วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2552

เกี่ยวกับความเป็นมาของมุตโตทัย

...
ความเป็นมาของมุตโตทัย
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-mun/lp-mun-hist-06-04.htm

สมัยที่อยู่วัดป่าบ้านหนองผือนั้น เวลาได้ฟังท่านพระอาจารย์พูดคำใดซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นที่พอใจ ผู้เล่าก็จะนำมาเขียนซ้ำ แม้แต่ท่านอาจารย์วิริยังค์ ท่านอาจารย์วัน ก็มีความคิดแนวเดียวกัน ทั้ง 2 องค์ เขียนแล้วก็เอามาวางไว้ให้ข้างที่นอนของผู้เล่า เป็นลักษณะคล้ายๆ กับบันทึกความเข้าใจ หรือบันทึกความจำเพื่อกันลืม
เหตุที่มาเป็นหนังสือมุตโตทัยนั้น เนื่องจากเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ขณะนั้นท่านเป็นรองเจ้าคณะภาค ท่านมาตรวจราชการ และได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ท่านพักอยู่ 3 คืน ที่กุฏิของผู้เล่า ตอนพักกลางวันท่านไปเห็นบันทึกนี้ก็เลยเอามาอ่าน พออ่านเสร็จ เราก็ขึ้นไปปฏิบัติท่านเจ้าคุณฯ เพราะเคยเป็นลูกศิษย์ท่าน ท่านสอนบาลีให้
ท่านเจ้าคุณฯ ถามว่า "อันนี้ใครเขียนล่ะ"
"เขียนหลายคนขอรับกระผม"
"มีใครบ้าง"
"มีกระผม ท่านอาจารย์วิริยังค์ และท่านอาจารย์วัน ขอรับกระผม"
"เออ...ดีมาก เราจะเอาไปพิมพ์"
"แล้วแต่ท่านเจ้าคุณ ขอรับกระผม"
ด้วยความเคารพ เพราะท่านมีบุญคุณ
ท่านจากไปประมาณสักสามเดือน ก็มีห่อหนังสือส่งมา ในนามของท่านพระอาจารย์มั่น ผู้เล่านำไปถวายท่าน
"อะไรนั่น" ท่านพระอาจารย์ถาม
"กระผมก็ยังไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้เปิดดู แต่ว่าคล้ายๆ กับหนังสือ"
"เปิดดูซิ"
คือ ลักษณะนิสัยของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านไม่ให้พูดตรงๆ ถ้ายังไม่ได้ดูเสียก่อน ไม่ให้พูดว่าอะไรอยู่ข้างใน เราจะไปบอกว่า หนังสือ ท่านไม่เอา
แม้แต่เครื่องใช้ไม้สอยบริขารที่ผู้เล่าเป็นพระภัณฑาคาริก (ผู้มีหน้าที่รักษาคลังเก็บพัสดุของสงฆ์ -ภิเนษกรมณ์) เวลาพระสงฆ์ไปขอสบง จีวร เพื่อผลัดเปลี่ยนน่ะ
ท่านจะถามว่า "ว่ายังไง ทองคำ มีไหม"
ก็ต้องบอกว่า "กระผมยังไม่ได้ดู จะลองไปดูเสียก่อน อาจจะมีก็ได้"
ต้องพูดอย่างนั้น ถ้าเราจะไปรับโดยตรงอ๋อมี มีถมไป มีเยอะแยะน่ะแหละ เดี๋ยวท่านตะเพิดเอา ท่านไม่ให้พูดตรงๆ ท่านให้พูดด้วยสติปัญญา ลักษณะคล้ายๆ กับพูดเลียบๆ เคียงๆ ไป ถ้าพูดเลียบเคียง ท่านก็ทราบเองว่า ของนั้นอยู่ แล้วเราก็เชื่อมั่นว่ามันมี แต่ถ้าเรายังสงสัยว่ามีอยู่ ก็ต้องบอกว่า
"ขอโอกาส ครูบาอาจารย์ กระผมยังสงสัยอยู่ ขอไปดูเสียก่อน" ต้องบอกว่ายังสงสัยอยู่
ถ้ามีก็บอก "กระผมยังไม่ได้เปิดดู อาจจะมีก็ได้"
ที่ท่านให้พูดอย่างนั้นน่ะเป็นคำสอน เพื่อฝึกสติปัญญาของสานุศิษย์ ให้มีสติด้วย ให้มีปัญญาด้วย ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น คำที่เราพูดออกไป ถ้าจะเป็นโทษแก่เราถึงขึ้นโรงขึ้นศาล เราก็สามารถที่จะเอาตัวรอดได้ เพราะฉะนั้นท่านถึงไม่ให้พูดตรง
เหมือนอย่างเราพูดว่า "ท่านครูบาอาจารย์ วันนี้ได้ปลานำมาใส่บาตรนะ นิมนต์ท่านฉันลาบ ฉันก้อยนะ"
พระฉันไม่ได้ ผิดพระวินัย เพราะออกชื่อโภชนะทั้งห้า ท่านคงจะถือหลักนี้แหละ
หลังจากท่านรับหนังสือมาแล้วจึงเปิดดู
"เอ เราเคยได้ยินเจ้าคุณอุบาลีฯ พูดว่า คุณมั่นเธอเทศนาด้วยภาษามุตโตทัย เป็นมุตโตทัย ภาษามุตโตทัยเป็นคำพูดของเจ้าคุณอุบาลีฯ แล้วทำไมจึงมาเป็นชื่อหนังสืออันนี้ล่ะ ได้มาจากไหน"
ผู้เล่า "ท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารไปค้นพบจากที่นอนของกระผม"
ท่านฯ "ใครเขียนล่ะ"
ผู้เล่า "เขียนหลายรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ท่านอาจารย์วิริยังค์ เพราะท่านเป็นผู้นำในการเขียน พวกกระผมก็ได้เขียน ท่านวันก็ได้เขียน ผิดถูกขอโอกาสครูบาอาจารย์ กระผมยอมรับผิดทุกอย่าง"
หลังจากท่านฉันจังหันเสร็จ ท่านก็เข้าห้อง ผู้เล่าก็ขึ้นไปปฏิบัติท่าน นำหนังสือขึ้นไปถวาย เป็นเวลาที่ท่านจะต้องพัก แต่ท่านไม่พัก อ่านต่อจนกระทั่งถึงเวลาที่ท่านฉันน้ำชา ผู้เล่าขึ้นไปทำข้อวัตร ท่านก็บอกว่า
"เออ ดีเหมือนกันนะ เป็นเทศนาคำย่อ ผู้มีปัญญาพิจารณาได้" ท่านว่าอย่างนั้น
พระอาจารย์วิริยังค์
หนังสือมุตโตทัยที่พิมพ์แจกในงานถวายเพลิงศพของท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ก็มีของท่านอาจารย์วิริยังค์เป็นบทนำ ต่อจากนั้นก็เป็นของหลวงตาทองคำเป็นอันดับ 2 อันดับ 3 คือ ท่านอาจารย์วัน ท่านทั้งหลายที่ได้อ่านหนังสือมุตโตทัย ก็คือหนังสือที่ท่านพระอาจารย์มั่นได้ตรวจทานแล้ว เป็นของที่ท่านยอมรับแล้วว่า ดีอยู่ เพราะว่าเทศนาเป็นคำย่อ แต่ผู้มีปัญญาก็พิจารณาได้
ท่านมักจะพูดเสมอเรื่องค่าของศูนย์ ท่านเปรียบถึงพระนิพพาน นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ พระนิพพานเป็นสูญอย่างยิ่ง
"ศูนย์ทำไมจึงมีอยู่ ทองคำ ลองเขียนดูซิ"
1-2-3-4-5-6-7-8-9-0 ธรรมดาเลขนั้นมีอยู่เก้าตัวใช่ไหม ที่มันนับได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วนเลขศูนย์มันอ่านได้ มันมีอยู่แต่ไม่มีค่า ฉะนั้นเอาไปบวกลบคูณหารกับเลข 1 ถึง 9 ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น แต่ศูนย์ก็ยังมีอยู่ เมื่อนำไปต่อกับเลขอื่น เช่น 1 ก็จะกลายเป็น 10 แต่ศูนย์อยู่ตามลำพังก็จะไม่มีค่า
เปรียบเหมือน ฐิติภูตัง คือ จิตดวงเดิมที่มีอยู่เป็นอยู่ แต่ถูกห่อหุ้มด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เมื่อชำระด้วย ศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว เป็นฐิติญาณัง จิตคือผู้รู้ว่าสูญจากอาสวะ และรู้ว่าสูญจากอาสวะก็เป็นบรมสุข พ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เป็นคู่กันกับ นิพฺพานํ ปรมํ สุญญํ
พระพุทธเจ้ารวมทั้งพระสาวก หลายหมื่นหลายแสนองค์ เข้าสู่พระนิพพาน เพราะพระนิพพานไม่มีที่เต็ม ว่างอยู่ตลอด อย่ากลัวพระนิพพานเต็ม พวกเราจงเร่งไปสู่พระนิพพานเหมือนกับพระพุทธเจ้าเถิด พระนิพพานไม่เต็มหรอก ท่านว่าอย่างนั้น
มีแต่พวกขี้เกียจ กุสิโต หีน วิริโย ท่านพูดเป็นภาษาบาลี
ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตาย ไม่มีที่สิ้นสุด แก้ให้ตกเน้อ แก้บ่ตกคาพาเจ้าไว้ แก้บ่ได้แขวนคำนำต่องแต่ง แก้บ่พ้นคาก้นย่างยาย คาย่างยายเวียนตายเวียนเกิด เวียนเอากำเนิดในภพทั้งสาม ภาพทั้งสามเป็นเฮือนเจ้าอยู่ ตายแล้วเกิด เกิดแล้วตายไม่มีที่สิ้นสุด
เหมือนกับศัพท์บาลีที่ว่า สงฺสาเร อนมตฺตคฺเค ในสงสารมีเบื้องต้นและที่สุด อันใครๆ ก็ตามไปรู้ไม่ได้แล้ว นอกจากพระสัพพัญญูเจ้าเท่านั้นจะรู้ได้ เพราะอาศัยอะไร เพราะอาศัยอวิชชาตัวนี้แหละหุ้มห่อ จึงไม่รู้
เวลาท่านมีอารมณ์สนุกๆ ก็จะพูดกับพวกเรา ด้วยภาษาพื้นๆ ธรรมดา ไม่ใช่ว่าท่านจะพูดพร่ำเพรื่อ บางทีท่านอาจจะพิจารณาว่า บุคคล สถานที่ วัตถุ นั่นล่ะ เรายังไม่ได้พูดให้ใครฟัง ท่านก็จะถือโอกาสจังหวะเวลานั้นพูด เกี่ยวกับพระแก้วมรกตเอย เกี่ยวกับพระนครปฐมเอย อะไรทำนองนี้

****
หมายเหตุคำอธิบายเรื่องหนังสือมุตโตทัย
http://loungpu.th.gs/web-l/oungpu/webpage/pl.html

จากคำชี้แจงของหนังสือแจกในงานฌาปนกิจศพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร

ในงานฌาปนกิจศพ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร คณะศิษยานุศิษย์ผู้ใหญ่ซึ่งมี เจ้าพระคุณ พระธรรมเจดีย์เป็นประธาน ได้ประชุมปฤกษาหารือการศพ ตกลงให้มีการรวบรวมประวัติ ธรรมเทศนา บทประพันธ์ และบทบรรยาย ของท่านอาจารย์ที่ยังกระจัดกระจายกันอยู่ มาพิมพ์รวมกัน เพื่อแจกเป็นมรดกแก่ศิษยานุศิษย์ทั่วถึงกันและเผื่อแผ่แก่สาธุชนทั่วไปที่ได้มาร่วมงานในการศพ หรือมิได้มาก็ดี จะได้เป็นอนุสรณ์กรณียวัตถุ ระลึกถึงท่านอาจารย์ไปตลอดกาลนานด้วย ที่ประชุมตกลงมอบภาระนี้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็เต็มใจรับภาระจัดทำตามประสงค์เพื่อสนองพระคุณของคุณครูบาอาจารย์ ผู้ประทานแสงสว่างทางจิตต์แก่ข้าพเจ้า

ในการเรียบเรียงประวัติของท่านอาจารย์ ได้อาศัยบันทึกคำบอกเล่า ของท่านอาจารย์ ตามที่พระภิกษุทองคำ ญาณภาโส บันทึกไว้ กับอาศัยปฤกษาไต่ถามท่านเทศ เทสรังสี ศิษย์พระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสได้ติดตามท่านอาจารย์ไปถึงเชียงใหม่ ได้อยู่ในสำนักท่านอาจารย์มากกว่าศิษย์อื่น และความจดจำของข้าพเจ้าเองประกอบกัน แม้ข้าพเจ้าจะได้อยู่ในสำนักท่านอาจารย์ชั่วเวลาน้อย ท่านอาจารย์ก็ได้บอกเล่าเรื่องอะไรต่ออะไรแก่ข้าพเจ้ามิใช่น้อย ชะรอยท่านจะเล็งเห็นว่า ข้าพเจ้าจะได้เขียนชีวประวัติของท่านในกาลอวสานก็อาจเป็นได้ ชีวะประวัติของท่านอาจารย์ที่เรียบเรียงนี้ ก็ไม่หมดสิ้น เนื่องจากมีเวลาน้อย หวังว่าคงได้รับอภัยจากศิษยานุศิษย์ทั้งหลายทั่วกัน

พระธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ ได้รวบรวมพิมพ์แล้วชุดหนึ่ง ซึ่งให้ชื่อว่ามุตโตทัย ในการพิมพ์ครั้งแรก ข้าพเจ้าบอกเหตุผลที่ให้ชื่อนี้ไว้แล้ว ผู้พิมพ์ต่อๆมาไม่รักษาคำนำเดิมไว้ จึงเป็นเหตุให้เกิดปัญหาว่า ชื่อนี้หมายความอย่างไร ? เป็นต้น จึงขอแถลงไว้ในที่นี้ เพื่อผู้พิมพ์ต่อไปจะได้ทราบเหตุผลและบอกไว้.

การที่ให้ชื่อธรรมเทศนา ของท่านอาจารย์ที่รวบรวมพิมพ์ชุดแรกว่ามุตโตทัยนั้น อาศัยคำชมของเจ้าพระคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันทเถร จันทร์) เมื่อคราวท่านอาจารย์แสดงธรรมว่าด้วย มูลกรรมฐาน ณ วิหารหลวงเชียงใหม่ว่า ท่านอาจารย์แสดงธรรมด้วยมุตโตทัย เป็นมุตโตทัย คำนี้ท่านอาจารย์นำมาเป็นปัญหาถามในที่ประชุมพระภิกษุเปรียญหลายรูป ซึ่งมีข้าพเจ้าร่วมอยู่ด้วย ในคราวที่ท่านมาพักกับข้าพเจ้าที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้าทราบความหมายของคำนั้นแล้ว แต่เห็นว่าเป็นอสาธารณนัย จึงกล่าวแก้ทางใจ ทันใดนั้นท่านก็พูดขึ้นว่าข้าพเจ้าแก้ถูก ซึ่งทำความประหลาดใจให้แก่ภิกษุทั้งหลายมิใช่น้อย ต่างก็มารุมถามข้าพเจ้าว่า หมายความว่าอย่างไร? ข้าพเจ้าบอกให้ทราบแก่บางองค์เฉพาะที่น่าไว้ใจ คำว่า มุตโตทัย มีความหมายเป็นอสาธารณนัยก็จริง แต่อาจเป็นความหมายมาเป็นสาธารณนัยก็ได้ จึงได้นำมาใช้เป็นชื่อธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ โดยมุ่งให้มีความหมายว่า เป็นธรรมเทศนาชี้บอกแนวทางปฏิบัติให้บังเกิดความหลุดพ้นจากกิเลส อาสวะ ซึ่งถ้าจะแปลสั้นๆ ก็ว่า แดนเกิดแห่งความหลุดพ้น นั่นเอง

ธรรมเทศนาชุดแรกนี้ พระภิกษุวิริยัง กับพระภิกษุทองคำเป็นผู้บันทึกในสมัยท่านอาจารย์อยู่จำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านโคกนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกลนคร และตอนแรกไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้ารับเอาบันทึกนั้นพร้อมกับขออนุญาตท่านอาจารย์พิมพ์เผยแผ่ ท่านก็อนุญาตและสั่งให้ข้าพเจ้าเรียบเรียงเสียใหม่ให้เรียบร้อย ตัดส่วนที่ไม่ควรเผยแผ่ออกเสียบ้าง ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติตามนั้นทุกประการ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีที่กระเทือนใจผู้อ่านอยู่บ้าง จึงขอชี้แจงไว้ในที่นี้ คือข้อที่ว่า พระสัทธรรม เมื่อเข้าไปประดิษฐานในสันดานของปุถุชนแล้ว ย่อมกลายเป็นของปลอมไปนั้น หมายความว่าไปปนเข้ากับอัธยาศัยอันไม่บริสุทธิ์ เมื่อแสดงออกแก่ผู้อื่น ก็มักมีอัธยาศัยอันไม่บริสุทธิ์ปนออกมาด้วย เพื่อรักษาพระสัทธรรมให้บริสุทธิ์สะอาด คงความหมายเดิมอยู่ได้ ควรมีการปฏิบัติกำจัดของปลอม คืออุปกิเลสอันแทรกซึมอยู่ในอัธยาศัยนั้นให้หมดไป ซึ่งเป็นความมุ่งหมายของท่านผู้แสดงที่จะชักจูงจิตใจของผู้ฟังให้นิยมในสัมมาปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าผู้ฟังมีใจสะอาด และเป็นธรรมแล้ว ย่อมจะให้สาธุการแก่ท่านผู้แสดงแน่แท้

ธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ที่ พระภิกษุทองคำ ญาโณภาโส กับ พระภิกษุวัน อุตฺตโม จดบันทึกไว้ในปัจฉิมสมัย คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๒ ก่อนหน้ามรณสมัยเพียงเล็กน้อยนั้น ได้รวบรวมนำมาเรียบเรียงเข้าหมวดหมู่ เช่นเดียวกับครั้งก่อน
ธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ชุดนี้ หากจะพิมพ์เผยแผ่ต่อไป ก็ควรพิมพ์รวมกันในนามว่า มุตโตทัย และควรบอกเหตุผล และผู้ทำดังที่ข้าพเจ้าชี้แจงไว้นี้ด้วย จะได้ตัดปัญหาในเรื่องชื่อ และที่มาของธรรมเทศนาด้วย

ส่วนบทประพันธ์ และบทธรรมบรรยายของท่านอาจารย์นั้น ปรากฏมีไว้ในสมุดของเก่าที่มอบไว้เป็นมรดกแก่พระภิกษุทองคำ ผู้อุปฐากใกล้ชิดในปัจฉิมสมัย บทประพันธ์นั้นคล้ายร่ายหรือกลอนแปด เป็นลายมือของท่านอาจารย์เขียนเอง และบอกไว้ตอนท้ายว่าท่านอาจารย์เป็นผู้แต่ง ครั้งอยู่วัดปทุมวัน พระนคร ส่วนธรรมบรรยายนั้น เขียนด้วยอักษรธรรม เป็นลายมือของท่านอาจารย์เหมือนกัน สังเกตดูเป็นของเก่า ท่านอาจารย์คงคัดย่อความเอามา มีอธิบายข้อธรรมในโสฬสปัญหาบ้าง อภิธรรมบ้าง อธิบายกรรมฐานบ้าง อธิบายวินัยกรรมบางอย่างบ้าง และที่สำคัญที่สุดคือ กำหนดคืบพระสุคตไว้ ซึ่งตรงกับพระมติของสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระมหาสมณเจ้า ซึ่งเป็นมติที่ได้รับความรับรองในหมู่ผู้ปฏิบัติทางจิตต์ใจ อันศิษยานุศิษย์ควรได้รับเป็นมรดกทั่วถึงกัน

ในการลอกบทธรรมบรรยาย ซึ่งเป็นอักษรธรรมลงสู่อักษรไทยนั้น ได้อาศัยกำลังของพระภิกษุฉัตร โสมบุตร จิรบุญโญ โดยตลอด จึงจารึกนามเธอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นที่ระลึกไปนานนาน

อนึ่งในการทำหนังสือนี้ ได้อาศัยกำลังกาย กำลังสติปัญญา และกำลังทรัพย์จากสาธุชนทั้งคฤหัสและบรรพชิตมากท่านหลายคนด้วยกัน สุดที่จะจารึกนามไว้ได้หมด จึงขอขอบคุณและอนุโมทนาไว้ในที่นี่ทั่วกัน


พระอริยคุณาธาร
เสนาสนะป่าเขาสวนกวาง ขอนแก่น
วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๓

*********

มุตโตทัยฉบับบันทึกโดยพระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร
http://www.luangpumun.org/muttothai_main.html

*********

ไม่มีความคิดเห็น: