบชื่อผมออกจากครูบาอาจารย์ได้เลย  เป็นคำพูดที่จริงจัง จริงใจของหลวงปู่ เมื่อทราบว่าลูกศิษย์ฮือฮาไปตามกระแสกับพระที่โด่งดังแบบติดปีกมาแล้วก็ติดปีกดับ คือดังเร็วดับเร็วนั่นเอง หลวงปู่มักเตือนสติไม่ให้หลงงมงายทั้งลูกศิษย์โยมและลูกศิษย์พระแบบง่ายๆ แต่กินลึกถึงหัวใจดังกล่าวแล้วนั้น
                ในส่วนกิจวัตรประจำวันเท่าที่ได้สัมผัสมาเป็นระยะเวลาไม่มากนัก และได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากอดีตพระอุปัฏฐาก ๖ รูป / คน คือ
            ๑. คุณประไพ  รูปเหลี่ยม อุปัฏฐากตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๔๙๖-๒๕๐๕
            ๒. คุณคำปุ่น กุดกุง อุปัฏฐากตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๐๕-๒๕๑๐ รวม ๕ ปี
            ๓. คุณบุญเตือน  ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๐-๒๕๑๙ รวม ๙ ปี
            ๔. พระครูวิริยธรรมคุณ(พระอาจารย์บุญโฮม ธมฺมจนฺโท) อุปัฏฐากตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๓๐ รวม ๑๑ ปี
            ๕. พระอาจารย์สุจิตต์  ถิรจิตฺโต และพระอาจารย์ไพศาล อภิวิสาโล อุปัฏฐาก ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕จนถึงวันมรณภาพ รวม ๒๓ ปี
                หลวงปู่เป็นครูบาอาจารย์ที่เสียสละเพื่อลูกศิษย์ก่อนตัวท่านเอง หลวงปู่ไม่นิยมสะสมลาภสักการะไม่ว่าใครจะนำสิ่งใดมาถวายหลวงปู่จะรับประเคนฉลองศรัทธา เสร็จแล้วก็มอบให้พระเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลคลังสงฆ์นำไปเก็บไว้เป็นส่วนกลางให้เจ้าหน้าที่พิจารณาแจกแบ่งพระภิกษุสามเณร แม่ขาวแม่ชี หมดทั้งวัดให้เบิกใช้ได้ตามความเหมาะสมเท่าที่จำเป็น หลวงปู่เคยบอกว่า ถ้าใครอยากถวายแต่ครูบาอาจารย์กันหมดแล้วพระเล็กเณรน้อยจะเอาอะไรใช้ อาหารก็เช่นกันถ้าถวายแต่ครูบาอาจารย์แล้วพระเล็กเณรน้อยจะฉันอะไร? ที่กุฏิหลวงปู่จะไม่มีเฟอร์นิเจอร์หรือสิ่งของมีค่าใดๆ นอกจาก ห่อผ้าครอง บาตร กาน้ำ กระโถน ไม้เท้า ไม้กวาด และสิ่งของวัตถุมงคลที่ลูกศิษย์นำมาฝากให้หลวงปู่แผ่เมตตาเมื่อหลวงปู่นั่งภาวนาในกุฏิ บางครั้งเมื่อลูกศิษย์นำกลับไปหมด ภายในกุฏิก็จะโล่งว่างเปล่า
กุฏิถาวรหลังแรกของหลวงปู่อยู่บนภูเขาสูงมาก ชื่อ กุฏิสว่างเนตร  ซึ่งหลวงปู่ใช้พักภาวนาเมื่อยังหนุ่มแน่นแข็งแรง หลวงปู่จะเดินขึ้นเดินลงเป็นประจำทุกวัน หลวงปู่ชอบกุฏินี้มากเพราะว่าอากาศถ่ายเทดีไม่ชื้นมาก โปร่งโล่ง สบาย มองเห็นภูมิประเทศได้ไกลสุดลูกหูลูกตา ภาวนาดี หลวงปู่อยู่กุฏินี้เป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปี เมื่อหลวงปู่อายุเข้า ๕๐ ปี การเดินขึ้นภูเขาสูง ๆ ก็ทำให้หลวงปู่เหนื่อย ลูกศิษย์จึงนิมนต์หลวงปู่ลงมาอยู่กุฏิหลังต่ำลงมาเพื่อจะไม่ต้องฝืนธาตุขันธ์หลวงปู่มากเกินไป คือที่  กุฏิศรีจรรยาพานิชซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกึ่งกลางวงล้อมของหมู่กุฏิพระภิกษุสามเณร ซึ่งเป็นกุฏิที่เรียบง่ายดังที่ทราบกันเป็นอย่างดีนั่นเอง กาลเวลาผ่านไปหลวงปู่ก็อายุมากเพิ่มขึ้นเข้าสู่วัยชรา คณะศิษย์เห็นว่าหลวงปู่ไม่สะดวกต่อการที่เดินขึ้นภูเขาสูงๆ จึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า พวกลูกศิษย์ต้องการสร้างกุฏิหลังใหม่ที่ไม่ต้องลำบากธาตุขันธ์ในการเดินขึ้นเดินลง หลวงปู่ตอบแบ่งรับแบ่งสู้เพราะไม่ต้องการให้ลูกศิษย์สิ้นเปลืองทุนทรัพย์ แต่ก็ไม่ต้องการให้เสียศรัทธาของลูกศิษย์ด้วย หลวงปู่จึงตอบลูกศิษย์ว่าไม่ต้องทำอะไรมากหรอก ถ้าจะทำจริงๆ ด้านปลีกระเบียงตึก ๖๐ ปี ซึ่งมีเนื้อที่ว่างพอที่ต่อเติมเป็นกุฏิได้สักหลังหนึ่ง  เมื่อได้รับคำแนะนำจากหลวงปู่แล้วจึงได้ร่วมกันจัดสร้างกุฏิหลังเล็กๆ ซึ่งต่อเติมจากส่วนปลีกของตึก ๖๐ ปี เฉลิมพระเกียรติตามความประสงค์ของหลวงปู่ เสร็จแล้วได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่ลงมาพักภาวนา ณ กุฏิหลังนี้และเป็นกุฏิหลังสุดท้ายของหลวงปู่
ไม่ว่าหลวงปู่จะอยู่กุฏิหลังไหนภายในกุฏิก็จะเต็มไปด้วยวัตถุมงคลต่างๆ ที่ลูกศิษย์นำมาฝากแผ่เมตตาอีกเหมือนเดิม เช่น พระบูชา พระเครื่อง ธูปหอม และอื่นๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อนำมาไว้ในห้องหลวงปู่แล้วนำกับไปบูชาที่บ้านจะเป็นสิริมงคล จึงมักนิยมนำมาขอบารมีหลวงปู่กันตลอด บางครั้งจะเห็นได้ว่ามากจนล้นแทบจะไม่มีที่ให้พระอุปัฏฐากนั่งปฏิบัติหน้าที่ แต่บางวันก็โล่งเมื่อเจ้าของมาขอนำกลับ หลวงปู่ก็ไม่ว่าอะไรใครจะเอามาก็เอามา ใครจะเอากลับก็เอากลับ หมุนเวียนอยู่เช่นนี้ตลอดทั้งปี นี่คือในส่วนกุฏิที่พักของหลวงปู่

กิจส่วนตัวของหลวงปู่

             หลวงปู่ตื่นเช้ามาก แล้วสวดมนต์นั่งสมาธิ อยู่ภายในกุฏิเป็นการส่วนตัว แล้วจึงออกมาเดินจงกรมที่ระเบียงกุฏิ  หลวงปู่จะเดินจงกรมนานมากอย่างน้อย ๓-๕ ชั่วโมงจึงเปลี่ยนอิริยาบถครั้งหนึ่ง แม้แต่กลับมาจากภารกิจนอกวัดจะดึกดื่นเที่ยงคืนอย่างไรหลวงปู่จะต้องเดินจงกรมก่อนพักผ่อนเป็นกิจประจำอย่างน้อย ๑-๒ ชั่วโมงจึงเข้ากุฏิพักผ่อน
ภาคเช้าเมื่อหลวงปู่เสร็จจากการภาวนาแล้วก็จะกระแอม บรรดาพระเณรที่รออยู่ใต้กุฏิก็จะขึ้นไปปฏิบัติอาจริยวัตรประจำวันถวายน้ำล้างหน้า ยาสีฟัน เป็นต้น สมัยนั้นการรอคอยครูบาอาจารย์ของพระเณรก็ใช่ว่าจะนั่งรอเปล่าๆ แต่เป็นการภาวนารอ เดินจงกรมบ้างนั่งสมาธิบ้าง อยู่ใกล้ๆ บริเวณนั้นนั่นเอง เมื่อได้ยินเสียงหลวงปู่กระแอม  ก็พากันยกน้ำร้อนขึ้นไปผสมให้อุ่นพอดีๆ พระเณรก็จะช่วยกันถวายแปรงสีฟันก่อนอย่างอื่น หลวงปู่จะแปรงฟันสลับมือซ้ายทีมือขวาทีสลับไปสลับมา ไม่แปรงอย่างคนทั่วไปที่จับแปรงมือไหนก็มือนั้น เสร็จแล้วพระเณรก็ ช่วยกันตักน้ำสรงหลวงปู่ ๑ ขัน สรงถวายท่านตั้งแต่ต้นคอและด้านหลัง ส่วนบนศีรษะ หลวงปู่จะตักสรงเอง  พระผู้น้อยรวมทั้งสามเณรก็จะช่วยกันถูเนื้อตัวด้วยฟองน้ำที่ใส่สบู่ไว้แล้ว สามเณรตัวน้อยๆ ก็ช่วยถูตามฝ่าเท้า หลังเท้า พระก็ถูตามตัว แขน และด้านหลังหลวงปู่ด้วยความเคารพ  เสร็จเรียบร้อยพระผู้ใหญ่ก็จะนำผ้าเช็ดตัวเข้ามาเช็ดตัวส่วนต้นคอและด้านหลัง ด้านหน้าและบนศีรษะหลวงปู่จะเช็ดเอง เสร็จแล้วพระผู้น้อยก็จะถวายผ้าสำหรับผัดสบงตัวเปียกออกก่อน เมื่อหลวงปู่นุ่งผ้าสำหรับผลัดเปลี่ยนเสร็จพระก็จะต้องดึงสบงออกจากด้านล่างแล้วนำไปใส่ถังไว้ซัก ต่อจากนั้นก็นำผ้าสบงผืนใหม่เข้าไปถวาย ตามด้วยสายรัดประคด และผ้าอังสะ พระเณรก็จะร่วมมือกันแบ่งบุญจากหลวงปู่กันคนละอย่าง บางครั้งเคยมีพระส่งผ้าสบง หรือผ้าอังสะ เก้อๆ เงอะงะ ทำให้ท่านจับไม่สะดวก หลวงปู่ก็จะบอกว่าสมัยอยู่กับหลวงปู่มั่นทำอย่างนี้ไม่ได้ ต้องไปฝึกเสียก่อน จึงค่อยมาปฏิบัติใหม่ บางองค์ต้องดูเพื่อนเป็นปีๆ จึงจะเข้ามาปฏิบัติได้ เสร็จเรียบร้อยแล้วหลวงปู่ก็จะนั่งพักผ่อน พระอุปัฏฐากถวายเภสัชและน้ำปานะแล้ว หลวงปู่ก็จะครองจีวรเพื่อเตรียมลงศาลาหรือไปกิจนิมนต์ต่อไป
การสรงน้ำถ้าเป็นวันโกน คือวันขึ้น ๑๔ ค่ำ พระเณรก็จะคอยรอเก็บเกศาหลวงปู่ที่ปลงออกนั้นนำไปบูชา  ผู้ที่ทำหน้าที่ปลงผมหรือเกศาถวายหลวงปู่ส่วนมากก็จะเป็นพระอุปัฏฐากใกล้ชิด รูปอื่นๆ ก็จะนั่งรอเกศาที่หล่นหรือเล็ดรอดลงมาก็จะเก็บไปไว้บูชา ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยหล่น เพราะพระอุปัฏฐากต้องการเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์ไว้ให้ลูกศิษย์ได้กราบไหว้บูชา  เกศาของหลวงปู่นั้นก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์อีกเรื่องหนึ่งที่เหลือเชื่อ จากเกศาหรือเส้นผมที่เป็นเส้น ๆโกนออกมาจากศีรษะแล้วมีความต่างไปจากผมคนธรรมดาทั่วไป คือ เมื่อเก็บใส่ผอบ(พะอบ) หรือตลับไว้นานๆ แล้วนำมาเปิดดูก็จะกลายเป็นสองลักษณะด้วยกันคือลักษณะแรกจะรวมกันเป็นก้อนกลมๆ ลักษณะที่สองจะยาวคล้ายเส้นผมสตรี จึงนับว่าเป็นเรื่องแปลกอีกเรื่องหนึ่ง...
                การสรงน้ำถวายหลวงปู่ในภาคบ่ายของวันธรรมดานั้น เวลาก็ขึ้นอยู่ที่ ภารกิจของหลวงปู่ว่าท่านจะเดินทางกลับมาถึงวัดช้าหรือเร็ว พระภิกษุสามเณรก็รอ  บางวันรอถึงสองยาม บางวันค่อนรุ่งของวันใหม่ อย่างนี้เป็นต้นถึงแม้ว่าหลวงปู่จะกลับมาดึกดื่นแค่ไหนหลวงปู่ไม่เคยบ่นว่า เหนื่อยหรือง่วง ให้พระเณรลูกศิษย์ได้ยินเลย  ไม่ว่าจะดึกขนาดไหนเมื่อสรงน้ำเสร็จพระเณรลงจากกุฏิหมดหลวงปู่ก็จะออกมาเดินจงกรมภาวนาอย่างน้อย ๑-๒ ชั่วโมงจึงเข้าพักผ่อน เป็นอยู่อย่างนี้ประจำทุกครั้ง สำหรับวันที่หลวงปู่ไม่มีกิจนอกวัด เวลาสรงน้ำถวายหลวงปู่ ก็จะเป็นเวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา บ่ายห้าโมงเย็นเป็นหลัก ถ้าเป็นช่วงบ่ายหลวงปู่ก็จะมีเวลาเทศนาอบรมพระเณรภายหลังจากสรงน้ำเสร็จแล้ว ซึ่งช่วงนี้หลวงปู่จะให้ความเป็นกันเองกับพระเณรมากที่สุด จะเป็นเวลาของพระเณรจริงๆ ใครมีธุระอะไรก็กราบเรียนถามได้ในตอนนี้ ถ้าไม่มีปัญหาก็จะได้ฟังเทศน์แบบถึงพริกถึงขิงแบบพ่อสอนลูก หรือพ่อตีลูก ลงโทษลูกก็ตอนนี้อีกเหมือนกัน แต่การตีหรือลงโทษนั้น ตีด้วยคำเทศน์คำสอนที่รุนแรง และหนักหน่วง หมายถึงพระรูปที่ดื้อมากๆ เท่านั้น หลวงปู่ก็จะเทศน์แบบไม่เลี้ยงอยากดีก็อยู่ต่อ ไม่อยากดีก็สึกให้พ้นไปจากพระศาสนา หลวงปู่บอกว่าไม่เสียดายบุคคล เสียดายพระศาสนามากกว่า สมัยนั้นหลวงปู่ฝึกลูกศิษย์แบบเข้มข้นจริงๆ แต่ถึงคราวเมตตาแล้วหลวงปู่จะเมตตามากจะอบรมบ่มสอนอย่างพ่ออย่างลูก และอย่างศิษย์อย่างอาจารย์ไปพร้อมๆ กันเพราะอยากให้ลูกศิษย์ได้ดี  บางครั้งหลวงปู่ต้องใช้มาตรการเด็ดขาดขับไล่ออกไปให้พ้นจากสำนักก็มี บางรูปต้องนำดอกไม้ธูปเทียนมาขอขมาเพราะสำนึกได้ถึงกับน้ำตาล่วงกันเป็นประจำเพราะคำสอนที่กินใจลึกซึ้ง 
                 บางโอกาสหลวงปู่ก็นำนิทานสนุกๆ มาเล่าเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดให้พระเณรได้หัวเราะได้ฮากันก็มี เช่น

หลวงปู่เล่านิทาน

เรื่องอาแป๊ะบวชลูกชาย ..หลวงปู่ยกแก้วน้ำปานะขึ้นฉัน แล้วเล่าต่อว่า 
มีอาแป๊ะคนหนึ่งแกพาลูกชายไปบวช  ขณะที่พระอุปัชฌาย์ให้กล่าวคำขออุปสมบท บทว่า อุลลุมปตุ โน ภันเต  ลูกชายอาแป๊ะซึ่งพูดไทยไม่ค่อยชัดอยู่แล้วจึงว่าเป็น อุง ลุง  ปตุโน ภันเต กี่ครั้งๆ ก็ยังว่า อุงลุง ปตุโน ภันเตอยู่เหมือนเดิม  อุปัชฌาย์ก็ให้ว่าซ้ำใหม่ ๒ รอบ ๓ รอบ ลูกชายอาแป๊ะก็ยังว่าไม่ได้ อาแป๊ะถึงกับเหงื่อตกเพราะอายแขกที่มาร่วมงานบวชลูกชาย  อาแป๊ะยกมือขึ้นปาดเหงื่อที่ไหลออกมาเต็มหน้า  เสร็จแล้วอาแป๊ะแกก็ตะโกนออกไปในโบสถ์ด้วยเสียงอันดังเพราะความโมโหลูกชายที่สวดมนต์ไม่ได้ ว่า อาตี๋อ้า  ลื้อนี่มัน ช้ายม่ายล่าย.. แค่ของง่ายๆ. อองลองๆ  แค่นี้ทำไมลื้อจึงว่าม่ายล่าย  อั๊วยังว่าล่าย  เลย.!..พระเณรก็หัวเราะ ฮา.!..สรุปแล้ว อาแป๊ะยิ่งพูดไม่ชัดหนักกว่าลูกชายหลายเท่านั่นเอง...
นิทานที่หลวงปู่นำมาเล่าผ่อนคลายสมองพระเณรอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง ตายายยากจนสองคู่อยู่ในกลางดง เรื่องมีอยู่ว่า
ตายาย คู่หนึ่งชื่อตาสี อีกคู่หนึ่งชื่อตาสา คู่ตาสีนั้นทั้งสองว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน  ส่วนคู่ของตาสาจะขัดแย้งมีปากมีเสียงกันอยู่ตลอดเวลา ทั้งสองคู่ยากจนทำมาหากินด้วยการจับปลาไปวันหนึ่งๆ วันหนึ่งตาสีสองคนตายายออกหาจับปลาในลำคลอง สุ่มไปได้ปลาช่อน เมียบอกว่าอย่าเพิ่งเอาตาสีก็เชื่อ สุ่มไปอีกได้ปลาหมอ เมียก็บอกว่าอย่าเพิ่งเอา ตาสีก็เชื่อ จนกระทั่งเย็นไม่ได้อะไรเลย  ทั้งสองก็ไปนั่งปรับทุกข์กันที่ข้างจอมปลวกว่า ทำไมเราจึงเกิดมาทุกข์ยากแท้  พอดีเทวดาซึ่งสถิตอยู่ที่จอมปลวกได้ยินก็สงสาร จึงจำแลงกายออกมา มอบแก้วสารพัดนึกให้ตาและยายบอกว่ากลับไปถึงบ้านให้นึกในสิ่งที่ต้องการได้สามอย่าง เมื่อถึงบ้านสองคนตายายก็มาปรึกษากันว่าจะนึกเอาอะไรดีทั้งสองเมื่อตกลงกันแล้วจึงนึกเอาบ้านหลังสวย ๆ ใหญ่ๆ..บ้านหลังงามก็ปรากฏขึ้นทันที ข้อที่สองนึกขอให้มีเครื่องอยู่ของกินอย่างอุดมสมบูรณ์ในบ้าน ข้อที่สามขอให้มีเงินมีทองเต็มบ้านทำบุญให้ทานไม่มีหมด และก็สมปรารถนาของสองคนตายาย ทำบุญแจกทานทุกวันก็ไม่มีหมด ตาสาจึงมาถามเพื่อนว่าทำอย่างไรจึงจะได้แก้วสารพัดนึกอย่างเพื่อนบ้าง ตาสีก็บอกให้ไปทำอย่างที่ตนทำมาแล้ว วันต่อมาตาสาสองคนตายายก็พากันไปสุ่มปลาที่ลำคลอง สุ่มแรกก็ได้ปลาช่อนตัวโตเมียก็บอกว่าเอาไว้ก่อนๆ  ตาสาก็บอกว่า ไม่ได้ เดี๋ยวผิดธรรมเนียมต้องปล่อยไปก่อน.. ฝ่ายเมียก็ด่าว่าบ่นตาสาเรื่อยไปๆ สุ่มลงไปอีก ทีนี้ได้ปลาหมอ ตาสาก็ไม่เอาอีก เมียก็บ่นต่อไปอีก จนเหนื่อย จึงมานั่งพักที่จอมปลวกแล้วก็อธิษฐานขอแก้วสารพัดนึกจากเทวดาจอมปลวก เทวดาจอมปลวกก็นำแก้ววิเศษมาให้ แล้วบอกว่าให้กลับไปถึงบ้านแล้วนึกเอาอะไรก็ได้สามอย่าง ฝ่ายเมียก็บอกว่าไม่ต้องไปถึงบ้าน นึกเอาที่นี่แหละ.. ตาสาก็ไม่ยอม เถียงกันไปเถียงกันมา ฝ่ายเมียก็นึกเอาว่า.. ข้านี่เกลียดแกเหลือเกินตาสาเอ๊ย..ข้าอยากนึกให้ตัวแกสูงถึงท้องฟ้า.. นึกเสร็จตัวตาสาก็สูงขึ้นๆ จนหัวชนท้องฟ้า.. ตาสาจึงร้องบอกเมียว่าเอาข้าลงๆ.. เมียจึงนึกใหม่ว่า ขอให้ตาสาต่ำลงมาจนติดดิน.. เท่านั้นเองตาสาก็หดลงต่ำลงๆ จนติดดิน  ตาสาก็ร้องบอกเมียอีกว่าเอาข้าเท่าเก่าเหมือนเดิม  เมียก็นึกให้ตาสาตัวเท่าเก่าอย่างเดิม.. เป็นอันว่าครบสามอย่างที่เทวดาให้ สรุปแล้วตาสาและภรรยาไม่ได้อะไรเลยเพราะความขัดแย้งไม่ลงรอยกันนั่นเอง...นี่คือนิทานอีกเรื่องของหลวงปู่ที่นำมาเล่าเปรียบเทียบอยู่บ่อยๆ เพื่อเป็นคติสอนใจ ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่าง ครอบครัวที่ขัดแย้งกัน..และ ครอบครัวว่าอะไรก็ว่าตามกัน..
(นิทานหลวงปู่ยังมีอีกหลายเรื่อง แต่ขอยกมาเป็นอุทาหรณ์เพียงสองเรื่อง)

กิจนิมนต์ของหลวงปู่

เรื่องกิจนิมนต์ของหลวงปู่นั้น แม้ในระยะหลังๆ นี้หลวงปู่จะมีภารกิจนอกวัดมาก  บางวันจะออกจากวัดตั้งแต่ตีสามหรือตีสี่ เพื่อเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจตามวัดที่มีงานพุทธาภิเษกบ้าง งานทำบุญถวายครูบาอาจารย์บ้าง หรือสารพัดงาน ซึ่งวัดนั้นๆ ต้องการให้หลวงปู่ไปเป็นประธานเพื่อเป็นสิริมงคลในงานหรือเป็นเกียรติในงาน หลวงปู่ไม่เคยขัดข้องถ้าไม่ติดภารกิจอะไร หลวงปู่จะมองเห็นความสำคัญของผู้ที่มานิมนต์ว่า เขามีความศรัทธาเขาจึงมานิมนต์เราไป บางครั้งหลวงปู่กำลังอาพาธอยู่ พระอุปัฏฐากกราบเรียกว่า หลวงปู่ไม่แข็งแรงอย่างเพิ่งรับเลย หลวงปู่ก็จะบอกว่า ถ้าเราไม่ไปเขาจะเสียใจ ไปให้เขาเดี๋ยวเดียวก็ยังดีกว่าไม่ไปเลย บางครั้งหลวงปู่มีภารกิจอื่นอยู่แล้วไม่สามารถไปได้ แต่เจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ ก็บอกว่าหลวงปู่ว่า แวะไปเหยียบให้ลูกหลานแล้วกลับเลยก็ได้ หลวงปู่ก็จำเป็นต้องไปทุกครั้งนอกจากจะมีเหตุจำเป็นจริงๆ เท่านั้น แต่ละวัดที่หลวงปู่เดินทางไป นอกจากหลวงปู่จะไม่เคยนำจตุปัจจัยจากวัดนั้นๆ กลับมาแม้แต่บาทเดียวแล้ว เท่านั้นยังไม่พอหลวงปู่ก็ยังให้ไวยาวัจกรนำปัจจัยไปร่วมทำบุญเพิ่มให้อีกด้วย หลวงปู่บอกว่าลาภเกิดขึ้นที่ใดให้เอาไว้ที่แห่งนั้น.วัดใดที่หลวงปู่เข้าไปเยี่ยมวัดนั้นจะมีประชาชนมากันมากในวันที่หลวงปู่ไป เจ้าอาวาสบางวัดยังเคยบอกว่าจัดงานมา ๘ วัน รายได้ยังไม่เท่ากับหลวงปู่มานั่งให้ครึ่งชั่วโมงเลย !  เพราะคนอยากทำบุญกับหลวงปู่
ศาสนกิจที่เกี่ยวกับการฉลองศรัทธาตามบ้านญาติโยมก็อีกเช่นกัน ลูกศิษย์ทำบุญบ้าน เปิดบริษัท ห้างร้าน ก็จะมาขอนิมนต์ให้หลวงปู่ไปฉันภัตตาหารที่บ้านเพื่อเป็นสิริมงคล หลวงปู่รับนิมนต์ไม่เคยเลือกชนชั้นวรรณะอย่างที่บางคนโจมตีว่ารับนิมนต์แต่บ้านคนรวย ไม่รับบ้านคนจน นั้นไม่เป็นความจริงแน่นอน หลวงปู่จะรับหมดเว้นแต่อาพาธหรือมีเหตุจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เช่น วันพระ หรือวันสำคัญทางพระศาสนา หรือ วันที่พระบรมวงศานุวงศ์นิมนต์เท่านั้น หลวงปู่จะฉันมื้อเดียวเป็นวัตร และฉันในบาตรเป็นวัตร ไม่ว่าที่วัดหรือที่บ้าน เวลาหลวงปู่ฉันข้าวเสร็จ ลูกศิษย์มักจะรอข้าวก้นบาตรกันมาก บางครั้งก็มายืนหรือมานั่งรอต่อหน้าต่อตา หลวงปู่ก็ยกให้เขาไปเลยทั้งๆ ที่หลวงปู่เพิ่งฉันได้เพียงคำเดียว บางครั้งหลวงปู่กำลังฉันอยู่ได้ยินเสียงลูกศิษย์พูดกันว่า ..เดี๋ยวรอกินข้าวก้นบาตรหลวงพ่อ..หลวงปู่จะอิ่มแล้วยกบาตรออกทันที เพราะเมตตาสงสารว่า ยังมีลูกศิษย์รอกินข้าวต่อจากเรา...ไปบางบ้านที่เจ้าของงานมีความเข้าใจฉลาดหน่อย และปรารถนาดีกลัวหลวงปู่ฉันข้าวไม่อิ่มในเมื่อเวลาหลวงปู่กำลังฉันข้าวก็จะปิดประตู ปิดหน้าต่าง  เหมือนกับขังพระไว้ แต่นั้นก็เป็นการช่วยให้หลวงปู่ฉันได้สบายไม่ต้องกังวลกับลูกศิษย์  เจ้าภาพบางบ้านก็จะมาบอกแขกว่า.อย่าพูดว่ารอกินข้าวก้นบาตรให้หลวงปู่ได้ยินนะ !  เรื่องข้าวก้นบาตรหลวงปู่นับว่าเป็นเรื่องแปลกอีกเรื่องหนึ่ง  ที่บรรดาลูกศิษย์ที่ได้รับประทานแล้ว จะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น เช่น บางคนเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ ก็ดี  เด็กเลี้ยงยากก็ดี เมื่อได้กินข้าวก้นบาตรแล้วก็หายเจ็บหายป่วย เด็กก็กลับเลี้ยงง่ายไม่ขี้อ้อนไม่โยเย   แต่อาจจะเป็นบางคน นอกจากนี้แล้วพวกที่ผีชอบเข้าเจ้าชอบสิง หรือ มีเคราะห์ ทำอะไรก็ติดๆ ขัดๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย อย่างนี้ก็มักจะดีขึ้น อีกอย่างหนึ่งหลวงปู่ก็จะสวดสะเดาะเคราะห์ให้โดยใช้ผ้าขาวคลุม สวดมนต์ในบทพาหุงฯ และต่อด้วย ...นะ มะ ภะ ธะ  นะถอด โมถอน พุทคลอน ธาเคลื่อน จงทะลุ หลุดหลุย ออกจากธาตุทั้งสี่  เปิดเผย ปฐวาร พระธรรมเจ้าจงบันดาล นะมะภะธะ-มะภะธะนะ-ภะธะมะนะ-ธะภะมะนะ-จะอาพาธาคัจฉะอมุมหิ โอกาเสติฎฺฐาหิ ติมังธาเรหิ ฯลฯ และจบลงด้วยบังสุกุลเป็นอีก ๓ จบ  เป็นเสร็จพิธี เป็นอุบายการให้กำลังใจผู้ที่กำลังใจตก ให้มีกำลังใจลุกขึ้นมาต่อสู้ต่อไปอย่าย่อท้อ แต่ก็มีความขลังอยู่ในบทพุทธมนต์คือบทพระพุทธเจ้าชนะมารนั่นเอง ซึ่งเป็นการสะเดาะเคราะห์ เรียกขวัญ หรือผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
หลวงปู่นับว่าเป็นครูบาอาจารย์ที่เมตตาแก่ลูกศิษย์ทุกคนอย่างสม่ำเสมอ เป็นที่ปรึกษาทุกระดับชั้นตั้งแต่พระมหากษัตริย์ จนถึงสามัญชนธรรมดา ต่างมองเห็นว่า หลวงปู่เป็นพระผู้ทรงอภิญญาสมาบัติสูง มีเมตตาสูงไม่ว่าใครก็ตามหากติดขัดในหัวข้อธรรมที่มาขอคำชี้แนะด้านอุบายธรรมได้ตลอดเวลา เป็นที่ปรึกษาแก่ลูกศิษย์ทุกระดับได้ทุกเรื่อง แม้แต่จะประกอบกิจการอันใดก็มักจะมาขอฤกษ์ เช่น เปิดกิจการ แต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ออกรถ ปลูกบ้าน ตั้งชื่อบุตรหลาน แม้แต่เจ็บป่วยก็มาขอให้หลวงปู่บอกยาให้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะมีให้เห็นเป็นประจำทุกวันที่หลวงปู่รับแขกไม่ว่าในวัดหรือนอกวัด

เรื่องการรักษาบริขาร

หลวงปู่จะรักและถนอมบริขารของพระกรรมฐานมาก โดยเฉพาะบาตร-กาน้ำและผ้าครอง ในบรรดาเครื่องอัฐบริขารหลวงปู่จะพูดถึงการดูแลรักษาบริขารทุกๆ อย่าง ที่ได้ยินบ่อยๆ นั้นได้แก่เรื่องการรักษาบาตร การใช้บาตร การล้างบาตร การเช็ดบาตร หลวงปู่จะพูดบ่อยมาก หลวงปู่จะห้ามใช้บาตรสแตนเลส ให้ใช้บาตรเหล็กที่ระบมด้วยไฟที่ถูกต้องตามพระวินัย ถ้าทราบว่าพระลูกศิษย์นำบาตรสแตนเลสมาใช้หลวงปู่จะเทศน์ถึงเรื่องการบัญญัติพระวินัยเกี่ยวกับบาตรทันที ว่าบาตรที่ถูกต้องตามพระวินัย ต้องเป็นบาตรเหล็ก และต้องตีประสานกันให้ได้ ๘ ชิ้น เพิ่มขอบ ๑ ชิ้น เสร็จแล้วต้องระบมด้วยไฟเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสนิม การฉันก็ให้ระมัดระวังไม่ให้ช้อนกระทบบาตรจนเกิดเสียงดัง สมัยนั้นการฉันข้าวของพระเณรวัดเขาสุกิม พระจำนวน ๕๐-๖๐ รูป ไม่มีเสียงใดๆ ให้ยินทั้งสิ้น อาหารก็จะตักใส่บาตรทั้งหมด ไม่มีใส่ในฝาบาตรหรือในถ้วย เมื่อฉันเสร็จแล้วก็จะไปล้างบาตรที่โรงล้างบาตรแห่งเดียวเท่านั้น ห้ามล้างบาตรนอกสถานที่ที่กำหนดไว้ ห้ามพูดคุยกันในขณะล้างบาตร หรือเช็ดบาตร วันใดที่พบเห็นพระเณรวางบาตร หรือกาน้ำ หรือห่อผ้าครองไว้ที่ศาลา หลวงปู่จะให้พระพี่เลี้ยงตามหาตัวผู้เป็นเจ้าของแล้วจะต้องได้ฟังเทศน์กันหมดทั้งวัด หลวงปู่จะบอกว่า เอกลักษณ์ของพระกรรมฐานเรานั้น บาตร กาน้ำและผ้าครองสำคัญมาก กรรมฐานจะเสื่อมก็ไปจากการละทิ้งบาตร-กาน้ำ และผ้าครองก่อน ไม่เอาใจใส่ต่อ บาตร-กาน้ำ และผ้าครองของตัวเอง  และเริ่มมีการฉันนอกบาตร ไม่ฉันในบาตร บาตรไม่นำไปเก็บที่กุฏิเมื่อไร นิสัยกรรมฐานค่อย ๆ หมดไปเมื่อนั้น  ต่อเมื่อบาตรได้ถูกแขวนไว้ตามต้นเสาศาลา หรือวางอยู่ตามศาลา นั่นแสดงว่าหมดแน่ไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว
กาน้ำ หากวันใดที่บังเอิญหลวงปู่พบเห็นกาน้ำของพระเณรตั้งวาง ตามสถานที่ต่างๆ แล้วก็จะได้ฟังเทศน์กันหมดทั้งวัดอีกเช่นกัน บาตร กาน้ำ ผ้าครอง หลวงปู่จะสอนถึงวิธีรักษาบ่อยมาก  หลวงปู่บอกว่า “...กาน้ำเป็นบริขารที่จำเป็นและเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของพระกรรมฐาน สมัยก่อนพระกรรมฐานเราจะขาดเสียไม่ได้เมื่อเดินทางไปไหนมาไหนก็แล้วแต่ จะต้องสะพายถุงบาตรหรือเรียกว่าถุงบริขารบนบ่า แบกกลด มือข้างหนึ่งก็ถือกาน้ำ นั่นแหละสัญลักษณ์ของพระกรรมฐาน..อยู่วัดก็เหมือนกัน บาตรกับกาน้ำ ห่อผ้าครอง ต้องอยู่ด้วยกันไปด้วยกัน มาด้วยกัน เวลาเช้าลงมาจากกุฏิก็ถือกาน้ำมาพร้อมกับบาตร กรองน้ำใส่กา มาให้เรียบร้อย เมื่อมาถึงโรงฉันก็ให้ช่วยกันจัดโรงฉันก่อนไปบิณฑบาต ตั้งกระโถนไว้ข้างซ้าย กาน้ำไว้ข้างขวา ปูผ้านิสีทนะไว้ตรงกลาง เสร็จแล้วจึงออกบิณฑบาต ถ้าวันใดหลวงปู่ลงมาพบว่าพระเณรไม่ปูผ้านิสีทนะ ไม่วางกาน้ำไว้ก่อน หลวงปู่จะถามว่า องค์นี้ป่วยหรือ?..ถ้าป่วยก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ป่วย หรือนำกาน้ำมาทีหลัง หรือปูผ้านิสีทนะทีหลังแล้ว หลวงปู่จะตำหนิมาก ถือว่าไม่รักษาขนบธรรมเนียมของครูบาอาจารย์ สมัยนั้นจึงจะเห็นได้ว่าทุกเช้า กระโถน-กาน้ำ-ผ้านิสีทนะจะต้องถูกจัดไว้เป็นระเบียบเรียบร้อยก่อนไปบิณฑบาต ฉันเสร็จก็ต้องช่วยกันเก็บกวาดทำความสะอาดโรงฉันบ้าง เก็บกระโถนไปล้างบ้าง ถูพื้นศาลาบ้าง เสร็จจากนั้นจึงกลับกุฏิพร้อมบาตร-กาน้ำและห่อผ้าครองเป็นประจำทุกวัน ขวดน้ำจะห้ามนำมาใช้ในโรงฉันอย่างเด็ดขาด อนุโลมเป็นครั้งคราว เช่น ในเทศกาลงานทำบุญพระอาคันตุกะจำนวนหลายร้อยรูป ถ้าเสร็จงานแล้วต้องเข้าสู่ระเบียบกรรมฐานทันที

หลวงปู่ไม่หายใจทิ้ง

ถึงแม้ว่าภารกิจของหลวงปู่จะมากแต่หลวงปู่จะไม่ยอมขาดการภาวนา แม้แต่ในระหว่างที่นั่งอยู่ในรถยนต์ เมื่อขึ้นรถเรียบร้อยหลวงปู่ก็จะนั่งขัดสมาธิหลับตาภาวนาทันที โดยไม่ปล่อยโอกาสให้ผ่านไป ไม่ปล่อยให้ลมหายใจเข้า-ออก ของท่านหมดไปเฉยๆ เสร็จจากภารกิจกลับถึงวัด หลวงปู่ก็ปฏิบัติข้อวัตรประจำวัน เสร็จแล้วก็จะเข้าสู่ทางเดินจงกรมทันที ไม่ว่าจะดึกดื่นเที่ยงคืนแค่ไหนหลวงปู่ก็ต้องเดินจงกรมภาวนาอย่างน้อย ๓-๕ ชั่วโมงก่อน จึงเข้ากุฏิพักผ่อน การภาวนาของหลวงปู่นั้น เคยมีพระนักศึกษาฯที่มาอบรมกรรมฐานภาคปฏิบัติที่วัดเขาสุกิมกราบเรียนถามว่า หลวงปู่ภาวนาวันละกี่ชั่วโมง  หลวงปู่ตอบว่า  การภาวนา ไม่ต้องนับว่า กี่ชั่วโมง กี่นาที ไม่ต้องนับเที่ยว นับครั้ง การภาวนาทำได้ตลอดเมื่อยังมีลมหายใจ เราไม่ได้ภาวนาเอาชั่วโมง เราภาวนาเอาความสงบ...  ผมนั่งรับแขกผมก็ภาวนา  ผมจัดข้าวจัดของผมก็ภาวนา นั่งรถผมก็ภาวนา ทำงานทำการอะไรก็ภาวนาได้  ไม่จำเป็นจะต้องมาเอาดีตอนนั่งสมาธิที่ศาลาอย่างเดียว ถ้าทำแค่นี้ไม่เพียงพอหรอก!  สมัยที่หลวงปู่ยังแข็งแรง หลวงปู่จะทดสอบสติในการภาวนาของท่านด้วยการตั้งรางวัลให้กับพระเณรว่า พระเณรรูปไหนก็ได้ ถ้าเข้ามาถึงตัวท่านได้ก่อนที่ท่านจะรู้ตัว ในเวลาที่ท่านพักหรือเผลอ หลวงปู่จะถวายรางวัลอย่างงามให้ เป็นเวลานับสิบๆ ปี ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีพระเณรรูปใดเข้าถึงตัวหลวงปู่ได้ หลวงปู่จะกระแอมให้รู้ตัวก่อนอยู่เสมอ หลวงปู่เคยบอกว่าการสร้างสติ ถ้าสร้างให้ถึงมหาสติ แล้วจะรู้ตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน เราจะสั่งสติได้เลยว่าในรัศมี ๑ วา จากตัวเราถ้ามีสิ่งมีชีวิตเข้ามาให้สติรู้ก่อนที่สิ่งนั้นจะถึงตัวเรา อย่างนี้เรียกว่า มหาสติ
ส่วนด้านคุณธรรมของหลวงปู่นั้น คงไม่บังอาจที่จะบอกว่า หลวงปู่เป็นพระอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่งในสี่ชั้น คือ โสดา  สกิทาคา  อนาคา  อรหันต์   แม้แต่ตัวหลวงปู่เองท่านก็ไม่เคยบอกใครเลยว่าท่านได้คุณธรรมชั้นใด เคยมีนักปฏิบัติธรรมบางคนกราบเรียนถามหลวงปู่ว่า หลวงปู่บรรลุมรรคผลชั้นไหน ?  หลวงปู่ตอบว่า  “...เรื่องคุณธรรมชั้นไหนนั้นตอบกันไม่ได้ จะเป็นการอวดอุตริมนุษยธรรม แต่อาตมาปฏิบัติมาขนาดนี้ก็คงต้องได้ความดีบ้างไม่มากก็น้อย..  ครั้นจะมาให้อาตมาประกาศเหมือนอย่างบางท่านบางองค์ว่า ตนเองตัดภพตัดชาติได้แล้ว หมดสิ้นแล้วซึ่งกิเลส ได้สำเร็จธรรมทั่วโลกธาตุ อย่างนั้นอาตมาประกาศไม่ได้หรอก แต่ดูให้ดีนะ คุณธรรมของพระอรหันต์นั้นมีอะไรบ้างกิเลสหยาบๆ เช่น ราคะ โทสะ โมหะ ยังกำจัดไม่ได้เลย แล้วเรื่องอภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ จะได้อย่างไร ราคะ โทสะ โมหะ เป็นกิเลสหยาบๆ เปรียบเหมือนขยะชิ้นใหญ่ๆ หรือท่อนไม้ท่อนซุงที่วางเกะกะอยู่หน้าบ้าน  ยังมองไม่เห็นยังเก็บออกจากหน้าบ้านไม่ได้แล้ว กิเลสตัวละเอียดๆ เปรียบเหมือนฝุ่นละออง หรือขี้ฝอย จะมองเห็นได้อย่างไร บางองค์ที่ประกาศอย่างนั้นเห็นเป็นข่าวโมโหด่ากราดลูกศิษย์ไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ชอบใจใครก็ด่าด้วยอารมณ์โทสะอย่างนั้น ก็พิจารณาเอาเองก็แล้วกัน...
เรื่องการบำเพ็ญภาวนาหลวงปู่ไม่ได้ปฏิบัติเฉพาะท่านเองเท่านั้น หลวงปู่ยังเคี่ยวเข็ญให้บรรดาลูกศิษย์ทุกฝ่ายทำตามด้วย  หลวงปู่มองเห็นความสำคัญด้านสมาธิจิตว่า เป็นสายทางโดยตรง เป็นบุญกุศลที่แน่นอนกว่าบุญกุศลส่วนอื่นๆ หลวงปู่จึงเคี่ยวเข็ญให้ลูกศิษย์ทุกคนกระทำอย่างต่อเนื่องไม่ให้ขาดวรรคขาดตอน ไม่ให้ปล่อยปะละเลย หรือเผลอสติกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะประกอบกิจอันใดก็ขอให้กระทำด้วยอาการที่มีสติประกอบ มีสติรับรู้อยู่ตลอดเวลา เมื่อใดที่หลวงปู่พบเห็นพระภิกษุสามเณรนั่งสนทนาที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะหรือไม่ได้นั่งภาวนาแล้ว หลวงปู่ก็จะให้สติด้วยคำเตือนสั้นๆ ว่า นั่งหายใจทิ้ง ให้เสียเวลาเปล่าๆ น่าจะหาสถานที่เดินจงกรม นั่งสมาธิ สร้างสติ ดูจิตดูใจ ไม่ใช่มานั่งหายใจทิ้งอย่างนี้ผมไม่เคยหายใจทิ้ง ! ” นี่คือคำสอนที่สั้นและมีความหมายสูงสุดของหลวงปู่
การบำเพ็ญภาวนานอกสถานที่ของหลวงปู่ แม้ในระยะหลังที่หลวงปู่ปักหลักประกาศพระศาสนาอยู่กับที่แล้ว หลวงปู่ก็ยังไม่ยอมละทิ้งการออกบำเพ็ญภาวนานอกสถานที่ประจำปี นอกจากจะนำบำเพ็ญภาวนาอยู่ที่วัดเป็นประจำแล้ว ก็ยังได้นำพาออกบำเพ็ญเพียร หรือออกธุดงค์นอกสถานที่เป็นประจำทุกปีอีกด้วย อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้งๆ ละ ๑-๒ เดือน โดยจะนำพาลูกศิษย์ไปยังสถานที่สำคัญๆ ที่หลวงปู่เคยได้รับคุณธรรมความดีมาแล้วในอดีต เช่น ภาคอีสาน ก็มี  ภูวัว จังหวัดหนองคาย  ถ้ำเจ้าผู้ข้า จังหวัดสกลนคร  วัดดอนธาตุ จังหวัดอุบลฯ  ส่วนทางภาคเหนือ ก็มี  ดอยต๊อกและถ้ำสุขเกษมสวรรค์ จังหวัดลำปาง  ภาคกลาง ที่วัดเนกขัมมวิสุทธิ์ จังหวัดลพบุรี ส่วนภาคตะวันออก ที่ เกาะมันในจังหวัดระยอง เป็นต้น

การสร้างรูปเหรียญและวัตถุมงคล

เรื่องการสร้างรูปเหรียญและวัตถุมงคล หลวงปู่เคยปรารภให้พระภิกษุสามเณรฟังอยู่เสมอว่า ไม่เคยคิดว่าจะสร้างรูปเหรียญหรือวัตถุมงคลที่เกี่ยวกับตัวท่านเลย แต่แล้วก็ต้องตกกะไดพลอยโจน โดยเห็นประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นที่ตั้งเป็นครั้งแรกนั่นเอง มูลเหตุของการอนุญาตให้มีการสร้างรูปเหรียญเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนั้น ก็คือ  คณะกรรมการก่อสร้างโรงเรียนแห่งหนึ่งได้มากราบเรียนหลวงปู่ว่า สงสารเด็กในชุมชนนั้นไม่มีโรงเรียนมัธยม  เด็ก ๆ ต้องเรียนอยู่ใต้ถุนศาลาวัด อยากหาทุนสักก้อนเพื่อก่อสร้างโรงเรียนช่วยเหลือมันสมองของชาติ เพื่อว่ามันสมองของชาติเหล่านี้จะได้ไม่ไหลไปเข้าศาสนาอื่นที่เขามีรถบริการรับส่งถึงบ้าน มีทุนการศึกษาให้เรียนฟรี จึงมีความประสงค์จะจัดสร้างอาคารเรียน และตั้งมูลนิธิเป็นทุนการศึกษาของเด็กนักเรียนในชุมชนดังกล่าว โดยขออนุญาต สร้างเหรียญ และรูปเหมือนขนาด ๕ นิ้ว ของหลวงปู่ เพื่อสมนาคุณแก่ ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินในการสร้างโรงเรียน หลวงปู่ได้อนุญาตให้สร้างเป็นครั้งแรก และเมตตาไปประกอบพิธีพุทธาภิเษกนั่งปรกเดี่ยว ณ บริเวณพิธีภายในอาคารโรงเรียนดังกล่าวจนเสร็จเรียบร้อย แล้วคณะกรรมการก็ได้นำรูปเหรียญนั้นให้คณะศิษยานุศิษย์บูชาโดยนำรายได้ในครั้งนั้นก่อสร้างโรงเรียนจนสำเร็จเรียบร้อย มีชื่อว่า โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา ตั้งอยู่ที่บ้านสามแยกปากน้ำประแสร์ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง พร้อมทั้งนำรายได้อีกส่วนหนึ่งก่อตั้ง มูลนิธิฐิตวิริยาจารย์ เพื่อนำดอกผลมาช่วยเหลือเด็กนักเรียน เป็นระยะเวลายาวนานมาจนถึงปัจจุบันนี้  นั่นนับว่าเป็นครั้งแรกในการอนุญาตให้มีการสร้างรูป เหรียญ เกิดขึ้น ต่อมาก็ได้มีองค์กรการกุศลขออนุญาตจัดสร้างเพื่อบำรุงขวัญตำรวจ ทหารด้านชายแดน ตามมาเป็นครั้งที่ สอง สาม สี่ และมีต่อมาอีกเรื่อยๆ นั่นเอง
ส่วนพิธีนั่งปรกพุทธาภิเษกตามวัดต่างๆ เกือบทุกวัดในประเทศไทย เมื่อจัดพิธีพุทธาภิเษกจะเห็นได้ว่าหนึ่งในคณาจารย์ที่นั่งปรกจะต้องมีชื่อหลวงปู่ เพราะประชาชนเชื่อมั่นในบุญญาบารมีของหลวงปู่กันมากนั่นเอง แม้แต่กิจวัตรที่หลวงปู่ปฏิบัติประจำวันจะเห็นได้ว่า จะมีประชาชนนำวัตถุมงคลและธูปบูชาพระ มาให้หลวงปู่ได้แผ่เมตตาปลุกเสก วันละหลายรอบหลายครั้ง โดยเฉพาะตอนเช้าก็จะมีประชาชนนำวัตถุมงคลมากองตรงบริเวณที่นั่งรับแขกของหลวงปู่สูงจนท่วมศีรษะหลวงปู่เลยทีเดียว เพื่อรอให้หลวงปู่ปลุกเสกแผ่เมตตาให้
อีกอย่างหนึ่งการเป่ากระหม่อม ในครั้งแรกหลวงปู่ก็จะเป่าให้แก่ เด็กเล็ก เด็กน้อย ที่ขี้อ้อนเลี้ยงยาก คนโบราณนั้นถือกันว่า ถ้าให้พระเป่ากระหม่อมให้แล้วก็จะเลี้ยงง่าย หายขี้อ้อน ก็มักจะนำมาให้หลวงปู่เป่ากระหม่อมให้ หลวงปู่ก็เป่าด้วยความเมตตาต่อเด็กเล็กเด็กน้อย นานเข้าคนโตก็ขอเป่าบ้าง ทำไปทำมาก็เลยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เข้าใจกันว่า ถ้าหลวงปู่เป่ากระหม่อมให้แล้วก็จะหมดเคราะห์ หรือเฮง ทำนองนั้น บางครั้งสังเกตเห็นว่าหลวงปู่จะเหนื่อยมาก เพราะจะต้องเป่าเป็นร้อยๆ คนเลยที่เดียว แต่หลวงปู่ก็เมตตาต่อลูกศิษย์ทุกคนไม่เคยบ่นใครทั้งสิ้น แต่บางโอกาสหลวงปู่ก็จะสอนให้เข้าใจในหลักธรรมของชาวพุทธว่า ให้ชาวพุทธเราเชื่อเรื่องกรรม ไม่ให้เชื่อมงคลตื่นข่าว  ไม่ให้เชื่อฤกษ์ยาม ไม่ให้เชื่อว่าถ้าอาจารย์เป่าหัวให้แล้วจะไม่ตาย หรือแขวนรูปแขวนเหรียญครูบาอาจารย์แล้วรถจะไม่ชนหรือรถไม่คว่ำ นั่นเข้าใจผิดแล้ว  รูปเหรียญครูบาอาจารย์มีไว้เพื่อเป็นอนุสติเตือนจิตสะกิดใจไม่ให้ทำความชั่ว พูดชั่ว คิดชั่วไม่ให้ประมาทหลงละเริงต่างหาก เรื่องวัตถุมงคล รูป เหรียญ ของครูบาอาจารย์นั้นไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นมากไปกว่ากฎแห่งกรรม  สมดังพุทธพจน์ที่ว่า  กัมมุนา วัตตตี โลโก  สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม  ใครทำกรรมอันใดไว้ก็ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น ย่อมหนีกรรมกันไม่พ้น ไม่ใช่มีรูปมีเหรียญครูบาอาจารย์แล้วจะไม่ตาย ตายเหมือนกันหมด เกิดเท่าไรก็ตายเท่านั้น นอกเสียจากบางคนที่ยังไม่ถึงคราวจริงๆ นั่นแหละอาจจะช่วยให้หนักเป็นเบา หรือแคล้วคลาดไปได้บ้าง แต่เมื่อถึงที่หรือถึงคราวแล้วนั้น อะไรก็ช่วยไม่ได้ ผู้วิเศษขนาดไหนก็ช่วยไม่ได้ ไม่มีใครที่จะมีอำนาจเหนือกรรมไปได้.นี่คืออีกคำสอนบทหนึ่งของหลวงปู่ที่มักจะได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ
                    ถึงหลวงปู่จะบอกจะสอนกันอย่างไรลูกศิษย์ก็ยังมาขอให้เป่ากระหม่อมอยู่ดี ถึงไม่ได้เป่าก็ขอให้หลวงปู่เอามือลูบๆ คลำๆ ก็ยังดี ตลอดทั้งมาขออนุญาตสร้างรูปเหรียญของหลวงปู่เพื่อเอาไว้สักการบูชากันไม่ขาดระยะหลวงปู่จึงปล่อยวาง กับความเชื่อที่ไม่เป็นโทษต่อใคร และไม่สร้างความเสื่อมเสียหรือสร้างความเดือดร้อนให้ใคร...

หลวงปู่ไม่พักแรมในบ้านโยม

                    หลวงปู่ไม่เคยพักค้างแรมตามบ้านโยม  หลวงปู่เห็นพระกรรมฐานเข้ากรุงเทพแล้วพักตามบ้านโยมหลวงปู่จะบอกกับลูกศิษย์ของท่านว่าสังเวชครูบาอาจารย์เหล่านี้เหลือเกิน ไม่สบายใจเลยที่เห็นพระกรรมฐานเรามาพักนอนในบ้านโยมอย่างนี้ วัดบ้านเราเมืองเราไม่อดไม่อยาก ทำไมจึงต้องไปนอนตามบ้านโยมด้วย เหมาะสมแล้วหรือกับการที่เราเป็นพระแล้วไปนอนตามบ้านโยม บางบ้านห้องนอนโยมกับห้องนอนพระติดกันเสียด้วย ห้องน้ำก็ใช้ร่วมกันมองดูน่าเกลียด ดูเอาเถิดว่าน่าดูแค่ไหน บางองค์เป็นถึงครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ยังเป็นตัวอย่างแก่ลูกศิษย์อย่างนั้นเข้าไปอีก  ต่อไปพระกรรมฐานมาจากไหนต่อไหนก็จะมาหานอนตามบ้านโยมกันหมด บางแห่งเจ้าของบ้านเป็นแม่หม้ายก็มี ผมมองดูแล้วก็สลด ว่าตายแล้ว ! ทำไมหนอ ครูบาอาจารย์ไม่เคยสอนอย่างนี้เลย มีแต่สอนว่า โน่นโคนไม้ เรือนว่าง ป่าช้า ป่าชัฏ จงเข้าไปพักทำความเพียรเถิด หรือไม่ก็เข้าไปนอนตามวัด ซึ่งหลังคาวัดจะชนกันตาย ช่างไม่ละอายต่อเพศของตัวเอง น่าจะคลำหัวตัวเองดูบ้าง.เราเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น มีแต่จะต้องนอนในกลด นอนในถ้ำ นอนตามป่า ไม่ใช่มาหานอนตามบ้านโยมอย่างนี้..นี่แหละที่ผมเคยได้ยินเณรคำพูดเอาไว้ว่า ต่อไปวันข้างหน้า  พระป่าจะเป็นพระบ้าน  พระบ้านจะเป็นคนดาน  คนดานจะเป็นผีบ้า  มันคงใกล้ที่จะหมดวงศ์กรรมฐานเข้ามาทุกขณะเสียแล้ว.ใครที่เป็นลูกศิษย์ผม อย่าริบังอาจเข้าไปนอนในบ้านโยมเป็นอันขาด ถ้าใครขืนทำ ถือว่าผู้นั้นเป็นคนทำลายวงศ์ของพระกรรมฐาน..

ครูบาอาจารย์พูดคุยกันทางจิต

                    กาลสมัยที่หลวงปู่ได้มาพักที่วัดเขาอีโต้ จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๒-๒๕๒๓ เนื่องจากเป็นช่วงที่ทางราชการได้ทำการขยายเส้นทางถนนสุขุมวิท และ เส้นทางแกลง-บ้านบึงอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง จึงทำให้การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ แต่ละครั้งไม่สะดวก จึงเปลี่ยนเส้นทางมาใช้เส้นทางสายจันทบุรี-สระแก้ว-นครนายก  หากในช่วงที่มีกิจนิมนต์ติดต่อกันหลายวันก็ต้องพักแรมวัดใดวัดหนึ่งที่อยู่ชานเมือง หลวงปู่ได้เลือกมาพักที่วัดเขาอีโต้ จังหวัดปราจีนบุรี เพราะเห็นว่าจะได้มีเวลาภาวนามากหน่อย เพราะเป็นสถานที่สงบ สงัด วิเวกดีมาก  และในระหว่างนี้ก็มีเหตุการณ์ที่ลืมไม่ได้เกิดขึ้นที่วัดเขาอีโต้  เท่าที่จำได้มีอยู่ด้วยกันสามเรื่อง  จึงขอนำมาลงไว้เป็นเครื่องเตือนความจำของเหล่าศิษยานุศิษย์ต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับหลวงปู่เกิดขึ้นที่วัดเขาอีโต้  (เรื่องไหนเกิดก่อน-หลังจำไม่ได้ขออภัยด้วย)
                    ครั้งหนึ่งหลวงปู่ได้รับกิจนิมนต์ให้เข้าไปในพระราชพิธีพร้อมกับครูบาอาจารย์ทางภาคอีสานหลายรูปในวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๒๓ แต่ในคืนวันที่ ๒๖ ขณะที่หลวงปู่พักภาวนาอยู่ภายในกลดข้างหินใหญ่ก้อนหนึ่ง  ค่อนรุ่งของวันที่ ๒๗ หลวงปู่ออกมาจากกลดซึ่งผิดจากเวลาปกติ พระเณรที่ติดตามไปด้วยกันทั้งหมด ๘ รูป เมื่อได้ยินเสียงหลวงปู่กระแอม ทุกรูปแปลกใจคิดว่า หลวงปู่อาพาธท้องเดินหรือมีเหตุอะไรจึงรีบมาที่กลดหลวงปู่ทั้งหมดทุกรูป หลวงปู่นั่งลงบนตั่งเล็กๆ ตัวหนึ่งที่หลวงปู่ใช้นั่งเป็นประจำ ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบของเขาอีโต้..แล้วก็  เงียบ !...พระทุกรูปต่างก็เงียบเพื่อรอรับฟังว่า ครูบาอาจารย์จะปรารภอะไร แต่หลวงปู่ก็นั่งเงียบ !..ไม่ปรารภใด ๆ  พระอุปัฏฐากจึงกราบเรียนว่า   ขอโอกาส ท่านอาจารย์ไม่สบายหรือครับผม จึงลุกออกมากลางดึกเช่นนี้...เงียบ !...หลวงปู่นั่งสงบไม่ตอบใดๆ ทั้งสิ้น  เวลาผ่านไปครู่หนึ่ง...หลวงปู่จึงเอ่ยขึ้นท่ามกลางความเงียบนั้นว่า..ครูบาอาจารย์ของเราจะสิ้นอีก ๕ รูปในวันนี้ !..พระเณรที่ห้อมล้อมหลวงปู่ไม่มีใครปริปากใดๆ ต่างองค์ต่างตกตลึง  ท่ามกลางอากาศที่เย็นยะเยือกของเขาอีโต้ สงบเงียบ.!..หลวงปู่ปรารภต่อไปอีกว่า.. วงการพระกรรมฐานเราต้องสูญเสียครูบาอาจารย์พร้อมๆ กันถึง ๕ รูป เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันนี้.. ล้วนแต่เป็นที่เคารพนับถือของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอีกด้วย แต่อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมหนีกรรมไม่พ้น มันเป็นเรื่องวิบากกรรมที่ท่านจะต้องมาตายพร้อมกันเช่นนี้ ตายอย่างแหลกเหลวแทบหาร่างไม่พบเลยทีเดียว...
                    ทุกรูปที่นั่งฟังหลวงปู่ปรารภก็เงียบ ! อีกเช่นเคย เพียงแต่รอฟังว่า หลวงปู่จะปรารภถึงชื่อใครบ้าง? และเป็นอะไร? ที่ไหน? แล้วจะให้ทำอย่างไรบ้างเท่านั้น !...หลวงปู่นิ่งอยู่ครู่ใหญ่จึงปรารภต่ออีกว่า..ท่านเคยทำกรรมร่วมกันมาก็หนีไม่พ้น สมัยพุทธกาลขนาดพระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่ พระโมคคัลลาน์ เป็นถึงพระอัครสาวกเบื้องซ้ายเป็นพระอรหันต์ที่มีฤทธาศักดานุภาพมากกว่าใครในสมัยนั้น ไปนรกได้ ไปสวรรค์ได้ แต่ผลสุดท้ายที่จะนิพพานกับมาถูกโจรทุบจนกระดูกแหลกเหลวไม่มีชิ้นดี ตายไม่สมเกียรติของพระอัครสาวกเลย พระโมคคัลลาน์ท่านหนีทุกอย่างได้  แต่ท่านจะหนีกรรมไม่พ้น สมัยนั้นพระพุทธเจ้าก็ยังถูกโจมตีจากคณาจารย์เจ้าลัทธิต่างๆ เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ของเราท่านก็หนีกรรมไม่พ้นเช่นกัน..หลวงปู่เทศน์แล้วก็หยุด  สงบเงียบ.. เหมือนกับหยุดพิจารณา หรือ หยุดปลง นั่นเอง..พวกเราซึ่งเป็นศิษย์นั่งฟังจนแสงเงินแสงทองเริ่มจับขอบฟ้าแล้ว จึงนำน้ำล้างหน้า ยาสีฟันเข้ามาถวายหลวงปู่ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวัน..จนบัดนี้หลวงปู่ก็ยังไม่พูดว่าใครเป็นอะไร ที่ไหน? ..ปกติทุกวันหลวงปู่จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯในเวลาแปดโมงเช้าทุกครั้ง แต่วันนี้หลังจากหลวงปู่ล้างหน้าเสร็จหลวงปู่ก็เข้าที่เดินจงกรมภาวนาต่อ เหมือนหลวงปู่รอเวลาอะไรสักอย่าง ครู่ใหญ่ๆ ผ่านไป หลวงปู่ก็เรียกพระอุปัฏฐากเอาจีวรห่มคลุมเตรียมเดินทาง  พระอุปัฏฐากสังเกตว่าหลวงปู่มีความวิตกกังวลเรื่องบางอย่าง จึงกราบเรียนว่า..ขอโอกาสครับ ท่านอาจารย์จะเดินทางตอนนี้หรือครับ?..หลวงปู่ตอบ..อืม !..ไปกันเถอะ ไปดูแลครูบาอาจารย์ก่อน เดี๋ยวจะไม่ทัน ท่านมาบอกลาผมเมื่อคืน หลวงปู่บุญมา ท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์จวน ท่านอาจารย์สิงห์ทอง ท่านอาจารย์สุพัฒน์ ท่านจะนิพพานในอีกไม่ช้านี้ ไปเถอะเดี๋ยวไม่ทัน..พระเณรทั้งแปดรูปจึงเพิ่งทราบเดี๋ยวนี้เองว่าครูบาอาจารย์ท่านพูดคุยล่ำลากันทางจิตเรียบร้อยตั้งแต่เมื่อค่อนรุ่งแล้ว..แต่ยังเป็นปริศนาว่าท่านจะสิ้นด้วยเหตุอันใดหรือ จึงจะพร้อมกันทีเดียวถึง ๕ รูป และจะฉีกร่างให้แหลกอย่างที่หลวงปู่ปรารภอย่างนี้!... พระเณรทั้งแปดรูปชักเริ่มเป็นห่วงครูบาอาจารย์ที่จะสิ้นวันนี้เสียแล้ว.ต่างรูปต่างก็คอยที่จะไปถึงยังสถานที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
                    วันนี้จะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น.วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๒๓ ขณะที่กำลังเดินไปขึ้นรถที่ติดเครื่องรออยู่.พระเณรเดินตามหลวงปู่ยังไม่ทันถึงรถ หลวงปู่หยุดกะทันหัน บอกว่า ไม่ทันแล้ว !...แล้วก็ก้าวเท้าขึ้นรถ หลวงปู่สั่งคนรถว่าวันนี้ไปทางคลองหก ทุกวันจะใช้เส้นทางนครนายก-กรุงเทพฯ ขณะที่รถยนต์วิ่งมาถึงตัวจังหวัดปราจีนบุรี เสียงวิทยุที่คนขับเปิดไว้เป็นปกติอยู่แล้วนั้น ก็ประกาศข่าวด่วนว่า เครื่องบินโดยสารแอฟโร ๔ ของบริษัทการบินไทย ประสบอุบัติเหตุ ตกก่อนถึงกรุงเทพฯ ๒๐ กม. ณ กลางทุ่งนารังสิต บริเวณคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มีผู้เสียชีวิตเกือบหมด...ในจำนวนนี้มีพระสงฆ์มรณภาพ ๗ รูป เป็นพระสายป่า ๕ รูป  คือ  ๑. พระอุดมสังวรวิสุทธิเถร (พระอาจารย์วัน อุตฺตโม)  ๒. หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม   ๓. พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ   ๔. พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร  ๕. พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม...รถวิ่งมาถึงคลองหกมองเห็นชาวบ้านสับสนอลหม่านวิ่งบ้าง เดินบ้าง ตำรวจ ทหารแน่นทั้งสองข้างทาง ควันขาวๆ โพยพรุ่งอยู่กลางท้องนาด้านหน้า หลวงปู่ให้คนขับจอดรถแล้วหลวงปู่เดินตรงไปที่ซากเครื่องบินที่ตกกระจัดกระจายอยู่นั้น ท่ามกลางไทยมุงที่แน่นขนัด
                    หลวงปู่และพระเณรทั้งหมดได้ช่วยกันเก็บอัฐบริขารของครูบาอาจารย์ออกมาวางไว้ในสถานที่อันเหมาะสมให้เรียบร้อย หลวงปู่ปรารภขณะที่หยิบชิ้นส่วนของครูบาอาจารย์ว่า ท่านอาจารย์วัน ท่านอาจารย์จวนมาบอกเมื่อคืนว่าให้ช่วยมาเก็บธาตุขันธ์ให้ท่านด้วย รับปากท่านไว้เมื่อคืน..หลวงปู่หยิบชิ้นส่วนของครูบาอาจารย์มารวมไว้เป็นส่วนๆ เก็บชิ้นส่วนและอัฐบริขารของครูบาอาจารย์เสร็จเจ้าหน้าที่ก็มาถึง..จึงให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ดำเนินงานต่อไป.ตกกลางคืนหลวงปู่ก็พาไปกราบนมัสการศพครูบาอาจารย์ที่ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดพระศรีมหาธาตุ.บางเขน..ขณะที่นั่งรอเวลาอยู่นั้น หลวงปู่ต้องตอบคำถามทั้งพระทั้งโยมที่นำปัญหาอย่างที่หลวงปู่ปรารภไว้ที่วัดเขาอีโต้ตั้งแต่แรกนั้น มาตอบให้ทุกคนเข้าใจว่า ..ไม่มีใครในโลกนี้หนีกรรมได้  วิบากกรรมของท่านหมดแล้ว  ไม่ต้องห่วง ให้ห่วงตัวเราเองนี้ให้มาก ทำตัวเราเองให้ดีที่สุด นั่นคือสิ่งที่ถูกต้อง..หลวงปู่ปรารภกับพระอุปัฏฐากว่า  สมเด็จฯท่านเสียพระทัยมาก ผมเพิ่งเห็นน้ำตาท่านหลั่งไหลมากก็คราวนี้แหละ...ข้าพเจ้าก็สังเกตตามจึงได้เห็น พระเนตรของพระองค์ปูดบวม พระพักตร์ร่วงโรย เศร้าโศกอย่างที่หลวงปู่ปรารภ เรื่องนี้จึงนับได้ว่า เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นครูบาอาจารย์ท่านอยู่ห่างไกลกันคนละภาค แต่เมื่อถึงคราวที่ท่านจะต้องแตกกายทำลายขันธ์ ท่านยังส่งกระแสจิตสั่งความบอกลาซึ่งกันและกันได้ ซึ่งในคราวครั้งนั้นบรรดาพระภิกษุผู้เป็นสักขีพยานรับทราบเหตุการณ์ค่อนรุ่งของคืนดังกล่าวรวม ๘ รูปด้วยกัน...

แผ่เมตตา แต่เป็นกสิณ

                อีกเรื่องหนึ่งของความทรงจำที่เกิดขึ้น ณ วัดเขาอีโต้  ตามปกติแล้วทุกวันช่วงบ่าย ๆก็มักจะมีญาติโยมมากราบนมัสการขอพบหลวงปู่เป็นประจำทุกวัน หลวงปู่จะรับแขกตามปกติในเวลาบ่าย บ่ายของวันนั้นมีโยมสตรีกลางคนผู้หนึ่งท่าทางสง่างามพร้อมเด็กน้อยสามคนเข้ามากราบหลวงปู่ วันนี้แขกมากเธอจึงถอยออกมารอจนคนกลับหมดแล้วจึงเข้าไปกราบหลวงปู่อีกรอบหนึ่งพร้อมกับเล่าเรื่องราวให้หลวงปู่ฟังว่า...หนูมาขอความเมตตาหลวงพ่อได้ช่วยแผ่เมตตาให้พ่อเด็กเขากลับมาด้วยเถิด เด็กเขาคิดถึงพ่อ ร้องไห้ทุกคืน หนูได้ยินชื่อเสียงหลวงพ่อมานานแล้วว่าหลวงพ่อมีเมตตาสูง ได้โปรดเมตตาให้พ่อเด็กเขากลับด้วยเถิดเจ้าค่ะ..หลวงปู่ถามพร้อมเรียกเด็กเข้ามาลูบหัวไปมาด้วยความเมตตา...พ่อไปไหนหรือหนู?...พ่อทิ้งหนูและแม่ไปมีเมียใหม่ เด็กน้อยตอบตามประสาเด็กที่ไร้เดียงสา..หลวงปู่ฟังแล้วก็ร้อง  อืม?...แม่เด็กกราบเรียนต่ออีกว่า...พ่อเด็กเป็นผู้กองอยู่ที่สถานีแห่งหนึ่ง...สมัยก่อนก็ดีมากอยู่ด้วยกันมาเกือบ ๒๐ ปี มาระยะหลังนี้จะถูกกระทำคุณไสยหรืออย่างไรไม่ทราบ เปลี่ยนไปๆ แล้วก็ไม่กลับมาบ้านเลย ซึ่งเมื่อก่อนเขารักลูกมากเจ้าค่ะ...หลวงปู่อุทานขึ้น อืม!...เดี๋ยวจะลองดูนะ! ให้หนูพาลูกกลับบ้านก่อน.. หลวงปู่ให้ความหวังแบ่งรับแบ่งสู้แก่โยมผู้หญิงและบุตรน้อยๆ ที่น่าเอ็นดูทั้งสามคนด้วยความเมตตา
                    ตกกลางคืนประมาณราวเที่ยงคืนท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นของหุบเขาอีโต้ ประกอบกับความเงียบสงบ พระที่ติดตามหลวงปู่ต่างก็แยกย้ายกันภาวนาซึ่งกางกลดไว้ห่าง กันพอสมควร ในขณะที่ตำรวจติดตามหลวงปู่คนหนึ่งออกมาปัสสาวะได้สังเกตว่าที่กลดหลวงปู่มีแสงสว่างเกิดขึ้นที่กลดแล้วค่อยๆ พวยพุ่งสูงขึ้นๆ จนสุดปลายยอดไม้  แล้วก็มาเริ่มสว่างที่กลดค่อยๆ สูงๆ ไปสุดที่ปลายยอดไม้ เป็นอยู่อย่างนั้น  ตำรวจยืนพิจารณาอยู่เป็นเวลานานจึงเข้าไปเรียกคนขับรถออกมาช่วยกันดูอีกหนึ่งคน แสงนั้นก็ยังเหมือนเดิมสว่างที่กลดแล้วก็ค่อยๆ ลอยสูงขึ้นๆ  คนขับ รถก็ไปบอกพระซึ่งกำลังหลับบ้างภาวนาบ้างตามกลดตรงโน้นตรงนั้นให้ออกมาดูว่าคืออะไร? พระทั้งแปดรูป ออกมาจากกลด มองดูแสงประหลาดด้วยความเงียบอยู่สักครู่ คนขับรถจึงเอะอะขึ้นมาว่าไฟไหม้กลดอาจารย์ๆ...ทั้งหมดจึงตรงไปยังกลดหลวงปู่ โยมเสาร์คนขับรถกราบเรียนหลวงปู่เสียงดังพอสมควรว่า...อาจารย์ๆ พร้อมกับถือวิสาสะเปิดมุ้งกลดล้วงมือเข้าไปจับตัวหลวงปู่ด้วยความปรารถนาดีต่อครูบาอาจารย์..หลวงปู่นั่งสมาธิอยู่  จึงออกจากสมาธิ  ถามว่า เกิดอะไรขึ้นหรือ ?.. เสียงเอะอะเชียว.?..โยมเสาร์กราบเรียนว่า ไฟไหม้กลดอาจารย์ ซีครับ.!..พวกครูบาจึงให้ผมเรียกอาจารย์  แต่  เอ..! ทำไมไม่ร้อน  โยมเสาร์เอามือล้วงเข้าไปในจีวรที่หลวงปู่คลุมกายอยู่ก็ไม่รู้สึกร้อน แต่เมื่อกี้ไฟลุกท่วมถึงยอดไม้เลยครับอาจารย์ ? ไอ้ทิวา (ตำรวจติดตาม)มันออกมาปัสสาวะเห็นไฟสว่างอยู่ในกลดอาจารย์มันไปตามผมมาดู ผมก็กลัวอาจารย์จะตาย จึงไปตามครูบามาช่วยกันอีกแรงหนึ่งครับท่านอาจารย์ โยมเสาร์กราบเรียนจากนั้นอีกครู่เดียวก็ได้อรุณวันใหม่ พระเณรนำน้ำล้างหน้า ยาสีฟันถวายหลวงปู่ เสร็จเรียบร้อยแล้วหลวงปู่จึงปรารภขึ้นว่า.. ผมพิจารณาดูแล้วว่าไม่น่าจะเกิดไฟได้เลย  ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้เพ่งเตโชกสิณ ไม่ได้ภาวนาเกี่ยวกับไฟหรือของร้อนอะไรเลย ? แต่ทำไมเกิดไฟได้ ?..เรื่องไฟลุกที่ตัวผมเคยมีมาแล้วครั้งหนึ่งสมัยที่ผมบำเพ็ญอยู่ที่บ้านเดิ่น โคราช บ้านทิดเสาร์นั่นเอง สมัยนั้นหนาวมาก ผมนั่งสมาธิเอาจีวรคลุมแบบนี้แหละแต่ก็ไม่พอเพราะอากาศหนาวเย็นมาก ผมจึงเพ่งกสิณ ว่า.. เตโช..ๆ..ๆ..ๆ ก็รู้สึกว่า ค่อยมีความอบอุ่นเข้ามาหน่อย.ไม่นานนักเสียงเอะอะโวยวายอยู่ไม่ห่างจากผมนัก จึงลืมตาขึ้นเห็นชาวบ้านมามุงดูกันเต็มไปหมดรอบกลดผมเลย.จึงถามว่าเกิดอะไรขึ้น?..ก็ลุงของทิดเสาร์นี่แหละ!..บอกว่าไฟลุกท่วมกลดอาจารย์สว่างถึงหมู่บ้านโน่น ชาวบ้านจึงพากันมาดูว่าท่านอาจารย์ก่อไฟ.หรือทำอะไร?  เกรงว่าไฟจะลามไปติดป่า แต่มาถึงแล้วปรากฏว่าไฟมันติดอยู่กลดท่านอาจารย์.ลุงของทิดเสาร์จึงบอกว่า ขอโอกาสขอของดีท่านอาจารย์สักหน่อยนะครับ ! จะเอาอะไรหรือ ? ...ขอจีวรท่านอาจารย์ผืนที่ไฟติดแล้วไม่ไหม้นี่แหละครับ...ว่าแล้วลุงของทิดเสาร์ก็กราบลงสามครั้งโดยที่ยังไม่ทันพูดอะไรหรือยังไม่ได้อนุญาตเลย ชาวบ้านก็ฉีกจีวรแบ่งกันเสร็จสับเรียบร้อยคนละชิ้นเล็ก ชิ้นน้อย หมดพอดีเพราะคนมากันหมดหมู่บ้าน.เรื่องนี้จึงเป็นเหตุให้ทิดเสาร์ได้ติดตามมารับใช้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา...
                    แต่เรื่องเมื่อคืนผมไม่ได้เพ่งกสิณเลย ผมแผ่เมตตา อธิษฐานจิตว่าขอให้สามีของโยมผู้หญิงที่มาบอกเมื่อตอนกลางวัน อธิษฐานว่าถ้าสามีเขายังมีบุญที่จะต้องรับผิดชอบครอบครัว หากเขาถูกคุณไสยจริงก็ขอให้คุณพระรัตนตรัยได้โปรดคุ้มครองรักษาอย่าได้ทำอันตรายใดๆ เขาเลย ให้เขากลับมาดูแล ลูกเมีย ครอบครัว เถิด .. ผมอธิษฐานแล้วก็นั่งภาวนาสมาธิอย่างนี้  แต่ด้วยเหตุใดจึงมีไฟพวยพุ่งจากในกลดถึงยอดไม้ได้อย่างไร และผมก็ไม่รู้สึกว่าร้อน ไม่รู้เสียด้วยว่ามีไฟลุกอย่างที่ทิดเสาร์เห็น สงสัยจริงๆ .(จีวรผืนหลังนี้พระอาจารย์สุวิทย์ พระอุปัฏฐากเก็บรักษาไว้) เรื่องของโยมที่สามีไปมีภรรยาน้อย ต่อมาไม่นานก็พาสามีและครอบครัวมากราบขอบพระคุณหลวงปู่ที่เมตตาช่วยเหลือในครั้งนั้น ครอบครัวจึงได้กลับมาอยู่ด้วยกันอย่างปกติสุขเหมือนก่อน






วัวสำนึกบุญคุณ

                    เรื่องที่สามเกิดที่ วัดเขาอีโต้ จังหวัดปราจีนบุรี คือ ในสมัยนั้น เถ้าแก่อิ่มบุญเจือ มีอาชีพรับเนื้อวัวจากโรงงานนำมาผลิตเป็นลูกชิ้น แล้วส่งให้ลูกค้าอีกต่อหนึ่ง วันหนึ่งเถ้าแก่มากราบเรียนหลวงปู่ว่าได้ไถ่ชีวิตวัวมาถวายท่านอาจารย์ตัวหนึ่ง หลวงปู่ถามต่อว่ามันเป็นอย่างไรหรือเถ้าแก่..วัวตัวนี้เป็นวัวที่คนฆ่าที่โรงฆ่าสัตว์ทำไม่ลงตั้งแต่คิวแรกจนบัดนี้เป็นคิวสุดท้ายแล้ว เพราะเมื่อถึงคิวทีไรก็จะมากราบ ร้องไห้ กับคนฆ่าจนคนฆ่าผัดผ่อนมาจนบัดนี้แล้วก็ยังทำไม่ลงทุกครั้งไป  คนฆ่ามาถามผมว่า เถ้าแก่วัวตัวนี้มันร้องไห้ทุกครั้งที่ผมจะฆ่ามันจนผมใจอ่อน ทำมันไม่ได้ ให้เถ้าแก่ช่วยชีวิตมันหน่อยก็แล้วกัน ผมจึงซื้อวัวตัวนี้มาถวายท่านอาจารย์ แล้วแต่ท่านอาจารย์จะให้ทำอย่างไรต่อไป..หลวงปู่บอกรับด้วยความเกรงใจเถ้าแก่ แล้วบอกต่ออีกว่า.เถ้าแก่เอาไปไว้ที่วัดเขาอีโต้ ปราจีนบุรี ที่อาตมาพักเป็นประจำนั่นแหละ.เพราะที่นั่นจะมีป่าไม้ใบหญ้าให้เขาได้กิน..ถ้าเอาไว้ที่เขาสุกิมเกรงว่าจะไม่มีใครเลี้ยง ไม่มีหญ้าให้กิน  เถ้าแก่อิ่มบุญเจือ ก็นำรถที่บรรทุกวัวมานั้นวิ่งต่อไปที่วัดเขาอีโต้  เสร็จแล้วก็ปล่อยวัวลงที่ลานหน้าวัดนั่นเอง  ก่อนที่จะขึ้นรถกลับ เถ้าแก่อิ่มบุญเจือ ลูบที่หัววัวแล้วบอกว่า  ลื้อรออาจารย์สมชายอยู่นี่นะ อีกสองสามวันอาจารย์สมชายมาถึงลื้อจึงค่อยมากราบท่าน  หลายวันต่อมาหลวงปู่ก็เดินทางไปพักที่วัดเขาอีโต้ตามปกติ หลวงปู่ลงจากรถยนต์กำลังเดินไปที่พัก วัวแดงสวยงามตัวดังกล่าวก็เดินตรงเข้ามาหมอบลงต่อหน้าเหยียดเท้าหน้าออกไปที่หลวงปู่  ลักษณะคล้ายคนกราบพระ เสร็จแล้ววัวก็ลุกยืนขึ้น เข้ามาใช้ลิ้นเลียที่แขนหลวงปู่ไป มา น้ำตาไหลต่อหน้าต่อตาพระทั้ง ๙ รูปนั่นเอง เรื่องแปลกที่หลวงปู่ก็ยังไม่เคยเห็นวัว วัวก็ยังไม่เคยเห็นหลวงปู่ แต่เหตุไฉนหรือวัวตัวนี้จึงรู้ว่าเถ้าแก่อิ่มบุญเจือ ได้ไถ่ชีวิตมาถวายหลวงปู่  วัวเขารู้ได้อย่างไรว่าเขารอดชีวิตเพราะหลวงปู่..พระที่วัดเขาอีโต้ตั้งหลายรูปทำไมวัวจึงไม่ไปคุ้นเคยด้วย  และต่อมาทุกครั้งที่หลวงปู่ไปวัดเขาอีโต้ก็จะต้องให้คนขับรถซื้อถั่วฝักยาวบ้าง แตงกวาบ้างไปฝากวัว  วัวเมื่อรู้ว่าหลวงปู่เดินทางมาถึงก็จะมากราบมาเลียแข้งเลียแขนเหมือนกับคนที่คุ้นเคยกันมานานนั่นเอง วัวตัวดังกล่าวก็อาศัยอยู่ที่วัดเขาอีโต้เรื่อยมาจนสิ้นอายุตามธรรมชาติในเวลาต่อมา...
(เรื่องนี้ก็เป็นความบกพร่องของลูกศิษย์ที่ไม่มีใครได้กราบเรียนถามหลวงปู่เลยว่า อดีตชาติวัวตัวนี้เป็นใคร ที่ไหน) ทำไมจึงมาเกี่ยวข้องกับหลวงปู่อย่างนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง)

หลวงปู่ไม่นวดเส้น

               ตามธรรมเนียมของพระกรรมฐานทั่วๆ ไปนั้นลูกศิษย์จะต้องไปปฏิบัติอาจริยวัตรถวายครูบาอาจารย์ในเวลาบ่ายหรือเย็น หรือหลังจากถวายน้ำสรง เช็ดตัว เช็ดเท้า เสร็จแล้วศิษย์ก็นวดเส้นถวายครูบาอาจารย์จนกว่าครูบาอาจารย์จะสั่งว่าพอแล้ว ไปพักกันได้ นั่นแหละ! จึงจะแยกย้ายไปทำความเพียรกันได้ แต่สำหรับหลวงปู่สมชายนั้น ท่านเคยปรารภเอาไว้ว่า  สมัยผมเป็นพระนวกะ ผมมีฝีมือในการนวดเส้น จับเส้น คลายเส้น โดยเฉพาะเส้นผายลม ถ้าได้กดลงไปถูกเส้นดังกล่าวครูบาอาจารย์ก็จะผายลมออกจากท้อง กด ๑๐ ที ก็จะผายลม ๑๐ ครั้ง เป็นการช่วยทำให้ร่างกายเบา ท้องไม่อืด ครูบาอาจารย์ชอบเรียกให้ผมไปนวด เพราะว่าผมรู้จักเส้นตรงไหนควรหนักก็หนัก  ตรงไหนควรเบาก็เบา ผมจะต้องนวดถวายครูบาอาจารย์ทุกวัน บางองค์เรานวดไปท่านก็เทศน์ให้เราฟังไป สอนเราไปด้วยเหมือนพ่อสอนลูก ทำให้ศิษย์กับอาจารย์ได้ใกล้ชิดกันได้เป็นกันเองกับลูกศิษย์ เหล่านี้ เป็นต้น และก็เป็นหน้าที่ที่ลูกศิษย์จะต้องปฏิบัติวัตรฐากถวายครูบาอาจารย์โดยตรง บางวันตั้งแต่หนึ่งทุ่มจนถึงสองยามก็ยังไม่เลิก  บางวันชั่วโมงสองชั่วโมงก็เลิก ถ้าครูบาอาจารย์ไม่บอกให้เลิก ก็ยังเลิกไม่ได้ ต้องนวดไปจนกว่าท่านจะบอกว่า เอาล่ะ..!  นั่นแหละจึงจะกราบลาท่านไปทำความเพียรได้ บางองค์เรานวดไปๆ ท่านก็หลับจนลืมบอกเรา เราก็ต้องเฝ้านวดไปจนกว่าท่านจะตื่นขึ้นมาอีกครั้ง แล้วบอกให้เราพักได้นั่นแหละ เราจึงไปพักกันได้  ไม่มีใครกล้าเลิกก่อนครูบาอาจารย์อนุญาต ผมไปอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ไหนก็ตามไม่เคยทิ้งเรื่องการนวดเส้นถวายครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะรักผมทุกองค์
                    แต่ทำไมผมจึงไม่ให้พระเณรนวดเส้นให้ผม เพราะต้องการให้พวกเราได้มีเวลาทำความเพียรมากๆ นั่นเอง และคงเป็นอานิสงส์ที่ผมเคยนวดถวายครูบาอาจารย์ไว้มาก จึงทำให้ผมไม่ค่อยที่จะปวดเมื่อยตามเส้นตามเอ็นตามเนื้อตามตัว จึงไม่ต้องเรียกให้พระเณรมานวดเส้น การเทศน์การสอนก็นั่งเทศน์นั่งสอนกันอย่างนี้แหละ ไม่ต้องนวดก็ได้..มีอะไรก็บอกกันสอนกัน.แบ่งกันฉัน แบ่งกันใช้..(คำปรารภของหลวงปู่หลังจากสรงน้ำเสร็จ ขณะที่พระเณรถวายเภสัชและถวายน้ำปานะ)  

หลวงปู่ ไม่ให้พระเณรก่อสร้างด้วยตัวเอง

                    ท่านสาธุชนที่เดินทางมาสู่วัดเขาสุกิม  จะไม่ปรากฏพบเห็นว่าพระภิกษุสามเณรทำการก่อสร้างแต่อย่างใด  บางคนอาจจะคิดเห็นไปต่างๆ นาๆ ว่า ...ทำไมพระวัดนี้ขี้เกียจไม่เห็นทำงานอะไรเลย ฉันข้าวเสร็จแล้วก็นอนเงียบอยู่ในกุฏิหรืออย่างไร ไม่เห็นเหมือนที่อื่นซึ่งเข้าประตูวัดปุ๊บจะพบเห็นพระสงฆ์ทำงานก่อสร้าง ก่ออิฐ เลื่อยไม้ ตีตะปู ผสมปูน เทปูน บ้างก็ปีนขึ้นไปมุงหลังคาอยู่ข้างบน เหล่านี้เป็นต้น เหตุผลที่หลวงปู่ไม่ให้ทำงานก่อสร้างอย่างฆราวาสนั้นก็ คือ หลวงปู่เคยบอกว่า สมัยที่เป็นภิกษุนวกะอยู่กับครูบาอาจารย์นั้นบางวันแทบไม่มีเวลาทำความเพียรเลย  เพราะจะต้องช่วยครูบาอาจารย์ก่อสร้างเสนาสนะ กลางวันต้องปลูกสร้าง กลางคืนต้องจุดตะเกียงเจ้าพายุแล้วเลื่อยไม้ มีเวลาเหลือนิดหน่อยก็เดินจงกรมนั่งสมาธิ บางองค์ก็นั่งหลับเพราะว่าเหนื่อยจากการทำงานมาตลอดทั้งวัน เลยอธิษฐานเอาไว้ว่า ...ถ้าหากมีบุญมีวาสนาเป็นครูบาอาจารย์เมื่อไร จะไม่ให้พระเณรต้องมาทำงานก่อสร้างอย่างฆราวาส จะให้พระเณรทำกิจของสงฆ์อย่างเต็มที่ หน้าที่ของพระเรา ต้องมี ศีล สมาธิ ปัญญา โดยเพียรฝึกอบรมปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ ศึกษาพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นงานในหน้าที่โดยตรงของนักบวช อันเป็นงานกำจัดกิเลส ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ ให้เบาบางลง จนหมดไปจากจิตใจ จะขอเปิดโอกาสให้พระเณรได้ทำความเพียรอย่างเต็มที่ เพื่อทำข้อวัตรและกิจของสงฆ์ให้สมบูรณ์นั่นเอง..
                    อีกอย่างหนึ่ง หลวงปู่กล่าวไว้ว่า การที่พระเณรมาทำงานก่อสร้างแล้ว มักขาดสติ ขาดการสำรวม แต่งกายเลอะเทอะ มอมแมม ยิ่งกว่านั้นถ้าแดดร้อนบางรูปก็ถึงกับถอดผ้าอังสะ เอาผ้าอังสะมาโพกศีรษะด้วย ผ้าสบงก็ถกเขมรโจงกระเบน ฆราวาสซึ่งมองดูแล้วไม่เหมาะสมกับลูกพระตถาคตเอาเสียเลย ลูกพระตถาคตต้องสำรวมอยู่ในเครื่องแบบที่ห่อหุ้มด้วยผ้ากาสาวพัตร จึงจะเป็นเนื้อนาบุญและเป็นมงคลแก่ผู้พบเห็น จึงจะสมดังที่ว่า สมณานญฺจ ทสฺสนํ  การเห็นสมณะ เป็นมงคล  หลวงปู่ยังบอกอีกว่า ถ้าจะให้พระเณรไปทำงานก่อสร้างเองแล้ว สู้ไม่ต้องมีเสนาสนะอะไรเสียเลยจะดีกว่า ที่มีแล้วเสียภาพลักษณ์ของพระเณร
                การก่อสร้างภายในวัดเขาสุกิม จึงถูกปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฝ่ายฆราวาส จัดจ้างแรงงานจากญาติโยมที่มีอาชีพโดยตรงมาทำการก่อสร้าง ส่วนการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ก็เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มาสร้างบารมี เสียสละแรงงานเข้ามาช่วยงานในวัดเมื่อมีเวลา จึงพบว่าเมื่อเวลาที่วัดเขาสุกิมทำการก่อสร้างจะมีญาติโยมจากทั่วสารทิศมาช่วยขนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างขึ้นเขากันเป็นจำนวนมาก ทั้งวันทั้งคืนจนกว่าจะแล้วเสร็จ

ฝึกสวดพระปาติโมกข์จากหลวงปู่สิงห์  ขนฺตยาคโม

                สมัยที่หลวงปู่เป็นนวกภิกษุ  หลวงปู่จะเป็นผู้สวดพระปาติโมกข์ถวายครูบาอาจารย์เป็นประจำทุกปักษ์  จนเป็นที่ยกย่องของครูบาอาจารย์ในสมัยนั้น ว่าสวดได้สละสลวยถูกต้องทุกตัวอักขระฐานกรณ์
หลวงปู่เล่าว่า  ...สมัยที่ผมเป็นนวกภิกษุ  ผมมีโอกาสได้ฟังครูบาอาจารย์สวดพระปาติโมกข์หลายรูปด้วยกัน แต่ละรูปจะมีลีลาการสวดแตกต่างกัน ครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องพระปาติโมกข์และเป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้นก็เห็นมีแต่ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เท่านั้น ท่านสวดได้ดี สวดได้เร็ว ลูกคอท่านใหญ่ เสียงของท่านกังวาน อักขระทุกตัวนี่ไม่มีผิด สมัยนั้นแต่ละวัดก็จะมองเห็นความสำคัญของการสวดพระปาติโมกข์กันมาก จะสวดกันได้เกือบหมดทั้งวัด เว้นแต่พระผู้เฒ่าที่บวชตอนอายุมาก ๆ เท่านั้นที่สวดไม่ได้ ถ้าเป็นพระหนุ่มต้องสวดได้กันทุกรูป หรือสามเณรที่ใกล้ญัตติก็จะต้องสวดพระปาติโมกข์ให้ได้เสียก่อนถ้าอย่างนั้นครูบาอาจารย์จะไม่ญัตติให้ซึ่งเป็นกฎอย่างนี้เหมือนกันทุกสำนัก เพราะว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของพระซึ่งเป็นศาสนทายาทจะต้องเป็นผู้ดำรงพระศาสนาไว้ สมัยนั้นถ้าพระรูปไหนสวดพระปาติโมกข์ไม่ได้ถือว่าแย่มาก และไม่ใช่ว่าสวดได้อย่างเดียว ต้องสวดให้ถูกต้องตามอักขรวิธีทุกตัวอักษรอีกด้วย ครูบาอาจารย์จึงจะให้ขึ้นธรรมาสน์สวดให้สงฆ์ฟังได้...ผมฝึกท่องอยู่ ๗ วันก็ท่องได้จบเล่ม เมื่อผมท่องได้จบแล้วก็มองหาครูบาอาจารย์ที่จะเข้าไปขอเรียนพระปาติโมกข์จากท่านซึ่งก็มีอยู่มากมายหลายสำนัก  แต่ผมชอบลีลาการสวดของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ผมก็ขวนขวายเดินทางเข้าไปกราบเท้าขอเรียนพระปาติโมกข์จากท่าน  ท่านเมตตาอบรมสั่งสอนให้ผมอย่างลูกอย่างหลาน ที่ผมท่องได้มาทั้งหมดต้องมาเริ่มหัดใหม่เพราะท่านบอกว่าเพียงแค่ท่องได้เฉย ๆ แต่ท่องไม่ถูกอักขรวรรคตอน  ผมก็หัดอยู่กับท่านเป็นเวลาระยะหนึ่ง ผมจึงขึ้นสวดให้ครูบาอาจารย์ฟังได้ อักขระแต่ละตัวถ้าท่องผิดท่านไม่ให้ผ่าน  ท่านต้องจี้ให้เราท่องให้ถูกต้องเสียก่อน จึงจะปล่อยให้เราขึ้นสวดได้ เสียงสั้น เสียงยาว เสียงสูง เสียงต่ำ เสียงขึ้นนาสิก เสียงโฆสะกังวาน เสียงควบกล้ำเหล่านี้เป็นต้นผิดพลาดไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว อย่างตัว ..ร-เรือ..ล-ลิง..ฬ-จุฬา..แต่ละตัวถ้าใครออกเสียงเหมือนกันเป็นอันว่าสอบตก  ต้องไปหัดท่องมาใหม่  ผมหัดครั้งเดียวผ่าน  ร-เรือ ออกเสียงกระดิกลิ้น...ล-ลิง ออกเสียงปกติ...ฬ-จุฬา ออกเสียงขึ้นนาสิก คือให้ลิ้นดันเพดาน  อย่างเช่น....โจโรสิ  พาโลสิ  มุฬฺโหสิ... ต้องออกเสียงอย่างนี้(หลวงปู่ท่องให้ฟัง)
หลวงปู่สิงห์ นับว่าเป็นครูบาอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในด้านการสวด  เคร่งครัดในเรื่องอักขรวิธีมาก  เสียงท่านดี ก้องกังวาน อึดใจได้ยาวนาน เวลาท่านสวด ท่านไม่ค่อยหยุดหายใจ ท่วงทำนองน่าฟัง  เวลาท่านสวดเรานั่งฟังนี่เป็นสมาธิ จิตสงบ ถอนสมาธิออกมาท่านก็สวดจบพอดี ไม่เหมือนบางรูป สวดไปหยุดไป เดี๋ยวไอ เดี๋ยวฉันน้ำ สวดติด ๆ ขัด ๆ ฟังแล้วไม่เกิดสมาธิ ไม่เป็นบุญ ถ้าใครได้หัดมาจากหลวงปู่สิงห์แล้วจะสวดได้ดีหมดทุกรูป  ผมเองนับว่ามีวาสนาพอสมควรที่มีโอกาสเข้าไปเรียนวิชาสวดพระปาติโมกข์จบมาจากหลวงปู่สิงห์  ผมจึงนำมาบอกมาสอนพวกเราอีกต่อหนึ่งการที่พวกเราสวดกันอยู่นี้จึงเป็นแบบฉบับของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ที่ผมไปกราบเท้าเรียนมาจากท่าน จึงขอให้ช่วยกันรักษาเอาไว้ให้ดี อย่ามักง่าย เอะอะก็ผ่าน ๆ ไปคนตรวจทานก็สำคัญ ถ้าสวดผิดต้องท้วงทันที ต้องสวดใหม่ ปล่อยไปไม่ได้ เสียหายหมด เพราะเป็นเรื่องพระวินัย  บางสำนักยิ่งแย่ใหญ่ไม่รู้ไปเอาธรรมเนียมสวดพระปาติโมกข์ย่อมาจากไหนกัน เอะอะก็สวดพระปาติโมกข์ย่อ อย่างนั้นใช้ไม่ได้ ครูบาอาจารย์ไม่เคยสอน...การสวดพระปาติโมกข์ย่อได้ต้องมีเหตุเภทภัยร้ายแรงจริง ๆ จึงจะสมควร เช่น น้ำท่วมฉับพลัน ไฟไหม้ภายในวัด พระราชาเสด็จกะทันหัน หรือมีเหตุที่ร้าย ๆ เกิดขึ้นในระหว่างที่กำลังสวดนั่นแหละครับ จึงจะสมควร
        อีกอย่างหนึ่ง สมัยที่ผมอยู่กับหลวงปู่สิงห์ ท่านจะพูดให้ลูกศิษย์ฟังอยู่เป็นประจำว่า อานิสงส์ของการสวดพระปาติโมกข์ยิ่งใหญ่มากถ้าน้อมใจสวด  อย่าสักแต่ว่าสวดตามหน้าที่หรือตามพระวินัยเท่านั้น หรืออย่าสักแต่ว่าสวดเพื่อให้ครูบาอาจารย์เห็นว่าเราสวดเก่ง หรือสวดเพราะความจำเป็น หรือจำใจสวด อย่างนั้นไม่ได้อานิสงส์เลย ต้องสวดด้วยความน้อมใจ ต้องสวดเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริง ๆ  จึงจะเป็นบุญบารมีของตนเอง จะอิ่มใจ ปีติใจ อานิสงส์บนสวรรค์รออยู่แล้วครับ ปราสาทวิมานที่อยู่ของเทพเจ้าทีเดียว...เรื่องอานิสงส์การสวดพระปาติโมกข์ หลวงปู่สิงห์พูดให้ฟังบ่อย ๆ ก็ยังไม่ซึ้งใจเท่ากับวันหนึ่งผมได้ไปประสบมากับตัวเอง เมื่อคราวที่ผมสลบไปในปี พ.ศ. ๒๔๙๔  คราวนั้นผมเป็นไข้มาลาเรียอย่างแรงถึงขนาดสลบไปประมาณ ๑๕ ชั่วโมง จิตไปสู่ภพใหม่โลกใหม่ที่เป็นทิพย์  มีเทพเจ้าเขามาพาผมไปอยู่ที่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งวิจิตรพิสดารสวยสดงดงามไม่เคยเห็นมีในโลกมนุษย์เราเลย จึงถามเขาว่า ...ที่นี่ที่ไหน ?...เขาบอกว่าบนนี้เรียกว่า...โลกทิพย์...ของทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยบุญบารมีที่ทำไว้ในโลกมนุษย์ บนนี้จึงเป็นของทิพย์ทั้งสิ้น...ผมถามเขาอีกว่าบ้านหลังนี้เป็นของใคร ?...เขาตอบว่าบนโลกทิพย์ของทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งบุญ  ปราสาทวิมานซึ่งเป็นของท่านก็เกิดจากอานิสงส์ที่ท่านสวดพระปาติโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์ด้วยจิตที่ศรัทธาและน้อมลงจริง ๆ  สวดได้ดี สวดได้ถูกต้องตามอักขรวิธี  ครูบาอาจารย์ฟังท่านสวดแล้วจิตสงบเป็นสมาธิ ฟังแล้วเพลิดเพลิน ยินดี ฟังแล้วไม่เบื่อ ฟังแล้วอยากฟังอีก การสวดพระปาติโมกข์เป็นการรักษาพระธรรมวินัยให้คงไว้อย่างสมบูรณ์โดยการทรงจำ จึงบังเกิดเป็นอานิสงส์ดังที่เห็นอยู่ในขณะนี้...
นี่แหละ! เล่าสู่พวกเราฟังถึงการสวดพระปาติโมกข์ ใครที่สวดได้แล้วก็พยายามรักษาระเบียบธรรมเนียมเอาไว้ให้ดี  ข้อสำคัญอย่ามักง่าย ย่าสักแต่ว่าสวดได้เพียงอย่างเดียว ต้องสวดถูกต้องตามอักขรวิธี วจีวิภาค ใครที่ยังสวดไม่ได้ก็พยายามสวดให้ได้ เมื่อสวดได้แล้วก็ฝึกซ้อมให้ดีเสียก่อนจึงค่อยขึ้นมาสวด คนที่ฟังก็เป็นบุญ คนสวดก็เป็นบุญ ขอให้รักษาระเบียบการสวดพระปาติโมกข์นี้เอาไว้ให้ดี ผมได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม อย่าให้ผิดเพี้ยนไปจากนี้เด็ดขาด...
(หลวงปู่เทศน์เรื่องนี้ภายหลังจากสวดพระปาติโมกข์เสร็จ แต่ไม่มีใครได้กราบเรียนถามว่า หลวงปู่ได้เข้าไปเรียนการสวดพระปาติโมกข์จากหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ในปี พ.ศ.อะไร จึงขาดรายละเอียดส่วนนี้ไปอย่างน่าเสียดาย)

ธรรมาสน์เณรคำ

        หลวงปู่เล่าว่า...สมัยที่บำเพ็ญอยู่ในแถบวัดบ้านหนองโดก-ถ้ำเจ้าผู้ข้า จังหวัดสกลนครนั้นได้มีเหตุการณ์ประหลาดเรื่องหนึ่งเกิดขึ้นและเกิดมาเกี่ยวข้องกับหลวงปู่โดยบังเอิญอย่างไรไม่ทราบได้ ในสมัยนั้นชาวบ้านในแถบภาคอีสานมักจะได้ยินเรื่องของเณรคำกันจนคุ้นเคยเป็นอย่างดี  เณรคำจะเป็นใครมาจากไหน รูปร่างหน้าตาที่แท้จริงเป็นอย่างไร ไม่มีใครทราบได้  มีเพียงแต่เล่ากันสืบ ๆ กันมา แต่ก็มีเรื่องมหัศจรรย์เกิดขึ้นกับชาวบ้านอยู่เป็นประจำ..เช่น เณรคำเป็นคนชอบบอกเลขบัตรเบอร์ให้กับชาวบ้านที่ยากจน เณรคำชอบช่วยรักษาคนเจ็บคนป่วย เณรคำมักจะให้คนเห็นไม่ซ้ำกัน เช่น บางคนจะเห็นเป็นหลวงตาแก่ ๆ บางคนเห็นเป็นพระหนุ่ม บางคนเห็นเป็นสามเณรน้อย บางคนเห็นเป็นผ้าขาวเฒ่า บางคนเห็นเป็นผ้าขาวน้อย  ต่างคนต่างจะเห็นไม่ตรงกัน  แต่ที่เห็นตรงกันอย่างหนึ่งก็คือ เณรคำจะปรากฏในร่างแบบไหนก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ จะเดินจูงม้าสีขาวไปตามหมู่บ้าน ออกจากหมู่บ้านนี้ก็ไปโผล่ที่หมู่บ้านนั้น เป็นอย่างนี้อยู่เป็นประจำ เดินบอกเลขไปบ้าง บอกยาช่วยคนเจ็บคนป่วยไปบ้าง เป็นอยู่อย่างนี้ ผู้คนในภาคอีสานยุคสมัยนั้นคุ้นเคยกับชื่อของเณรคำเป็นอย่างมาก ใครเป็นอะไรก็มักจะสบถอ้างถึงเณรคำให้มาช่วย เรียกไปเล่น ๆ อย่างนั้นแหละ แต่เดี๋ยวก็มาจริง ๆ เช่นบางคนมักจะบ่นกันเล่น ๆ ว่า...จนเหลือเกินเณรคำอยู่ที่ไหนมาบอกเลขให้ที...ไม่ช้าไม่นานเณรคำก็จะมา แต่ต้องสังเกตให้ดี บางคนก็หลงลืมไปว่าจะใช่เณรคำหรือเปล่าอย่างนี้ก็มี เณรคำเมื่อมาแล้วก็จะมาบอกเลขให้เลยว่าไปซื้อเลขนี้ ๆ น๊ะ แต่เมื่อถูกแล้วต้องเอาเงินไปทอดผ้าป่าที่วัด ห้าบาท หรือสิบบาท ที่เหลือเป็นของเจ้าของ นี่คือข้อแม้ของเณรคำไม่บอกเฉย ๆ ไม่บอกฟรี ๆ  แต่ไม่เอาเอง ให้ไปทำบุญนิดหน่อย บางคนก็ได้เลขพอแก้ขัด แต่บางบ้านก็จะถูกเลขกันทั้งหมู่บ้านเลยก็มี..อีกอย่างหนึ่งบางคนเจ็บป่วยออด ๆ แอด ๆ ก็มักจะบ่นเพล้อว่า...เณรคำอยู่ที่ไหนขอยากินแก้โรคหน่อย...ไม่ช้าไม่นานเดี๋ยวก็จะมีคนลักษณะคล้ายคนไม่เต็มบาทเอายารากไม้มาให้กิน แต่บางคนก็ไม่กล้ากินเพราะไม่มั่นใจว่าจะใช่เณรคำหรือเปล่า เพราะคนที่กำลังฝนยารากไม้อยู่นั้นแต่งกายสกปรกเลอะเทอะ ดูไม่เต็มบาท ขาด ๆ เกิน ๆ ทำนองนั้น  แต่ก็มีบางรายมั่นใจว่า นี่แหละคือเอกลักษณ์ของเณรคำ กินยาที่ตาเฒ่าฝนมาให้แล้วก็หาย ไม่เคยป่วยจนตลอดชีวิตก็มี โยมวัดเราที่ได้กินยาเณรคำมาแล้วก็ยังมี  คือโยมเจ๋ง ทวีธรรม  เมื่อก่อนโยมเจ๋งป่วยออด ๆ แอด ๆ อยู่เรื่อย พอบ่นถึงเณรคำได้ไม่กี่วันเท่านั้นเอง ก็มีตาเฒ่าเลอะเทอะคนหนึ่ง มาถามหาโยมเจ๋งว่า อยู่กุฏิหลังไหนจะเอายามาให้ เสร็จแล้วก็ไปนั่งฝนยาให้โยมเจ๋ง ๑ ถ้วย บอกให้โยมเจ๋งกินให้หมดถ้วยแล้วจะไม่ป่วยอีกตลอดชีวิต โยมเจ๋งมองเห็นสารรูปของตาเฒ่าที่กำลังนั่งฝนยานั้นแล้วแทบเป็นลม  ฝนยาไปน้ำหมากน้ำลายหกไปเช็ดโน่นเกานี่ไปแล้วก็ชอบกล..จะกินดีหรือไม่กินดีสองจิตสองใจ...พอตาเฒ่าเผลอโยมเจ๋งก็แอบเทยาทิ้งใต้ถุนเหลือติดก้นถ้วยอยู่หน่อยหนึ่งก็ทำท่าเป็นยกใส่ปากแล้วก็ส่งถ้วยคืน.ให้ยาโยมเจ๋งเสร็จแล้วตาเฒ่าคนนั้นก็ล่ำลาโยมเจ๋งกลับ โยมเจ๋งจะให้เงินค่ารถก็ไม่เอา..แค่เศษยาที่เหลือติดก้นถ้วยแค่นั้น ดูซิ๊!ตั้งแต่บัดนั้นจนมาถึงเดี๋ยวนี้โยมเจ๋งอายุ ๙๐ ปีกว่าแล้ว ไม่เคยเจ็บไม่เคยป่วยอีกเลย ถ้าตอนนั้นโยมเจ๋งกินยาหมดถ้วยจริง ๆ คงอยู่ถึงสองร้อยปี หรือไม่ก็เป็นสาวยิ่งกว่าเก่าก็ได้..อีกอย่างหนึ่งถ้าเณรคำไม่ไปฝนยาให้กินก็จะไปบอกตำราให้ไปหาตัวยามาทำเองเช่น ตำรายาของเณรคำจะมีอยู่ว่า ถ้าอยากหายให้ไปหาตัวยา ๔ อย่างนี้มาต้มกินแล้วจะหาย คือ ผักหนึ่งอยู่หนอง ผักสองอยู่นา ผักสามอยู่ป่าช้า ผักสี่อยู่วัด ซึ่งเป็นยาปริศนาหรือยาเทวดาบอก ใครตีปริศนาออกก็จะไปหามาต้มกินแล้วก็หายโรคภัยไข้เจ็บจริง ๆ อย่างที่เณรคำบอก..เณรคำชอบไปปรากฏตัวที่นั่นที่นี่ ชอบทำอะไรแผลง ๆ  และทำไปทำมาก็เข้ามาเกี่ยวข้องกับผมตั้งแต่สมัยผมอยู่ถ้ำเจ้าผู้ข้าจนถึงทุกวันนี้  
     ที่มาเกี่ยวข้องกับผมก็คือ เรื่องธรรมาสน์  ธรรมาสน์ที่พระใช้นั่งเทศธรรมดา ๆ นี่แหละ แต่กว่าจะสร้างเสร็จนั้นพิสดารพอสมควร  คือวันหนึ่งชาวบ้าน บ้านโคกเสาขวัญ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านหนองโดกเท่าไรนัก ได้มีศรัทธาที่จะสร้างธรรมาสน์สำหรับพระขึ้นนั่งเทศน์เพื่อถวายวัด ขณะที่กำลังนั่งปรึกษาหารือกันว่าจะได้ทุนจากที่ไหนมาซื้อสิ่งของประดับธรรมาสน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนเรื่องไม้และเรื่องแรงงานนั้นไม่มีปัญหา ใครมีความสามารถด้านช่างไม้ ก็จะมาช่วยกันทำ ช่วยกันแกะสลัก ขาดแต่เงินที่จะต้องซื้อสิ่งของบางอย่างเท่านั้นเอง ในขณะที่ชาวบ้านกำลังล้อมวงปรึกษาหารือกันอยู่นั่นเอง ก็มีคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่าเอาอย่างนี้ซี!  อธิษฐานให้เณรคำมาบอกหวย ถ้าถูกก็จะได้มีเงินซื้อสิ่งของได้ง่าย ๆ...ว่าแล้วโยมกลุ่มหนึ่งในจำนวนนั้นจึงได้อธิษฐานขอให้เณรคำมาบอกหวยช่วยสร้างธรรมาสน์  พูดกันไปเล่น ๆ อย่างนั้นเองแต่เกิดเป็นจริงขึ้นมาจนได้ ครู่ต่อมาไม่นานนักเณรคำก็เดินจูงม้าผ่านมา แล้วจึงเอ่ยขึ้นมาว่า  เออ!นี่พ่อออก(โยมผู้ชาย) ต้องการเงินซื้อสิ่งของเท่าไร? ให้ซื้อเลขกันคนละบาท เมื่อถูกแล้วจะได้มีเงินไปซื้อสิ่งของมาทำธรรมาสน์ต่อไป แต่เมื่อทำเสร็จแล้วต้องนำไปถวายอาจารย์สมชาย ที่บ้านหนองโดกน๊ะ เพราะจะได้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจท่าน ท่านจะได้ไม่ทิ้งพวกเราไปไหน ถ้าไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจแล้ว ท่านก็จะไม่ได้อยู่กับพวกเราท่านคงจะเดินธุดงค์ไปเรื่อย ๆ ชาวบ้านก็ตกปากรับคำว่า ถ้าสร้างธรรมาสน์เสร็จแล้วจะนิมนต์ผมไปรับที่บ้านโคกเสาขวัญ งวดนั้นหวยก็ออกมาตรงกับที่เณรคำบอกนั่นเอง ชาวบ้านก็ถูกเบอร์กันทั้งหมู่บ้าน จึงมีเงินไปซื้อสิ่งของเพื่อเอามาจัดสร้างธรรมาสน์กันต่อไป 
     ขณะที่กำลังสร้างกันอยู่นั้นก็มีแต่เรื่องแปลกประหลาดเกิดขึ้น ตั้งแต่เริ่มสร้างจนสร้างเสร็จ  ตัวอย่างเช่นขั้นบันไดที่จะขึ้นธรรมาสน์ ครั้งแรกตกลงกันว่าจะทำบันได ๙ ขั้น ก็มีเสียงม้าเณรคำร้องพร้อมทั้งมีเสียงฝีเท้าม้าควบไปรอบ ๆ บ้าน โยมกองจึงร้องถามออกไปว่า ๘ ขั้นเอาไหม? เสียงม้าก็ยังร้องและควบต่อไปอีก ๗ ขั้นเอาไหม? เสียงม้าก็ร้องต่อไปอีก จนถามต่อมาถึง ๕ ขั้นเอาไหม? เสียงม้าร้องและเสียงฝีเท้าม้าก็เงียบลง ในครั้งแรกก็จะเอาเป็นแค่ไม้กระดานทำเป็นขั้น  เสียงม้าก็ร้องไปควบไปรอบบ้านอีกโยมกองจึงร้องถามไปว่า จะเอาเป็นรูปอะไร? รูปกระต่ายเอาไหม? เสียงม้าร้องต่อไปอีก รูปพญานาคเอาไหม? เสียงม้าก็ร้องต่อไปอีก รูปม้าเอาไหม? เงียบทันที ! จึงสรุปกันว่าขั้นบันไดต้องแกะสลักเป็นรูปม้า ดังที่เห็น  เมื่อสร้างเสร็จแล้วชาวบ้านก็มานิมนต์ผมไปรับ เสร็จแล้วผมก็ถวายไว้ที่วัดบ้านโคกเสาขวัญ มอบให้ชาวบ้านช่วยดูแลรักษา  ภายหลังจากนั้นผมก็แวะเวียนไปเยี่ยมเยียนชาวบ้านเป็นประจำ ธรรมาสน์ก็ยังอยู่ที่วัดโดยปกติ  ต่อมาผมเดินธุดงค์ไม่ได้กลับไปบ้านโคกเสาขวัญหลายปี กลับไปคราวนี้ปรากฏว่าธรรมาสน์ได้หายไป  สอบถามชาวบ้านทราบว่าเจ้าอาวาสรูปใหม่ ได้ยกธรรมาสน์ลงมาไว้ที่ใต้ถุนศาลา  เนื่องจากมีคนกรุงเทพนำธรรมาสน์ประดับกระจกสีมาถวาย บังเอิญมีเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งผ่านมาเห็น เข้าใจว่าไม่ได้ใช้แล้วจึงขอ เจ้าอาวาสอนุญาตให้ไปแต่โดยดี หลังจากนั้นก็ไม่ทราบข่าวคราวอีกเลยว่าไปอยู่ที่วัดไหน
จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้มีคนมาบอกว่า ได้พบธรรมาสน์หลังนี้อยู่ที่วัดบ้านสองพี่น้อง (บ้านอีเตี้ย) อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด เขาถ่ายรูปมาให้ดูปรากฏว่า ใช่ธรรมาสน์ของเณรคำจริง ๆ ขาดการดูแลรักษา ถูกปล่อยทิ้งอย่างน่าเสียดาย  จึงได้ให้คนไปติดต่อขอผาติกรรมโดยทอดเป็นกฐินไปถวาย ๑ กอง แล้วขอธรรมาสน์ของผมคืน เพื่อเอามาเก็บรักษาไว้ที่นี่ (วัดเขาสุกิม) ไม่สวยแต่มีความหมายต่อชีวิตของผม  ผมรักธรรมาสน์นี้มากเพราะเณรคำเป็นผู้สร้างถวายผม...
(หลวงปู่เล่าเรื่องนี้ภายหลังจากสรงน้ำประจำวันเสร็จแล้ว ปัจจุบันธรรมาสน์เก็บรักษาไว้ที่วัดเขาสุกิม)
----------------------------------------------------------------------------------------
๑.ผักหนึ่งอยู่หนอง คือผักบุ้ง-ผักสองอยู่นา คือผักคาด-ผักสามอยู่ป่าช้าคือเซี่ยนผี-ผักสี่อยู่วัด คือผักชี

โปรดพรานแสวง
                นายแสวง แถลงถ้อย  เป็นชาวบ้านเขาสุกิม บ้านของนายแสวง อยู่ด้านทิศเหนือของวัดติดกับขอบสระน้ำหลวงพ่อพุทธโคดม ปัจจุบันนายแสวงประกอบอาชีพทำสวนผลไม้
                นายแสวงเล่าว่า เมื่อสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่นหนุ่มใหญ่อยู่นั้น พื้นที่แถบนี้ทั้งหมดจากเนินสูง-ยางระหง มาถึงเขาสุกิม  เนินดินแดง-เขาลูกช้าง-เลยไปจนถึงขุนซ่อง-ช่องกระพัด-แก่งหางแมว  แถบนี้เป็นป่าดงดิบผืนใหญ่ของจังหวัดจันทบุรี  สมัยพ่อแม่ก็อยู่กันแบบบ้านป่าบ้านดง ไม่เหมือนสมัยนี้ สวนผลไม้ก็เพิ่งจะมีมาถากถางทำกันจริง ๆ จัง ๆ เมื่อไม่นานมานี้เอง  สมัยนั้นนายแสวงจึงมีงานประจำและงานอดิเรกคือการล่าสัตว์ นายแสวงล่าสัตว์ทุกชนิดตั้งแต่สัตว์เล็กจนถึงสัตว์ใหญ่ เช่น เก้ง กวาง หมี หมูป่า เสือ ช้าง  เฉพาะช้างนายแสวงเคยล่าจากเขาสุกิมไปจนถึงขุนซ่อง..แก่งหางแมว  ซึ่งต้องเดินตามรอยเลือดไปเป็นระยะทางถึง ๗๐-๘๐ กิโลเมตรเลยทีเดียว กว่าจะได้งาช้างกลับมาบ้านแต่ละคู่ก็ใช้เวลาติดตามช้างเป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือนๆ สัตว์อื่นๆ นอกจากช้าง เช่น เสือ หมี เก้ง กวาง อยู่แถบบริเวณเขาสุกิมแห่งเดียวก็ยิงไม่ไหวแล้วเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๗ บนเขาสุกิมได้มีพระธุดงค์คณะหนึ่งได้ขึ้นมาปฏิบัติธรรม คือคณะของหลวงปู่สมชาย นายแสวงก็เข้าทั้งวัด และขึ้นเขาล่าสัตว์ ได้พบปะกับหลวงปู่
สมชายอยู่เป็นประจำแต่ไม่ได้ซาบซึ้งอะไรนัก หลวงปู่สมชายก็มักหาโอกาสพูดคุยและขอร้องให้นายแสวงงดทำปาณาติบาต ขอร้องไม่ให้นายแสวงล่าสัตว์บนเขาสุกิม ซึ่งเป็นเขตที่หลวงปู่ได้ขอบิณฑบาตให้เป็นเขตอภัยทาน และเพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ปฏิบัติธรรมโดยปราศจากข้อกังวลใดๆ แต่นายแสวงก็ไม่ได้รับปากแต่อย่างใด เป็นอันว่าเมื่อมีโอกาสหรือรู้ว่ามีสัตว์ใหญ่ลงมาหากินในละแวกนี้ นายแสวงเป็นต้องเตรียมอาวุธออกสะกดรอยตามทุกครั้งไป 
                วันหนึ่งนายแสวงออกล่าสัตว์ตามปกติก็ปรากฏว่าได้ยินเสียงหายใจของสัตว์ขนาดใหญ่ดังมาจากทางด้านก้อนหินใหญ่ ดังครืด..ๆ..ๆ..    นายแสวงตามเสียงไปได้ไม่ไกลก็พบรอยตีนหมีควายขนาดใหญ่เดินอยู่ทางด้านกุฏิแม่ชี นายแสวงสะกดรอยตามไปจนกระทั่งเห็นหมีควายขนาดใหญ่หน้าอกด่างสีเหลืองปนขาวนอนกลิ้งเล่นไปมาอยู่บนก้อนหินอย่างไม่เกรงกลัวภัยที่กำลังจะมาถึงตัว
                โดยสัญชาติญาณของพรานไพรผู้ช่ำชอง เช่น นายแสวงไม่ต้องรอช้า ยกปืนประทับบ่าเล็งไปที่เป้าหมายคือกลางหน้าผากของหมีควาย แล้วเหนี่ยวไกลปล่อยกระสุนออกไปทันที ร่างของหมีควายกลิ้งตกไปจากก้อนหินดัง ตุบ ! นายแสวงกะว่าจะเดินไปลากคอหมีควายลงเขากลับบ้าน...แต่แทนที่จะพบหมีควายนอนตาย  กลับพบว่าหมีควายที่โดนกระสุนเข้าเต็มกลางหัว เดินต้วมเตี้ยมไปโผล่หน้ามองนายแสวงอีกด้านหนึ่งของมุมก้อนหินใหญ่ นายแสวงบรรจุกระสุนยิงไปที่เป้าหมายอีกครั้งหนึ่ง เจ้าหมีควายตัวเดิมก็เดินมาโผล่หน้ามองนายแสวงอีกด้านหนึ่ง
                เสียงปืนดังอยู่บนเขาไม่ต่ำกว่า ๒๐ นัด ดังจนเป็นที่แปลกใจของชาวบ้านที่อยู่ตีนเขา นายอ๋อย แก้วทรัพย์ บ้านอยู่หน้าวัดเช่นกัน อดทนที่จะได้ยินเสียงปืนต่อไปไม่ไหวเพราะเสียงปืนดังอยู่ระหว่างกุฏิแม่ชี ด้วยความเป็นห่วงพระที่อยู่บนวัดว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น และอยากจะรู้ว่าใครกันน๊ะ ที่บังอาจไปยิงปืนบนวัดไม่เกรงใจพระสงฆ์องค์เจ้าเสียบ้างเลย นายอ๋อย แก้วทรัพย์  จึงเดินตามเสียงปืนขึ้นไปเรื่อย ๆ  จึงพบเห็นนายแสวง กำลังบรรจุกระสุนเตรียมยิงอีกซึ่งเป็นนัดสุดท้าย  นายอ๋อย  จึงเรียกตามภาษาคนคุ้นเคยกันว่า  เฮ้ย !..แหวง..แกยิงอะไรวะ..จะหมดวันอยู่แล้ว…”   ..ยิงหมีควาย  หมีควายหน้าอกเหลืองตัวเบ้อเร้อ แอบอยู่ข้างหินนั่น มองไม่เห็นเร๊อะ .มันไม่ยอมหนีไปไหนเสียด้วยซี  วันนี้ยังไง ๆ ต้องเอาเจ้าหมีควายตัวนี้ไปถลกหนังให้ได้…” นายแสวงตอบพร้อมกับบรรจุกระสุนเข้าลำกล้องเตรียมยิงเป็นนัดสุดท้าย  แหวง!  หมีควายตัวเบ้อเร่ออย่างนี้ ฉันไม่เคยเห็นแกยิงเกิน ๕ นัดซักที นี่หมีตัวเดียวแกยิงมาตั้งแต่เช้าจนเที่ยงวันแล้ว ยิงจนกระสุนหมดย่ามแล้วไม่ถูกซักนัดเลย แกไม่แปลกใจบ้างหรือ ?.. ฉันว่าหมีที่แกว่านี่มันจะไม่ใช่หมีจริงมากกว่า นายอ๋อย กล่าว   ไม่ใช่หมีจริง แล้วจะเป็นหมีเจ้าที่เจ้าป่าอย่างนั้นเร๊อะ !..    ไม่ใช่หมีเจ้าป่าเจ้าเขาอะไรหรอก แต่ฉันว่าจะเป็นหมีท่านพ่อมากกว่า ฉันว่าท่านพ่อทรมานแกแล้วแหวง เอ๋ย !.. นายอ๋อย กล่าว..ว่าแล้วนายแสวงก็ชักจะเอะใจยอมลดกระบอกปืนลงจากป่าหันมาคุยกับนายอ๋อยว่า..
                ...ฉันก็แปลกใจตัวฉันเองเหมือนกันว่า วันนี้มือฉันจะตกขนาดนี้เชียวหรือ ทั้งที่นัดแรกก็กะว่าถูกกลางหัวจนกลิ้งตกลงไปข้างล่าง แต่ทำไมจึงไม่มีรอยเลือดแม้แต่หยดเดียว แถมยังไม่ยอมหนีไปไหน กับมาโผล่หน้าหลอกล่อให้ยิงจนอ่อนใจแล้ว ขอลองอีกทีนัดสุดท้าย ถ้าไม่โดนก็จะขอเชื่อว่าเป็นหมีท่านพ่อแน่ ๆ...
                ..กระสุนนัดสุดท้ายพุ่งออกจากปากกระบอกปืนเข้าสู่เป้าหมาย คือ เจ้าหมีควายหน้าอกด่างข้างก้อนหินที่โพล่หน้าออกมาให้ยิงอย่างท้าทาย..ตูม!.. และก็เหมือนเดิมคือไม่ถูกเป้าหมายใด ๆ ทั้งสิ้นและก็ไม่ทราบว่ากระสุนออกไปด้านทิศใด  นายแสวงมือสั่นหมดแรงที่จะประคองปืน  พูดกับนายอ๋อยว่า ฉันเชื่อแล้วว่าต้องเป็นท่านพ่อมาทรมานฉัน อย่างที่แกว่าจริง ๆ…”  นายอ๋อย  แก้วทรัพย์จึงบอกว่า “…พรุ่งนี้แกต้องไปขอขมาท่านพ่อซ๊ะ เดี๋ยวจะเป็นบาปเป็นกรรม  แล้วทีหลังก็อย่ามายิงสัตว์ในเขตนี้อีก…” วันต่อมา นายอ๋อย แก้วทรัพย์ ก็ได้พา นายแสวง แถลงถ้อย ขึ้นวัดเดินตรงไปบนศาลา บนอาสนะสงฆ์มองเห็นหลวงปู่ครองจีวรเรียบร้อยนั่งคอยท่า เหมือนอย่างกับรู้ว่านายพรานใหญ่ประจำเขตนี้จะขึ้นมาหา คำแรกที่หลวงปู่เอ่ยทักทายว่า  ...เป็นไง  แหวง!  เมื่อวานยิงหมีทั้งวันสนุกดี น๊อ !  ไม่มีทางได้กินหรอกเสียลูกปืนเปล่า ๆอาตมาต้องขอบิณฑบาตด้วย อย่าหาว่าพระขัดลาภเลย บริเวณเขตนี้ขอเอาไว้เป็นเขตอภัยทานเถอะนะโยมแหวง.ไม่ว่าสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ อย่าทำลายชีวิตกันเลย อย่าเบียดเบียนกันเลย เขาก็ชีวิต เราก็ชีวิต สัตว์นั้นเป็นเสมือนเพื่อนร่วมโลก เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย  อาตมาขอบิณฑบาตเถิด  ถ้าโยมแหวงให้อาตมาได้ ต่อไปวันข้างหน้าโยมแหวงจะมีความสุข มีความเจริญ ลูกเต้าก็จะร่ำรวยมหาศาล.. นายแสวงก้มลงกราบหลวงปู่พร้อมกับกล่าวคำขอขมาลาโทษ ให้หลวงปู่ยกโทษให้ และขอรับข้อที่หลวงปู่ขอบิณฑบาตทั้งหมดด้วยความเต็มใจ
                ปัจจุบันนี้ นายแสวง แถลงถ้อย ได้ล้างมือเลิกจากการล่าสัตว์ทุกชนิดหันมาประกอบอาชีพทำสวนผลไม้  ลูก ๆ หลายคนเป็นพ่อค้าทุเรียนส่งนอกทำรายได้ให้ครอบครัว ตัวของนายแสวงหันหน้าเข้าวัด ช่วยงานวัดทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ติดตามไปทอดผ้าป่า กฐิน ต่างจังหวัดกับหลวงปู่ทุกครั้งไม่เคยขาด รับใช้พระภิกษุสามเณรภายในวัดอย่างลูกศิษย์ที่ดีคนหนึ่ง
(ฐานข้อมูลจากนายแสวง แถลงถ้อย...ยังมีชีวิตอยู่)

ฉันข้าวทิพย์

          หลวงปู่เล่าว่า...สมัยเมื่อคราวบำเพ็ญเพียรอยู่แถบอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม  ในระหว่างนั้นได้มีธุระจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาจังหวัดนครราชสีมาพร้อมกับผ้าขาวน้อยคนหนึ่ง  เมื่อทำธุระที่จังหวัดนครราชสีมาเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เดินทางกลับจากนครราชสีมาไปอำเภอคำชะอี เดินบ้างนั่งรถบ้างเพราะบางครั้งก็มีศรัทธาจากรถยนต์ที่วิ่งผ่านเขาจอดนิมนต์ให้ขึ้นก็ขึ้นบ้าง ถึงแค่ไหนก็เดินต่อ ที่นี้ระหว่างจากอำเภอคำชะอีจะต้องเดินลัดตัดทุ่ง ตัดป่าตัดดงบ้าง ซึ่งก็เป็นธรรมดาของพระธุดงค์อยู่แล้วที่จะต้องเดินทางในลักษณะเช่นนี้...แต่ไหนแต่ไรก็ไม่เคยมีปัญหาว่าจะหลงป่าแม้แต่ครั้งเดียว แต่คราวนี้จะเป็นด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบ พอเดินทางออกจากอำเภอคำชะอี  กะว่าจะเดินลัดตัดดงไปทางทิศเหนือ เพื่อจะได้ถึงถ้ำพระเวสได้เร็วขึ้นกว่าการเดินอ้อม ซึ่งจะต้องเดินอ้อมและจะต้องนอนค้างกลางดงอีกหนึ่งคืนด้วยจึงจะถึงถ้ำพระเวส  ด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการนอนค้างกลางดงเพราะสงสารเด็กผ้าขาวน้อย และต้องการให้ถึงที่พักเร็วขึ้น อีกอย่างหนึ่งก็ต้องการทดสอบศึกษาเส้นทางใหม่ด้วย จึงได้ตัดสินใจใช้เส้นทางนี้...ผมก็ออกเดินทางอย่างที่คิดไว้นั้น พร้อมด้วยผ้าขาวน้อย  พอเดินพ้นหมู่บ้านก็เข้าดง คาดคะเนตามทิศแล้ว เมื่อพ้นดงก็ถึงถ้ำพระเวสซึ่งไม่ไกลเลย น่าจะถึงก่อนค่ำเสียด้วยซ้ำ...แต่พอเข้าดงไปได้พอสมควรก็เริ่มสับสน เนื่องจากเส้นทางของชาวบ้านที่เดินหาของป่าชักจะขวักไขว่มีหลายทางด้วยกัน ก่อนเข้าดงก็เล็งเอาไว้อย่างดีแล้วว่ายอดภูเขาข้างหน้าเรานั้นอยู่ทิศเหนือมียอดต้นกะพงที่สูงกว่าเพื่อนเป็นที่สังเกต ก็เดินดิ่งใส่ต้นกะพง   แต่แล้วยิ่งเดินยิ่งไกลออกไป ๆ...เอ ! บอกเด็กว่า  อืม!..ชักไม่ได้เรื่องเสียแล้ว ทำไมวันนี้คาดคะเนผิดพลาดอย่างนี้ได้อย่างไร เวลาก็โพล้เพล้ ตะวันก็ลับทิวยอดไม้ลงไปแล้ว เสียงสัตว์ร้องเรียกกันกลับรวงรังแล้ว  จักจั่นและหริ่งเรไรก็ร้องระงมยิ่งให้วังเวงขึ้นเรื่อย ๆ...สงสารผ้าขาวน้อย กลัวว่าจะเดินต่อไม่ไหว จึงหาที่ให้เด็กนอนเอาแรงเสียก่อน ส่วนผมก็หาที่แขวนกลดพักผ่อนเหมือนกัน กะว่าพอรุ่งเช้าคงจะเดินพ้นป่านี้ ไปบิณฑบาตฉันข้าวที่หมู่บ้านข้างหน้า หรืออาจจะถึงถ้ำก็ได้
                เสียงไก่ที่หมู่บ้านขันบอกเวลาว่าใกล้สว่างแล้ว ปลุกเด็กเตรียมเก็บของเพื่อเดินทางต่อ มองตะวันเอาไว้แล้วว่าตะวันขึ้นด้านนี้ ว่าแล้วก็ออกเดินทางต่อเดินไป ๆ ก็ไม่พ้นป่าสักที  เอ!..มันยังไงชอบกล เดินกันไปสองคนจนเด็กเหนื่อยล้าแล้ว ดวงตะวันก็ใกล้เที่ยงเข้ามาทุกขณะ เสบียงก็ไม่มีติดมา เหลือแต่น้ำติดก้นกระติกอยู่นิดหน่อย ผมจึงบอกให้เด็กผ้าขาวน้อยนั่งพักเหนื่อยก่อน ผมก็เดินสังเกตเส้นทางที่สับสนขวักไขว่กันอยู่นั้นว่าจะไปอย่างไรกันแน่ เดินไปได้ไม่ไกลนัก ก็เริ่มได้กลิ่นข้าวนึ่ง รู้สึกแปลกใจว่า  เอ๊ ! กลิ่นข้าวใหม่ ๆ อย่างนี้จะมาได้อย่างไร ต้องมีคนหุงข้าวอยู่ไม่ไกลที่นี่แน่นอน  เดินตามกลิ่นข้าวไปเรื่อย ๆ  ก็พบชายวัยกลางคนสามคนกำลังนั่งคุยกันเพื่อรอข้าวสุก ผมก็เข้าไปสอบถามว่า...พ่อออก(โยมผู้ชาย)ไปอย่างไรมาอย่างไรจึงมานั่งหุงข้าวอยู่ในกลางดงอย่างนี้ ?...ผมมาจากโคราชครับ !... มาหาจับจองที่ดินเอาไว้ทำมาหากิน...เขาตอบ พร้อมกับถามผมว่า! ...ว่าแต่หลวงพี่เถอะครับฉันข้าวมาแล้วหรือยัง...แล้วก็ไปอย่างไรมาอย่างไรเล่าครับจึงมาเดินองค์เดียวอยู่ในป่าอย่างนี้?....เดินหลงป่าน่ะซีโยม!หาทางออกจากป่าไม่เจอ  ยิ่งเดินยิ่งลึกยิ่งหลงเข้ามาตั้งแต่เมื่อวานแล้วโยม...มากับเด็กน้อยอีกคน ให้นั่งพักรออยู่ตรงโคนต้นไม้ใหญ่โน่น อาตมาออกมาเดินหาทางเจอแล้วจึงจะเข้าไปรับ...เขาอุทานขึ้นว่า...โอว! อย่างนี้ก็แสดงว่าท่านยังไม่ได้ฉันข้าว เด็กก็ยังไม่ได้กินข้าวล่ะซี  นิมนต์ฉันข้าวก่อนดีกว่าครับ!...ไม่เป็นไรหรอกสำหรับอาตมาอดได้ครั้งละหลาย ๆวันไม่รบกวนโยมหรอกเดี๋ยวเสบียงของโยมจะหมดก่อนเวลาเปล่า ๆ...แค่ช่วยบอกทางออกจากป่าให้อาตมาก็พอแล้ว เรื่องข้าวปลาอาหารนั้นอาตมาขอบิณฑบาตให้เด็กลูกศิษย์กินก็พอแล้ว!...เขาบอกว่า ไม่ได้ ๆ หลวงพี่ก็ต้องฉันให้ผมด้วย  เดี๋ยวผมหุงเอาใหม่ฉันข้าวก่อนแล้วค่อยเดินทางต่อดีกว่าออกจากจุดนี้ให้เดินไปทางต้นกะพงใหญ่ ก็ถึงกระท่อมพักร้อนของพวกนายพราน  ถ้าจะไปถ้ำพะเวสก็ไปแยกซ้ายที่ต้นกะพงอีกที เดินไปอีกไม่ไกลก็จะถึงไร่ชาวบ้าน แล้วก็ถึงถ้ำพระเวส..เขาบอกทางด้วยชี้มือให้ดูยอดต้นกะพงที่มองเห็นลิบ ๆ นั้นด้วย ก็ต้นเดียวกันกับต้นที่ผมหมายตาเอาไว้ตั้งแต่ทีแรกแล้วนั่นเอง แต่เราเดินไม่ถูกเส้นทางเองจึงทำให้หลงซ้ายหลงขวาอย่างนี้ หรืออีกอย่างหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะพวกเทพเจ้าเหล่าเทพาเขาต้องการที่จะทำบุญ เขาก็ดลบันดาลให้มีเส้นทางสับสนปนเปจนพระเดินหลงหาทางออกไม่เจอ จนมืดค่ำเพื่อพวกเขาจะได้ทำบุญในตอนเช้าก็อาจจะเป็นได้เหมือนกัน หรือไม่ก็เป็นด้วยถึงคราววิบากกรรมที่เคยทำให้คนอื่นหลงทาง จึงต้องได้มารับกรรมเดินหลงป่าหลงดงก็เป็นได้...นี่ก็เป็นอีกนัยหนึ่งเหมือนกันเรื่องผลวิบากกรรม...
                เขาขยั้นขยออ้อนวอนให้ผมรับข้าวจากพวกเขาจนได้ ส่วนกับข้าว  ก็มีเผือกต้ม และถั่วหนึ่งห่อ งาคั่วหนึ่งห่อ เมื่อผมรับแล้วก็เดินกลับมาหาเด็กผ้าขาวน้อย บอกเด็กว่าเราโชคดีแล้ว!ไปพบชาวบ้านสามคน เขาเข้ามาถางป่าจับจองเอาที่ทำไร่ เขากำลังหุงข้าวกินกัน เข้าไปถามทางออกป่าจากพวกเขา  เขาบอกเสร็จแล้วก็ยังได้ถวายข้าวมาอีกด้วย...กินข้าวเสียก่อนแล้วเดี๋ยวเดินไปตามทางที่เขาบอกนี่..ไม่ช้าก็ถึง ผมปลอบใจเด็กพร้อมกับแบ่งข้าวให้เด็กไปด้วย ข้าวเหนียวปั้นเดียวที่เขาให้มาก็แบ่งเอาไว้ครึ่งหนึ่ง ให้เด็กครึ่งหนึ่ง ข้าวเท่ากำปั้นแบ่งแล้วเท่าไข่เป็ด ไม่น่าอิ่ม..แต่ก็เป็นเรื่องแปลกไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยพบว่า ข้าวอะไรจะมีกลิ่นหอมละมุนละไมขนาดนี้ ฉันข้าวหมดก้อนอิ่มพอดี ๆ  ถามเด็กผ้าขาวน้อยว่าอิ่มไหม? อิ่มครับ..เด็กตอบ..เสร็จแล้วก็สะพายกลดและถุงบาตรขึ้นบ่าบอกเด็กว่า ก่อนไปเราไปบอกลาพ่อออกสามคนนั่นก่อนดีกว่าหรือถ้าเขามีน้ำใจก็ขอให้เขาเดินไปส่งทางออกซักหน่อยก็น่าจะดี...ผมพาเด็กเดินย้อนกลับไปที่เก่าอีกครั้งหวังว่าจะไปบอกขอบใจในบุญกุศลก่อนลาจากกัน...แต่ไม่น่าจะเป็นไปได้  จะว่าผมจำที่ผิดไปหรือก็ไม่ใช่ ก้อนหินที่เขาเอามาวางก่อไฟหุงข้าวก็ยังวางอยู่ที่เก่า ขี้เถ้าก็ยังอุ่น ๆ..ผมกู่ร้องเรียกอยู่พักใหญ่ก็ไม่มีเสียงตอบ...เงียบ!ร่องรอยว่าจะถางป่าทำไร่อย่างที่เขาบอกก็ไม่มีแม้แต่น้อยเลย.คิดไปคิดมาก็มานึกถึงที่ครูบาอาจารย์เคยบอกว่า ถ้าหลงป่านะ อย่างพระผู้มีศีลบริสุทธิ์นี่ไม่ต้องกลัวอด...มนุษย์ไม่เดือดร้อน ผีก็เดือดร้อน  ผีไม่เดือดร้อน เทวดาก็เดือดร้อน  ยิ่งพวกเทวดายิ่งอยากทำบุญ รู้ว่ามีคนหลงป่าที่ไหนล่ะก็ จะต้องจำแลงแปลงกายลงมาใส่บาตรทำบุญกัน ครูบาอาจารย์สมัยก่อนนั้นจึงเที่ยววิเวกอยู่ตามป่าเขาลำเนาไพรโดยไม่กลัวอดตายก็เพราะอย่างนี้  ครูบาอาจารย์บางรูปจะอยู่ในป่าเป็นอาจิณเพื่อโปรดพวกเทวดา จะมีเทวดาลงมาใส่บาตรให้ฉันทุกวัน อย่างเดียวกับที่ผมได้พบมานี้ก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็อาจเป็นพวกคนลับแล หรือพวกบังบดอะไรทำนองนั้นก็มี  พวกนี้จะมีกายเป็นทิพย์ มีที่อยู่อีกภูมิหนึ่งที่ซ้อนกับภูมิของมนุษย์เรานี้นั่นเอง..ในชีวิตของผมได้พบและได้ฉันข้าวเทวดาเพียง ๒-๓ ครั้ง จากการเดินหลงป่าทั้ง ๒-๓ ครั้ง  แต่ไม่รู้ว่าหลงจริง ๆ หรือพวกเทพเทวดาบันดาลให้หลงก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ละครั้งนั้นก็ได้ฉันข้าวทิพย์อย่างเดียวกัน อีกครั้งหนึ่งนั้นผมก็เดินไปกับสามเณรสองรูปแถบมุกดาหารนั่นแหละ สมัยก่อนนั้นป่าคือป่าจริง ๆ เป็นดงดิบจริง ๆ...ต่อมาก็ได้ยินชาวบ้านพูดกันว่าบริเวณนั้นเขาเรียกกันว่า หินจุ้มซุมเส้า คือหินสามก้อนวางเป็นสามเส้านั่นเอง คงจะเป็นสถานที่สำหรับเทวดามาหุงข้าวด้วยก้อนหินวางเป็นสามเส้าทำนองนั้นกระมัง.อีกครั้งก็ที่กลางดงพญาเย็น เขาใหญ่ โคราช...ว่าแล้วก็เป็นเรื่องที่แปลก มีอย่างที่ไหนกันในกลางดงขนาดนั้นจะมีโยมเข้าไปหาจับที่ทำไร่ แล้วข้าวที่เขาถวายมานะครับ หอมกลมกล่อม ฉันแล้วอิ่มอยู่ได้ถึง ๗ วัน...
(หลวงปู่เล่าเรื่องนี้ให้พระภิกษุสามเณรฟังภายหลังจากสรงน้ำประจำวันเสร็จแล้ว)

เอาตัวรอดจากมาตุคาม

          หลวงปู่เล่าว่า..เรื่องมาตุคามกับพระ  หรือเรื่องเนื้อคู่  หรือคู่วาสนา คู่บารมี นั่นเอง ผู้ที่เป็นครูบาอาจารย์จะต้องผ่านเรื่องเหล่านี้มากันเกือบทุกรูป บางรูปถ้าไม่ได้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ช่วยเหลือที่ดีแล้วล่ะก็พังทุกราย ดูอย่างเรื่องของหลวงปู่หลุยเป็นตัวอย่าง (หลวงปู่เล่าเรื่องหลวงปู่หลุยให้ฟังต่อไปว่า)  หลวงปู่หลุย  จนฺทสาโร เป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของหลวงปู่มั่นอีกรูปหนึ่ง  ในสมัยที่อยู่กับหลวงปู่มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น  หลวงปู่หลุยก็เป็นพระหนุ่ม แต่ค่อนข้างจะมีประวัติอะไรที่แปลกอยู่เช่นกัน...วันหนึ่งหลวงปู่มั่นปรารภกับพระในวัดซึ่งก็ได้ยินกันหมดทั้งวัดว่า ท่านหลุย ท่านไม่สมควรที่จะอยู่ที่นี่ให้ไปหาที่อยู่ที่อื่น...หลวงปู่หลุยก็แปลกใจว่าทำไมหลวงปู่มั่นจึงห้ามไม่ให้อยู่  เราก็ไม่ได้ทำอะไรผิดนี่นา ! หลวงปู่หลุยก็เข้าไปกราบเรียนขออนุญาตหลวงปู่มั่นอีกว่า ...ขอได้โปรดเมตตาให้เกล้าอยู่รับใช้พ่อแม่ครูบาอาจารย์ต่อไปด้วยเถิด ถ้าได้กระทำอะไรผิดพลาดก็กราบเท้าขอขมาลาโทษด้วย...เมื่อหลวงปู่หลุยมาบอกเช่นนั้นหลวงปู่มั่นท่านก็เมตตาให้อยู่ต่อแต่มีข้อแม้ว่า...ถ้าจะอยู่ที่นี่อีกต่อไป ก็ห้ามไปบิณฑบาตสายที่ผมเดิน...คือ หลวงปู่มั่นได้สั่งห้ามไม่ให้หลวงปู่หลุยเดินตามท่านไปบิณฑบาตด้วยนั่นเอง...หลวงปู่หลุยก็เชื่อฟังและได้ปฏิบัติตามคำสั่งของหลวงปู่มั่นด้วยดีตลอดมา...จนเวลาผ่านไปนานพอสมควร วันหนึ่งหลวงปู่มั่นเดินทางไปวิเวกต่างสถานที่ ก่อนที่จะออกเดินทางหลวงปู่มั่นก็กำชับพระเณรในวัดอีกครั้งหนึ่งว่า คอยระวังท่านหลุยด้วย อย่าปล่อยให้ไปบิณฑบาตสายนี้อย่างเด็ดขาดนะ...ด้วยความกังขาต่อคำสั่งของหลวงปู่มั่นที่สั่งห้ามไม่ให้ไปบิณฑบาตสายดังกล่าวนั้นฝังอยู่ในใจของหลวงปู่หลุยมาเป็นเวลานานนั่นเอง...เมื่อหลวงปู่มั่นไม่อยู่ หลวงปู่หลุยจึงคิดว่าเป็นเพราะเหตุไรหลวงปู่มั่นจึงมาห้ามเราอย่างนี้..วันนี้เป็นอย่างไรก็เป็นกัน จะต้องเดินไปบิณฑบาตสายต้องห้ามนี้ให้ได้.ว่าแล้วเช้าวันรุ่งขึ้นหลวงปู่หลุย ก็เดินไปบิณฑบาตสายที่หลวงปู่มั่นสั่งห้ามนั่นเอง.ถึงแม้ว่าพระเณรจะช่วยกันทัดทานห้ามอย่างไรหลวงปู่หลุยก็ไม่ฟังเสียงใคร เพราะอายุพรรษามากกว่ารูปอื่นนั่นเอง พระเณรรูปอื่น ๆ มีแต่พรรษาต่ำกว่าก็เกรงใจไม่สามารถที่ห้ามเอาไว้ได้ จึงได้ปล่อยให้หลวงปู่หลุยเดินไปบิณฑบาตสายต้องห้ามนั้นอย่างไม่สามารถที่จะทัดทานได้...
                เดินไปจนสุดหมู่บ้านหลวงปู่หลุยก็นึกในใจว่า เอ๊!..หลวงปู่มั่นมาห้ามเราด้วยเรื่องอันใดไม่มีเหตุไม่มีผล ก็แค่เดินบิณฑบาตธรรมดา ๆ นี่ไม่เห็นจะมีอะไร?  ขณะที่เดินบิณฑบาตขากลับวัดในระหว่างทางได้มีหญิงสาวนางหนึ่งลงมาใส่บาตรตามปกติที่เคยทำประจำทุกวัน ขณะที่หญิงสาวเอื้อมมือจะใส่บาตร หลวงปู่หลุยก็กำลังเปิดบาตร ฉับพลันสายตาของหลวงปู่หลุยกับสายตาของหญิงสาวนางนั้นก็ประสานกันพอดี  ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์จะร้ายแรงและเป็นได้ถึงขนาดนี้...หญิงสาวนางนั้นถึงกับเป็นลมล้มลง ช็อกหมดสติกระติบข้าวหลุดหล่นจากมือกลิ้งไปกับพื้นดินทันที... ฝ่ายหลวงปู่หลุยซึ่งบำเพ็ญตบะบารมีมาถึงขนาดนั้นแล้วก็ถึงกับเข่าอ่อนเป็นลมล้มพับไปเหมือนกัน บาตรที่สะพายอยู่บนบ่าถึงกับหลุดล่วง พระเณรที่เดินตามมาด้วยต้องรีบช่วยกันเข้าประคองสองปีกซ้ายขวา รูปหนึ่งก็เข้ามาช่วยรับบาตร เสร็จแล้วก็พากันหิ้วปีกหลวงปู่หลุยกลับวัดทันที...นี่!..ดูเถิดครับ..เรื่องคู่วาสนาคู่บารมีมันไม่เข้าใครออกใคร มันร้ายถึงขนาดนี้...หลวงปู่มั่นท่านรู้อยู่แล้วว่าคู่วาสนาของหลวงปู่หลุยมาเกิดอยู่ที่นี่ถ้าได้พบกันแล้วจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น หลวงปู่มั่นจึงห้ามไม่ให้หลวงปู่หลุยอยู่ที่นั่น แต่เมื่อหลวงปู่หลุยดื้อที่จะอยู่ก็ห้ามไม่ให้ไปบิณฑบาตด้วย แต่แล้วก็หนีกรรมไม่พ้นอยู่ดี...
                สมัยที่ผมเป็นพระหนุ่มก็ต้องต่อสู้เรื่อง คู่วาสนา อย่างนี้อยู่ถึง 2-3 ครั้งเหมือนกัน แถบเอาตัวไม่รอด ก็เพราะตัวเมตตาตกบ่อนี่แหละครับ ตัวเมตตาสงสารเขานั่นแหละจะทำให้เราเสียคน ต้องกำจัดตัวเมตตาสงสารให้ได้ ถ้าเราคิดสงสารเขาเราตายลูกเดียวจะบอกให้ !...สมัยที่ผมอยู่บ้านธาตุนาเวง สกลนคร ประเพณีทางอีสานไม่เหมือนเมืองจันท์เรานะครับ พระไปบิณฑบาตกลับมาแล้วก็จะมีพ่อออกแม่ออก(โยมผู้ชายโยมผู้หญิง)หาบกับข้าวตามมาส่งที่วัด ทางอีสานเขาเรียกว่า มาจังหันพระ  ในบรรดาผู้ที่มาจังหันนั้นผมก็ไม่ได้สังเกตว่าใครเป็นใครผมก็สำรวมจิตใจของผมอยู่ตลอดเวลา  ทีนี้เมื่อถึงคราวมันจะเป็นขณะที่กำลังแจกอาหารใส่บาตรอยู่นั้นผมก็จำไม่ได้ว่าผมกำลังมองหาอะไร  มองไปมองมาก็ไปสะดุดกับสายตาของสาวน้อยรูปงามคนหนึ่งเข้าอย่างจัง สังเกตเห็นเขานั่งมองผมอย่างจดจ้องตาไม่กระพริบ...เมื่อผมกวาดสายตาไปเจอเข้าเท่านั้นก็ถึงกับใจเต้นตุบ ๆ ตับ ๆ แทบระเบิดออกมานอกอกเหมือนกัน..เสร็จแล้วผมก็ก้มลงมองบาตรพิจารณาปัจจเวกอาหารเตรียมฉัน แต่ใจมันก็ยังเต้นตุบตับ ๆ  ยอมรับว่าวันนั้นผมฉันข้าวไม่ได้เลย  ต้องรีบอิ่มลุกออกจากที่นั่งกลับกุฏิทันที ธรรมเนียมเมืองอีสานนั้นใครอิ่มก่อนลุกก่อนอยู่แล้ว  ผมล้างบาตรเสร็จก็เข้าที่เดินจงกรมทันทีเกรงว่าจิตจะตกไปมากกว่านี้ เดินจงกรม พุท-โธ ๆ ๆ ตั้งแต่เช้าจนเที่ยงจิตก็สงบลงไปได้มากแต่ก็ยังไม่หมดเสียทีเดียว  ยังวิตกวิจารณ์ถึงนัยน์ตาของหญิงสาวนางนั้นอยู่ดี รอบบ่ายกวาดวัดเสร็จก็เข้าที่เดินจงกรมต่ออีกจนกระทั่งดึกประมาณสองยามเห็นจะได้ขณะที่จิตสงบดิ่งอยู่กับการเดินจงกรมอยู่นั้น  สัญชาติญาณของคนเราก็จะพอรู้ว่าใกล้ ๆ ตัวเราขณะนี้มีสิ่งผิดปกติอยู่  ยิ่งเป็นสิ่งมีชีวิตยิ่งรู้ได้เร็ว  ขณะที่ผมเดินจงกรมกลับไปกลับมาอยู่นั้น  ผมมองผ่านแสงเทียนไขที่จุดไว้ในโครมผ้าสีหมอง ๆ นั้น   สังเกตว่าที่ริมทางเดินจงกรมได้มีเงาตะคุ่ม ๆ คล้ายคน  ในใจก็คิดอีกว่าหรือจะเป็นผี  เพราะทางเดินจงกรมของผมอยู่ในป่าช้าฝังศพ มองไปทางไหนก็มีแต่หลุมศพทั่วไปหมด  หรือจะเป็นหมามาหากินเศษอาหารเครื่องเซ่นศพที่ตอนกลางวันนี้มีการฝังศพกัน  ผมคิดไปเอง...
จุ๊. จุ๊.!..ผมจุ๊ปากเพื่อไล่หมา  แต่ก็ เงียบ!ไม่มีเสียงกร๊อบแกร๊บอะไรอีก  ในใจก็คิดอีกว่าถ้าเป็นหมาก็ต้องวิ่งเหยียบใบไม้ให้ดังไปหมดทั้งป่าแล้ว   เอ๊!..ทำไมเงียบ หรือว่าจะเป็นเด็กวัยรุ่นหัวขโมยจะมาแอบลักของวัดหรืออย่างไร? หรือว่าจะเป็นผี! เพราะเมื่อมองผ่านแสงเทียนไขออกไปก็เห็นเงาคล้ายคนเรานี่นา  ผมจึงถามออกไปอย่างนั้นแหละไม่ได้หวังผลอะไรมาก? แต่ผลที่กลับมาเกินกว่าที่คาดคิด...ใครน่ะ!มาแอบทำอะไรแถวนี้...ทองเอง ค่ะ! ทองทิพย์ ค่ะ...ใจผมหายวาบ! หนูมาจังหันทุกวันจำหนูไม่ได้หรือ!เมื่อเช้าที่หลวงพี่มองมาทางหนูยังไงเล่าค๊ะ!..ผมก็ถึงบางอ้อทันทีเลย...มาทำไมในป่าช้าดึกดื่นมืดค่ำอย่างนี้  ไม่กลัวผีหรอกหรือ!... มาชวนหลวงพี่ไปอยู่บ้านหนู หนูแอบชอบหลวงพี่มานานแล้ว...หนูเป็นลูกคนเดียวของเตี่ย  แม่หนูตายตั้งแต่เล็กไม่เคยเห็นหน้าแม่เลย  เตี่ยรักหนูแต่เตี่ยก็หวงหนูไม่ให้หนูไปไหนให้คาดสายตาเลย ป่านนี้คงจะตามหาทั่วเมืองแล้วก็ไม่รู้เหมือนกัน..เสียงของเขาบาดลึกถึงหัวใจเหมือนอะไรบอกไม่ถูก ยิ่งพูดยิ่งสงสารเขา  บอกไม่ถูกเหมือนกันว่าสงสารเขาทำไม  สงสารเขาได้อย่างไร?...ผมดูจิตของผมแล้วก็ทราบได้ดีว่า ..เมตตากำลังจะตกบ่อเสียแล้ว  เพราะความเมตตาสงสารนี่เอง...และก็เกรงว่าถ้าพระเณรหรือใครผ่านมารู้เห็นเข้าก็จะไม่ดีไม่งาม  อีกอย่างหนึ่งก็ผิดพระวินัยด้วยที่เรามายืนคุยกับมาตุคามสองต่อสองในที่ลับหูลับตายามวิกาลเช่นนี้  ผมจึงรวบรัดตัดความว่า เอาอย่างนี้ดีไหม!วันนี้หลวงพี่ไม่ได้เตรียมสิ่งของอะไรมาด้วยเลย เพราะไม่รู้ว่าเธอจะมา ถ้าจะกลับเข้าไปเอาสิ่งของเดี๋ยวหมู่คณะพระเณรก็จะเห็น อีกอย่างหนึ่งก็ดึกมากแล้ว เราเดินทางกันไปได้คงไม่ไกลก็สว่าง คนแถวนี้ก็รู้จักเธอกันทั้งนั้น..เอาเป็นว่าวันพรุ่งนี้เรานัดเจอกันใหม่ดีไหม? หลวงพี่จะได้จัดเตรียมสิ่งของออกมาพร้อมแล้วค่อยว่ากัน วันนี้ให้เธอกลับบ้านก่อน..เธอคงนึกว่าผมมีใจเอนเอียงเป็นไปกับเธอด้วย...ก่อนออกเดินทางกลับบ้านเธอก็หันกลับมาย้ำกับผมอีกว่า...พรุ่งนี้ ก็พรุ่งนี้...
ผมมองเห็นเงาเธอเดินพ้นสายตาแล้ว  ผมก็รีบออกจากทางจงกรมกลับกุฏิทันทีเลยเหมือนกันกลัวว่าเธอจะหวนกลับมาอีก  ถึงกุฏิแล้วก็เตรียมเก็บสิ่งของอัฐบริขารใส่บาตรอย่างเร็ว   ฝากพระเพื่อนกันให้ช่วยกราบลาครูบาอาจารย์แทนด้วย เสร็จแล้วก่อนสว่างคืนนั้นผมก็รีบออกเดินทางมุ่งหน้าไปถ้ำเจ้าผู้ข้าทันที  เพราะเกรงว่าถ้าอยู่จนถึงสว่างแล้วเธอจะต้องมาจังหันจะต้องได้พบหน้าเธออีก  อาจจะทนความสงสารเธอไม่ได้...พอถึงถ้ำเจ้าผู้ข้าผมก็เดินจงกรมนั่งสมาธิประคองจิตใจของผมไม่ให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของลูกสาวพญามารนางนั้นอีกต่อไป...ผมไม่ได้ฉันข้าวเป็นเวลา ๑๕ วัน เพื่อต้องการทรมานจิตของผม  แล้วผมก็สามารถผ่านเหตุการณ์ในครั้งนั้นมาได้อย่างสง่างาม  นึกขึ้นมาคราวใดก็ภาคภูมิใจในตัวเองเป็นที่สุด...หวุดหวิดเกือบจะเสียทีลูกสาวพญามารเข้าให้เสียแล้ว...
พวกเราพระหนุ่มเณรน้อยทุกรูปก็ขอให้ระมัดระวังเอาไว้ให้ดี บางทีเราอาจจะคิดไม่ถึงว่าจะได้พบกับคู่วาสนาเมื่อไร ที่ไหน กับใคร  ข้อสำคัญตัวเมตตาสงสารนั่นแหละสำคัญนัก  จะทำให้เราตกบ่อหรือตกหลุมได้ จะเสียพระ จะเสียคน พระผู้ใหญ่หลายรูปก็พังเพราะตัวเมตตาตกบ่อนี่แหละครับ !.  .จำเอาไว้...
(หลวงปู่เล่าเรื่องนี้ให้พระเณรฟังภายหลังจากสรงน้ำประจำวันเสร็จแล้ว)




ไม่มีความคิดเห็น: